รู้เท่าทันชาเลนจ์ เทรนด์อันตรายบนโซเชียล | Cool Tech

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

รู้เท่าทันชาเลนจ์

เทรนด์อันตรายบนโซเชียล

 

ถึงฉันจะไม่ได้ใช้เวลาบน TikTok สักเท่าไหร่ แต่ทุกครั้งที่กดเข้าไปในแอพพ์ก็จะรู้สึกเหมือนถูกดูดเข้าไปในที่ๆ เวลาหยุดนิ่ง

เพราะกว่าจะหลุดออกมาได้ เวลาก็ผ่านไปแล้วอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงแบบแทบจะไม่รู้ตัวเลย

ความหลากหลายของเนื้อหาและความสั้นของวิดีโอกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นให้เราปัดไปคลิปใหม่เรื่อยๆ ด้วยความหวังว่าคลิปสั้นคลิปต่อไปจะสนุกกว่าเดิม

นี่จึงทำให้ TikTok กลายเป็นโซเชียลมีเดียที่มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นมหาศาลภายในเวลาอันรวดเร็ว

คือมียอดคนใช้งานต่อเดือนมากกว่า 1 พันล้านคนไปแล้ว

เมื่อวิดีโอสั้นกลายเป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่คนในปัจจุบันชื่นชอบ คนทำคอนเทนต์ก็ต้องตอบสนองความต้องการด้วยการสรรหาเนื้อหาแปลกใหม่มานำเสนอ บน TikTok มีตั้งแต่คอนเทนต์ที่เน้นตลกโปกฮาไปจนถึงคอนเทนต์สาระ

แต่หนึ่งในรูปแบบคอนเทนต์ที่ดึงดูดความสนใจของผู้ใช้งานได้มากก็คือคอนเทนต์ประเภทชาเลนจ์

หรือคอนเทนต์แนวท้าให้ทำตามนั่นเอง

ที่ผ่านมาชาเลนจ์บน TikTok กลายเป็นข่าวบนสื่อใหญ่ๆ มาแล้วมากมายอันเนื่องมาจากความอันตรายของมัน

อย่าง ดราย สกู๊ปปิ้ง ชาเลนจ์ (Dry Scooping) ที่ท้าให้คนเล่น TikTok กลืนผงโปรตีนแห้งๆ เข้าไปทีละหลายๆ ช้อน จนต้องมีการออกมาเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองว่าถ้าอยู่ๆ ลูกขอซื้อโปรตีนผงมากินแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยก็อาจจะเป็นไปได้ว่าลูกไปรู้จักชาเลนจ์ประเภทนี้เข้าให้แล้ว

สำหรับคนที่ฟังชาเลนจ์นี้แล้วรู้สึกคุ้นๆ นั่นก็เพราะว่าเมื่อหลายปีก่อนเคยมีการทำชาเลนจ์คล้ายๆ กันแบบนี้บนโซเชียลมีเดียมาแล้ว แต่ในยุคนั้นของแห้งที่ถูกนำมาใช้ก็คือซินนามอนหรือผงอบเชย มายุคใหม่ก็เปลี่ยนกลายเป็นโปรตีนผงแทน

แต่ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนเป็นผงอะไร คนอย่างฉันก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าชาเลนจ์นี้เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร

แพทย์ออกมาเตือนว่าโปรตีนที่ใช้สำหรับกินก่อนการออกกำลังกายส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน ชาเขียวสกัด ครีเอทีนโมโนไฮเดรต และวิตามินบี ส่วนผสมเหล่านี้ช่วยให้คนออกกำลังกายโดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอหนักๆ สามารถรักษาระดับพลังงานเอาไว้ได้

แต่หนึ่งในส่วนประกอบหลักที่อาจจะอยู่ในโปรตีนผงก็คือกาเฟอีนซึ่งบางครั้งปริมาณของมันก็มากพอๆ กับกาแฟแก้วหนึ่งเลยทีเดียว ดังนั้น การตักผงโปรตีนแล้วกินเข้าไปเพียวๆ แบบไม่ผสมน้ำตามสูตร อาจจะทำให้เกิดปัญหาอย่างอาการวิงเวียนศีรษะ หายใจติดขัด หรือแม้กระทั่งหัวใจวายได้

ทว่า ดราย สกู๊ปปิ้ง ชาเลนจ์ กลายเป็นของเด็กๆ ไปเลยทีเดียวเมื่อเจอกับชาเลนจ์ต้มไก่ใน NyQuil

 

NyQuil เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยบรรเทาอาการไอและหวัดโดยเป็นยาที่มีส่วนผสมของอะเซตามิโนเฟน เด็กซ์โทรเมทอร์แฟน และดอกซีลามีน เวลาฉันไปทำงานต่างประเทศแล้วรู้สึกไม่สบาย ฟึดฟัดฟุดฟิดเหมือนจะเป็นหวัด ก็ได้ยา NyQuil นี่ช่วยเอาไว้ได้เสมอ ส่วนหนึ่งก็เพราะยา NyQuil มีฤทธิ์ช่วยทำให้นอนหลับพักผ่อนได้

นั่นจึงเป็นที่มาของชาเลนจ์ต้มไก่ใน NyQuil แล้วเรียกไก่ที่ได้ว่าเป็นไก่ที่กินแล้วง่วง ซึ่งก็แน่นอนว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องรีบออกมาเตือนว่าการต้มไก่ในยาน้ำแบบนั้นจะเป็นการเพิ่มความเข้มข้นของยา

และต่อให้ไม่ได้กินไก่เข้าไปแต่แค่ดมไอระเหยของยาก็มากพอที่จะทำให้ร่างกายได้รับยาในโดสที่สูงเกินไปแล้ว

ดีหน่อยที่ชาเลนจ์นี้ไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายขนาดนั้น และเมื่อสืบหาต้นตอก็พบว่าอาจจะไม่ใช่ชาเลนจ์ที่ถือกำเนิดขึ้นบน TikTok เสียทีเดียว

แม้ในยุคนี้ดูเหมือนเทรนด์น่ากลัวๆ ทั้งหลายที่เป็นข่าวจะพร้อมใจกันไปกระจุกตัวอยู่ในนี้เสียหมด แต่โซเชียลมีเดียไม่ว่าแพลตฟอร์มไหนก็มีโอกาสที่จะเป็นสถานที่เพาะเนื้อหาอันตรายได้เสมอ

ส่วนใหญ่ชาเลนจ์ที่ท้าๆ กันให้ทำนั้นมีทั้งแบบที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับคนที่ลงมือทำชาเลนจ์นั้นๆ เอง อย่างการกินผงโปรตีน หรือชาเลนจ์กลั้นหายใจที่ทำให้มีเด็กวัย 10 ขวบเสียชีวิตไปแล้วจริงๆ หรืออันตรายต่อบุคคลรอบตัว อย่างชาเลนจ์ท้าตบหน้าครู

แต่ก็จะมีชาเลนจ์หรือเทรนด์บางอย่างที่อินฟลูเอนเซอร์ทำแล้วดูเหมือนจะไม่ได้มีภัยอันตรายอะไรเกิดขึ้นทันทีแต่อาจจะส่งผลในระดับกว้างและกระทบในระยะยาวกว่านั้น

อย่างเช่นเรื่องของสิ่งแวดล้อม

เทรนด์ล่าสุดที่อินฟลูเอนเซอร์โดยเฉพาะสายแฟชั่นนิยมทำกันก็คือการสั่งซื้อเสื้อผ้ามาทีละเยอะๆ เป็นกิโลๆ โดยเฉพาะจากแบรนด์เสื้อผ้าแบบ fast fashion ที่ราคาไม่สูงนัก

จากนั้นก็ถ่ายคลิปวิดีโอหรือไลฟ์ตัวเองลองเสื้อผ้าแต่ละชิ้นให้ผู้ติดตามดู แล้วเปิดโหวตว่าชิ้นไหนควรจะเก็บ ชิ้นไหนควรจะส่งคืน

ซึ่งนี่เป็นชาเลนจ์ที่ได้รับความนิยมสูงมากบนโซเชียลมีเดียในตอนนี้

ในเมืองไทยเราอาจจะทำชาเลนจ์นี้ได้ยากกว่าเพราะนโยบายการคืนสินค้ายังไม่แพร่หลายเท่ากับในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา

แต่ใครที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่นโยบายคืนสินค้าทำได้ง่ายดายก็จะรู้ดีว่าการส่งสินค้าคืนนั้น หลายครั้งผู้ขายแทบจะไม่ถามสาเหตุเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น การซื้อมาก่อนแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเก็บหรือจะส่งคืนจึงกลายเป็นสิ่งที่คนทำกันเป็นเรื่องธรรมดาจนแทบจะไม่ต้องคิดอะไรเลย

การส่งคืนสินค้ามีราคาที่เราทุกคนต้องจ่ายกันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะราคาทางด้านสิ่งแวดล้อม

ถ้าเราลองติดตามเส้นทางของสินค้าที่เราส่งคืนจะพบว่าสินค้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ลูกค้าส่งคืนมักจะไม่ได้ถูกนำกลับไปวางขายที่หน้าร้านอีก ไม่ใช่เพราะเหตุผลทางด้านอนามัย

แต่การที่แบรนด์จะต้องรับสินค้ากลับ ตรวจสอบความสมบูรณ์ของสินค้า แพ็กกลับไปให้เหมือนใหม่ และส่งไปขายที่หน้าร้านใหม่ ล้วนเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่ม

ถ้าหากแบรนด์คำนวณแล้วว่าไม่คุ้ม เสื้อผ้าเหล่านั้นจะถูกส่งไปทำอย่างอื่นแทน ดีหน่อยก็บริจาคให้องค์กรการกุศล รีไซเคิล หรือขายต่อแบบถูกๆ แต่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะถูกโละทิ้งไปเลยแม้จริงๆ แล้วจะยังถือว่าเป็นสินค้าที่ใหม่มากก็ตาม

และหลายแบรนด์ก็เลือกที่จะทำแบบนั้นเพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด (นี่เป็นสาเหตุที่บางแบรนด์ยอมให้ลูกค้าเก็บของชิ้นที่เคลมว่าไม่พอใจหรือมีปัญหาเอาไว้แล้วส่งชิ้นใหม่ไปให้โดยลูกค้าไม่ต้องส่งชิ้นเก่าคืน เพราะคิดแล้วว่าค่าใช้จ่ายในการจัดการชิ้นเก่าที่รับกลับมาไม่คุ้มนั่นเอง)

การซื้อขายออนไลน์ที่บูมขึ้นมาอย่างหนักในช่วงหลังยิ่งทำให้การส่งคืนสินค้าเพิ่มมากขึ้นเพราะเราคลิกซื้อของกันแบบไม่ได้เห็นของจริง

กระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากการส่งสินค้าคืนในแต่ละครั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทรัพยากรที่ใช้ไปกับการผลิตสินค้าและการขนส่งซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมลพิษต่างๆ ออกสู่สิ่งแวดล้อม ท้ายที่สุดก็นำไปสู่สภาพอากาศเปลี่ยนที่ร้ายแรงและรวดเร็วขึ้น

ยิ่งคลิกซื้อง่าย เราก็ยิ่งคิดน้อยลง เทรนด์อย่าง ‘ซื้อหรือเก็บ’ ดูผิวเผินเหมือนจะไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย คนซื้อได้เก็บของที่ชอบ คนขายได้ขายของ คนทำคอนเทนต์ได้ยอดไลก์ ผู้ติดตามได้ความสนุก

แต่ในระยะยาวราคาที่ทุกคนต้องจ่ายมันสูงกว่าที่ตาเห็นในวันนี้มาก และทั้งหมดก็สามารถป้องกันได้ด้วยการให้เวลาตัวเองครุ่นคิดเพื่อซื้อของที่ชอบหรืออยากได้จริงๆ

ง่ายๆ แค่นี้เอง

เราคงไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดชาเลนจ์หรือเทรนด์แปลกๆ ขึ้นมาได้อย่างหมดจด แต่สิ่งที่เจ้าของโซเชียลมีเดียทำได้ก็คือการตัดไฟแต่ต้นลม เมื่อเห็นเทรนด์อันตรายอันไหนเกิดขึ้นก็รีบกำจัดทิ้งก่อนจะแพร่กระจายกลายเป็นไวรัล

ส่วนตัวผู้ใช้งานเองก็ต้องบ่มเพาะความสามารถในการรู้เท่าทันสิ่งที่เห็นบนโซเชียลมีเดีย ฝึกมองให้ลึก มองให้ยาว ว่าแต่ละอย่างจะส่งผลกระทบไปในทางไหนบ้าง แล้วเลือกตามเฉพาะสิ่งที่พิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษเท่านั้น

ถ้าไม่คิดว่าการเอายาแก้หวัดมาต้มไก่เป็นเรื่องที่ผิดแปลกอะไร อย่างน้อยๆ ก็ฉุกคิดสักหน่อยว่ารสชาติมันคงจะเห่ยสิ้นดี