ใช่ไหม ใช่มั้ย หรือ ใช่มั๊ย คำไหนถูก ? | มองไทยใหม่

คําว่า “ใช่ไหม” “ใช่มั้ย” “ใช่มั๊ย” เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียนภาษาไทยปัจจุบัน หากใช้วิธีง่ายๆ ให้ Google ช่วยค้นให้ว่า คำใดมีจำนวนใช้เท่าใด ก็จะได้ดังนี้

“ใช่ไหม” ปรากฏ ๑๗๐ ล้านครั้ง

“ใช่มั้ย” ปรากฏ ๑๔๓ ล้านครั้ง

“ใช่มั๊ย” ปรากฏ ๒๙๔ ล้านครั้ง

ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไร ตอบได้ว่าบอก “ปริมาณ” ของการปรากฏ

ปรากฏการณ์ทางภาษาเช่นนี้ทำให้นึกถึง สถาบันแห่งชาติเพื่อภาษาญี่ปุ่นและภาษาศาสตร์ (National Institute for Japanese Language and Linguistics)

สถาบันแห่งนี้ทำหน้าที่เก็บข้อมูลภาษาญี่ปุ่น แล้วนำมาวิเคราะห์ทางด้านภาษาศาสตร์ จากนั้นจึงนำไปใช้เพื่อการวางแผนภาษา การเรียนการสอน และการใช้งานอื่นๆ ในชีวิตจริง

สิ่งที่สถาบันแห่งนี้เน้นมากๆ ก็คือ สิ่งที่อยู่ในฐานข้อมูลของเขานั้นคือข้อมูลที่ “เกิดขึ้นจริง” (real) ไม่ใช่ข้อมูลที่ “ถูกต้อง” (correct)

เพราะคำว่า “ถูกต้อง” นั้นขึ้นอยู่กับอะไรหลายๆ อย่าง ทางสถาบันไม่มีหน้าที่ตัดสิน แต่จะให้ข้อมูลดิบเพื่อให้นักวิจัยนำไปใช้งานต่อไป

ด้วยเหตุนี้สถาบันจึงคำนึงถึงความเปลี่ยนแปรและความหลากหลายของภาษาที่เป็นไปตามกาลเวลา ฐานข้อมูลจึงมีทั้งภาษาโบราณ ภาษาถิ่น และภาษาปัจจุบัน

ตัวอย่างความหลากหลายของภาษาญี่ปุ่นปัจจุบันก็คือ การสะกดการันต์ ที่คำเดียวกันอาจจะเขียนได้หลายอย่าง เช่น คำอุทาน “ah” มีการสะกดการันต์ต่างกันได้ถึง ๓๓ แบบ ดังนี้

ผู้ทำพจนานุกรมก็จะนำไปพิจารณาเองว่าควรจะเลือกรูปใด ดังเช่นที่ Martin”s Concise Japanese Dictionary ซึ่งมีจุดประสงค์ให้เป็นพจนานุกรมของนักเรียนต่างชาติที่เรียนภาษาญี่ปุ่น ก็เลือกมาใช้เพียงตัวเดียว คือ ตัวที่ ๓

ผู้ทำงานทางด้านบริหารการศึกษาก็สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปกำหนดนโยบายภาษา โดยเฉพาะในด้านการเรียนการสอนได้อย่างทันสมัย ส่วนงานทางด้านอุตสาหกรรมนั้นอาจจะต้องการข้อมูลที่ “เกิดขึ้นจริง” มากกว่าข้อมูลที่ “ถูกต้อง” เช่น การค้นหาข้อมูลซึ่งอาจจะมีคำที่สะกดไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคำใหม่หรือคำที่ถูกพิจารณาว่า “ไม่ถูกต้อง”

สถาบันแห่งชาติเพื่อภาษาญี่ปุ่นและภาษาศาสตร์ มิได้คำนึงถึงปริมาณหรือจำนวนครั้งที่คำเหล่านี้ปรากฏ คำนึงถึงเพียงว่ามีอะไรปรากฏอยู่บ้าง แล้วให้ผู้ใช้งานนำไปพิจารณาเองว่าจะใช้คำใด (ดู NINJAL ใน มติชนสุดสัปดาห์ ๓๐ มกราคม ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘)

ในกรณีของคำว่า “ใช่ไหม” “ใช่มั้ย” “ใช่มั๊ย” ที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียนภาษาไทยปัจจุบัน หากคิดตามแนวทางของสถาบันแห่งชาติเพื่อภาษาญี่ปุ่นและภาษาศาสตร์ (National Institute for Japanese Language and Linguistics) ก็น่าจะเป็นดังนี้

พจนานุกรมภาษาไทย อย่าง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เลือกคำว่า “ไหม” ในฐานะคำที่เป็นทางการ ดังนี้

ไหม ๑ (๑) น. ชื่อผีเสื้อชนิด Bombyx mori ในวงศ์ Bombycidae ตัวอ้วนป้อมมีขนสีขาวและสีครีมคลุมเต็ม ปีกมีลายเส้นสีนํ้าตาลอ่อนพาดตามขวางหลายเส้น ตัวหนอนสีขาวหรือสีครีม มีรยางค์เล็กๆ สั้นๆ คล้ายเขาที่ปลายหาง กินใบหม่อนได้อย่างเดียว เมื่อโตเต็มที่จะถักใยหุ้มดักแด้ ซึ่งใยนี้สามารถสาวเป็นเส้นไหมนํามาทอเป็นเสื้อผ้าได้, ใยของสัตว์ชนิดนี้ก็เรียกว่า ไหม

(๒) น. เรียกเครื่องนุ่งห่มที่ทอด้วยไหม ว่า ผ้าไหม.

ไหม ๒ ว. เป็นคําถาม มาจาก หรือไม่ เช่น กินไหม.

ไหม ๓ (๑) (โบ) ก. ปรับเอา เช่น ให้ไหมทวีคูณ (สามดวง)

(๒) (โบ; กฎ) น. การลงโทษปรับหรือให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย.

ในกรณีนี้ก็คงต้องเขียนว่า “ใช่ไหม” ส่วนคำว่า “มั้ย” เป็นการเขียนตามการออกเสียงพูด แสดงความเป็นกันเอง ไม่เคร่งเครียด ศูนย์การค้าและธนาคารบางแห่งจึงเลือกใช้ประโยคเชิญชวนว่า “กินข้าวกันมั้ย” ซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ แม้จะไม่ปรากฏคำนี้ในพจนานุกรม

แต่ก็ไม่ผิดอักขรวิธีไทย

ในกรณีของคำว่า “มั๊ย” นักภาษาศาสตร์ก็อธิบายได้ว่า ผู้ใช้คำนี้ต้องการแสดงเสียงที่สูงกว่าเสียงตรี คำว่า “มั้ย” ใช้ไม้โทแสดงเสียงตรีอยู่แล้ว จึงเลือกใช้ไม้ตรีเพื่อแสดงว่าเสียงสูงกว่าไม้โทเป็น “มั๊ย” เช่นเดียวกับที่เขียนกันว่า “ง๊ายง่าย” “นุ๊มนุ่ม” “ม๊ากมาก” “ย๊ากยาก” “ร๊ายร้าย” “ลุ๊งลุง” แต่บังเอิญการใช้วรรณยุกต์ในภาษาไทยปัจจุบันไม่มีหลักเกณฑ์เช่นนี้ ถ้าสงสัยขอให้กลับไปทบทวนหลักเกณฑ์การใช้วรรณยุกต์ตามที่เคยเรียนมา

จะเห็นได้ว่า การวิเคราะห์เหล่านี้มิได้ใช้ปริมาณเป็นตัวตัดสิน แต่เป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพที่ชี้ให้เห็นเหตุผลและความเหมาะสมของคำแต่ละคำ

หากใช้ปริมาณเป็นตัวตัดสิน จากจำนวนการปรากฏที่ Google ช่วยนับให้คือ

“ใช่ไหม” ปรากฏ ๑๗๐ ล้านครั้ง

“ใช่มั้ย” ปรากฏ ๑๔๓ ล้านครั้ง

“ใช่มั๊ย” ปรากฏ ๒๙๔ ล้านครั้ง

คำที่ปรากฏการใช้จำนวนสูงไปหาต่ำก็คือ “ใช่มั๊ย” “ใช่ไหม” “ใช่มั้ย”

แสดงว่า มีข้อความที่เขียนแบบแสดงอารมณ์ โดยไม่ใช้หลักเกณฑ์การใช้วรรณยุกต์ปัจจุบันมากที่สุด รองลงมาคือภาษาเขียนที่เป็นทางการ และสุดท้ายคือเขียนตามการออกเสียงพูดที่ใช้หลักเกณฑ์การใช้วรรณยุกต์ปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า จำนวนที่ปรากฏไม่ได้แสดงว่าคำใด “ดีกว่า หรือเหมาะสมกว่า” คำใด