Thai Cave Rescue / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

Thai Cave Rescue

 

“แม่กูเคยบอกว่า ความกล้าคือไม่ใช่ไม่กลัว แต่ถึงมึงจะกลัว มึงก็ต้องทำ”

เป็นคำพูดหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์เรื่อง Thai Cave Rescue : ถ้ำหลวง ภารกิจแห่งความหวัง ที่ฉายทาง Netflix อยู่ตอนนี้

เป็นคำพูดของตัวละครหมูป่าคนหนึ่งที่พูดกับเพื่อนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงด้วยกัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ซีรีส์เรื่องนี้ต้องการสื่อสารกับผู้ชม เพราะทั้งเรื่องมีความกลัวเกิดขึ้นมากมายในตัวละครแต่ละคน

ทั้งกลัวที่จะตายอยู่ในถ้ำของ 13 สมาชิกทีมหมูป่า

ทั้งกลัวว่าลูกของตนจะไม่มีโอกาสกลับออกมาสู่อ้อมอกอีกครั้งของผู้เป็นพ่อเป็นแม่

ทั้งกลัวว่าภารกิจจะล้มเหลวของนักประดาน้ำและทีมกู้ภัย แม้จะทุ่มกันสุดตัวเพียงใดแล้วก็ตาม

ทั้งกลัวว่าจะโดนเล่นงานหากมีอะไรผิดพลาดขึ้นมา ของตัวละครที่ติดแหง็กอยู่กับระบบราชการ

และทั้งกลัวว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่นี้ มันดีที่สุดแล้วจริงหรือ?

เรื่องของภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวงเมื่อ 4 ปีก่อน ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ที่คนทั้งโลกให้ความสนใจดังที่ทราบกันแล้ว เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นลงอย่างเหลือเชื่อ ก็ได้มีการนำเรื่องราวมาสร้างเป็นภาพยนตร์ให้ได้ชมกัน ที่ออกสู่สายตาไปแล้วก็มี 4 ผลงานด้วยกันคือ

“The Cave นางนอน” ที่ออกมาก่อนแบบมาไว เคลมไว ในปี 2562 เป็นภาพยนตร์ที่เล่าผ่านตัวละครนักประดาน้ำต่างชาติ ที่ได้ตัวจริงมาร่วมแสดงด้วย

“The Rescue” ตัวนี้เป็นสารคดีจาก National Geographic ที่นำฟุตเทจหายากมาเล่าร้อยเรียงผ่านการบอกเล่าของบุคคลจริงๆ ออกมาให้เราดูไปเมื่อปี 2564

“Thirteen Lives” ออกฉายในต้นเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีความเป็นภาพยนตร์เต็มที่ ด้วยฝีมือการสร้างของทีมงานต่างประเทศเป็นหลัก ปักหลักถ่ายทำกันที่ประเทศออสเตรเลียที่เนรมิตฉากถ้ำขึ้นมาอย่างสมจริง และเล่าผ่านมุมมองของทีมนักประดาน้ำต่างประเทศเป็นหลัก

สำหรับเรื่องล่าสุด “Thai Cave Rescue” นั้น เพิ่งออกฉายเมื่อ 22 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง เป็นภาพยนตร์ซีรีส์จำนวน 6 ตอน โดยการสร้างของ Netflix อำนวยการสร้างโดยทีมต่างประเทศ และกำกับฯ โดยผู้กำกับฯ คนไทยสองคน คือ เควิน ตันเจริญ และนัฐวุฒิ พูนพิริยะ

ซีรีส์เรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องก่อนๆ ที่มีการเล่าเรื่องผ่านตัวละคร 13 สมาชิกทีมหมูป่าและครอบครัว โดยเดินคู่ไปกับตัวละครแวดล้อมหลากหลาย ทั้งตัวละครที่มีอยู่จริง เช่น ผู้ว่าฯ ณรงศักดิ์, จ่าแซม, หมอภาคย์, นักประดาน้ำต่างชาติ และมีการเพิ่มตัวละครสมมุติขึ้นมาเพื่อความหลากหลายของการนำเสนอด้วย

ด้วยความยาว 6 ตอน ตอนละ 45 นาที ทำให้ผู้เขียนบทสามารถเล่าในรายละเอียดได้มาก โดยเฉพาะเรื่องราวของครอบครัวของเด็ก 12 คนและโค้ชเอก ที่ทำให้ผู้ชมรู้จักและผูกพันกับพวกเขาได้มากขึ้น

เมื่อถึงบทสะเทือนใจจึงช่วยส่งหนังให้ทำหน้าที่ออกมาได้อย่างที่ตั้งใจ

สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ชมคล้อยตามได้มากขึ้นคือ การไม่ใช้นักแสดงจริงมาเล่น นอกจากตัวละครเด่นๆ อย่างโค้ชเอกที่รับบทโดย “บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์” และ “เกรซ-อลิศรา วงษ์ชาลี” ที่รับบทแม่ของเด็กหมูป่าที่ชื่อมาร์ค จึงสร้างความเชื่อให้ผู้ชมได้อย่างมาก

ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมคนแคสติ้ง คือ ปุ้ย-ศุภกาญจน์ ยินดี ที่ทำหน้าที่ได้อย่างดี

ในหนังเราจะได้เห็นการพูดภาษาถิ่นและภาษาต่างประเทศ เป็นความหลากหลายที่ดูสมจริง ทราบมาว่าเป็นความต้องการของผู้สร้างและคนเขียนบทที่อยากถ่ายทอดความสมจริงให้มากที่สุด เบื้องหลังคือความยากของการทำงาน ที่ต้องมีผู้รู้ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้งในขั้นตอนการทำบท และระหว่างการถ่ายทำตลอดเวลา

เรื่องการใช้ภาษาต่างถิ่นในหนังระดับสากลนี้ สำหรับบางค่ายมีการกำหนดไว้อย่างถี่ถ้วนเลยว่าจะสามารถใช้ได้หรือไม่ ใช้ได้กี่ภาษาในเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ แต่เรื่องนี้ผู้สร้างอย่าง Netflix ใจป้ำ ไฟเขียวให้เดินหน้าเต็มที่สำหรับเรื่องที่ว่านี้

อย่างที่บอกว่ามีการเพิ่มตัวละครสมมุติขึ้นมา และหลายตัวก็เป็นผู้หญิง ซึ่งหนังได้สะท้อนให้เห็นถึงความยากในการ “มีตัวตน” ของผู้หญิงในเหตุการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายนี้

หนังให้ผู้หญิงทั้ง 3 คน คือ “พิม” เจ้าหน้าที่ป่าไม้, “นุ่น” นักศึกษาฝึกงานที่กรมอุตุนิยมวิทยา, “เคลลี่” วิศวกรด้านอุทกวิทยา ต้องมีความเชื่อมั่นสูงผสมความดื้อเพื่อต่อสู้กับความคิดของผู้ชายในเรื่อง เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเธอก็สามารถช่วยเหลือในเหตุการณ์วิกฤตนี้ได้เช่นกัน เป็นอีกมุมที่ขอชื่นชมในการสร้างตัวละครและปรุงบทให้มีน้ำหนักไปกับเรื่องได้โดยไม่ยัดเยียดเกินไป

สำหรับนักแสดง โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ในบท “พิม” กับ ญาญา-อุรัสยา สเปอร์บันด์ ในบท “เคลลี่” ทำหน้าที่สวมบทตัวละครได้อย่างดี ติดแต่เคลลี่ดูสวยเกินไปหน่อยแค่นั้น

แต่ที่ชื่นชอบเป็นพิเศษคือ ดารินา บุญชู ในบท “นุ่น” เธอเป็นนักแสดงที่ผู้ชมไม่คุ้นหน้า แต่ก็ทำให้เชื่อได้ถึงความเป็นเด็กฝึกงานที่มุ่งมั่นในแบบของนุ่นได้ ไม่ล้นมากเกินไป และมีท่าทีการแสดงที่น่าสนใจ เป็นธรรมชาติ เวลาเข้าฉากกับนักแสดงมีชื่อก็ไม่ถูกกดให้จม

หากจะว่าไปแล้ว นอกจาก 13 หมูป่าที่เป็นแกนกลางของเรื่องที่อยู่ภายในถ้ำแล้ว นอกถ้ำก็มีตัวละครอย่าง ผู้ว่าฯ ณรงศักดิ์ โอสถธนากร เป็นศูนย์กลางของเรื่องเช่นกัน ซึ่งบทที่เขียนเปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสกับผู้ว่าฯ ณรงศักดิ์ ในมุมที่เป็นมนุษย์จริงๆ ที่มีทั้งความกังวล ความกลัว ความกล้า ความเชื่อมั่น ความลังเล สับสน ซึ่งดีใจที่ไม่ทำให้ตัวละครผู้ว่าฯ เป็นพระเอกมากเกินไป

ต้องชื่นชมนักแสดงอย่าง “เอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์” ที่สวมบทผู้ว่าฯ ออกมาได้อย่างดี บนความเข้มแข็งเมื่อต้องอยู่ในหน้าที่ เราก็ได้เห็นความเปราะบางเมื่อเวลาที่อยู่กับตนเอง หลายครั้งที่ตัวละครของผู้ว่าฯ ก็ต้องคอยตั้งคำถามให้กับตัวเองถึงสิ่งที่เผชิญอยู่ตรงหน้า

ตอนที่เราติดตามข่าวในเหตุการณ์จริงก็รู้ล่ะว่า ท่านแบกรับภาระที่หนักหนาสาหัสมาก และทุกฝ่ายก็ชื่นชมในการตัดสินใจและการบัญชาการของท่านในเรื่องอันแสนยากเข็ญนี้ แต่เมื่อมาดูซีรีส์เรื่องนี้แล้ว ยิ่งทำให้เราเข้าใจในตัวผู้ว่าฯ มากขึ้นไปอีกว่า ท่านต้องเดิมพันกับ “ชีวิต” ของคนไม่รู้ต่อกี่คน ที่ไม่ใช่แค่ 13 ชีวิตในถ้ำเท่านั้น ยิ่งถ้าสุดท้ายหากผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งอย่างที่เป็น ชีวิตที่เหลือของท่านจะเป็นอย่างไร

การที่คนเราจะผ่านอะไรอย่างนี้มาได้นั้นต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก กล้าในสิ่งที่ตัดสินใจทำ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกเป็นเช่นไร

สําหรับบทโค้ชเอก ที่ บีม ปภังกร แสดงนั้น เราได้เห็นฝีมือที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ของนักแสดงอนาคตไกลคนนี้หากว่าเขายังอยู่ เสียดายที่หลังเสร็จสิ้นการถ่ายทำไม่นาน บีมต้องมีอันจบชีวิตไปเสียก่อน จึงเป็นผลงานชิ้นเอกที่ตนเองไม่มีโอกาสได้ชื่นชม

บีมเล่นกับความรู้สึกที่ต้องเก็บซ่อนไว้ เพราะต้องเป็นเสาหลักให้เด็กทั้ง 12 คนให้รอด ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าจะรอดไหม ต้องเข้มแข็งทั้งที่จริงๆ ก็แอบหวั่นไหว และที่สำคัญคือรู้สึกผิดตลอดเวลาที่ตนเป็นคนพาเด็กให้มาติดอยู่ในถ้ำ และอาจไม่มีชีวิตรอดออกไป

ในชีวิตจริง ต้องชื่นชมโค้ชเอกอย่างมากที่ดูแลให้เด็กๆ ทั้ง 12 คนมีชีวิตรอดอยู่มาจนเหล่านักประดาน้ำไปพบตัว กับเวลากว่า 10 วันในถ้ำมืดๆ ที่ไม่มีอาหาร และอากาศที่ลดน้อยลง ต้องผจญกับความหนาวเหน็บ และความหวาดกลัว แต่ทุกคนยังอยู่รอดปลอดภัยมาได้ หากไม่ใช่การมีสติแล้ว คงยากยิ่งนัก

กรณีนี้ทำให้รู้ว่า การอยู่กับปัจจุบันสำคัญที่สุด ช่างเถิดว่าอะไรทำให้ต้องมาติดอยู่ในถ้ำ ช่างเถิดว่าจะมีใครมาช่วยหรือไม่ เมื่อไหร่ แต่เมื่อติดแล้วก็หาหนทางอยู่แบบติดถ้ำให้รอดที่สุด ลองคิดดูว่า ถ้าเรื่องจริงเป็นว่า นักประดาน้ำสามารถพบตัวพวกเด็กๆ แล้วก็จริง แต่ทั้งหมดไม่มีชีวิตแล้ว หรือ มีบางคนที่เสียชีวิตลงไป

เหตุการณ์และความรู้สึกสูญเสียจะเป็นอย่างไร

ปฏิบัติการนำทั้ง 13 คนออกมาจากถ้ำ ตัวหนังทำให้ตื่นเต้นและเอาใจช่วยได้ประมาณหนึ่ง อาจเป็นเพราะเรารู้ผลของมันอยู่แล้วว่ายังไงก็รอดปลอดภัยทุกคน จึงขาดอารมณ์ร่วมลุ้นไปก็ได้ ซึ่งถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่งขึ้น เชื่อได้ว่าผู้สร้างต้องให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นกับเด็กบางคนในระหว่างการนำตัวออกมาแน่นอน เพื่อสร้างอารมณ์ของหนังให้สูงสุดตามสไตล์โลกภาพยนตร์

“…แต่ถึงมึงจะกลัว มึงก็ต้องทำ…” ประโยคนี้มีบางอย่างเพิ่มเติมด้วยว่า ต้องทำด้วย “ความเชื่อมั่น” เพราะในเรื่องที่ไม่น่าจะเชื่อมั่นได้เลยว่าจะทำสำเร็จ ไม่น่าจะเชื่อได้เลยว่าจะมีเด็กรอด แต่พวกเขาในที่นั้นก็รวมใจทำให้มันเป็นภารกิจสุดอัศจรรย์จนได้

ฉากที่ผู้ว่าฯ ณรงศักดิ์พูดกับท่านรัฐมนตรีให้ตัดสินใจใช้วิถีทางที่ทีมของเขาออกแบบขึ้นมา ก็ตีแสกหน้าด้วยเรื่องความเชื่อมั่นนี้ว่า

“ตอนแรกที่ไม่มีใครคิดว่าเด็กจะรอดได้ แต่ผมขอให้พวกเราเชื่อมั่นว่าเด็กจะต้องรอด และพวกเด็กๆ ก็อยู่รอดมาได้ทั้งที่อดข้าวอดน้ำมาสิบกว่าวัน ถึงตอนนี้ที่เราลังเลกับการตัดสินใจว่าจะพาเด็กออกมาไหม พ่อแม่ของเด็กยินดีให้เราพาลูกๆ เขาดำน้ำออกมาแม้รู้ว่ามันเสี่ยง พวกเขายังกล้าไว้ใจพวกเรา ถามว่าพวกเรายังไม่กล้าที่จะเชื่อมั่นในตัวเราเองอีกเหรอ”

ความเชื่อมั่น และศรัทธา ทำให้เรากล้า กล้าที่จะลุกขึ้นทำอะไร แม้ว่าลึกๆ แล้วเราจะกลัวแทบตายก็ตาม

ที่เราเชื่อมั่น เพราะเรามีความหวัง เหมือนที่ตัวละครในซีรีส์เรื่องนี้มีความหวังอยู่เสมอ แม้มันแทบจะมองไม่เห็นทางเป็นไปได้เลยก็ตาม

“ภารกิจแห่งความหวัง” ตามชื่อเรื่องมันเป็นเช่นนี้นี่เอง •