กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (9) | มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (9)

 

กิติมา อมรทัต

กับการศึกษาวรรณกรรมอินเดีย

ผ่านนวนิยายร้อยหิว ของภวานี ภัฏฏาจารย์

และเรื่องสั้นธุลีดิน (ต่อ)

ในบรรดานวนิยาย 3 เรื่องราวของภวานี ภัฏฏาจารย์ ซึ่งเกี่ยวพันถึงเรื่องราวสมัยก่อนที่อินเดียจะได้เอกราช เรื่องร้อยหิว จัดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อเอกราช ซึ่งเต็มไปด้วยความเครียดและขัดแย้งมากที่สุด

เขาได้วิจารณ์รัฐบาลอังกฤษอย่างรุนแรง แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการบริหารของอังกฤษ และท่าทีของฝ่ายปกครองที่มีต่อประชาชนอินเดียและต่อปัญหาในประเทศ

เขากล่าวถึงกฎบัตรแอตแลนติกไว้อย่างตำหนิถากถาง ชี้ให้เห็นความหน้าไหว้หลังหลอกของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งอ้างว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่เคยมอบอิสรภาพให้แก่อินเดียตามวิถีทางประชาธิปไตยเลย

มาตรการรุนแรงที่รัฐบาลใช้จัดการกับประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยก็ได้รับการกล่าวถึงไว้ในเรื่องนี้ด้วย ดังที่ตัวละครตัวหนึ่งในร้อยหิวได้กล่าวออกมาอย่างขมขื่นว่า

“…การที่ประชาชนรู้หนังสือนั้น เป็นอันตรายต่อพวกผู้ปกครอง พวกเขารู้ว่ามันจะทำให้ผู้ที่ถูกเหยียบย่ำได้สำนึกถึงสิทธิที่มีมาแต่กำเนิดของตน นั่นคือสิทธิที่จะได้มีชีวิตอยู่อย่างมนุษย์…” มหาตมะ คานธี ผู้นำที่ประชาชนไว้วางใจและเคารพรักก็ถูกจับกุมคุมขัง เพราะเหตุที่ได้คัดค้านไม่ยอมให้อินเดียถูกลากเข้าสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่ประชาชนไม่เห็นด้วย

ภวานี ภัฏฏาจารย์ ได้วิจารณ์การจับกุมมหาตมะ คานธี ไว้อย่างขื่นขมใจตอนหนึ่งว่า

“…บุคคลหนึ่งที่มีใจสูงส่งต้องเข้าไปอยู่ร่วมกับเหล่าโจรผู้ร้าย ก็เพราะเขาอาจหาญพูดถึงศรัทธาอันแท้จริงที่เขามีต่อประชาธิปไตยออกมา และผู้คุมนักโทษเหล่านั้นก็คือผู้ที่คอยทำให้เลือดแห่งชีวิตของเพื่อนร่วมชาติของเขา ต้องหลั่งไหลออกมาเพื่อปกป้องประชาธิปไตยไว้มิให้ถูกจองจำ…”

ประเทศทั้งประเทศกลายเป็นคุกอันกว้างใหญ่ อุตสาหกรรมของอินเดียถูกขัดขวางไม่ให้เจริญเติบโต เพราะความเจริญของมันจะเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของอังกฤษ

เมื่อประชาชนที่โกรธแค้นก่อเหตุการณ์รุนแรงเล็กๆ น้อยๆ ก็มีการเรียกเก็บภาษีร่วมในหมู่บ้านที่แสนจะยากแค้นอยู่แล้วขึ้นมาอีก

ข้าราชการใหญ่โตของรัฐบาลต่างก็ออกไปตามชนบท เพื่อโฆษณาความดีของสงครามต่อต้านญี่ปุ่น แต่กลับไม่เอาใจใส่ความอดอยากยากแค้นของประชาชนภายในประเทศ

ถึงแม้ว่านวนิยายเรื่องร้อยหิวจะเต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าเศร้า แต่มันก็หาได้เป็นหนังสือที่น่าเบื่อไม่ ด้านหนึ่งมันคือภาพพจน์อันกว้างขวางของบรรดาหญิงชายจำนวนมากที่อดอยากยากแค้นและหิวโหย มีแร้งและหมาไนคอยจิกทึ้งเนื้อหนัง รวมทั้งนายทุนที่ละโมบโลภมากไม่ผิดกับฝูงแร้งและหมาไนด้วย

อีกด้านหนึ่ง เราจะได้แลลึกลงไปในหัวใจและวิญญาณของมนุษย์ จะได้แลเห็นความรัก ความบริสุทธิ์ พลัง และความหวังของพวกเขา ซึ่งชี้ให้เห็นชัยชนะของดวงวิญญาณอันอาจหาญของมนุษย์ แหวกทางให้แก่ความหวังและความมั่นใจ อันเป็นงานศิลปะที่มีพลังและน่าประทับใจ

 

ถ้าจะพูดถึงความเข้มข้นของความรู้สึกและความจริงใจของผู้แต่งแล้ว นับว่าร้อยหิวเป็นงานระดับยอดเยี่ยมของภวานี ภัฏฏาจารย์ แต่ถ้าจะพูดกันถึงด้านความลึก การจัดเนื้อเรื่อง และรูปแบบของการเขียนแล้ว มีผู้วิจารณ์ยกให้กับนวนิยายเรื่องเงาจากลาดัก เป็นเพชรน้ำหนึ่ง

หรือถ้าจะเทียบกับเรื่องคนขี่เสือ ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว พร้อมกับเรื่องพระแม่เจ้าทองคำ (หรือ A Goddess Named Gold โดยทวีป วรดิลก) เราจะเห็นได้ว่านวนิยายเรื่องร้อยหิวและคนขี่เสือ ต่างก็เริ่มต้นแก่นเรื่องจากจุดเดียวกัน หากแต่แตกแขนงออกไปคนละทาง

ร้อยหิว พูดถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในสมัยนั้น พูดถึงโชคชะตาและเคราะห์กรรมของคนทั้งชาติ หรือของประชาชนส่วนใหญ่ อันก่อให้เกิดความสลดใจในโศกนาฏกรรมของคนทั้งปวง

ส่วนในเรื่องคนขี่เสือนั้น ในขณะที่กล่าวถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในวงกว้างแต่ก็หันมากล่าวถึงชีวิตในส่วนบุคคลเสียมากกว่า เนื้อหาของคนขี่เสือจึงอยู่ในวงที่แคบกว่าร้อยหิว

นักวิจารณ์งานของภวานี ภัฏฏาจารย์ ผู้หนึ่งได้จัดอันดับนวนิยายเรื่องคนขี่เสือ ว่าอยู่ในระดับที่ 3 รองจากร้อยหิว และเงาจากลาดัก

 

ภวานี ภัฏฏาจารย์ เป็นนักเขียนที่ไม่ยอมรับทฤษฎี “ศิลปะเพื่อศิลปะ” แต่เชื่อมั่นในทฤษฎีตรงกันข้ามว่า “งานของนักเขียนผู้สร้างสรรค์ก็คือ การเปิดเผยให้เห็นความจริง”

ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่เขาจะใช้สื่อแห่งศิลปะของเขาตามแนวความคิดและปรัชญาที่เขาเชื่อมั่น เมื่อนักเขียนจะเขียนอะไรเพื่อก่อให้เกิดคุณค่าแห่งความดีงามขึ้น เขาจะต้องไม่กลัวว่าคุณค่าเหล่านั้นจะไปทำให้ความพยายามที่จะสร้างสรรค์ของเขาต้องแปดเปื้อน ในเมื่อเขายึดถือความเป็นจริง และแสดงชีวิตแห่งความเป็นจริงนั้นออกมาอย่างซื่อสัตย์

นวนิยายทุกเรื่องของภวานีมักจะผูกพันอยู่กับปัญหาอันหนักหน่วงที่เผชิญหน้ากับประเทศชาติและกับมนุษยชาติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการแบ่งชั้นวรรณะ การถือขนบประเพณีที่ไร้เหตุผล ความอยุติธรรมของสังคมที่กดขี่ขูดรีด ความลำบากยากแค้นของชาวไร่ชาวนาและผู้ใช้แรงงาน ความเอารัดเอาเปรียบของนายทุน ความกดขี่ของรัฐบาลทรราชและพลังของมวลมหาประชาชน

กิติมา อมรทัต ได้กล่าวถึงภวานี ภัฏฏาจารย์ ผ่านการศึกษาวรรณกรรมอินเดียเรื่องร้อยหิวเอาไว้ในที่สุดว่า ภวานีได้นำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ และปัญหาของสมัยที่เพิ่งจะล่วงไปไม่นานมาเขียนขึ้น

และน่าจะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า เขาเองไม่มีความสัมพันธ์หรือความคิดที่จะเอนเอียงเข้ากับพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดเลย

 

ในข้อนี้เขาแตกต่างเป็นอย่างมากกับนักเขียนคนสำคัญอีกคนหนึ่งของอินเดียคือ มุลค์ ราชอนันต์ ซึ่งมักจะเอนเอียงเข้ากับฝ่ายซ้ายเสมอ สิ่งที่ปรากฏจากนวนิยายของภวานี ภัฏฏาจารย์ ก็คือการสังเกตดูมนุษย์และเหตุการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดด้วยหัวใจที่เป็นธรรม และทำหน้าที่บรรยายออกมาอย่างสมจริงด้วยความกล้าหาญ

ภวานี ภัฏฏาจารย์ เป็นนักเขียนแนวสมจริง (Realism) แต่ขณะเดียวกันก็เป็นนักเขียนที่มองการณ์ไกลด้วย เขาบรรยายถึงชีวิตในประเทศของเขาด้วยสายตาอันพินิจพิเคราะห์ – ความยากจน ความคดโกง ความโง่เขลา การถือไสยศาสตร์ การเอารัดเอาเปรียบ และความทนทุกข์ทรมานโดยไม่มีปากเสียง …เหล่านี้คือสิ่งชั่วร้ายที่เขาได้เห็นและได้เขียนออกมา อีกด้านหนึ่งเขาก็แลเห็นแสงแห่งความหวังอยู่ด้วย

อินเดียกำลังอยู่ในระหว่างสร้างตัว จึงต้องมีวัสดุพื้นฐานสำหรับการบูรณะและพัฒนา จะต้องมีเศรษฐกิจที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีการแบ่งสันปันส่วนแก่ประชาชนอย่างยุติธรรม จะต้องมีระเบียบสังคมที่จะให้ความเสมอภาคแก่ประชาชน จะต้องมีศาสนาที่แท้จริงไม่เจือปนด้วยไสยศาสตร์ และพิธีกรรมอันไร้ความหมาย จะต้องมีแนวโน้มของจิตใจที่จะก่อให้เกิดความสมานฉันท์ทั้งในและนอกประเทศ ด้วยขันติธรรมและความปรองดอง

นี่คืออุดมคติที่ภวานี ภัฏฏาจารย์ มองไปถึงและได้แสดงออกไว้ในนวนิยายของเขาทุกเรื่อง

 

กิติมา อมรทัต

กับแง่คิดว่าด้วยวรรณกรรมในอินเดีย

ผ่านรวมเรื่องสั้นอินเดีย ธุลีดิน

ธุลีดิน เป็นงานแปลสมัยแรกๆ ของกิติมา อมรทัต จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์พีพี ชุดวรรณกรรมอันดับที่ 21 ตีพิมพ์ในปี 2522 ราคา 20 บาท นับเป็นหนึ่งในผลงานที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยสนใจวรรณกรรมของอินเดียมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อมองกลับไปถึงวรรณกรรมในอินเดีย กิติมา อมรทัต กล่าวว่า

วรรณกรรมของพวกอินเดียก่อนสมัยอังกฤษเข้าครอบครองประเทศนั้นมาจากแหล่งใหญ่สองแหล่ง คือ ขนบธรรมเนียมทางด้านศาสนาและวรรณกรรมของชาวดราวิเดียนและอินโด-อารยันดังที่มีอยู่ในหนังสือภาษาสันสกฤตและในคำสอนของพระพุทธเจ้า กับอีกอย่างหนึ่งคือนิยายพื้นบ้านแบบเก่าที่มีอยู่ทั่วไป ไม่ว่านักเขียนจะเป็นคนอารยัน ฮินดู พุทธ ดราวิเดียน หรือมุสลิมก็ตาม

วรรณกรรมของพวกเขาจะสะท้อนให้เห็นแรงดันของศาสนาอยู่เสมอ วรรณกรรมเพื่อศาสนาของอินเดียจะบรรยายถึงพิธีการต่างๆ ในชีวิตประจำวันหรือในโอกาสพิเศษ เช่น ในการแต่งงาน การเกิด การตาย การจาริกแสวงบุญ การให้สัตย์ปฏิญาณ ฯลฯ

ลักษณะสำคัญของวรรณกรรมแบบเก่าของอินเดียก็คือมักจะเป็นเรื่องสั่งสอนธรรม ซึ่งเน้นหนักในเรื่องค่านิยมทางศีลธรรม เช่น การถือสันโดษ ความเสียสละ พรหมจรรย์ การสละอุทิศตนและการยอมรับความทุกข์ทรมานโดยไม่ปริปากบ่น เป็นต้น

ตัวอย่างวรรณกรรมที่ขึ้นชื่อในสมัยก่อนก็คือ รามายณะ (รามเกียรติ์) ภควัทคีตา มหาภารตยุทธ และงานของศังกรเทพ จันทิทาส ตุลสีทาส กะบีร ดาดู วสเวทวร เป็นต้น แนววรรณกรรมแบบนี้ยังมีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ เช่น เรื่องของราชาโกปาลจารย์ เป็นต้น

ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของอินเดีย อินเดียต้องเผชิญกับยุคมืดมาหลายครั้ง แต่สมัยครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 นั้น เป็นยุคที่มืดเป็นพิเศษทั้งทางด้านการเมืองและศิลปวัฒนธรรม หลังจากกษัตริย์โอรังเสป ผู้เป็นกษัตริย์ในปลายราชวงศ์โมกุล (ปี 1707) แล้ว อินเดียก็ประสบความยุ่งยากในด้านการปกครอง ความไม่มั่นคงทางการเมือง

ความไม่งอกเงยทางปัญญาและความเสื่อมโทรมทางศิลปวัฒนธรรมทั่วๆ ไปทำให้วรรณกรรมของอินเดียต้องหยุดชะงักลงไป

วรรณกรรมอินเดียไม่ข้องแวะกับเรื่องทางโลกมาจนถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 เมื่อชาวอังกฤษเข้ามาอยู่ในอินเดียได้นำเอาความนึกคิดแบบอังกฤษเข้ามาด้วย แม้ว่าวรรณกรรมอินเดียระยะนี้จะยังคงดำรงลักษณะเดิมอยู่แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากภายนอกอยู่เป็นระยะๆ

 

ลักษณะวรรณกรรมของอินเดียได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่ออังกฤษเข้ามาครอบครองอินเดียในปลายศตวรรษที่ 18 ลอร์ดแมคคูเลย์ผู้วางรากฐานการศึกษาใหม่ที่รัฐบาลอังกฤษส่งเข้ามาได้พยายามที่จะให้วรรณกรรมอังกฤษเข้ามาครอบคลุมอินเดียด้วย

เขาถือว่าจุดประสงค์ของนโยบายอังกฤษก็คือจะทำให้ศิลปวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ของยุโรปมาแพร่สะพัดอยู่ในหมู่คนเอเชีย

แต่คนอินเดียเองก็ต้องการการศึกษาแบบตะวันตกอยู่ด้วยเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากความจริงที่ว่าเมื่อปี 1823 ราชาราม โมหัน รอย ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในวงการวรรณกรรมของอินเดีย ได้ขอร้องต่อรัฐบาลอังกฤษให้ชาวอินเดียได้มีการศึกษาแบบตะวันตกบ้าง

หลังจากนั้นภาษาอังกฤษจึงได้เข้ามามีบทบาทอยู่ในกลุ่มชาวอินเดียรุ่นหนุ่มที่ได้รับการศึกษาสูงๆ

ถึงแม้ว่าคนอินเดียจะไม่ชอบคนอังกฤษเลยแต่ก็รับเอาภาษาอังกฤษไว้อย่างกระตือรือร้นจนกระทั่งภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาประจำที่คนที่มีการศึกษาใช้กัน

ทำให้ปัญญาชนของอินเดียหลุดพ้นจากมนตร์สะกดที่เคยมีอยู่ในอดีตออกมาสู่โลกสมัยใหม่

วรรณกรรมของอังกฤษและชาติอื่นๆ ก็ได้หลั่งไหลไปสู่อินเดีย รวมทั้งวรรณกรรมแนวปฏิวัติของยุโรปและอเมริกาด้วย ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อขบวนการกู้ชาติของอินเดีย

วรรณกรรมอังกฤษเรื่องแรกสุดที่อินเดียรับเอามานั้นเห็นจะเป็นเรื่องของเซอร์วอลเตอร์ สก๊อต ผู้มีอิทธิพลต่อนักเขียนอินเดียทั้งที่เขียนเรื่องยาวและเรื่องสั้น เรื่องสั้นในระยะนั้นก็ไม่มีอะไรผิดไปจากเรื่องยาวนอกจากความสั้นยาวของมันเท่านั้น

 

อิทธิพลวรรณกรรมตะวันตกมีอยู่อย่างลึกซึ้งที่แคว้นเบงกอล เป็นแห่งแรก เพราะว่าอังกฤษได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองกัลกัตตา

ก่อนในไม่ช้ากัลกัตตาก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงของบริษัท อินเดียตะวันออก และเป็นศูนย์กลางของอิทธิพลอังกฤษในด้านการศึกษา และศิลปวัฒนธรรม

ผลก็คือลักษณะวรรณกรรมแบบอังกฤษได้มาแพร่สะพัดอยู่เหนือวรรณกรรมของเบงกอลซึ่งมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมในแคว้นอื่นๆ อีกต่อไป

เพราะฉะนั้นอิทธิพลของวรรณกรรมตะวันตกจึงได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศอินเดีย ทั้งทรงตรงและทางอ้อมคือผ่านทางเบงกอล

ภายในระยะเวลาประมาณ 100 ปี เบงกอลก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตกอย่างลึกซึ้งทั้งในด้านศิลปะและวรรณกรรม

และต่อมาอีก 50 ปี อินเดียทั้งประเทศก็ได้รับอิทธิพลนั้นโดยทั่วถึงกัน