เมื่อโลกนี้เป็นของ ‘มด’ | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ในค่ำคืนที่ดวงดาวสุกสกาว เขาว่าอาจนับดาวได้นับพันดวง แต่นั่นก็ยังไม่ได้เศษเสี้ยวของฝูงดวงดาวที่เรียงรายอยู่ในห้วงอวกาศที่แสนกว้างใหญ่ของกาแล็กซี่ทางช้างเผือก ซึ่งประมาณกันคร่าวๆ ว่าน่าจะมีดวงดาวมากมายถึงแสนล้านดวง

มนุษย์ช่างดูจิ๋วจ้อยในห้วงอวกาศอันไพศาล แต่มวลมนุษยชาติก็แบ่งแยกอาณาเขตครอบครองไปทั่วทั้งผืนพิภพ และรวมตัวกันสร้างสิ่งที่น่าอัศจรรย์เอาไว้มากมาย…

บางทีอะไรที่เล็กจิ๋วก็อาจจะมีศักยภาพยิ่งใหญ่ ยิ่งหากรวมตัวกันได้ อาจจะทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด

“โคโลนีของมดมีสติปัญญามากกว่ามดตัวเดี่ยวๆ อย่างมากมายมหาศาล” เอ็ดเวิร์ด ออสบอร์น วิลสัน (Edward Osborne Wilson) หรือเอ็ด (Ed) หรือ “อี โอ วิลสัน (E.O. Wilson)” คือนักชีววิทยาผู้ปราดเปรื่องเรื่องมด เจ้าของฉายา “The Ant Man” กล่าว

เอ็ดมาจากครอบครัวที่แตกแยก พ่อกับแม่ของเขาทะเลาะกันรุนแรงและแยกทางกันตอนเขาอายุได้เพียง 7 ขวบ หลังจากที่ครอบครัวของเขาหย่าร้างไม่ถึงปี เอ็ดก็ประสบอุบัติเหตุเข้าที่ตาในระหว่างตกปลา ซึ่งแม้จะเขาทรมานอย่างสาหัส แต่ก็ไม่ยอมปริปาก เพราะกลัวที่จะต้องกลับบ้าน เขารักที่จะสำรวจและเอ็นจอยกับกิจกรรมนอกบ้านมากกว่า

หลังจากอุบัติเหตุ เอ็ดก็ยังไม่ยอมไปพบแพทย์ และในท้ายที่สุด เลนส์ตาของเขาก็ค่อยๆ ขุ่นขึ้นเรื่อยๆ จนต้องผ่าตัดลอกเลนส์ออก ซึ่งทำให้สายตาของเขามีวิสัยที่จะเห็นได้แค่เพียงระดับ 20/10 มองเห็นโฟกัสได้แต่ของเล็กๆ โลกของเขาจึงไม่ได้เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ

“ผมมองเห็นผีเสื้อและมดได้ชัดกว่าเด็กคนอื่นๆ มาก และนั่นทำให้ผมเริ่มสนใจพวกมันไปเองโดยปริยาย” เอ็ดเล่า เขาเริ่มสะสมผีเสื้อตั้งแต่อายุ 9 ขวบ และเริ่มซีเรียสขึ้นตอนอายุ 18 ปี ในตอนนั้นเขาอยากเรียนกีฏวิทยา แต่ก็ประจวบเหมาะกับในช่วงนั้นเป็นช่วงกลางสงครามโลกครั้งที่ 1 หมุดปักตรึงแมลงราคาขึ้น เอ็ดก็เลยเริ่มเบนความสนใจไปศึกษามดแทน

เอ็ดศึกษาเรื่องมดจนรู้แจ้ง ขนาดที่เซอร์ เดวิด แอตเทนโบโร (Sir David Frederick Attenborough) ผู้บรรยายชื่อดังจากบีบีซีออกปากขนานนามเขาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเบอร์หนึ่งของโลกด้านมด

“ไม่ว่าจะไปที่ไหน อาจจะยกเว้นแอนตาร์กติกาหรือแถบไฮจ์อาร์กติก (high arctic) ซึ่งผมก็ไม่ไปแถวนั้นอยู่ดี เพราะไม่มีมด แต่ไม่ว่าวัฒนธรรมมนุษย์จะต่างกันมากแค่ไหน หรือสภาพแวดล้อมในธรรมชาติจะต่างออกไปมากเพียงไร ก็ยังมีมดอยู่ดี” เอ็ดให้สัมภาษณ์ “พวกมันยึดครองทุกที่ แค่ที่เรารู้จักแล้ว ก็มีมากถึงหมื่นสี่พันชนิดแล้ว แต่ละชนิดก็จะผิดแผกแตกต่างกันไปทั้งในเชิงกายวิภาค พฤติกรรมสังคม ไปจนถึงประวัติศาสตร์”

แม้จะแอบน่ารำคาญเวลามาขึ้นอาหาร ขนม กับข้าว ที่วางไว้ หรือเดินขบวนอยู่ตามผนังตอนที่เราไปพิง มดมีบทบาทที่สำคัญมากในอารยธรรมมนุษย์ พวกมันมีส่วนในแทบทุกเรื่องในชีวิตของเรา แทรกซึมอยู่ในบทละคร ในบทกวี ในบทเพลงกล่อมเด็กนอน ในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ ไปจนถึงเป็นส่วนหนึ่งของรสชาติอันโอชะในอาหารพื้นถิ่นในบางที่

ในระบบนิเวศ เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อาหาร ช่วยพรวนดิน ช่วยให้เกิดการย่อยสลาย ช่วยในการงอกของต้นกล้า ไปจนถึงมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับแมกไม้บางชนิดและสังคมจุลินทรีย์ที่ช่วยเสริมความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนป่า

แล้วในโลกนี้ มีมดทั้งหมดอยู่กี่ตัว?

เอ็ดและเบิร์ต ฮอลล์ดอบเลอร์ (Bert H?lldobler) เพื่อนนักวิจัยชีววิทยารุ่นใหญ่จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา (Arizona State University) ได้เคยกะประมาณเอาไว้คร่าวๆ ในช่วงยุคทศวรรษที่ 1990s ว่าน่าจะมีอยู่ราวๆ หมื่นล้านล้านตัวทั่วโลก หรือถ้าเขียนเป็นตัวเลขก็คือ 10,000,000,000,000,000 ตัว

แต่มีเท่านั้นจริงๆ หรือเปล่า คงบอกยาก เพราะสองนักวิทย์รุ่นเดอะเค้าเน้นกะจากประสบการณ์ล้วนๆ

หลายคนคงถามว่าแล้วจะนับมดทุกตัวในโลกไปเพื่ออะไร?

“เรื่องนี้เร่งด่วนเพราะสภาพภูมิอากาศของเราเปลี่ยนแปลง นักวิทยาศาสตร์ต้องรู้จำนวนมดทุกตัวในโลก รวมถึงสัตว์และแมลงอื่นๆ ที่อยู่บนโลกด้วยเพราะวิกฤตภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนี้เป็นภัยคุกคามที่ระอุขึ้นมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ไปขับดันให้อุณหภูมิโลกมันเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้พวกสิ่งมีชีวิตพวกนี้เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์” มาร์ก หว่อง (Mark Wong) นักวิจัยนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย (University of Western Australia) กล่าว

หว่องเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยนานาชาติที่นำโดยแพทริก ชูลเทอิส (Patrick Schultheiss) จากมหาวิทยาลัยวูร์ซเบิร์ก (University of W?rzburg) ประเทศเยอรมนี ที่พยายามประมาณจำนวนมดให้ได้เป๊ะที่สุด

พวกเขาเลือกที่จะสกัดข้อมูลด้านความหลากหลายและจำนวนประชากรของมดจากเปเปอร์ที่ตีพิมพ์ออกมาแล้วมากถึง 489 เปเปอร์ ใน 7 ภาษา (อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย จีนกลาง และโปรตุเกส) และในพื้นที่สภาพภูมิประเทศที่ต่างๆ กันไป ทั้งในเมือง ในป่า ในทุ่งหญ้า หรือแม้แต่ในทะเลทราย

และเลขที่ออก คือ สองหมื่นล้านล้านตัว หรือเลขสองแล้วตามด้วยศูนย์อีกสิบหกตัว ซึ่งในมุมของแพทริกถือว่าเยอะมากจนน่าตกใจ

“พวกเรายังจินตนาการไม่ได้เลยว่าถ้ายกตัวอย่างว่าให้เอามดสองหมื่นล้านล้านตัวมากองรวมกันเป็นกองเดียวจะเป็นยังไง มันแค่นึกไม่ออก” แพทริกกล่าว และถ้ามองย้อนกลับไปเทียบกับตัวเลขที่สองผู้เฒ่า เอ็ดกับเบิร์ตได้ทำนายไว้ ก็ต้องบอกว่าตัวเลขที่ได้นั้นใกล้เคียงกันจนน่าประทับใจ (จากการประมาณการเช่นนี้ ถ้ายังไม่ต่างกันเกิน 10 เท่า ถือว่าใกล้เคียง)

“ในกรณีของอี โอ วิลสัน เขาก็แค่เป็นคนที่ฉลาดเป็นกรด เขารู้เรื่องมดอย่างหาตัวจับยากและยังมีกิ๋นด้วย” แพทริกชื่นชม

และถ้าเอามวลของมดทั้งหมดบนโลกนั้นรวมกัน จะเท่ากับมวลคาร์บอนแห้งขนาดราวๆ 12 เมกะตัน ซึ่งมากยิ่งกว่ามวลรวมของนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดบนโลกเสียอีก

แม้จะคำนวณมาอย่างมีหลักการดีเพียงไร งานวิจัยส่วนใหญ่ก็ยังจะมีจุดอ่อน เพราะตัวเลขนี้ ก็ยังอาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่สะท้อนความเป็นจริงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ “ข้อมูลของสถานที่เก็บตัวอย่างในฐานข้อมูลของพวกเขานั้นมีการกระจายตัวอย่างไม่เท่าเทียมในแต่ละพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ (และถิ่นที่อยู่) ตัวอย่างส่วนใหญ่นั้นจะเก็บมาจากระดับพื้นดินแทบจะทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าข้อมูลเกี่ยวกับมดที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ หรือทำรังใต้ดินนั้นจะมีน้อยกว่ามาก ซึ่งทำให้การค้นพบนี้ไม่สมบูรณ์

เป็นไปได้ว่าจำนวนมดที่แท้จริงอาจจะมากกว่าที่คำนวณได้นี้ก็เป็นได้ กระนั้น พวกเขาก็ยังสามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยออกมาได้ในวารสารวิชาการชั้นนำอย่าง Proceedings of National Academy of Sciences USA เพราะงานวิจัยที่ดูพื้นฐานเช่นนี้มีความสำคัญยิ่งในโลกที่ทุกสิ่งผันผวนไปได้ไว

แนวโน้มการลดลงของแมลงนั้นทำให้นักวิจัยกลุ่มใหญ่เริ่มวิตก เปเปอร์เรื่อง Worldwide decline of the entomofauna : A review of its drivers ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biological Conservation ในปี 2019 ได้ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า “มีโอกาสที่สปีชีส์ของแมลงมากกว่าสี่สิบเปเปอร์อาจจะถึงกาลอวสานในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้”

ซึ่งหากเป็นจริง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบนิเวศ ที่คงบอกยากว่าจะส่งผลอะไรบ้างกับมนุษยชาติ แต่ที่เดาได้คือไม่น่าจะดี…

แพทริกหวังว่าหากพวกเขาเพิ่มจำนวนเปเปอร์ที่ใช้วิเคราะห์ให้มากขึ้น ให้ครอบคลุมประเทศมากขึ้น อาจจะให้ถึงพันเปเปอร์ และกระตุ้นให้มีการทำสำรวจบ่อยๆ พวกเขาก็จะได้ไอเดียดีๆ ที่จะช่วยติดตามจำนวนประชากรของแมลงที่มีประโยชน์ได้ อย่างน้อยก็เป็นระบบช่วยเตือนให้เราได้รู้ว่าเมื่อไรที่ปัญหาเริ่มที่จะเหลือบ่ากว่าแรง

เผื่อว่าจะมีใครสักคนที่หาวิธีตัดไฟแต่ต้นลมแล้วช่วยยับยั้งไม่ให้การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เปรียบเสมือนฝันร้ายที่น่าสะพรึงกลัวนั้นกลายเป็นความจริง

และถ้าคิดอีกที ไม่แน่ว่าเรื่องนี้ก็อาจจะไม่ได้ยากเกินกว่าความสามารถของมนุษย์จิ๋วจ้อยแห่งห้วงอวกาศในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกอันไพศาลนี้ก็เป็นได้

อย่างที่เอ็ดว่าไว้ “โคโลนีของมดมีสติปัญญามากกว่ามดตัวเดี่ยวๆ อย่างมากมายมหาศาล” สำหรับคนก็ไม่ต่างกัน

บางทีอะไรที่เล็กจิ๋วก็อาจจะสรรค์สร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้ หากเราร่วมมือกัน