180 วันอันตราย! ท่ามกลางความมึนงง และเหน็ดเหนื่อยของทุกฝ่าย

สมชัย ศรีสุทธิยากร

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2565 เป็นวันแรกเริ่มต้นของ 180 วันอันตราย ก่อนการอยู่ครบวาระ 4 ปี ของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่การที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดตามมาตรา 68(1) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องกำหนดวิธีการหาเสียงในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องกระทําตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนวันครบอายุ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งเอง ก็มีการจัดประชุมชี้แจงต่อตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2565 ถึงสิ่งที่ทำได้ สิ่งที่ทำไม่ได้ ในช่วงเวลา 180 วันดังกล่าว

แต่คำถามต่างๆ ยังมีอีกมากมาย ซึ่งแม้แต่ตัวแทนผู้ชี้แจงของคณะกรรมการการเลือกตั้งยังบอกว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ และต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน

กติกา 180 วัน จึงสร้างความสับสนและความกังวลแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองในฐานะผู้เล่น สร้างความไม่แน่ใจ ไม่ชัดเจนในการวินิจฉัยแก่กรรมการการเลือกตั้งในฐานะผู้กำกับ และความสงสัยถึงเหตุผลและความเป็นธรรมในการใช้กติกาดังกล่าวกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมแก่ประชาชนในฐานะผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ยุบยิบด้วยระเบียบและประกาศ

ระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นมีหลายฉบับ นับแต่ระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ออกมาฉบับแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2561 ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2562 และมีประกาศฉบับที่ 3 ออกมาล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งออกมา 2 ฉบับ คือฉบับแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2561 และฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2562

และยังมีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ออกมาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2561และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง ประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ออกมาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2561 อีกฉบับหนึ่ง

เท่ากับว่า การที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง จะสามารถเข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการหาเสียงต้องทำความเข้าใจระเบียบ 2-3 ฉบับ และประกาศอีก 4 ฉบับ เป็นอย่างน้อย

 

ให้ใช้ของเดิม
แต่ของเดิมคนละเรื่องกับของใหม่

ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) ที่ประกาศมาล่าสุด เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2565 มีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ

1) กรณีที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยวิธีการจัดทำ ขนาด จำนวน และสถานที่ ให้ถือปฏิบัติตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศกำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

และ 2) กติกาดังกล่าวให้บังคับแก่ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งด้วย

กติกาในข้อแรก ฟังดูง่าย คือ พอเข้าเขต 180 วันแล้ว การติดป้ายประกาศต่างๆ ก็ให้คิดเหมือนกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คือการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2562

กล่าวคือ ต้องยึดตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นสำคัญ โดยกำหนดขนาดแผ่นป้ายโฆษณาเป็น 3 แบบ คือขนาดเล็ก ไม่เกิน 30 x 42 เซนติเมตร ติดตามสถานที่ราชการที่จะอำนวยความสะดวกจัดหาสถานที่ติดให้ มีได้ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้ง ขนาดกลาง ไม่เกิน 130 x 245 เซนติเมตร ที่เราพบเห็นตามถนน และเสาไฟฟ้าทั่วไป มีได้ไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้ง และขนาดใหญ่ 400 x 750 เซนติเมตร สำหรับป้ายที่ทำการสาขาพรรคที่มีได้ แห่งละ 1 ป้าย

ปัญหาประการแรก คือ จำนวนเขตเลือกตั้งในปัจจุบัน มี 400 เขต ในขณะที่เขตเลือกตั้งในปี พ.ศ.2562 มี 350 เขต นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่มีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง และยังไม่ทราบจำนวนหน่วยเลือกตั้งว่าในแต่ละเขตมีกี่หน่วยเลือกตั้ง แล้วจะไปกำหนด 10 เท่า หรือ 2 เท่าจากจำนวนอะไร

ปัญหาประการที่สองที่พบจากการปฏิบัติในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 คือ ป้ายประเภทแรกที่เป็นขนาดเล็กนั้น เป็นภาระของหน่วยราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ทำการอำเภอ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน ต้องจัดหาสถานที่ติดตั้งป้ายดังกล่าวตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

และที่สำคัญคือ เป็นป้ายที่ไม่มีผู้สมัครมาติด เนื่องจากไม่เห็นประโยชน์ หากครั้งนี้ยังดำเนินการก็เท่ากับย้อนรอยความผิดพลาดในอดีตโดยไม่รู้จักปรับปรุงให้เหมาะสม

 

การคิดค่าใช้จ่ายในการหาเสียง

เมื่อยึดกติกาการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2562 ในช่วง 180 วัน การคิดค่าใช้จ่ายในการหาเสียง จึงต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตมีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงไม่เกิน 1.5 ล้าน และพรรคการเมืองมีค่าใช้จ่ายโดยรวม พรรคละไม่เกิน 35 ล้านบาท

ส่วนประเภทค่าใช้จ่ายนั้น ต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง ประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้มีประเภทรายการค่าใช้จ่ายได้รวม 13 รายการ อาทิ ค่าป้ายโฆษณา ค่าจ้างแรงงาน ค่าจ้างทำของ ค่าโฆษณาในสื่อต่างๆ เป็นต้น โดยต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

โดยปกติ ค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่ายในกรอบเวลา 45-60 วัน หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง แต่เมื่อกรอบเวลาขยายเป็นถึง 180 วัน รวมกับหลังครบวาระอีก 45 วัน กลายเป็น 225 วัน หรือคิดเป็นเวลา 4-5 เท่าของเวลาที่ใช้ทั่วไปในอดีต

สิ่งที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องดำเนินการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการหาเสียงให้ดี คือ การวางแผนและจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับกรอบเวลาที่ขยายออกไปรวมทั้งหมดถึงเกือบ 8 เดือน

คิดง่ายๆ หากผู้สมัครหนึ่งคนมีงบประมาณ 1.5 ล้านบาท การกระจาย 8 เดือน จะใช้จ่ายได้เฉลี่ยเดือนละไม่ถึง 200,000 บาท หรือพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีงบประมาณ 35 ล้านบาท การกระจาย 8 เดือนจะมีค่าใช้จ่ายทั้งประเทศต่อเดือน ประมาณ 400,000 บาทเศษ และหากเอาจำนวนจังหวัดที่มี 77 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) ไปหาร เท่ากับค่าเฉลี่ยประมาณ 56,000 บาทต่อจังหวัดต่อเดือนเท่านั้น

 

คนเล่นก็เหนื่อย คนกำกับกติกายิ่งเหนื่อย

กติกา 180 วันทำให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ประสงค์ลงสนามแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องตัวเกร็งและเหน็ดเหนื่อยกับกติกาที่จุกจิก ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่เพราะมีโอกาสที่ถูกร้องว่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้ถูกตัดสิทธิในการสมัคร หรือหากได้รับเลือกก็มีโอกาสถูกร้องได้เพื่อให้ใบเหลืองใบแดงได้

สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น แทนที่จะทำงานในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ต้องขยายเวลาทำงานเป็นก่อนครบวาระของสภาผู้แทนราษฎรถึง 180 วัน ซึ่งเชื่อได้ว่าจะมีเรื่องซักถามและร้องเรียนเข้ามาอย่างมากมาย

อยากสร้างกติกาแบบนี้ ก็ต้องเหนื่อยไปงงไปแหละครับ