ส้วม-โจรผู้ร้าย-ตลาดน้ำ : ชีวิตชาวพระนครสมัยน้ำท่วม 2485/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ส้วม-โจรผู้ร้าย-ตลาดน้ำ

: ชีวิตชาวพระนครสมัยน้ำท่วม 2485

 

ชาวพระนครสร้าง “พิธีลอยกระทง” เสี่ยงบุญเสี่ยงกรรม ลอยแล้วโบกน้ำให้พ้นบ้านตนเองออกไป

เหม เวชกร

 

พลันที่กระแสน้ำจากทางเหนือไหลบ่าท่วมพระนคร

ไม่แต่เพียงสร้างความดือดร้อนในการเดินทาง การหลับนอนให้กับชาวพระนครเท่านั้น

แต่ยังสร้างความยากลำบากในการขับถ่ายของคนเมืองที่มีสภาพแวดล้อมอันไม่อาจไปทุ่ง หรือไปท่า ดังพื้นที่ในชนบทได้

หนุ่มสาวสมัยรัฐนิยมพายเรือเที่ยวที่ลานพระบรมรูปฯ เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี

การอาบ-เข้าส้วมของชาวพระนคร

การอาบน้ำเป็นกิจวัตรประจำวันที่ยากลำบากของช่วพระนครที่มีบ้านอยู่ระดับต่ำว่าระดับถนน หรืออยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เหม เวชกร จิตรกรและนักเขียน ผู้เห็นน้ำท่วมในครั้งนั้นเล่าว่า ชีวิตของชาวบ้านในบ้านลุ่มต่ำยากลำบากมาก เนื่องจากเจ้าบ้านต้องแช่น้ำสกปรกแล้ว เวลาจะอาบน้ำ ไม่สามารถอาบในบ้านได้ แต่ต้องเดินหาแหล่งที่มีกระแสน้ำไหลแรง เพราะจุดที่น้ำนิ่ง น้ำจะเน่าเสียสกปรก และเมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วก็ต้องลุยน้ำกลับบ้าน ประหนึ่งว่ายน้ำไปอาบน้ำ ส่วนพวกที่อยู่บนตึกสูงสามารถเปิดน้ำประปาใช้กินใช้อาบได้ตามปกติ (เหม, 2547, 161)

ช่วงเดือนกันยายนเป็นช่วงที่ระดับน้ำในพระนครขึ้นสูงสุด มองไปทางไหนมีแต่น้ำไหลเอ่อเข้าบ้านทุกแห่งหน ลำบากที่สุดคือการขับถ่าย เพราะสมัยนั้น ส้วมซึมเป็นที่นิยมใช้ในเมือง แต่ขณะนั้น น้ำอืดเอ่อเต็มคอส้วม ไม่สามารถรองรับการขับถ่ายใดๆ ของผู้คนได้ เทศบาลได้จัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้นสำหรับประชาชนตามจุดต่างๆ ในพระนครขึ้น เช่น คนที่อยู่แถวสะพานดำ แม้นศรี วัดตึก ต้องไปเข้าส้วมเทศบาลที่ส้วมแถวสามยอด (ลาวัลย์, 2536)

บ้านของคนชั้นผู้ดีครั้งน้ำท่วม 2485 เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี

ผู้พิพากษาคนหนึ่ง ได้แต่ง “นิราศน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ.2485” เล่าถึงเทศบาลสมัยพระยาประชากิจกรจักร์ (ชุบ โอสถานนท์) นายกเทศมนตรี ผู้มาจากการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัยระหว่าง 2481-2487 สร้างส้วมชั่วคราวให้บริการประชาชนว่า “ส้วมสาธารณะ น้ำท่วม ทั่วทุกถิ่น ก็ปิดสิ้น มิให้ใช้ ทั่วไปหมด แล้วทำส้วมชั่วคราว แทนมิงด ใช้ประชด เพื่อระงับ ดับทุกข์ร้อน ส่วนส้วมซึม ส่วนตัว น้ำท่วมถึง ห้ามดื้อดึง งดใช้ เอาไว้ก่อนเทศบาล ตั้งถังให้ ไม่นิ่งนอน เพื่อผ่อนปรน ใช้แทนได้ ไม่นิ่งนาน น่าขอบใจ เทศบาล ท่านฝังทุกข์ พอมีสุข ผ่านร้าย ที่เผาผลาญ” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 42)

ส่วนชุมชนไหนที่อยู่ห่างไกลส้วมชั่วคราวของเทศบาลแล้วไซร้ จะพบเห็นโดยทั่วไปว่า มุมไหนที่กระแสน้ำไม่ไหลผ่าน จะกลายเป็นแหล่งน้ำเน่า มีขยะและมูลคนลอยเกลื่อน แม้นคนที่อาศัยในอาคารที่เป็นตึกก็ไม่สามารถเข้าส้วมได้ เพราะทั่วไปแล้ว ห้องน้ำห้องส้วมครั้งนั้นจะสร้างชั้นล่าง ดังนั้น ชาวพระนครเมื่อนั่งส้วมแล้ว น้ำจะปริ่มอยู่ที่ระดับคอ ด้วยเหตุนี้จึงเกิด “พิธีลอยกระทง” เสี่ยงบุญเสี่ยงกรรม ลอยแล้วโบกน้ำให้พ้นบ้านตนเองออกไป ให้กระทงถูกสายน้ำก็ไหลไป หรือไปกระจุกตัวที่มุมใดมุมหนึ่ง บางบ้านใช้โอ่งน้ำเป็นถังส้วมแทน แต่ปัญหาคือ เมื่อน้ำลดจะจัดการโอ่งอย่างไร (เหม เวชกร, 161-162)

ดังนั้น ชีวิตคนยากจนที่พักอาศัยในห้องแถวชั้นเดียวที่มีน้ำจะท่วมสูง หาพื้นที่แห้งยาก หากไม่มีงบฯ ซื้อไม้กระดานสร้างพื้นเรือนแล้ว คนยากจนคงต้องแช่น้ำทั้งวัน เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย แม้นมีบ้านเรือนแถวไม้สองชั้น แต่เกือบทั้งหมดไม่มีห้องน้ำชั้นบน ดังนั้น พวกเขาต้องเผชิญความลำบากในการอาบน้ำและการเข้าส้วมเช่นกัน

ไม่แต่น้ำท่วมทำให้หน่วยราชการ สำนักงาน ร้านค้าจะยุติการดำเนินการเท่านั้น แต่รวมถึงกิจการอื่นๆ ที่จ้างแรงงาน เช่น ก่อสร้าง รถราง ท่าเรือสินค้าที่เป็นแหล่งงานของคนที่หาเช้ากินค่ำต้องหยุดลงด้วยเช่นกัน

ความอดอยากทำให้เกิดปัญหาลักขโมยขึ้น

พระบรมรูปทรงม้ายามน้ำท่วม เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี, พระยาอรรถศาสตร์ไพศาลพายเรือในบ้าน

ภัยจากโจรขโมยเรือ

สําหรับชีวิตคนทำงาน ทุกเช้า แม่บ้านจะพายเรือออกจากบ้านมาส่งพ่อบ้านไปขึ้นรถรางหรือรถประจำทาง หรือลุยน้ำต่อบ้าง ตอนเย็นก็พายไปรอรับกลับเข้าบ้าน (สรศัลย์, 98)

แต่หากใครจอดเรือในที่ลับตาคนหรือไม่ระมัดระวังให้ดี เรือจะหายได้ เนื่องจากความต้องการเรือสูงทำให้เรือมีราคาสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้มีการขโมยเรือมาขายต่อมากมาย

ขุนวิจิตรมาตราบันทึกว่า ขนาดเขาจอดเรือในเมือง เรือยังหายได้ ทำให้เขาต้องซื้อเรือในน้ำท่วมครั้งนี้ถึง 3 ลำ (ขุนวิจิตรมาตรา, 475)

ช่วงนั้น รัฐบาลเตือนภัยประชาชนผ่านวิทยุและหนังสือพิมพ์ให้เก็บรักษาเรือให้ปลอดภัยจากขโมย ดังที่มีผู้บันทึกไว้ว่า “จนมีผู้ ลักเรือ เถือเขามา เที่ยวการค้า ทุกที่ มีน้ำไหล หนังสือพิมพ์ กล่าวเตือน เพื่อคนไทย อย่าไว้ใจ ซื้อนาวา ที่ถูกลัก ส่วนลักเล็ก ลักน้อย มีบ่อยมาก เพราะคนยาก อัตคัด ขัดสนหนัก เคยค้าขาย เล็กน้อย ถอยหยุดพัก จึงต้องหัก ใจหา มารัปทาน” (พระยาอรรถศาสตร์, 37)

สำหรับในพื้นที่ชานเมืองนั้น เหมบันทึกไว้ว่า

“พวกขโมยเป็นผู้เตรียมพร้อมดีจริง มีเรือเล็กๆ พายคล่องๆ เที่ยวพายขโมย เมื่อบ้านใดหลับใหลเผลอตัว การมิดชิดไม่มีในยามเมืองแช่น้ำ จึงเหมาะสำหรับตัดช่องย่องเบา พวกเจ้าของทรัพย์แม้รู้ตัวตื่นขึ้น การจะไล่ขโมยนั้น ไม่ทันแน่ เพราะต้องลุยน้ำ ส่วนขโมยพายเรือหนีสบาย ผ่านบ้านใครก็มีเสียงดัง ส่วนผู้นั้นต้องลุยน้ำซู่ซ่า ผมเองเคยไล่ขโมยเหมือนกัน แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ เสียเวลาเปล่าๆ เปียกเปล่าๆ เหม็นน้ำเน่าเปล่าๆ” (เหม, 163)

พระยาอรรถศาสตร์ฯ พายเรือสำรวจน้ำท่วมพระนคร เชิงสะพานพุทธ

เกิดตลาดน้ำทั่วไป

หลังจากตลาดบกเสียหายจากน้ำท่วม การขนส่งอาหารมายังใจกลางพระนครเพื่อแจกกระจายเป็นไปด้วยความลำบาก ผู้คนที่ห่างไปจากตลาดมาตลาดไม่ได้ เกิดเรือแม่ค้าพายเรือเร่ขายอาหารตามแหล่งชุมชน หรือตามบ้านคน ดังมีผู้บันทึกไว้ว่า “ของสดสด ปลาผัก ชักแพงมาก ทั้งก็ยาก ที่จะไฝ่ ไปหาซื้อ ส่วนหมูข้าว ไม่ค่อยขึ้น สูงราคากล้วยน้ำว้า หอมส้ม พอเสาะซื้อ เรือแจวพาย ต่อขายกัน จ้าละหวั่น ราคานั้น แพงแต่ใคร ก็ไม่หือ เพราะต้องใช้ เรือพาย แจวด้วยมือ จะแพงหรือ ก็ต้องหา มาไว้ใช้” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 37)

ในเขตเมืองนั้น หาบเร่กลายเป็นเรือเร่ เมื่อเวลาค่ำ จะมี “เรือเสียโป ข้าวต้มปลา มาหน้าบ้าน ค่ำคืนขาน ร้องขาย มากมายหน้า เนื้อปลาผัก แห้งสด สุดพามา เร่เรือค้า ขายเกลื่อน เหมือนลำคลอง” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 40)

ส่วนในเขตนอกเมือง ชานเมือง แถวฝั่งธนบุรี ที่เหมพักอาศัยนั้น เขาเล่าว่า ละแวกบ้านเขามีเรือพายขายข้าวสารกันคึกคักเหมือนตลาด (เหม, 163)

น้ำดื่มก็ต้องซื้อ เหมเล่าว่า แม้นอาหารจะหายากและมีราคาแพงแล้ว แต่ไม่มีอะไรหายากเท่าน้ำดื่ม เพราะท่อประปาถูกน้ำท่วมจมเสียมาก ไม่สามารถเปิดน้ำก๊อกออกมา จึงต้องซื้อน้ำที่มีเรือขายน้ำปี๊บมาขายเป็นน้ำดื่ม แต่จะใช่น้ำประปาหรือไม่นั้น ไม่มีใครรับรองได้ เพราะน้ำท่วมไม่สามารถดื่มได้ การหาน้ำดื่มช่วงน้ำท่วมช่างยากเย็นยิ่งนัก (เหม, 161)

น้ำท่วมพระนครครานั้น ไม่แต่เพียงสร้างผลกระทบต่อชาวปู่ย่าตายายของเรา รวมทั้งความอดอยาก การตกงาน อันนำมาสู่ปัญหาทางสังคมเท่านั้น แต่ยังทิ้งมรดกผลงานสร้างสรรค์ยังบทเพลง ภาพยนตร์และวรรณกรรมอันมีค่าที่สะท้อนเรื่องราวคราวนั้นไว้ด้วย

ตลาดบกแห่งหนึ่งในพระนคร ยามน้ำท่วม เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี