เรื่องเล่าจากวงเสวนา ว่าด้วยละครโทรทัศน์ | รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

เรื่องเล่าจากวงเสวนา

ว่าด้วยละครโทรทัศน์

 

เมื่อความเป็นไปในสังคมเปลี่ยนแปลง สื่ออย่าง ‘ละครโทรทัศน์’ จะอยู่นิ่ง ไม่ปรับตัวตามคงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์จึงได้จัดเสวนา ใช้ชื่อโครงการคิด-ขาย-เขียน เชิญวิทยากรจากหลายฝ่ายมาให้ความรู้ ขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะชวนคนในวิชาชีพที่ปัจจุบันมีหลากรุ่น หลายวัย ทั้งที่เป็นระดับครู และที่เพิ่งก้าวเข้ามาใหม่ เขียนมาได้ไม่นานมาแลกเปลี่ยนความเห็น

และก็ได้ข้อมูลน่าสนใจหลายอย่าง เป็นต้นว่า… การผูกติดกับนิยาย นำบทประพันธ์ที่มีอยู่แล้วมาทำเป็นละครอาจไม่เวิร์กอีกต่อไป เพราะถ้าเป็นนิยายเก่าๆ ส่วนใหญ่เรื่องก็ไม่เหมาะกับยุคสมัย

ขณะที่เรื่องใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นละครได้ ตอนนี้ก็มีไม่เพียงพอ

 

ทั้งนี้ นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ นักเขียนบทโทรทัศน์ชื่อดัง ได้เก็บรายละเอียดจากวงเสวนามาเล่าว่า เรื่องหนึ่งที่หยิบยกมาพูดกันคือ สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคของชนชั้นกลางเป็นใหญ่ คนกลุ่มนี้ใช้โซเชียลเก่ง ปกป้องตัวเองจากอำนาจนอกระบบได้ดีขึ้น ทำให้ถ้าจะนำนิยายยุคเก่า ประเภทตัวละครถูกอำนาจเถื่อนกดขี่โดยไม่หือไม่อือ เพราะไม่มีทางเลือกมาใช้ อาจต้องทำเป็นละครพีเรียด

ขณะเดียวกันปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่ได้ถือครองที่ดิน เกษตรไม่ใช่อาชีพในฝันของคนยุคใหม่ เรื่องราวเกี่ยวกับภาคเกษตรจึงอาจไม่ได้สวยงามในอุดมคติ แบบ ‘ผู้ใหญ่ลีกับนางมา’ แต่นั่นไม่ได้แปลว่า คอนเซ็ปต์แบบนี้จะใช้ไม่ได้ เพราะในต่างประเทศก็ยังมีใช้ และน่าจะมีต่อไป

ยังมองกันด้วยว่ายุคนี้คนชนบทตั้งเป้าจะเป็นผู้ประกอบการ เป็นเจ้าของร้านอาหาร หลายคนจึงมีความเห็นว่างานของ ‘จุฬามณี’ เช่น ‘กรงกรรม’, ‘ทุ่งเสน่หา’ ซึ่งสะท้อนสังคมเกษตรช่วงเปลี่ยนผ่านได้ดี จึงได้รับความนิยม

เรื่องของความคิดและอุดมคติบางประการที่เคยยึดถือ กำลังถูกตั้งคำถาม การที่พระเอกตายแทนนางเอกเพื่อความรัก, พระเอกนางเอกแสนดี มีรายละเอียดที่ต่างไปจากยุคก่อน หากจะเขียนถึงเรื่องราวเหล่านี้ก็ต้องมีความชัดเจนว่าจะให้ออกไปไปแนว ‘อุดมคติ’ หรือ ‘เรียลลิสติก’

การจะนำความเป็นไทยให้ไปประสบความสำเร็จ เป็น soft power ต้องรู้จักหาจุดร่วมที่เป็นสากลที่คนทั่วโลกเชื่อมโยงได้

ในส่วนจำนวนตอนของซีรีส์หรือละคร ตัวเลขจากทั้งโลกมีแนวโน้มลดลงทุกที ดังนี้ตัวเลขของปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 16 ก็ถือเป็นตัวเลขที่ยังมากไป ในอนาคตละครไทยสายเมนสตรีม จึงคงจะค่อยๆ ลดจำนวนตอนลง

สำหรับซีรีส์วาย ตอนนี้ประไทยถือเป็นเมืองหลวงซีรีส์วายโลก มีการผลิตกันเป็นร้อยเรื่องต่อปี มีการส่งออกไปต่างประเทศ เป้าหมายต่อไปของงานสายนี้ จึงต้องเป็นการพัฒนาการเล่าเรื่องให้มีความแหลมคม ลึกซึ้งขึ้น และมีประเภทของเรื่องที่หลากหลายขึ้น

 

นันทวรรณบอกอีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่มีคนรู้สึกคือละครไทยประสบภาวะ ‘ถูกเหยียด’ ว่าเป็นโลกใบเก่าที่ไม่พัฒนา โดยในกลุ่มคนทำงานจะมีศัพท์ที่บอกว่า ให้เขียนแบบซีรีส์นะ อย่ามา ‘ละค้อนละคร’ อันแปลความได้ว่าให้เขียนแบบใหม่ๆ ไม่ใช่เก่าๆ

บอกด้วยว่า ละครก็เหมือนของอย่างอื่น ที่มี platform ระดับโลกจ่อรวบกินอยู่ คนทำละครทุกช่องต่างสู้ขาดใจในฐานะประเทศเล็กๆ ทุนต่ำๆ แต่การจะให้ไปช่วยกันเล่าเรื่องประเด็นล้ำๆ / softpowerเพื่อชาติ / สร้างสรรค์สังคมแห่งความเท่าเทียม ทั้งที่ตัวเลขในมือโปรดิวเซอร์ติดตัวแดงก็คงไม่ไหว

แม้ ‘ใจโคตรสู้’ ก็เถอะ

การทำละครไทยปัจจุบันจึงเป็นการทำเพื่อเน้นการบริโภคในประเทศ มากกว่าการสร้างขึ้นมาเพื่อนำออกฉายไปทั่วโลก แต่กระนั้นก็เริ่มมีการปรับใส่เนื้อหา เพื่อหวังเพิ่มแฟลตฟอร์มในการออกอากาศ ที่จะนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น