จินตนาการร่วมสมัย ในความตายของทิม เพจ | อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

จินตนาการร่วมสมัย

ในความตายของทิม เพจ

 

คํ่าวันหนึ่งของ 12 กันยายน ในท่ามกลางน้ำท่วมกรุงเทพฯ นั้น ที่คลับเฮาส์สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ที่ไออวลไปด้วยผู้คนพากันมาร่วมรำลึกถึงทิมโมธี จอห์น เพจ หรือทิม เพจ ช่างภาพสงครามเวียดนามผู้จากไป

พลัน ใครเลยจะคิดว่า กรุงเทพฯ คลับเฮาส์ยังเป็นเรือนตายต่อบรรดาผู้สื่อข่าวทั้งยุคเพจ และร่นมาจนถึงยุคปัจจุบัน แต่เชื่อไหมที่มาทั้งปวงของสโมสรแห่งนี้ เดิมทีมีส่วนมาจากทิม เพจ สมัยที่เขายังอยู่ที่ไซ่ง่อน/โฮจิมินห์ซิตี้ และเช่าบ้านหลังหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่สุมหัวของผองเพื่อนช่างภาพ นักข่าวสงครามที่พากันมาพบปะสังสันทน์และดื่มกิน

เคหสถานแห่งนี้เอง ที่เป็นต้นแบบของไอเดีย “คลับเฮาส์” หรือสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในภูมิภาคของเราซึ่งเต็มไปด้วยนักข่าวและช่างภาพทั้งอิสระ/ฟรีแลนซ์และประจำสำนัก และขณะนี้ ก็เหลือแต่กรุงเทพฯ ที่เป็นฮับ เวียดนามนั้นไม่มี ลาวไม่ต้องพูดถึง ส่วนกัมพูชานั้นก็เคยมี แต่ปิดตัวเองไปในที่สุด

นับเป็นคุณูปการของทิม เพจ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักเสพแถวหน้าและเป็นช่างภาพฟรอนต์ไลน์

วันที่ทิม เพจ มาจากไป ชาวคลับเฮาส์กรุงเทพฯ จึงจัด “ชีวิตและวันตื่นของทิม เพจ” ที่จะทำให้เราได้รำลึกถึงอดีตที่เหนือจินตนาการร่วมสมัยระหว่างยุคสงครามเวียดนามสมัยเพจและชีวิตช่วงรอยต่อหลังยุคสงครามเย็น จนมาถึงสหัสวรรษที่กลิ่นอายดาร์กนัวร์ในแบบภาพยนตร์ในยุค 90 ที่ทิ้งทวนความทรงจำไว้กับคนกลุ่มหนึ่ง

พลัน ระหว่างการเดินทางบนรถไฟขบวนนั้น พวกเธอและเขาผลัดกันเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนกับเพื่อนคนนั้นที่มีทั้งขันขื่นและรื่นรมย์ และนั่นคือกลวิธีการพาไปสู่การชำระสะสางในยุคสมัยของตน

เครดิตภาพ : UPI/AP viaGettyImages

ดังนั้น การรำลึกถึงทิม เพจ และความตายของเขาในรูปแบบ FCCT ที่อยู่ในคอนเทนต์รวมมิตรสหายทั้งจากในซูมคนทางไกลและในคลับเฮาส์ที่ผลัดกันเล่าเรื่องราวหนหลังของทิม ทั้งความดิบและเถื่อน ความสุขและเศร้า

ทันทีนั้น ความตายของทิม เพจ ก็กลับมาฟื้นคืนผู้คนอย่างเราที่บังเอิญร่วมขบวนไปกับรถไฟสายนั้น

มันได้นำทางเราไปสู่หนหลังแห่งหนุ่มสาวทศวรรษที่ 60 ถึง 90 เรื่องราวแห่งสงครามและมิตรภาพระหว่างผู้คน โดยมีทิมโมธี จอห์น เพจ เป็นผู้แสดงนำ

การได้กลับมองย้อนไปอีกครั้งในยุคสมัยนั้น ยังทำให้เราเห็นภาพอีกด้านของช่างภาพสงครามผู้มีชีวิตบนปากเหวแห่งความตายเพียงเพื่อบันทึกความจริงอีกด้านของสงครามและความเป็นมนุษย์ สำหรับผู้ที่เกิดไม่ทันยุคทิม เพจ และประวัติศาสตร์บางตอนของเขาที่บอกเล่าตัวตนไว้กับยุคสมัยอันเจ็บปวด

ใช่แต่ภาพสงครามเท่านั้น แต่มันคือทุกอย่างของหนุ่มสาวยุค 60 รวมทั้งชีวิตทิม เพจ เองก็แขวนอยู่บนความสุดโต่งทั้งสมรภูมิสงครามและการเสพดื่มซึ่งมาด้วยกัน

และหลังจากยุคไฟสงครามระหว่างเสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์ที่ปิดฉากลง คนอย่างทิม เพจ และเพื่อนก็ตกขบวนไปด้วย ก่อนที่กระดูกคนรุ่นเราจะถูกห่อไว้ด้วยยุคหลังสิ้นสุดสงครามเย็น และตามมาด้วยการถูกกวาดทิ้ง/ดิสรัปชั่น ด้วยนิวนอร์มอลของสหัสวรรษใหม่ จนมาถึงยุคเรียลไทม์

เราคงจินตนการไม่ออกว่า คนยุคทิม เพจ ไฉนจึงถูกกลืนกินไปกับกาลเวลา

และทำไมคนอย่างไมเคิล เฮยส์ (อดีต) บรรณาธิการพนมเปญโพสต์ ตัวละครยุค 2 และเราๆ ที่มากับหลังสิ้นสุดสงครามเย็นและเป็นจิ๊กซอว์ของทิมตัวสุดท้าย แต่ในที่สุดก็ตกเป็นเหยื่อของสหัสวรรษที่ผลักไสเราๆ ให้ไปอยู่อีกฟากของโลกคู่ขนาน

ที่คล้ายจะตอกย้ำอีกครั้งว่าทั้งเวียดนาม-กัมพูชา ทิม เพจ และสหายต่างพ่ายแพ้ที่นั่น

เครดิตภาพ : UPI/AP viaGettyImages

กระนั้น เราไม่คิดว่า ทิม เพจ จะสูญเสียความเดียงสาที่เขาเปล่าเปลืองไปกับเวลาแห่งสงครามที่ทิมเองก็ยอมรับศิโรราบว่ามันได้พรากเอาบางอย่างจากเขาไป ซึ่งไม่ใช่การถูกดิสรัปชั่นจากยุคสมัย

และนั่นเองเป็นคำตอบว่า ทำไมในช่วงนับสิบปีที่ผ่านมา เขาจึงวนเวียนเดินทางเข้าๆ ออกๆ ประเทศแถบแม่น้ำโขง ที่เป็นเหมือนสมรภูมิและมิตรภาพแห่งความหลัง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำกว่าครึ่งหลังของชีวิต ตั้งแต่วันที่เขาออกจากบ้านเกิดที่อังกฤษและสิ้นสุดชีวิตเดียงสา

ทิมจึงไม่ได้เกิดมาเพื่อถูก “กวาดทิ้ง” หรือดิสรัปชั่น ต่อการเดินทางของเด็กหนุ่มวัย 17 ปีคนนั้น ที่พาตัวเองข้ามซีกโลกมาถึงลาวล้านซ้าง เพียงเพื่อเข้าสู่สมรภูมิสงครามแห่งอาชีพช่างภาพที่เกิดจากความสำเร็จอย่างบังเอิญในปี พ.ศ.2508 จากเหตุการณ์รัฐประหารในลาว ตามมาด้วยนครไซ่ง่อน

ทิม เพจ ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นส่วนสร้างในคนยุคสงครามเวียดนาม ตรงข้าม เขาก็แค่ใช้ชีวิตเยี่ยงคนหนุ่มอย่างเต็มที่ เยี่ยงวลีที่ตนกล่าว

“ใครก็ตามที่ผ่านเข้าไปในสิ่งที่เรียกว่าสงคราม เขาไม่มีวันที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม” (นิวยอร์กไทม์ส/2010)

ซึ่งคงไม่เกินความรู้สึกนั้น ณ วันที่ ฌอน ฟลินน์ เพื่อนร่วมชะตากรรมของเขาตลอดชีวิตที่ไซ่ง่อนกับดานา สโตน คู่หูคนใหม่ที่หายตัวไปในปี 1971 (พร้อมกับนักข่าวอีกจำนวนหนึ่ง) และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ทิมไม่เคยจำพรากจากกัมพูชา

ในแต่ละปีที่เขาตามหาสหายคู่หู “ฟลินน์-สโตน” ตามร่องรอยฟอสซิลบนถนนสายหนึ่งที่ฌอนและดานาขับบิ๊กไบก์หายไปในเรื่องราวยาวนานร่วมสิบปีนั้น มันยังได้พรากเอาทิม เพจ ผู้โลดโผนกว่าช่างภาพทุกคนในตำนาน ไม่ว่าจะเป็นเคท เว็บบ์ และอัล ร็อกออฟ ที่ฉันเคยเขียนถึง และอัตลักษณ์ของเธอและเขาที่ทำให้เราคำนึงถึงยุคสมัยฮิปปี้ไทม์

ดังนี้ ไม่มียุคสมัยหรืออะไรที่กลืนกินเราได้ ไม่ว่าจะเป็นยุคของโกดักและฟิล์มเนกาตีฟ หรือกล้องซิงเกิลเลนส์ กับชีวิตที่เหลืออยู่ของเราในยุค 90

กับซากอดีตหลังสงครามเวียดนามจึงยังมีความขลัง แลจิตวิญญาณแห่งการปลดปล่อยความเดียงสาในความเชื่อที่ว่า

คณะกามิกาเซ่หนุ่มจากญี่ปุ่นจึงพากันมาที่นี่-กัมพูชา เพียงเพื่อค้นหาประสบการณ์ช่างภาพแดนสงครามนั้นอย่างไม่อาจหักห้าม และมันคือทิมเพจรุ่น 2 ในการตามหาไล่ล่าภาพจำลองสงครามเวียดนามยุคสุดท้าย แม้จะโชคร้าย ไม่ทันยุคจีไอ แต่พวกเขาก็ทำได้ดีมาก

ก็นั่นล่ะ ที่ทำให้ฉันรู้สึกว่า ไม่มีใครหรอกที่ตกขบวน! หรือถูกกวาดทิ้ง! ถ้านายมันแน่และไม่รอคอย

เครดิตภาพ : UPI/AP viaGettyImages
เครดิตภาพ : UPI/AP viaGettyImages

ในการ…ทิ้งทุกอย่างเพื่อตามหา “ยุคสุดท้าย” ตามรอยทางสงครามเย็นที่กัมพูชา ฉันจึงไม่รู้สึกว่าโชคร้าย ที่เป็นคนหนึ่งแห่งโลกจำลองของทิม เพจ แม้ว่ามันจะไม่มีวันที่ทำให้เรากลับไปบนรอยทางเดิม ไม่มีสำนักข่าวเอพี หรือเอเยนซี่ใด นอกจากข้อตกลงปารีสที่ทำให้กัมพูชาแตกต่างไปจากประเทศกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่เป็นต้นสงคราม

กระนั้น นักทิม เพจ ยุค 2 ก็ยังคงดำเนินไป ในสื่ออย่างแคมโบเดียเดลี่ พนมเปญโพสต์ที่ไม่อาจหล่อเลี้ยงช่างภาพสงครามยุคหลังทิม เพจ คนใด กามิกาเซ่บางรายยังฝืนท้าทายไปสมรภูมิแดนอื่น (โคโซโว อัฟกานิสถาน) และจบลงที่บ้านเกิดอันสงบของตนสำหรับนักรบยุค 90 ที่ตามรอยหาอดีตเช่นเดียวกับทิม เพจ เมื่อหนุ่ม

แต่ตอนนี้ที่กัมพูชา ภารกิจตามหากระดูกเพื่อนผู้สูญหาย ได้ทำให้ทิมลงมือเขียนหนังสือ รวบรวมภาพถ่าย เพื่อผลักดันมูลนิธิช่างภาพสงครามที่ผองเพื่อนทั้งหลาย กลายเป็นมิวเซียมโฮจิมินห์ซิตี้ นิวยอร์ก-ออสเตรเลียและภูมิภาค

แด่ ทิม เพจ ครั้งสุดท้าย และด้วยจิตคารวะ และสำหรับคนหนุ่มที่ครั้งหนึ่งเคยพยายามตามหาความเป็นชีวิตแบบทิม เพจ นั้น แต่ในที่สุด เราๆ ท่านๆ ก็ตกขบวนแห่งความเป็นไปที่ไม่อาจคาดหมายในชะตาชีวิต

และต่อบรรดาคนรุ่นเขา-ทิม เพจ ที่พากันมารำลึก (24 สิงหาคม) ในความชื่นชมยินดีที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันแห่งไดอะล็อกสนทนาตามฉบับชาวดอกไม้บานยุค 60

มาเถิดมา-ทิม เพจ มิตรภาพช่างเป็นเหมือนจิตวิญญาณอันเติมเต็ม และดลบันดาลความรำเพิบเอิบอาบต่อเราได้ทุกยาม แม้ไม่ต้องเดินทางไกล

เครดิตภาพ : FCCTviaYouTube
เครดิตภาพ : FCCTviaYouTube
เครดิตภาพ : FCCTviaYouTube
เครดิตภาพ : FCCTviaYouTube
เครดิตภาพ : FCCTviaYouTube