รายงานพิเศษ : “วันทรงดนตรี 2509” ตราตรึงในดวงใจตราบนิรันดร์

ผมเข้าเป็นน้องใหม่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2509

51 ปีผ่านไป ประสบการณ์สำคัญที่สุดในชีวิตน้องใหม่ที่ยังตราตรึงในความทรงจำไม่เคยลืมเลือน คือ

“วันทรงดนตรี”

การเสด็จทรงดนตรีที่จุฬาฯ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2501 โดยกำหนดให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็น “วันทรงดนตรี”

ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นปีประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่เป็นพระนามที่พ้องกับพระนามจุฬาฯ ประสูติวันที่ 4 กรกฎาคม 2500 อันตรงกับวันพระราชทานปริญญาบัตร บรรดานิสิตจุฬาฯ ได้เข้าถวายพระพรเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2500 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงดนตรีพระราชทานที่สวนอัมพร

ต่อมาทางอธิการบดีเล็งเห็นว่า การที่นิสิตจุฬาฯ 2,500 คนไปร่วมชุมนุมที่สวนอัมพรนั้น เป็นเรื่องลำบาก ปีต่อมาจึงทูลเชิญเสด็จทรงดนตรีที่หอประชุมจุฬาฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดให้วันที่ 20 กันยายน อันเป็นวันพระราชสมภพของพระปิยมหาราชและของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นวันเสด็จทรงดนตรี

พวกเราชาวจุฬาฯ เรียกวันนี้ว่า “วันทรงดนตรี”

การเสด็จทรงดนตรีนี้เริ่มในปี พ.ศ.2501 สิ้นสุดในปี พ.ศ.2516 แต่จุฬาฯ ยังคงประเพณี “วันทรงดนตรี” 20 กันยายนไว้ มีการบรรเลงและขับร้องของวง CU BAND ที่เป็นนิสิตปัจจุบัน กับวง ICU BAND ที่เป็นของนิสิตเก่ารุ่นพี่ มีนักร้องชื่อดังที่เป็นนิสิตเก่าหมุนเวียนมาร่วมร้องต่อเนื่องทุกปี จวบจนทุกวันนี้

“วันทรงดนตรี” ปี พ.ศ.2509 มีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านมา เพราะจนถึงวันที่ 20 กันยายนแล้วก็ยังไม่มีหมายกำหนดการมาจากในวัง เนื่องจากปีนั้นในจุฬาฯ มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ทำให้พวกเราน้องใหม่และพี่ๆ ใจเสียว่าปีนี้จะอดเข้าเฝ้า “ทรงดนตรี”

ต่อมามีหมายกำหนดการโปรดเกล้าฯ มาว่า จะเสด็จ “ทรงดนตรี” วันที่ 30 พฤศจิกายน 2509 น้องใหม่แต่ละคณะต่างฝึกซ้อมร้องเพลงถวายหน้าพระที่นั่ง นอกจากเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” ที่เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีเพลง “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” และเพลงพระราชนิพนธ์ที่น้องใหม่ 2509 คัดเลือกมาร้องถวายเป็นพิเศษคือ เพลงพระราชนิพนธ์ “When” ยังจำเนื้อร้องเพลงนี้ได้ขึ้นใจ โดยเฉพาะท่อนจบเพลงที่ว่า

So won”t you please tell me when

(Please tell me when)

นอกจากฝึกซ้อมกันในแต่ละคณะแล้ว ยังมีการนำน้องใหม่มาซ้อมใหญ่ร้องเพลงร่วมกันเพื่อความพร้อมเพรียงในหอประชุมใหญ่อีกด้วย

วันจริงขบวนเสด็จมาถึงประมาณบ่ายสองโมง น้องใหม่ตั้งแถวรับเสด็จตั้งแต่ปากประตู ตามถนนโค้งไปคณะสถาปัตย์จนถึงหอประชุมใหญ่ น้องใหม่วิศวะจะหมอบกราบลงไปกับพื้น

พอขบวนเสด็จผ่านไป พวกเราน้องใหม่รีบวิ่งเข้าหอประชุม เหลือแต่ที่นั่งด้านหลัง และชั้นบน เพราะที่นั่งด้านหน้ารุ่นพี่จับจองไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะที่นั่งกับพื้นหน้าเวที รุ่นพี่หญิงเข้าจับจองไว้หมด เพราะเป็นทำเลที่จะได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดที่สุด

เมื่อเสด็จเข้าสู่หอประชุม นิสิตทั้งหมดยืนขึ้น ร้องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ต่อด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ “มหาจุฬาลงกรณ์” ปิดท้ายด้วยการ “Boom จุฬาฯ”

“Boom Ba La Ka Bo Bo Bo, – – – – -”

เป็นการ “บูมจุฬาฯ” หน้าพระพักตร์ด้วยเสียงดังสุดชีวิต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวลให้นิสิต พระองค์ท่านเสด็จพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ เป็นการเสด็จทั้งครอบครัว

อธิการบดีจุฬาฯ จอมพลประภาส จารุเสถียร กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แล้วเบิกตัวพิธีกรผู้ดำเนินรายการ ในสมัยนั้นคือ ศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร และศาสตราจารย์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านก็ดำเนินรายการได้อย่างดีเยี่ยม เต็มไปด้วยไหวพริบปฏิภาณและอารมณ์ขัน

ในตอนแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระราชดำรัสเล่าเรื่องต่างๆ ตามพระราชอัธยาศัย พระราชทานแก่นิสิต

ในปีนั้น ทรงมีพระราชดำรัสเน้นให้นิสิตใช้สติปัญญา อย่าใช้กำลัง ด้วยเหตุที่มีการเลื่อนวันทรงดนตรีจากกำหนดเดิมมาเป็นวันนี้ เพราะเมื่อตอนก่อนงานรับน้องใหม่มีการตีกันของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ เนื่องจากแย่งกันถือธงมหาวิทยาลัยในวันรับน้องใหม่

เป็นพระราชดำรัสที่ทันสมัย ชี้ทางสว่างให้นิสิตที่หลงทางผิด พร้อมทั้งพระราชทานอภัยโทษ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ต่อจากนั้นจะทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส. เพลงเปิดรายการคือเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์”

นักร้องประจำวง อ.ส. ส่วนใหญ่เป็นนิสิตเก่าจุฬาฯ เช่น ม.จ.วุฒิเฉลิม วุฒิชัย คุณกานดา ธรรมมงคล คุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ฯ คุณหญิงทองทิพย์ รัตนรัตน์ คุณพัลลภ สุวรรณมาลิก ส่วนใหญ่จะร้องเพลงพระราชนิพนธ์และเพลงตามคำขอ

ในปี พ.ศ.2509 มีเพลงพระราชนิพนธ์ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประพันธ์ทั้งคำร้องเป็นภาษาอังกฤษและทำนองเป็นเพลงแรก ชื่อเพลง “Dream Island”

วง อ.ส. โดยคุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ฯ ก็นำมาขับร้องบนเวทีนี้ ต่อมามีการใส่เนื้อร้องภาษาไทย ชื่อเพลง “เกาะในฝัน”

ปีนี้มีนักร้องรับเชิญพิเศษหนึ่งคนคือ จีระนันท์ เศวตนันท์ ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นนางสาวไทย และไปประกวด Miss Universe ได้เป็นรองอันดับหนึ่ง ขึ้นเวทีร้องเพลงหน้าพระที่นั่ง ด้วยเพลง “I Could Have Dance All Night” เป็นเพลงจากภาพยนตร์เรื่อง My Fair Lady

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงร่วมสนุกกับนิสิตโดยทรงขอเพลงต่างๆ จากวงดนตรี บางครั้งก็โปรดให้สมเด็จพระบรมฯ ทรงร่วมเป่าแซ็กโซโฟน ยังจำได้ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงร้องเพลง “Where is Love” จากภาพยนตร์เรื่อง Oliver Twist ที่โด่งดังในยุคนั้น และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงร้องเพลง “Do Re Me” จากภาพยนตร์เรื่อง The Sound of Music ร่วมกับทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ อีกทั้งทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ยังทรงเปียโนด้วย

พวกเราเหล่านิสิตต่างปรบมืออย่างกึกก้อง

นิสิตทั้งหอประชุมร่วมขอเพลงด้วยการเขียนใส่เศษกระดาษส่งต่อๆ กันไปข้างหน้าจนถึงพิธีกรจนเป็นปึกๆ พิธีกรอ่านถวายทางไมโครโฟน บางเพลงเป็นเพลงที่ไม่ทรงรู้จัก ทรงเล่นให้ไม่ได้ ก็จะเสด็จมารับสั่งตอบให้ที่ไมโครโฟนด้วยพระอารมณ์ขัน เรียกเสียงปรบมือกึกก้อง

แล้วยามเย็นย่ำก็มาถึง เป็นเวลาแห่งความสุขและความทรงจำอันเลอค่าเกือบ 6 ชั่วโมง สัญญาณแห่งการอำลามาถึง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสอำลา และพระราชทานพรแก่นิสิตทั้งหลาย เหล่านิสิตก้มกราบรับพระราชทานพรไว้เป็นสิริมงคลแก่ตน

นาทีแห่งการอำลามาถึง เมื่อวงดนตรีขึ้นเพลงพระราชนิพนธ์ “When” น้องใหม่และนิสิตทั้งหอประชุมร่วมร้องพร้อมเพรียงกัน แล้วพยายามยืดเวลาเสด็จฯ กลับให้ทอดยาวออกไปให้นานที่สุด ด้วยการร้องเพลงท่อนสุดท้ายที่ว่า

“So won”t you please tell me when”

ร้องย้ำเช่นนี้เป็นสิบๆ เที่ยว สอดประสานกับวงดนตรีที่บรรเลงสอดรับ จนองค์หัวหน้าวงให้สัญญาณ แล้ววงดนตรีหยุดบรรเลงสอดรับ

สิ้นสุดการ “ทรงดนตรี” ในครั้งนั้น

ระหว่างทรงเก็บเครื่องดนตรี นิสิตที่เป็นต้นเสียงขึ้นเพลง CU POLKA แล้วทุกคนก็ร้องตาม

แล้วเมื่อจะเสด็จฯ กลับ นิสิตร่วมร้องเพลง “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” ดังกึกก้องหอประชุม

ตามด้วยเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” ที่ทุกคนร้องออกมาจากหัวใจ

และเมื่อจบเพลง ทุกพระองค์เสด็จออกข้างม่าน เพลง “สรรเสริญพระบารมี” ก็ดังกระหึ่มหอประชุมจุฬาฯ

เหล่านิสิตที่อยู่ด้านนอกช่วยกันเข็นพระราชรถที่ไม่ต้องติดเครื่องยนต์ พร้อมกับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีส่งเสด็จไปจนออกถนนพญาไท

“So won”t you please tell me when”

“วันเวลาผ่านไปไม่หวนกลับ

ภาพประทับทรงดนตรีมีความหมาย

สถิตอยู่กลางหัวใจไม่เสื่อมคลาย

ขอทำดีทูลถวายจนวายชนม์”

อ้างอิง :

1. “วันทรงดนตรีที่อยู่ในความทรงจำ”

ท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน ตุลาคม 2541

2. หนังสือน้องใหม่จุฬาฯ 50 ปี พิมพ์ 2559