งานวิจัยชี้ “กาวผึ้ง” ช่วยให้ผู้ป่วย COVID หายเร็วขึ้นกว่าเท่าตัว

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

ยาไม่ต้องขมเสมอไป

 

สํานวน “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” เป็นคำสอนที่เชื่อต่อๆ กันมา ว่า “สิ่งที่มีประโยชน์” มักไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และคนชอบไม่มากนัก ตรงกันข้าม “สิ่งที่ไม่ค่อยมีประโยชน์” นั้น มักได้มาสะดวก และจะเป็นโทษหากบริโภคเกินขนาด เช่น น้ำตาล

แต่ “ยาไม่จำเป็นต้องขมเสมอไป”

เรากำลังพูดถึง “น้ำผึ้ง” ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น Super Food ในยุคปัจจุบัน เพราะ “น้ำผึ้ง” อุดมไปด้วย Enzymes แร่ธาตุ Vitamin และ “สารต้านอนุมูลอิสระ”

ทั้งๆ ที่ก่อนยุค 90 “น้ำผึ้ง” ถูกปรามาสจากเหล่านักโภชนาการ ว่ามันคือ “น้ำเชื่อม”

แท้ที่จริงแล้ว ไม่เพียง “น้ำผึ้ง” เท่านั้นที่มีประโยชน์ แต่ Propolis “กาวผึ้ง” หรือ “กาวรังผึ้ง” ก็เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าต่อสุขภาพไม่แพ้กัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง COVID ที่ผ่านมา หลายคนใช้สเปรย์ Propolis พ่นคอเพื่อฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก และหลายคนก็กิน Propolis ชนิดเม็ดเพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรคในร่างกาย

รายงานการวิจัยในวารสารวิชาการ Biomedicine & Pharmacotherapy ระบุว่า มีการนำ Propolis ไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย COVID ที่โรงพยาบาล Sao Rafael S.A. ประเทศบราซิล

พบว่า สามารถช่วยให้ผู้ป่วย COVID หายเร็วขึ้นกว่าเท่าตัว และลดการเกิดไตวายเฉียบพลันได้ถึง 80%

เนื่องจาก Propolis จะช่วยขัดขวางการจับของไวรัสกับ ACE2 บนเยื่อหุ้มเซลล์ และยับยั้งไม่ให้โปรตีน TMPRSS2 นำไวรัสเข้าสู่ภายในเซลล์

ACE2 คือโปรตีนที่เป็นตัวรับบนเยื่อหุ้มเซลล์ของมนุษย์ ที่ SARS-CoV-2 หรือไวรัส COVID-19 จะใช้ปุ่มหนาม Spike เป็นตัวจับกับ ACE2 ร่วมกับโปรตีน TMPRSS2 ที่ช่วยให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้ Propolis ยังช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ PAK1 ก่อนที่ไวรัสจะกระตุ้นให้เอนไซม์ PAK1 ตื่นตัว

ซึ่งหาก PAK1 ตื่นตัว มันจะไปลดการทำงานของภูมิคุ้มกัน ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวน และแพร่กระจายทำลายเซลล์ ผู้ติดเชื้อ COVID จึงมีอาการป่วยรุนแรงมากขึ้น

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ Propolis เกิดจากการที่ผึ้งเก็บรวบรวมสารจากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น เรซิ่นในเปลือกไม้ กลีบอ่อนของดอกไม้ และยอดใบไม้ ผสมเข้ากับ Enzymes ในน้ำลายผึ้ง

โดยผึ้งจะใช้ Propolis ในการอุดรอยรั่วรัง เคลือบผิวรังป้องกันการแตกร้าว ยับยั้งการระบาดของเชื้อโรคในรัง และฆ่าเชื้อโรค

ศาสตราจารย์ ดร. Christina Grosinger นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania State เผยว่า รังผึ้งเป็นสถาปัตยกรรมชั้นสูงที่ประกอบขึ้นจากก้อนหกเหลี่ยมจำนวนมาก

“รังผึ้งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการออกแบบทางวิศวกรรมอันทรงประสิทธิภาพสำหรับเก็บสิ่งต่างๆ โดยมีขี้ผึ้ง ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูงเป็นตัวเชื่อมประสาน” ศาสตราจารย์ ดร. Christina Grosinger กระชุ่น

จุดเด่นของ “รังผึ้ง” ซึ่งขึ้นรูปจากเซลล์เล็กๆ รูปหกเหลี่ยมที่เบียดชิดกันนั้น ได้ช่วยเพิ่มพื้นผิว ทำให้ความชื้นระเหยได้เร็ว และชะลอการเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้เก็บรักษาน้ำผึ้งไว้ได้นาน ศาสตราจารย์ ดร. Christina Grosinger กล่าว และว่า

“ทันทีที่ผึ้งดูดน้ำหวานจากดอกไม้ น้ำหวานจะไหลไปเก็บไว้ในกระเพาะพิเศษ เพื่อรอการผสมกับ Enzymes หลายชนิด เช่น Invertase Enzymes ซึ่งทำหน้าที่แบ่งครึ่งโมเลกุลน้ำตาลซูโครส ให้สลายตัวกลายเป็นกลูโคส และฟรักโทสในทันที”

Invertase Enzymes เกิดขึ้นจากจุลินทรีย์ที่อยู่ในกระเพาะเก็บน้ำหวานของผึ้ง เมื่อกลับถึงรัง ผึ้งจะช่วยกันนำน้ำหวานไปเก็บโดยใช้วิธีส่งต่อกันด้วยปาก ทำให้น้ำแยกตัวออกมาจากน้ำผึ้ง ศาสตราจารย์ ดร. Christina Grosinger กล่าว และว่า

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Enzymes สารพัดชนิดจากผึ้งแต่ละตัว อาทิ Glucose Oxidase Enzymes ที่มีฤทธิ์ทำให้น้ำผึ้งเป็นกรดอ่อนๆ และผลิตไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ที่ช่วยฆ่าเชื้อออกมา”

โดยผึ้งจะปล่อย Enzymes อีกชนิดออกมาคู่กัน เพื่อควบคุมไม่ให้สารฆ่าเชื้อมีมากเกินไปจนน้ำผึ้งกลายเป็นยาพิษ ศาสตราจารย์ ดร. Christina Grosinger สรุป

มีงานวิจัยหนึ่งซึ่งน่าสนใจ ตีพิมพ์อยู่ในวารสารวิชาการ Behavioral Ecology and Sociobiology ระบุว่า “ผึ้ง” รู้จัก “ปรุงยา” เพื่อรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยของตนเอง โดยเลือกกินน้ำหวานจากดอกไม้ชนิดที่เหมาะกับอาการป่วย

โดยได้มีการทดลองให้ผึ้งซึ่งป่วยจากการติดเชื้อ เลือกกินน้ำหวาน 4 ชนิด ผลการวิจัยปรากฏว่า ผึ้งเลือกน้ำหวานที่มาจากดอกทานตะวันมากที่สุด ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า น้ำหวานดอกทานตะวันมีคุณสมบัติของยาปฏิชีวนะอันทรงคุณค่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วารสารวิชาการ Insects ได้ตีพิมพ์บทความวิจัยที่ระบุว่า ผึ้งที่ได้รับน้ำหวานที่ผสมสารประกอบ Phytochemicals จากพืช ซึ่งได้แก่ กรด p-Coumaric และสารต้านอนุมูลอิสระ Quercetin

ทำให้ผึ้งทนทานต่อยาฆ่าแมลง และมีอายุยืนกว่าผึ้งที่ไม่ได้รับ Phytochemicals

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ สาร Phytochemicals ซึ่งปะปนอยู่ในน้ำผึ้ง เช่น Abscisic Acid จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งแก่ภูมิคุ้มกันของผึ้ง ทำให้แผลหายเร็ว และช่วยให้ผึ้งทนทานต่ออากาศหนาวเย็นได้ดี

ส่วนสารประกอบ Thymol จากต้นไธม์ซึ่งเป็นพืชสมุนไพร และเครื่องเทศ ก็ช่วยรักษาผึ้งที่ติดเชื้อรา โดย Thymol สามารถลดปริมาณสปอร์ของราลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอื่นๆ ในน้ำผึ้งที่ช่วยยับยั้งโรค Foulbrood ซึ่งทำให้ตัวอ่อนของผึ้งป่วยหนัก และตายยกรัง เช่น Anabasine ที่จะช่วยกระตุ้นการทำงานของยีนผลิตโปรตีนต้านจุลินทรีย์ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการล้างพิษ และสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยเพิ่มปริมาณ และความหลากหลายของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในทางเดินอาหารของผึ้งด้วย ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงจากเชื้อโรคปรสิตได้นั่นเอง

ศาสตราจารย์ ดร. May Berenbaum นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัย Illinois วิทยาเขต Urbana-Champaign ย้ำว่า การที่ผึ้งสุขภาพดี มีที่มาจากการที่พวกมันกินน้ำหวานหลากหลายชนิดจากดอกไม้นานาพันธุ์ที่พวกมันหามาเก็บสะสมไว้ ทำให้พวกมันมีอายุยืน มีภูมิต้านทานการติดเชื้อ และทนต่ออากาศหนาวเย็นได้มากขึ้น

“อย่างไรก็ดี ปัญหาที่นักวิชาการด้านกีฏวิทยากำลังเป็นกังวลก็คือ ผลกระทบจากอุตสาหกรรมการเกษตรในปัจจุบัน ซึ่งเน้นปลูกพืชเชิงพาณิชย์ที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งในท้องถิ่น หรือที่รู้จักกันว่าพืชเชิงเดี่ยวนั้น ทำให้ผึ้งมีทางเลือกน้อยลงในการหาอาหาร และปรุงยารักษาโรค” ศาสตราจารย์ ดร. May Berenbaum กล่าว และว่า

ผึ้งแยกสายวิวัฒนาการของมันออกจากตัวต่อ เมื่อราว 120 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคที่ไม้ดอกถือกำเนิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และแพร่ขยายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ผึ้งเปลี่ยนพฤติกรรมจากการกินแมลง และนำแมลงมาป้อนให้ตัวอ่อน มาเป็นการหาน้ำหวาน และป้อนน้ำหวานให้ตัวอ่อน ทำให้ผึ้งมีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด โดยแยกออกเป็นกว่า 20,000 สายพันธุ์ในปัจจุบัน

โดยผึ้งจะผลิต และสะสมน้ำผึ้ง โดยใช้น้ำหวานของดอกไม้ ผสมลงในเกสรเพื่อปั้นเป็นก้อน ซึ่งทำให้ง่ายต่อการขนส่งกลับมาที่รัง

วิวัฒนาการสำคัญของผึ้งโบราณซึ่งส่งต่อมาถึงผึ้งยุคปัจจุบันก็คือ การสร้างต่อมหลั่งขี้ผึ้ง เพื่อนำมาสร้างรังที่สามารถเก็บกักน้ำผึ้งซึ่งเป็นยาอายุวัฒนะ และสร้าง Propolis ฆ่าเชื้ออันทรงคุณค่านั่นเอง ศาสตราจารย์ ดร. May Berenbaum สรุป