ภูมิพื้นที่วัฒนธรรม / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ภูมิพื้นที่วัฒนธรรม

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 5 กันยายน 2565 ช่วงเช้ามีรายงานเรื่อง “การเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม” ในวุฒิสภา ซึ่งดำเนินโดยคณะอนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม ของวุฒิสภา

คณะอนุ กมธ.ศิลปะและวัฒนธรรมนี้ดำเนินการสืบเนื่องมาแต่ราวปี พ.ศ.2553 มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มีท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน และคุณหมอประเวศ วะสี ร่วมเป็นประธาน ทั้งด้านการเมืองและด้านศิลปวัฒนธรรม กระทั่งถึงสมัย สปช.คือสภาปฏิรูปแห่งชาติ และมาถึงเวทีวุฒิสภาครั้งล่าสุดนี้

จำเป็นต้องเท้าความว่า งานนี้คณะเรามีส่วนเริ่มและส่วนร่วมมาแต่แรกจนถึงวันนี้

 

รายงานเมื่อวันที่ 5 กันยายน ดังกล่าวเป็นหนึ่งในสามผลงาน สามงานนี้มีคือ

หนึ่ง ภูมิภาษา และปัญญาแผ่นดิน

สอง ภูมิพื้นที่วัฒนธรรม

สาม ภูมิวัฒนธรรมสัมพันธ์นานาชาติ

ผลงานที่สองคือ ภูมิพื้นที่วัฒนธรรม ซึ่งนำรายงานผ่านมานั้นจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม เบื้องต้น เพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไป

จำเพาะเรื่องภูมิพื้นที่วัฒนธรรมนี้ คณะทำงานได้ประมวลข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพด้วยวิธีการหลากหลาย ทั้งลงพื้นที่จัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการและรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนผลักดันให้เกิดตลาดสินค้าเชิงวัฒนธรรม และเวทีศิลปวัฒนธรรมในหลายพื้นที่หลายจังหวัด

ตัวเลขรายได้จากการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยคือ ทำรายได้ให้แก่ครัวเรือน 12,500 บาท/เดือน และรายได้ต่อชุมชนเฉลี่ย 341,583 บาท/เดือน

นี้คือการนำทุนวัฒนธรรมมาบริหารจัดการและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุน (Return of Investment : ROI) ก่อให้เกิดรายได้รวมในระบบเศรษฐกิจฐานรากมากกว่า 7.40 เท่าตัวของเม็ดเงินที่ลงทุน ขณะที่ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่ที่ 4.40 เท่าตัวของเม็ดเงินที่ลงทุน

ภูมิพื้นที่วัฒนธรรมนี้เน้นเรื่องนำคุณค่าวัฒนธรรม นำมาแปรเป็นทุนวัฒนธรรมที่กลายเป็นมูลค่า ซึ่งมาเป็นรายได้ทางเศรษฐกิจ ดังยกตัวเลขมาพอเป็นตัวอย่างนั้น

ยังมีรายละเอียดที่ลงลึกทางวิชาการพร้อมตัวอย่างรูปธรรม พร้อมอยู่ในรายงานฉบับนี้แล้ว

 

ก่อนนำเสนอรายงานนี้ได้เกริ่นปูพื้นความเข้าใจในสามเรื่องสำคัญของงานวัฒนธรรม คือ

สามสัมพันธ์

สามฐาน

สามพลัง

สามสัมพันธ์ ดังยกตัวอย่างต้นไม้ที่มีความสัมพันธ์สามส่วนคือ ราก ลำต้น เรือนยอด โดยเปรียบรากเป็นเสมือนเศรษฐกิจ ลำตันเสมือนสังคม และเรือนยอดคือกิ่งก้านสาขา ใบนั้นเสมือนการเมือง

รากกับเรือนยอดคือเศรษฐกิจกับการเมืองนี้ส่งผลแก่กันอย่างลึกซึ้ง นักเล่นไม้แคระหรือไม้ดัดในกระถางรู้ว่าต้องการให้กิ่งใหญ่ของเรือนยอดโน้มไปทางไหน จะจัดรากแก้วให้เอนไปทางตรงข้ามได้เลย เช่นกันกับชาวสวนให้ความสำคัญกับ “ดิน-น้ำ-แดด” อันมีผลกับรากและเรือนยอดนี่เอง

และรากกับเรือนยอดก็คือ เศรษฐกิจกับการเมืองอันส่งผลให้ลำต้น คือ สังคมจะเติบโตหรือแคระแกร็นก็ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของสองส่วนนี้

ลำต้นจะยืนต้นแข็งแกร่งและเติบโตสมบูรณ์ก็ต้องประกอบด้วยแก่น เนื้อ ผิวเปลือก ซึ่งเปรียบกับสังคมก็คือ แก่นเป็นหลักคิดหรือหลักธรรม เนื้อเป็นคุณธรรม ผิวเปลือกเป็นจริยธรรมหรือค่านิยม

ดอกผลของไม้ต้นนี้นี่แหละคือ ศิลปะและวัฒนธรรม

ดอกคืองานศิลปะทั้งหลายอันเป็นอลังการของสังคม ดังโวหารว่า ดอกไม้คือชัยชนะของแผ่นดิน และในดอกนั้นเองย่อมมีเมล็ดและเกสรพร้อมเผยแพร่พืชพันธุ์และเติบโตเป็นต้นต่อไป

จึงมีภาษิตจีนรองรับความจริงข้อนี้ว่า

“หวังผล อย่าเด็ดดอก”

สามฐาน คือความสำคัญของวัฒนธรรมในสามฐาน มี รากฐาน พื้นฐาน และภูมิฐาน ตัวอย่างเช่น ทรัพยากรอันอุดมของแผ่นดินไทย นี้คือรากฐานการนำสินทรัพยากรมาเป็นอาหาร นี้คือพื้นฐาน และบรรดาอาหารไทยรสเลิศยอมรับทั่วโลก นี่แหละคือภูมิฐาน

แทบทุกเรื่องล้วนมีสามฐานนี้รองรับอยู่ เพื่อนชาวต่างชาติเคยบอกว่า “เมืองไทยนี้มีต้นฉบับมีค่าอยู่มากมายนะ” คำว่า “ต้นฉบับ” ของเขาก็คือ “ความเป็นตัวของตัว” อันเสมือน “รากฐาน” นี่เอง

แต่มันมักไม่ถูกทำให้ปรากฏ

เรายกย่องชื่นชมแต่ที่เป็น “ภูมิฐาน” เท่านั้น ส่วนที่เป็นพื้นฐานและรากฐานนั้นหาได้ให้ความสำคัญและใส่ใจกันเท่าที่ควรไม่

นี้คือสิ่งต้องปฏิรูปในงานวัฒนธรรม

สุดท้ายคือ สามพลัง คือการสานพลังสามภาคภส่วนของงานศิลปวัฒนธรรม ดังมีภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม

ดังเรียกว่า “ไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม”

 

พร้อมรายงานฉบับนี้ได้เสนอ “ร่างพระราชบัญญัติไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม” ไว้แล้วรวม 32 มาตรา เพื่อเป็นหลักและกติกาเกี่ยวกับกิจกรรมงานศิลปวัฒนธรรมที่จะให้มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้นต้องใช้ “ดุลยภาพ” ของพลังสามภาคส่วนนี้เป็นสำคัญ ตามสัดส่วนแห่งภาระหน้าที่ โดยเฉพาะ “ความร่วมมือ” ห้าประการนี้คือ

หนึ่ง ร่วมมือ สอง ร่วมทุน สาม ร่วมทำ สี่ ร่วมคิด ห้า ร่วมแก้ไข

พระราชบัญญัตินี้เท่ากับเป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญฉบับล่า อันบังคับเรื่องงานวัฒนธรรมให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ” (หมวด 5) บัญญัติทุกมาตราว่า “รัฐต้อง” พร้อมบังคับไว้ในมาตราต้นคือมาตรา 51 ดังนี้

“การใดที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”

นี้คืออำนาจของประชาชน ที่ดูแลให้ “รัฐต้อง” ทำหน้าที่ •