กางแผนแก้ระเบียบแต่งตั้ง โยกย้าย ศธ. หลังสภาไฟเขียว แก้คำสั่ง คสช.วนลูป / การศึกษา

การศึกษา

 

กางแผนแก้ระเบียบแต่งตั้ง โยกย้าย ศธ.

หลังสภาไฟเขียว แก้คำสั่ง คสช.วนลูป

 

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ต้องคืนอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กลับไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลังมีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 ยกอำนาจดังกล่าว ซึ่งถือเป็นดาบสำคัญของเขตพื้นที่ฯ ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จนก่อให้เกิดความขัดแย้งนานกว่า 5 ปี

สาเหตุหลักที่มีการออกคำสั่ง คสช.ในเวลานั้น เพื่อแก้ปัญหาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการทุจริต และทำลายระบบการศึกษามานานหลายสิบปี แม้นักวิชาการหลายคนจะกล่าวว่า ย้อนกลับไปสู่ระบบเดิมก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม เมื่อปี 2547

และล่าสุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าว ประเด็นสำคัญคือ คืนอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายให้เขตพื้นที่ฯ โดยให้เหตุผลสำคัญว่า คำสั่ง คสช.ดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร เพราะต้องผ่านศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทำให้เกิดความล่าช้า…

นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง ที่กลับไปสู่ที่เดิม!!

 

ทันทีที่มีคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปรับข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับกฎหมายฉบับดังกล่าว ที่จะประกาศใช้ภายใน 90 วัน…

โดยสาระสำคัญที่ต้องมีการปรับ ดังนี้ การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว เป็นการโอนภารกิจด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา) และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา) โดยจะดำเนินการใน 3 ส่วน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นไม่สะดุด

ในส่วนที่ 1 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ซึ่งดูแลศึกษาธิการจังหวัด เตรียมการถ่ายโอนภารกิจด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จาก กศจ.ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวม 245 เขตพื้นที่ฯ สำหรับงานเกี่ยวกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา ตลอดจนการให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดยังอยู่ที่ กศจ.

ส่วนที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะได้รับภารกิจเรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจาก กศจ.ก็ต้องเตรียมคน และเตรียมระบบสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และบุคลากรให้มีความพร้อม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล พร้อมทั้งให้ สพฐ.เตรียมงบประมาณรองรับภารกิจใหม่ด้วย

และส่วนที่ 3 คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะต้องกำหนดองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการดำเนินงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดไว้ด้วยว่า องค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาต้องมีผู้แทน กศจ.อย่างน้อย 1 คน และนายอำเภอหรือผู้แทนอย่างน้อย 1 คน สำหรับกรุงเทพมหานครให้มีผู้อำนวยการเขต หรือผู้แทนอย่างน้อย 1 คน ร่วมเป็นองค์ประกอบด้วย โดย ก.ค.ศ.ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

 

ขณะที่นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. โต้โผหลักในการปรับแก้ระเบียบต่างๆ เพื่อสอดรับกับกฎหมายใหม่ กล่าวว่า ก.ค.ศ.เตรียมพร้อมปรับแก้ระเบียบและข้อบังคับและกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2560-2565 ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการบริหารงานบุคคล ให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ โดยเรื่องใดที่เป็นอำนาจของ กศจ. ก็ต้องโอนให้ อ.ก.ค.ศ.ประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีกว่า 100 ฉบับที่ต้องดำเนินการปรับแก้

และขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จากนั้นจะนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว สอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนเสนอให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ. ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานพิจารณา ให้ความเห็นชอบต่อไป เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้ทันภายใน 90 วันก่อนกฎหมายประกาศใช้อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันจะต้องเร่งปรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ใหม่) หรือเกณฑ์ PA ให้สอดคล้องกับงานบริหารระบบการบริหารงานบุคคลที่จะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น ยืนยันว่าระบบยังเปิดให้ยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามเกณฑ์ใหม่ ในวันที่ 1 ตุลาคม เช่นเดิม ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถทำผลงานและยื่นผลงานได้ตามปกติ ส่วนที่ต้องปรับเป็นเรื่องของระบบขั้นตอน อาทิ ระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล หรือ DPA ส่วนใดที่เป็นภารกิจของ กศจ. ก็ต้องโอนภารกิจมาให้เขตพื้นที่ฯ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา

“ขอบอกว่าครูและบุคลกรทางการศึกษาที่จะเตรียมยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามระบบใหม่ ไม่ต้องกังวล ระบบยังเปิดให้ยื่นผลงานได้ตามปกติ ส่วนกระบวนการพิจารณาเป็นเรื่องที่ ก.ค.ศ.ต้องปรับระบบดำเนินการให้ทัน เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ส่วนผู้ที่ยื่นก่อนวันที่ 1 ตุลาคม จะได้รับการประเมินตามหลักเกณฑ์เดิมจนครบ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา คาดว่าจะมีครูและบุคลากรทางการศึกษายื่นขอประเมินวิทยฐานะตามเกณฑ์ใหม่ PA กว่า 50,000 คน ที่ผ่านมา ก.ค.ศ.รับฟังทุกความคิดเห็นและปรับจูน ทำความเข้าใจกับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การประเมินแนวใหม่”

“ส่วนใหญ่มีความเข้าใจ ยอมรับว่า มีเสียงคัดค้านเข้ามาบ้าง ทาง ก.ค.ศ.ก็รับฟัง แต่เท่าที่ดูผู้ที่ออกมาค้านส่วนใหญ่ ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง ขณะที่ครูและผู้เกี่ยวข้องโดยตรง จำนวนมากออกมาแสดงท่าทีสนับสนุน อาทิ ชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร ก็ออกมาให้การสนับสนุน โดยหลังการประเมินตามเกณฑ์ PA ก.ค.ศ.จะมีทีมประเมินข้อดี ข้อเสีย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก เข้ามาดำเนินการ เพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์ให้มีคุณภาพและมีงานวิจัยรองรับตามหลักวิชาการ อย่างแท้จริง ” นายประวิตกล่าว

จากนี้ต้องจับตาดูว่า หลัง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่ง คสช. ประกาศใช้ คืนอำนาจแต่งตั้ง โยกย้ายให้ คสช.แล้ว ปัญหาเดิมๆ ที่เป็นหลุมดำทางการศึกษาจนวนลูปกลับมาที่เดิมหรือไม่… •