มองทวนสวนกระแสอเมริกัน : ปังกัช มิชรา (3) | การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

มองทวนสวนกระแสอเมริกัน

: ปังกัช มิชรา (3)

Pankaj Mishra ปัญญาชนสาธารณะทวนกระแสชั้นนำชาวอินเดียที่นิตยสาร The Economist กล่าวขวัญถึงว่า “เป็นทายาทของเอ็ดเวิร์ด ซาอิด” ได้ให้สัมภาษณ์เรื่อง “ศรัทธาวิบัติต่ออเมริกา” (https://www.thedriftmag.com/a-catastrophic-loss-of-faith-in-america/) เสนอการอ่านตีความ การเมืองโลกที่มองทวนสวนกระแสหลักของอเมริกากับโลกตะวันตกในสถานการณ์ปัจจุบัน

ผมขอนำมาเสนอต่อ ดังนี้ :

ปังกัช มิชรา & หนังสือ Bland Fanatics : Liberals, Race and Empire, 2020

บรรณาธิการ : คุณได้บอกว่าคุณไม่เห็นด้วยกับการแซงก์ชั่นที่ถูกใช้มาเล่นงานรัสเซียอยู่ตอนนี้ ไหงงั้นล่ะครับ? แล้วทำไมการแซงก์ชั่นถึงเป็นมาตรการแรกที่นานาชาติอย่างสหรัฐหยิบฉวยมาใช้ในยามวิกฤต?

ปังกัช : คือผมคิดว่าแซงก์ชั่นเป็นวิธีการยืนยันสำแดงอำนาจโดยเฉพาะในยามที่คุณใช้การแทรกแซงทางทหารโดยตรงไม่ได้ ผมคิดว่าไม่มีตัวอย่างที่ดีใดๆ ว่าการแซงก์ชั่นใช้ได้ผลนะครับ แซงก์ชั่นน่ะส่งผลกระทบคนที่อ่อนแอที่สุดบางส่วนในสังคมใดๆ ก็ตาม เราเห็นเรื่องนั้นมาแล้วในอิรัก

คุณจำที่ รมว.ต่างประเทศอเมริกัน นางแมเดอลีน ออลไบรท์ (1937-2022, ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1997-2001 สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบิล คลินตัน) ถูกถามเรื่องเด็กเล็กห้าแสนคนที่ตายไปเพราะผลโดยตรงจากมาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐต่ออิรักได้ไหมครับ แล้วเธอก็บอกว่า “เราคิดว่ามันเป็นราคาที่คุ้มค่าค่ะ”

มาตรการแซงก์ชั่นประเภทที่ใช้เล่นงานรัสเซียรวมทั้งอิหร่านนั้นครอบคลุมกว้างไกลเอามากๆ ทีเดียวครับ และมันจะก่อความเสียหายแก่โอกาสชีวิตของผู้คนที่อ่อนแอที่สุดและยากจนที่สุดบางคนในสังคมเหล่านี้

ข้อที่สำคัญพอๆ กันก็คือผมคิดว่าไม่แต่คนรัสเซียเท่านั้นนะครับที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากมาตรการแซงก์ชั่น แต่รวมทั้งประเทศทั้งหลายที่เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับรัสเซียผ่านห่วงเชื่อมทางการค้าเป็นส่วนใหญ่ด้วย

ผมหมายถึงประเทศอย่างอียิปต์ซึ่งนำเข้าข้าวสาลีปริมาณมหาศาลจากรัสเซีย เดิมทีอียิปต์กำลังวางแผนจะซื้อข้าวสาลีจากอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตข้าวสาลีมากที่สุดมาทดแทน แต่แล้วอินเดียก็เพิ่งสั่งห้ามการส่งออกข้าวสาลีท่ามกลางกระแสที่ประเทศผู้ผลิตอาหารอื่นๆ อีกหลายประเทศกำลังหันมาหมกมุ่นกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารและกังวลว่าจะเกิดวิกฤตใหญ่ข้างหน้า

และคุณจะได้เห็นสถานการณ์สยดสยองจริงๆ ที่ผู้คนพากันอดอยากนะครับ พวกเขาหาข้าวสาลีมายาไส้ไม่ได้เพราะรัสเซียปิดล้อมท่าเรือต่างๆ ในทะเลดำ และต่อให้พวกเขาหาข้าวสาลีได้ ก็ไม่มีทางจ่ายค่าข้าวนั้นในแบบที่ทางรัสเซียต้องการ

ฉะนั้น ผมคิดว่าการแซงก์ชั่นน่ะเป็นอาวุธทึ่มมะลื่อทื่อเหลือเชื่อและสั่นคลอนเสถียรภาพไปทั่วโลกซึ่งบรรดาประเทศร่ำรวยกุมไว้ในมือครับ

ตอนที่ยัดเยียดแซงก์ชั่นใส่เกาหลีเหนือหรือคิวบาหรืออิรักหรืออิหร่านนั้นน่ะ คาดคิดกันว่าผู้คนจะอึดอัดเหนื่อยหน่ายกับแซงก์ชั่นเสียจนกระทั่งหันมาตกหลุมรักสหรัฐแล้วโค่นผู้ปกครองของตนแทน นั่นน่ะมันนิทานหลอกเด็กที่ไม่เคยปรากฏเป็นจริงเลยนะครับ และมันก็ไม่น่าจะกลายเป็นจริงอย่างยิ่งในกรณีรัสเซียด้วยเหมือนกัน

เอาเข้าจริงมันกลับทำให้พวกผู้เห็นต่างภายในประเทศเหล่านี้ตกที่นั่งลำบากขึ้นด้วยซ้ำไป ความที่พวกเขาจะถูกหมายหัวและเล่นงานง่ายเข้าในฐานเป็นสปายสายลับของศัตรูต่างชาติน่ะครับ

 

บรรณาธิการ : คุณคิดยังไงครับที่ฝ่ายตะวันตกเลือกแสดงความโกรธเกรี้ยวและห่วงใยในกรณียูเครนเมื่อเปรียบตัดกับความขัดแย้ง การรุกราน การยึดครองและวิกฤตผู้ลี้ภัยทั้งหลายแหล่ซึ่งกำลังเกิดขึ้นที่อื่นๆ ในโลกน่ะ?

ปังกัช : คิดแล้วก็แปลกดีนะครับที่ชั่วไม่กี่เดือนก่อนการรุกรานยูเครนน่ะ เราได้เห็นภาพส่งท้ายของผู้คนที่พากันเหนี่ยวโหนเกาะก่ายปีกเครื่องบินลำต่างๆ ซึ่งกำลังทะยานออกจากสนามบินคาบูลอย่างสิ้นหวังซังกะตาย แต่แล้วเราก็ลืมอัฟกานิสถานเสียสนิท หลายเดือนผ่านไปแล้วเราก็แทบไม่ได้ยินเรื่องชาวอัฟกันถูกเล่นงานลงโทษโดยฝ่ายตะวันตกเอาเลย

อย่างที่คุณก็คงทราบดีแหละครับ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้สั่งแช่แข็งบัญชีกองทุนแห่งชาติของอัฟกานิสถานในธนาคารสหรัฐโดยที่มีคนถกอภิปรายเรื่องนี้น้อยเหลือเกิน แล้วทารกนับหมื่นๆ คนก็ต้องตายลงในอัฟกานิสถานปีนี้เนื่องจากขาดสารอาหาร

ในทางกลับกัน คุณได้เห็นประตูเปิดอ้าซ่าออกรับบรรดาผู้ลี้ภัยชาวยูเครน มันช่างเป็นการแสดงความเมตตาปรานีที่น่าสะเทือนใจอะไรเช่นนั้น

กล่าวคือ ปล่อยให้ชาวยูเครนที่ตกเป็นเหยื่อสงครามได้เดินทางไปพื้นที่ต่างๆ ของยุโรป หาครัวเรือนให้พวกเขาเข้าไปอาศัยพักพิง จัดแจงธุระปะปังอื่นๆ ให้พวกเขาอยู่ไปก่อนชั่วคราว

แต่กระนั้นสำหรับผู้คนหลายหลากมากมายนอกยุโรปตะวันตกและสหรัฐ มันยากที่จะมองการแสดงความเมตตาปรานีดังกล่าวโดยไม่รู้สึกประชดประเทียดแสลงใจครับ เพราะคุณรู้อยู่เต็มอกว่ามีผู้คนชาติอื่นๆ ถูกทำร้ายเสียหายด้วยสงครามซึ่งสหรัฐเข้าไปร่วมรบด้วยในที่ต่างๆ อย่างอิรักและอัฟกานิสถาน แต่กระนั้น พวกเขาก็หาได้รับการหยิบยื่นแม้แต่เศษเสี้ยวของน้ำใจไมตรีเยี่ยงนี้ให้ไม่

การรุกรานอิรักและอัฟกานิสถานไม่แต่เพียงทำลายเฉพาะประเทศเหล่านั้นนะครับ หากยังรวมไปถึงภูมิภาครายล้อมด้วย อาทิ เราไม่หวนรำลึกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในปากีสถาน ถึงลักษณาการที่ประเทศนั้นถูกสงครามทำลายป่นปี้

เราไม่หวนรำลึกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของอิรักและการผงาดขึ้นมาของไอซิส เราไม่คิดถึงเรื่องทั้งหลายนั้นว่ามันเป็นผลลัพธ์สืบเนื่องมาจากการบุกโจมตีอิรักที่ทำกันอย่างเละเทะไม่ได้เรื่องนั่นแหละ บทเรียนทั้งหลายทั้งปวงของสงครามมหาวินาศที่ว่ามาข้างต้นกำลังถูกมองข้ามทุกวันนี้ และไอ้พวกกระหายสงครามหน้าเดิมก็ออกมาทำท่าดุร้ายสายเหยี่ยวอย่างห้าวเป้ง ทั้งที่พวกเขาเคยสนับสนุนการรุกรานอิรักและอัฟกานิสถานอย่างมหาวินาศมาก่อนและก็ยังครองตำแหน่งที่ทรงอำนาจและอิทธิพลอยู่โดยไม่ถูกท้าทายเลยแม้แต่น้อย

มีคำคมแพร่สะพัดครับว่ามันง่ายที่จะจินตนาการอวสานของโลกมากกว่าจินตนาการอวสานของทุนนิยม และบางทีคุณก็อดคิดไม่ได้นะครับว่ามันง่ายที่จะจินตนาการอวสานของโลกมากกว่าจินตนาการอวสานของระบอบเก่าที่ชื่อเสียแล้วในสื่อสิ่งพิมพ์กระแสหลัก

องค์การสื่อเหล่านี้มากมายหลายแห่งเหลือเกินที่ยังมีคนพวกนี้ทำงานอยู่ทั้งที่อาชีพของพวกเขาควรยุติลงได้แล้วตั้งแต่พวกเขาเข้าพัวพันในงานปลอมแปลงทางปัญญา อย่างเช่น ตีพิมพ์เรื่องเท็จว่ามีอาวุธมหาวินาศอยู่ในอิรัก ขอบเขตของการวิเคราะห์ที่ซื่อตรงและข้อขบคิดที่ช่วยให้ดวงตาเห็นธรรมถูกจำกัดจำเขี่ยอย่างยิ่งด้วยการดำรงคงอยู่ของพวกทรงอำนาจแต่สมองตีบเหล่านี้

บางครั้งบางคราผมก็พบว่าตัวเองพลอยรู้สึกสิ้นหวังซังกะตายไปกับเรื่องนี้ด้วย เพราะอย่างน้อยในแวดวงการเมือง ถึงไงคุณก็มีโอกาสสี่ปีครั้งที่จะเลือกผู้นำคนใหม่ ซึ่งเอาเถอะแน่ละครับว่าตัวเลือกถูกจำกัดโดยโครงสร้างระบบสองพรรค แต่พอมาถึงพวกฐานันดรที่สี่ซึ่งเรียกขานกันว่าเสาค้ำประชาธิปไตยอันแข็งแกร่งคงทนนี่น่ะ การณ์กลับกลายเป็นว่าไม่มีตัวเลือกเอาเสียเลยโดยสิ้นเชิง และการยืนยงคงอยู่ของกรอบทางปัญญาอันเก่าผุบุร่ำบุราณและการขาดการคิดอันสดใหม่นั่นน่ะเป็นอุปสรรคใหญ่มากๆ เลยสำหรับพวกเราทั้งหมดนะครับ

ผมพบว่าเป็นเรื่องงี่เง่าที่ยังมัวมาเถียงเรื่องรูปลักษณ์ของระเบียบโลกกันอยู่โดยอ้างอิงสิ่งที่คนสังกัดสถาบันอำนาจอย่างเฮนรี คิสซิงเจอร์, ฟรานซิส ฟูกูยามา และแซมมวล ฮันติงตัน พูดและทำไว้เมื่อหลายทศวรรษมาแล้ว

ผมคาดว่าตรงนี้แหละเป็นช่องที่นิตยสารฉบับเล็กๆ พอจะลอดเข้ามาได้เป็นครั้งคราวและหักล้างนิสัยการคิดแบบหลงตัวเองลง ตรงนี้แหละที่นิตยสารแบบ The Drift ของคุณทำให้เกิดความแตกต่างได้ครับ

 

บรรณาธิการ : คุณเข้าใจยุทธศาสตร์เรื่องยูเครนของนายกรัฐมนตรีโมดีว่าไงครับ? เขาจัดวางอินเดียไว้ในตำแหน่งไหนทางภูมิรัฐศาสตร์? โลกตะวันตกควรสนองตอบต่อโมดียังไงบ้างครับ?

ปังกัช : ในสงครามเย็นครั้งใหม่นี่น่ะ จุดยืนของอินเดียและจุดยืนของอีกหลายประเทศนอกโลกตะวันตกรวม ทั้งในละตินอเมริกาย่อมจะพึ่งอิงประสบการณ์สมัยสงครามเย็นอย่างมากเลยล่ะครับ สมัยนั้นน่ะคุณถูกร้องขอให้เลือกข้าง แต่แล้วคุณก็ค้นพบว่าเอาเข้าจริงการเลือกข้างอาจทำให้คุณเสียข้อได้เปรียบของจุดยืนที่กำกวมไปนะครับ

โดยทางการแล้วอินเดียยึดมั่นแนวร่วมต้านจีนและต้านรัสเซียครับ ทางอินเดียได้เข้าร่วมซ้อมรบกับสหรัฐและประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่กระนั้นอินเดียก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพันธมิตรต่อต้านรัสเซียกับพวกอเมริกันและยุโรปครับ ที่อินเดียทำเช่นนี้มีเหตุผลเชิงปฏิบัตินิยมที่ตรงไปตรงมาอย่างยิ่งอยู่ และมันเกี่ยวกับตัวนายกฯ โมดีน้อยมาก โดยแก่นสารแล้วมันเกี่ยวกับผลประโยชน์ระยะยาวทางเศรษฐกิจและการทหาร กล่าวคือ 60% ของซัพพลายทางอาวุธของอินเดียมาจากรัสเซียครับ นี่เป็นมรดกของความสัมพันธ์อันเก่าแก่กับสหภาพโซเวียต ถึงแม้อินเดียจะได้ผันแปรการจัดหาอาวุธของตนให้หลากหลายออกไปแล้ว แต่ก็ยังนับว่าต้องพึ่งพิงรัสเซียอยู่มาก ถ้าเกิดคุณต้องใช้อะไหล่ฉุกเฉิน คุณก็ต้องหันไปหารัสเซีย ดังนั้น จึงไม่มีทางที่คุณจะทำตัวเป็นอริกับรัสเซียได้ แถมตอนนี้คุณยังต้องพึ่งพาซัพพลายพลังงานจากรัสเซียอีกด้วย แล้วจู่ๆ คุณก็ได้รับข้อเสนอขายน้ำมันให้ในราคาถูก

ผมน่ะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลโมดีทุกเรื่องเลยนะครับ แต่ผมกลับเห็นด้วยเมื่อพวกเขาบอกว่า ‘ไหงคุณมาขอให้เราหยุดซื้อน้ำมันจากรัสเซียในเมื่อทั่วทั้งยุโรปก็ยังทำอย่างนั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันล่ะ’ คิดดูเอานะครับว่าทุกวี่วัน คุณกำลังให้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์แก่ปูตินเพื่อใช้ดำเนินสงครามในยูเครน แล้วคุณอยากให้ประเทศค่อนข้างจนอย่างอินเดียหยุดซื้อน้ำมันราคาถูกงั้นเหรอ?

บรรดาประเทศที่กำลังถูกขอร้องให้เข้าแนวร่วมต่อต้านจีนของอเมริกาน่ะกำลังทำประกันความเสี่ยงอยู่นะครับเพราะเรื่องใหญ่โตบางอย่างได้เกิดขึ้นในสี่ปีหลังมานี้ กล่าวคือ สหรัฐได้ถูกแฉโพยว่าเป็นมหาอำนาจที่อ่อนแอและไร้เสถียรภาพอย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว

ถ้าหากสหรัฐยกคนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ขึ้นสู่ตำแหน่งกุมอำนาจได้ มันก็เป็นไปได้ว่าเรื่องอย่างนั้นอาจเกิดขึ้นอีก ฉะนั้น ประเทศอื่นๆ ก็จะไม่ยืนเคียงข้างคนอเมริกันล่ะครับถ้าหากพวกเขาจะเลือกผู้นำที่ไม่อยู่กะร่องกะรอยแบบนั้น ในสภาพที่ประเทศอเมริกามีศาลสูงสุดซึ่งมัวเมาอุดมการณ์อย่างที่เห็น มียอดผู้เสียชีวิตจากโควิดระบาดสูงลิ่วขนาดนั้นเนื่องจากพวกนักอุดมการณ์ขวาจัดมีการเมืองในประเทศที่แยกขั้วกันเสียจนกระทั่งผู้คนพากันวิตกเรื่องสงครามกลางเมืองในสหรัฐทุกวันนี้

ผมยังหาอ่านอยู่นะครับงานสักชิ้นที่บรรยายว่าทัศนะที่มองสหรัฐในทางสากลแข็งกร้าวขึ้นอย่างไรในช่วงสี่ปีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และก็อย่างที่คุณรู้ว่าไม่มีประเทศไหนที่ทรรศนะต่อสหรัฐได้แข็งกร้าวขึ้นยิ่งกว่าจีนอีกแล้ว ความที่ประสบพบเห็นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรการค้าอันแล้วอันเล่าถูกทรัมป์กำหนดออกมาใส่

และผมก็คิดว่าจีนเขาตัดสินใจกันบัดเดี๋ยวนั้นเองแหละว่าพวกเขาต้องหาทางไปเอง ต้องเริ่มแยกคู่ปลีกตัวออกมา ลดละเลิกความเป็นอเมริกัน หันมาพึ่งตนเองในหลายๆ เรื่อง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)