คำ ผกา | ฮีโร่เงินออม กล่อมประสาท

คำ ผกา

ได้อ่านเรื่อง “แม่บ้านเงินล้าน” ซึ่งเป็นข่าวเก่าตั้งแต่ปี 2561-2562 แต่ยังมีคนแชร์และเผยแพร่เรื่องนี้ในโซเชียลมีเดียอยู่เนืองๆ ซึ่งเล่าสั้นๆ ได้ดังนี้

“เธอชื่อพี่หนู” เป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 14 ปี เงินเดือนเริ่มต้น 1,400 บาท ทำอยู่ 10 ปี เงินเดือนสุดท้าย 2,500 บาท (แสดงว่าตอนนั้นอายุ 24 ปี) ไม่มีเงินเก็บเพราะทุกบาททุกสตางค์ส่งให่พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดทั้งหมด ตนเองกินอยู่กับเจ้านาย

ต่อมาสมัครงานเป็นแม่บ้านที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ค่าแรงรายวันคือ 165 บาท (ปี 2544) ได้เบี้ยขยันและเงินพิเศษอีกเดือนละ 1,500 บาท อาสาทำงานล่วงเวลาตลอด

“พี่หนู” มีรายได้เดือนละ 15,000 บาท มีรายจ่ายที่เป็นค่าเช่าและค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 2,800-2,900 บาท พยายามใช้จ่ายไม่ให้เกินเดือนละ 6,000 บาท ที่เหลือเป็นเงินออม

ต่อมาในปี 2554-2555 ได้เข้าร่วมโครงการ Happy money Happy Retirement ตอนนี้ “พี่หนู” มีเงินออมในกองทุน 2 ล้านบาท มีที่ดินต่างจังหวัด 10 ไร่

ฉันได้อ่านเรื่องนี้จากหลายสื่อ และแน่นอนว่ามันเป็นข่าว feel good ที่ใครๆ ก็ชอบอ่าน อ่านแล้วก็อยากแชร์เป็นแรงบันดาลใจ

และแน่นอนว่ามันเป็น “เรื่องเล่า” ที่สอดคล้องกับ “เรื่องเล่า” ที่ฝังหัวเรามาตลอดชีวิตคือ คนเราจะสุขสบาย มั่งคั่งได้ เราต้องขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน

เรื่องราวของ “พี่หนู” จึงเป็นอุทาหรณ์สอนใจเราได้เป็นอย่างดีว่าคนขยันไม่มีวันอด!

ส่วนคนที่ยากจน เป็นหนี้ ทั้งในระบบ นอกระบบ ต้องหันมาทบทวนตนเองว่า ขยันพอไหม? อดทนพอไหม? มีวินัยทางเงินหรือไม่? แทงหวยหรือเปล่า? ดื่มเหล้าหรือเปล่า? ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เกินฐานะหรือเปล่า?

สอดคล้องกับ “เรื่องเล่า” อีกด้านหนึ่งคือประวัติของเจ้าสัวทุกคนในเมืองไทย ถ้าไม่เสื่อผืนหมอนใบ ขยัน ประหยัด อดทน ก็เป็นลูกเจ้าของกิจการที่ผ่านชีวิตยากลำบากเพราะถูกครอบครัวกดดนให้รับผิดชอบธุรกิจ สุดท้ายก็ผ่านมันมาได้ และสร้างอาณาจักรธุรกิจอันยิ่งใหญ่

คนไทยชอบอ่านเรื่องอะไรอย่างนี้มาก แม่บ้านเงินล้าน รปภ.ผู้ขยันอ่านหนังสือจนสอบได้เป็นปลัดอำเภอ

แต่เราไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมสังคมไทย อาชีพ รปภ.ถึงต้อยต่ำกว่าปลัดอำเภอ ทำไมสองอาชีพมีศักดิ์ศรีไม่เท่ากัน

ตรงกันข้าม แทนที่เราจะให้ รปภ.อยากเป็นปลัดอำเภอ ทำไมเราไม่คิดว่า อาชีพ รปภ. เป็นอาชีพที่ได้รับการพัฒนาทักษะ ฝึกฝนอบรม ต่อยอดความรู้ รปภ. สามารถเข้ารับการเรียนผ่านหลักสูตรระยะสั้น เพื่อยกระดับจากอาชีพ รปภ.ระดับสาม ไปสู่ระดับสอง ระดับหนึ่ง จาก รปภ.บ้านจัดสรร อาจเลื่อนสายงานไปสู่ รปภ.สถานทูต ที่ต้องใช้บุคลิก ความรู้ ทักษะ ความสามารถที่ซับซ้อนขึ้น

หรือควรพูดเรื่องเงินเดือน สวัสดิการของ รปภ. คุณภาพชีวิต และโอกาสที่จะเรียนต่อ เปลี่ยนสายงานจาก รปภ. ไปสู่อาชีพอื่นๆ ซึ่งมันจะเกิดได้ง่ายขึ้น ถ้าอาชีพ รปภ. เป็น “แรงงาน” ที่ได้รับการคุ้มครองทางสวัสดิการและรายได้อย่างเป็นธรรม

แต่มายด์เซ็ต ชื่นชม รภป. ที่สอบเป็นปลัดคือมายด์เซ็ต “ข้าราชการคือเจ้าคนนายคน” ราชการมีสวัสดิการเหนือกว่าอาชีพอื่น ดังนั้น เราจะไม่พูดเรื่องการคุ้มครองแรงงานของคนในอาชีพต่างๆ แต่หันมาสนับสนุนให้คนพยายามไปเป็นข้าราชการแทน มิพักต้องพูดถึงเงินเดือนอันน้อยนิดของข้าราชการ

แต่คนก็อยากเป็นข้าราชการเพราะ “อำนาจ” ที่มากับตำแหน่งหน้าที่ใช้แสวงหาผลประโยชน์ได้

กลับมาที่เรื่อง “แม่บ้านเงินล้าน” ฉันรู้สึกประหลาดกับการเลือกเล่าเรื่องที่ “ชวนฝัน” มากกว่าพิจารณาข้อเท็จจริง

จากการปะติดปะต่อไทม์ไลน์จากข่าวที่อ่าน เธอเกิดปี 2516 แทนการอ่านชวนฝัน ฉันคิดว่าสิ่งแรกที่เราควร “เอ๊ะ” คือ ที่เธอบอกว่าเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 14 นั่นคือ ปี 2530 เธอได้รับเงินเดือนจากอาชีพแม่บ้านเดือนละ 1,500 บาท เท่ากับวันละ 50 บาท

การใช้แรงงานเด็กอายุ 14 ปี ยังไม่ถึงเกณฑ์มีบัตรประชาชนก็ว่าแย่แล้ว ยังได้ค่าแรงเพียงวันละ 50 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำในปี 2530 อยู่ที่ 72 บาท แน่นอนนายจ้างย่อมอ้างว่า รวมค่ากินค่าอยู่ ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า การให้แม่บ้านอาศัยกิน-อยู่กับนายจ้างโดยหักค่าแรงที่พึงได้ออกไป เท่ากับนายจ้างเก็บค่าเช่าบ้านจากลูกจ้างของตนเองใช่หรือไม่?

และการที่ลูกจ้างกินอยู่ในบ้าน ควรได้เงินเพิ่ม ไม่ใช่ถูกหักเงิน เพราะเท่ากับว่า อยู่ในภาวะ “ถูกเรียกใช้” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นสิ่งที่คาบเกี่ยวระหว่างการเป็น “แม่บ้าน” ตามกฎหมายแรงงาน

หรือเป็นระบบ “บ่าวไพร่” ในสังคมสมัยใหม่ที่ลูกจ้างต้องเสี่ยงดวงเอาเองว่าจะเจอนายจ้างแบบไหน?

ที่เราพึงตระหนักกว่านั้นคือ เธอต้องส่งเงินทุกบาทกลับไปให้ครอบครัวที่ต่างจังหวัด แทนที่เราจะชื่นชมในความกตัญญู และความขยัน ซื่อสัตย์ อดออมของเธอ

สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามอย่างที่สุดคือ สังคมแบบนี้หรือที่เราต้องการ

สังคมที่ออกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองที่ผลักภาระอันควรเป็นของรัฐบาล มาอยู่บนบ่าของปัจเจกบุคคล โดยอาศัย “คุณค่า” และ “ค่านิยม” ตามขนบประเพณีว่า ลูก โดยเฉพาะลูกสาวที่บวชทดแทนบุญคุณพ่อแม่ไม่ได้ มีหน้าที่ออกจากบ้านไปทำงาน และส่งเงินเลี้ยงดูพ่อแม่

เด็กหญิงอายุ 14 ปีควรจะได้เรียนหนังสือ และเมื่อเธอเรียนจบไปทำงาน เธอควรได้ใช้เงินนั้นเพื่อตัวเธอเอง

แต่การที่เด็กอายุ 14 ดูดซับภาระการเลี้ยงดูพ่อแม่ แทนที่จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่พึงทำให้พลเมืองมีอาชีพ มีงาน มีเงิน มีสวัสดิการพื้นฐาน แทนการเรียกร้องให้รัฐบาลบริหารประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาส กระจายความมั่งคั่ง

กลายเป็นว่าประเทศนี้พลเมืองถูกสอนว่า เรามีลูกเพื่อให้ลูกเลี้ยงเราตอนแก่ และถ้าเราเป็นลูก เราต้องเสียสละ เลี้ยงดูพ่อแม่ ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นลูกเนรคุณ และเวรกรรมจะตามสนอง วันหนึ่งถ้าเรามีลูก ลูกก็จะไม่เลี้ยงดูเราด้วย

สรุปคือ เราโตมาแบบมีรัฐบาลไว้กราบไหว้บูชา ไว้เป็นนายเหนือหัว ส่วนภาระหน้าที่ในการสร้างคุณภาพชีวิตนั้นเราคิดว่าเป็นหน้าที่ของเราเอง เป็นหน้าที่ของพ่อแม่เรา และเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่ต้องตอบแทนบุญคุณของเรา

และจนปี 2544 เมื่อมาเป็น “แม่บ้าน” เธอได้ค่าแรงเพียงวันละ 155 บาท หรือเดือนละ 4,650 บาท นี่คือนับรวมเสาร์-อาทิตย์ให้แล้ว

แทนการโฟกัสที่มีเงินในกองทุนสองล้าน ฉันคิดว่าเราควรแบ่งใจมาตระหนักกับค่าแรงน้อยนิดของแรงงานไทย

ในขณะที่เราชื่นชมที่เธอออมเงินเดือนละ 2,000 บาท เราควรอยากรู้ด้วยว่าสภาพบ้านเช่าที่เธอบอกว่าใกล้ที่ทำงานราคาเดือนละสามพันบาทรวมค่าน้ำค่าไฟนั้นมีสภาพอย่างไร?

ยังไม่ต้องถามว่า จะจัดการงบประมาณกับอาหารสามมื้อต่อวันและค่าเดินทาง ว่ามีรายละเอียดอย่างไร?

เช่น แรงงานในกรุงเทพฯ จำนวนมากขนข้าวสารจากต่างจังหวัด มีแม้กระทั่งร้านข้าวแกงในกรุง ที่ขายได้ในราคาที่ต่ำมาก ใช้การดูดซับต้นทุนจากการเอาข้าวมาจาก “นา” ต่างจังหวัด ที่ตรงนี้ไม่ถูกคำนวณเป็นต้นทุน ซึ่งต้นทุนในที่นี้อาจหมายถึงการส่งเงินให้ญาติที่ต่างจังหวัดที่ยังทำนาอยู่

ฉันคิดว่าเรื่องการออมนั้นสำคัญมาก วินัยทางการเงินสำคัญและต้องมี literacy ทางการเงินเป็นเรื่องที่ต้องเรียนต้องสอน

แต่สิ่งที่ขาดหายไปอย่างยิ่งในข่าวนี้คือ เราไม่เอะใจเลยว่าสังคมเราผิดปกติมากที่ใครสักคนเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 14 วันนี้อายุ 47 ยังมีเงินเดือนแค่ 15,000 บาท

และเราควรเอะใจอย่างหนักว่า มันยุติธรรมไหมกับการอยู่ในคุณภาพชีวิตที่คาบเส้นสุดๆ เพื่อให้เหลือเงินออมเดือนละสองพันบาท

แทนการหาฮีโร่ผู้ใช้แรงงานผู้มัธยัสถ์กับเงินออมสองล้านบาท เราควรคุยกันว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันสอดล้องกับค่าครองชีพหรือไม่?

แทนการผลักภาระออมเงินให้ปัจเจกบุคคลไปบีบเค้นชีวิตตนเองให้กระเบียดกระเสียร เราควรพูดเรื่องหน้าที่ของรัฐในการสร้างโครสร้างพื้นฐานเรื่องที่อยู่อาศัย โครงบ้านบ้านเช่าระยะยาวคุณภาพดี ราคาถูก สำหรับผู้มีรายได้น้อย ระบบประกันสังคม กองทุนเกษียณ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เงินออมสองล้านของ “พี่หนู” สามารถหายวับไปกับตาถ้าประเทศนี้ไม่มีสามสิบบาทรักษาทุกโรค – เราได้ตระหนักในเรื่องนี้หรือไม่?

หรือใครสักคนขยัน ประหยัด เหมือนพี่หนูเป๊ะๆ แต่อาจเจอกับความพลิกผันของชีวิตที่ไม่คาดฝัน สามีประสบอุบัติเหตุ พิการ ลูกถูกเลย์ออฟจากงานเพราะโควิด พ่อแม่ป่วยติดเตียง ไม่มีคนดูแล ต้องลาออกจากงานไปดูแลพ่อแม่

ฉันเคยอ่านเรื่องพนักงานนวดแผนไทยที่มีเงินเก็บเป็นล้าน ซื้อที่ดิน แต่ต้องมาหมดเนื้อหมดตัวอันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด

 

ดังนั้น มากกว่าการพูดเรื่องฮีโร่เงินออม เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าคือ รัฐบาลของเราสร้าง social security อะไรให้กับพลเมืองที่เสียภาษีให้กับรัฐบ้าง?

และที่ขาดหายไปในข่าวคือไม่มีใครพูดว่าเงินออมนั้นมูลค่าจะหายไปอีกเท่าไหร่กับภาวะผันผวนของตลาดและอัตราเงินเฟ้อ

“พี่หนู” เป็นบุคคลที่น่าชื่นชม ถูกต้อง แต่ “สื่อ” ที่เสนอข่าวนี้บกพร่องในการมุ่งเล่าเรื่องโดยละเว้น “ข้อเท็จจริง” และ “เงื่อนไขที่เป็นจริง” เพียงเพราะอยากสร้าง “เรื่องเล่าฝันหวาน” กล่อมประสาทคนต่อไปโดยมักง่าย