การเลือกตั้งใหญ่เนปาล กลางเกมดุลอำนาจ อินเดีย-จีน | บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

การเลือกตั้งใหญ่เนปาล

กลางเกมดุลอำนาจ อินเดีย-จีน

 

เนปาลกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากที่รัฐบาลเนปาลประกาศเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา

โดยจะเป็นการประชันทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่มีพันธมิตรพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคคองเกรสเนปาลที่เป็นสายกลางของนายกรัฐมนตรี เชอร์ บาฮาดู ดิวบา

กับพรรคฝ่ายค้านใหญ่อย่างพรรคคอมมิวนิสต์เนปาลของอดีตนายกรัฐมนตรี เค.พี.ชามาห์ โอลี ซึ่งมีความใกล้ชิดมากกับรัฐบาลจีน

ในการเลือกสมาชิกรัฐสภา 275 ที่นั่ง แบ่งเป็นแบบบัญชีรายชื่อ 165 ที่นั่ง และที่เหลือเป็นสัดส่วนแบบเขต 110 ที่นั่ง

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นของเนปาล ถือเป็นโจทย์ยากของฝ่ายรัฐบาลที่อยากอยู่ต่อ ท่ามกลางปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูงและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศหมดลงจนทำให้ราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้น

รอยเตอร์ระบุว่า พัฒนาการทางการเมืองของเนปาลรวมถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกจับตามองแบบใกล้ชิดจากจีนและอินเดีย ในฐานะรัฐกันชนของเกมดุลอำนาจในแถบหิมาลัย และทั้งสองฝ่ายก็แย่งชิงอิทธิพลและทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเนปาล

และก่อนที่วันเข้าคูหาจะมาถึง ทั้ง 2 ชาติมหาอำนาจในภูมิภาคก็วัดอิทธิพลในเนปาลกันอย่างหนัก

 

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ลี่ จ้านซู ประธานคณะกรรมการประจําสภาประชาชนแห่งชาติจีน ได้นำคณะผู้แทนถึง 67 คนเยือนเนปาล ในการพบปะนาน 4 วัน โดยพบทั้ง 2 อดีตนายกรัฐมนตรีเนปาล และผู้นำเนปาลคนปัจจุบันทั้งนายกฯ และประธานาธิบดี รวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศ ในจังหวะที่หลายพรรคการเมืองกำลังรวมตัวสร้างพันธมิตรทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง และลี่ยังได้หารือแบบทวิภาคีกับอัคนี ปราสาท ทรัพย์โกตา ประธานรัฐสภาเนปาล

รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะผู้แทนจีนไปเยี่ยมเยือน 2 อดีตนายกรัฐมนตรีอย่างชามาห์ โอลี และปุชปา คามาล ดาฮัล ซึ่งเคยเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล หรือที่รู้จักกันในกลุ่มนิยมลัทธิเหมา

รายงานระบุว่า การที่จีนไปเยี่ยม 2 อดีตผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์นี้ จีนพยายามฟื้นความสัมพันธ์ให้กลับคืนมา หลังจากทั้ง 2 แยกทางจากความแตกแยกภายในพรรค เพียง 2 ปีหลังมีการรวมพรรคฝ่ายคอมมิวนิสต์เนปาลทั้งสายมาร์กซ์-เลนิน และสายเหมาเป็นพรรคเดียว และทูตจีนในกรุงกาฐมาณฑุกำลังพยายามนำทั้งสองฝ่ายกลับมาดำเนินตามการประกาศการเลือกตั้งในวันที่ 20 พฤศจิกายนปีนี้

รันจิต เรย์ อดีตทูตอินเดียประจำเนปาล มองการขยับของจีนต่อการเมืองภายในเนปาลว่า มีความเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของการปะทะทางอิทธิพลระหว่างสหรัฐกับจีน และโดยเฉพาะคราวนี้ จีนหวังทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เนปาลที่แตกภายในกลับมามีเสถียรภาพ

เรย์กล่าวด้วยว่า การแข่งขันทางอิทธิพลระหว่างสหรัฐ-จีน บางครั้งส่งผลทั่วโลก รวมถึงเนปาลด้วย โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือความท้าทายสหัสวรรษของสหรัฐ ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงกันในเนปาลอย่างมาก

แม้จีนจะวิ่งเข้าหาเนปาลเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการหารือระหว่างอินเดียวกับเนปาล โดยรัฐมนตรีต่างประเทศเนปาลเดินทางเยือนอินเดียเพื่อหารือทวิภาคีทั้งประเด็นพรมแดน

และเรื่องสำคัญคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโครงการพลังงาน ซึ่งเนปาลหวังจะบรรเทาปัญหาภายในประเทศ

 

South Asia Voices ของศูนย์ศึกษานโยบายสติมสัน ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ มองนโยบายของเนปาลท่ามกลางเกมอิทธิพลของจีนและอินเดีย ว่า เนปาลจะยังคงแนวนโยบายต่างประเทศแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-aligned) โดยมุ่งเน้นความต้องการการพัฒนาภายในประเทศ และในการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ แนวทางของเนปาลจะยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล

บทวิเคราะห์ยังเสนอแนะแนวทางให้กับอินเดียและสหรัฐด้วยว่า ในระดับการเมือง สหรัฐและอินเดียต้องหลีกเลี่ยงการบรรจุความคิดริเริ่มเพื่อการพัฒนาต่างๆ ในแง่ของพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความมั่นคงและผลกระทบทางการเมืองภายในประเทศกับเนปาล โดยเฉพาะยิ่งการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา

เพราะรัฐบาลเนปาลได้แสดงไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า เนปาลไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์หรือพันธมิตรด้านความปลอดภัยใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ในการพัฒนา

แต่การแสดงบทบาทต่อเนปาลที่ดีในระยะยาว จะเกี่ยวข้องกับการส่งมอบโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ การเข้าถึงตลาด และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเนปาลต้องการเป็นสำคัญ

 

ในขณะที่ฝั่งจีนนั้น สติมสันวิเคราะห์ว่า จีนให้คำมั่นสัญญากับเนปาล เพื่อหวังแก้ภาพลักษณ์ตัวเองในภูมิภาคเอเชียใต้ที่ถดถอยโดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจในศรีลังกา

แต่คำมั่นที่ว่านี้ก็ไม่ได้แปลว่าจะส่งถึงเนปาลเสมอไป เพราะหลายโครงการที่เนปาลร่วมลงนามกับจีนอันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือบีอาร์ไอ ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

และยังมีความต่างกันในการใช้คำว่า บีอาร์ไอ ฝั่งจีนมีถ้อยแถลงยกความก้าวหน้าของบีอาร์ไอ แต่เนปาลกลับไม่มีเอ่ยถึง

เป็นผลทำให้การเดินทางเยือนของจีนปีนี้ จีนกับเนปาลแทบไม่มีแถลงการณ์ร่วมกัน

ส่งผลทำให้ความน่าเชื่อถือของจีนในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนา สำหรับเนปาลแล้ว ถือเป็นเรื่องที่น่าสงสัย