ไม่มีรัฐประหารแบบเก่า…ไม่มี 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา ในช่วงนี้

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

ไม่มีรัฐประหารแบบเก่าไม่มี 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา ในช่วงนี้

10 วันที่ผ่านมาครบรอบ 16 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

สัปดาห์หน้าก็จะครบรอบ 46 ปีของการสังหารหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ถัดไปอีก 1 สัปดาห์ก็จะเป็นการครบรอบ 49 ปีของการเคลื่อนไหวโค่นล้มเผด็จการ 14 ตุลาคม 2516

ในท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองขณะนี้ก็มีคำถามขึ้นมาว่ารูปแบบการต่อสู้ชิงอำนาจทางการเมืองในอนาคตจะออกมาในรูปแบบไหน

คำตอบของทีมวิเคราะห์ก็คือ การเปลี่ยนแปลงเพื่อการชิงอำนาจรัฐในวันข้างหน้าจะไม่มีรูปแบบรัฐประหารแบบเก่า หรือใช้รูปแบบชิงอำนาจชนิดเดียว มาช่วงชิงอำนาจไป เพราะขณะนี้ไม่มีใครมั่นใจถึงแรงต่อต้านของประชาชน และแรงกดดันจากต่างประเทศว่าจะหนักแค่ไหน

การปกครองแบบอํามาตยาธิปไตย ที่มีการเลือกตั้ง แต่มี ส.ว.แต่งตั้งเหมือนทุกวันนี้ เป็นรูปแบบที่พวกเผด็จการปรารถนาที่สุด

ตราบใดที่ ส.ว.แต่งตั้งยังมีสิทธิ์เลือกนายกฯ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำรัฐประหาร

ความผิดพลาดของกลุ่มอำนาจเก่าที่ผ่านมา คือการปราบและสังหารหมู่แบบ 6 ตุลาคม 2519 ที่ได้ทำไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 กลายเป็นความผิดระดับสากลที่ติดตัวไปจนตาย เมื่อกลัวความผิด การยึดอำนาจจึงต้องเกิดซ้ำ โดยใช้ทั้งตุลาการภิวัฒน์และการรัฐประหาร 2557

ต่อมาเมื่อสรุปบทเรียนได้ พวกเขาจึงใช้รัฐธรรมนูญ กฎหมายและอำนาจตุลาการ แทนกำลังทหาร แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะพยายามแก้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าทำผ่านรัฐสภาอย่างเดียวคงทำไม่สำเร็จ จนกว่า ส.ว.ชุดนี้จะหมดวาระ

ปัญหาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในปี 2566 แต่ไม่น่าจะลุกลาม เพราะจะมีการเสนอให้ไปตัดสินกันในการเลือกตั้ง

ทำไม 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นมาได้

ความน่าเบื่อหน่ายและผิดหวังในการบริหารประเทศหลังรัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐประหาร 2557 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันคือ 16 ปี เฉพาะการปกครองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นานถึง 8 ปี ยิ่งล้มเหลว คนยิ่งอยากเปลี่ยน แต่ถ้าเปรียบเทียบยุคสาม ป.กับยุคสามทรราช สถานการณ์ต่างกัน

ในยุค 2516 เรียกเผด็จการว่า 3 ทรราช ซึ่งได้อำนาจปกครองมายังไม่ถึง 10 ปี แต่ถ้านับจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประชาชนก็ตกอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการประมาณ 15 ปี เพราะจอมพลสฤษดิ์รัฐประหารปี 2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตลงในปลายปี 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้มารับอำนาจต่อ อีก 6 ปีจึงมีการเลือกตั้งแทรกเข้ามาในปี 2512 แต่จอมพลถนอมก็ปฏิวัติรัฐบาลตัวเองในปี 2514 ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ จนถูกประชาชนเคลื่อนไหวโค่นล้มใน เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 การวางฐานอำนาจต่อเนื่องของระบบเผด็จการ ใช้เวลากว่า 10 ปีจึงคุมทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน ส่งคนเข้าไปคุมรัฐวิสาหกิจ ในเดือนมกราคม-เมษายน 2516 อำนาจรัฐยังดูมั่นคงมาก แต่ภายใต้ภาวะที่เงียบสงบ มีความไม่พอใจและความเกลียดชังแฝงอยู่ทั่วแผ่นดิน

แต่เมื่อถึงจุดระเบิด ฝ่ายเผด็จการไม่รู้จักเปิดทางระบายแรงกดดัน จึงเกิดการนองเลือดเปลี่ยนอำนาจขึ้น และที่ทำสำเร็จครั้งนั้นกำลังของนักศึกษาประชาชนเป็นหลักการเปลี่ยนแปลง แต่ยังมีกำลังทหารและกำลังของชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่งฉวยโอกาสเข้าร่วมผลักดันจนเกิดการโค่นล้มและเปลี่ยนอำนาจได้สำเร็จ

สรุปว่า 2516-2519 ใช้อำนาจทางทหารเป็นหลักในการรัฐประหารและในการปราบปรามถ้ามีผู้ต่อต้าน

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ผู้มีอำนาจยุค 2565 เปลี่ยนยุทธศาสตร์

เพราะสภาพแวดล้อมในสังคมการค้า การลงทุนและการเมืองเปลี่ยนไป การเมืองในระดับสากลเปลี่ยนไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสาร ทำให้การปิดกั้นข่าวสารและความจริงทำไม่ได้ ฝ่ายเผด็จการกังวลในเรื่องนี้ จึงเปลี่ยนยุทธศาสตร์สู่การแปลงกายไปเป็นผู้นำประชาธิปไตยแบบไม่เต็มใบ โดยใช้การแสดงการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ร่างเองและการซื้อเสียง ส.ส.

ตั้งแต่ 2549 ฝ่ายเผด็จการกลับนำบทเรียน 14 ตุลาคมมาใช้โดยสร้างม็อบขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จากนั้นก็รีบทำการรัฐประหารนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อแพ้เลือกตั้งอีก ก็มีการพัฒนารูปแบบ โดยมีการชุมนุมเดินขบวนในปี 2551 และก็ตามด้วยใช้ตุลาการภิวัฒน์ ปลดนายกฯ ยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมือง ถ้ายังไม่สำเร็จจริงๆ จึงทำการรัฐประหาร เช่นในปี 2557

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้สำเร็จตามเป้าหมาย ก็ใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ บังคับให้ประชาชนยึดถือสิ่งนั้นเป็นกฎหมาย จากนั้นก็ใช้กระบวนการยุติธรรม อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ เพื่อใช้ตัดสินชี้ถูกชี้ผิด ตามที่ฝ่ายตนต้องการได้ และก็อ้างว่านี่เป็นการตัดสินตามกฎหมาย

การสืบทอดอำนาจจึงสามารถสร้างผ่านกระบวนการเลือกตั้งได้เมื่อมี ส.ว. 250 คนสนับสนุนอยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญก็เป็นไปตามแบบที่ตัวเองต้องการ ผู้นำระบบเผด็จการจึงแปลงกายไปเป็นผู้นำประชาธิปไตยแบบไม่เต็มใบโดยใช้การแสดงการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ร่างเองและการซื้อเสียง ส.ส.

วันนี้สถานการณ์คล้ายกัน แต่สิ่งที่พวกเขายึดกุมไว้ไม่เพียงแค่กำลังทหารเท่านั้น แต่ใช้โครงสร้างการรักษาอำนาจหลายด้าน หลายองค์กร แผนสืบทอดอำนาจทำไปได้ 80% แล้ว แต่การไร้ความสามารถในการบริหารและข่าวการโกงกินที่แผ่ไปทั่วทุกฝ่ายทำให้เกิดการไม่ยอมรับผู้ใช้อำนาจทุกระดับ

แต่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถลงโทษผู้มีอำนาจได้

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

โอกาสเกิด 14 ตุลาคม 2565
จะถูกปิดโดยการเปลี่ยนหัว

แม้ยังมีสภาพแตกทางความคิดของประชาชนเป็น 2 ฝ่าย แต่วันนี้ความเห็นของคนส่วนใหญ่เหมือนกัน ว่าจะต้องเปลี่ยนรัฐบาล คล้ายกับก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่คนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า รัฐบาลทำงานใช้ไม่ได้ ต้องเอาออกไป เพราะไม่พอใจ สภาพเศรษฐกิจที่จะยิ่งแย่ลงทุกวัน คนจะหาวิธีต่อต้านรัฐบาลด้วยรูปแบบต่างๆ แต่คิดว่าผลจะไม่ออกมาตามตัวแบบ 14 ตุลาคม 2516

เพราะการเปลี่ยนรัฐบาล ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านระบบรัฐสภา ซึ่งไม่สำเร็จง่ายๆ

การไม่ยอมรับให้แก้รัฐธรรมนูญจะทำให้การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนอกสภายังเกิดได้ต่อเนื่อง คาดว่าแรงต่อต้านของประชาชนจะแรงขึ้น

แต่กำลังของฝ่ายประชาชนยังไม่สามารถรวมตัวกันและโค่นล้มเผด็จการลงได้โดยกำลังของประชาชนล้วนๆ เพราะกำลังของประชาชนยังดำรงอยู่ในลักษณะที่ถูกแบ่งแยกแล้วปกครอง

เมื่อกระแสแรงขึ้น ฝ่ายผู้ปกครองที่เห็นว่าต้านไม่ไหว ก็จะใช้เล่ห์เหลี่ยมด้วยการเปลี่ยนหัว เชื่อว่าจะชิงเปลี่ยนหัวก่อนที่จะถูกโค่นล้มไปทั้งหมด แต่การเปลี่ยนหัวก็ใช่ว่าจะมีคนยอมรับง่ายๆ ถ้าเปลี่ยนระยะยาวต้องเปลี่ยนโดยผ่านการเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด