ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ มองปรากฏการณ์ Boy’s Love ซีรีส์วาย ‘ปัง’ แต่มีฝ่ายเห็นต่าง สังคมไทยยังไม่น่ารักกับความหลากหลายทางเพศ

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ซีรีส์วาย” ที่กำลังปังขณะนี้ว่า ในฐานะพล็อตเรื่อง มันเป็นตระกูลใหญ่ที่น่าสนใจตระกูลหนึ่ง เรียกว่า Boy’s Love (BL) เราจะเห็นได้ว่าประเทศเรามีพล็อตแบบนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หรืออาจจะนานกว่านั้น

พล็อต BL ที่เอามาใช้ทำซีรีส์ในทีวีจนประสบความสำเร็จนั้น เราต้องดูว่าประสบความสำเร็จกับใคร

อย่างไร เพราะเมื่อพูดถึงความนิยมไม่ได้แปลว่านิยมทุกคนหรือใครๆ ก็สนใจอย่างกว้างขวาง ต้องดูว่าใครคือคนที่เป็นฐานสนับสนุน BL ต้องพิจารณาให้ดีๆ และ BL กำลังพูดเรื่องอะไร ซีรีส์วายกำลังพูดอะไร เสนออะไร เราอาจจะต้องถอยหลังออกมามองจุดนี้ก่อน

องค์ประกอบที่ทำให้ซีรีส์วายของไทยประสบความสำเร็จนั้น ในมุมมองส่วนตัวดิฉันจับใส่ไว้ในประเภท “เรื่องจินตนาการในทางเพศ” เป็นจินตนาการของคนที่มีเพศสภาพหญิง ซึ่งสะท้อนความปรารถนาสิ่งที่อยากจะได้ ในความรักความสัมพันธ์ ซึ่งในชีวิตจริงมันไม่มีความโรแมนติก รักจริง ทำทุกอย่างได้ รอคอยได้ มีความนุ่มนวล อย่างที่เขานำมาใส่ไว้ในพล็อตที่เรียกว่า BL นี้

เพราะฉะนั้นถ้าดูภาพใหญ่ๆ ตั้งแต่ผู้เขียนและผู้เสพส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทุกคน) เป็นเพศสภาพหญิง

ดังนั้น เวลาที่คุณพูดว่าเป็นที่นิยมต้องไปดูว่าเป็นที่นิยมในหมู่ไหน ใครเป็นผู้เสพอย่างไร

 

สาเหตุที่ BL ของเราประสบความสำเร็จมาก มีความป๊อปปูลาร์ในหลายประเทศ เท่าที่ฟังนักวิชาการในเอเชียตะวันออกที่พูดถึงซีรีส์วายในบ้านเรา รวมทั้งมุมมองของคนดูในหลายๆ สังคม เขาจะพูดถึงองค์ประกอบว่าซีรีส์วายของเรา มีองค์ประกอบของความรักแบบโรแมนติก ระหว่างคนสองคน และจริงๆ แล้วเป็นพล็อตเรื่องที่เราคุ้นเคย เช่น แกล้งทำเป็นแฟนกัน สุดท้ายกลายเป็นแฟนกันจริงๆ อะไรแบบนี้ หรือไม่ชอบกันมาก่อนเวลาเจอกันไม่ชอบหน้ากันไม่ถูกกัน ในที่สุดกลายเป็นว่ารักกัน

นี่เป็นพล็อตเรื่องเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว คือพล็อตเรื่องมันน่าเอ็นดูและคุ้นเคย

ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำให้โด่งดัง มีคนพูดถึงเรื่องของวัฒนธรรมแง่มุมเชิงวัฒนธรรมที่คนอื่นไม่เคยเห็น เช่น ในมหาวิทยาลัย น่าสังเกตว่าซีรีส์วายของไทยแทบทุกเรื่องจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย ก็เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก

หลุดไปจากตรงนี้ไม่ได้ จะมีองค์ประกอบที่ทำให้น่าเอ็นดู

และต่อมาคือ “เพลงไทยป๊อป” ที่อยู่ในซีรีส์ ประกอบกับตัวนักแสดงทำให้เป็นที่โด่งดังมากทำให้หาคนเทียบเราได้ลำบาก

จริงๆ ไม่อยากใช้คำว่า “เมืองหลวง” แต่เราเป็น Super Power เป็นมหาอำนาจเจ้าหนึ่งของซีรีส์วายเลยทีเดียว ความสนใจได้กระจายไปไกลมาก จึงทำให้มีการผลิตออกมามากมาย

 

ถามว่าทำไมซีรีส์เหล่านี้ถึงไม่พูดหรือสอดแทรกเรื่องหนักๆ เข้าไป รศ.ดร.ชลิดาภรณ์บอกว่า ก่อนอื่นต้องย้ำว่าตระกูล “ซีรีส์วาย” มันสะท้อนความปรารถนาของคนอยากได้ความรักแบบโรแมนติก แบบคู่รักที่ใส่ใจอ่อนโยน รักยาวนาน

เขากำลังพูดถึงสิ่งที่เขากำลังปรารถนา คนเขียนกำลังเป็นดีไซเนอร์เรื่องตัวเอง เขากำลังพูดถึงแฟนตาซีของเขาในเรื่องนี้ ดังนั้น สิ่งที่เรียกร้องเรื่องหนักๆ มันคือคนละเรื่อง การที่จะบอกว่าซีรีส์วายควรจะต้องสอดแทรกเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้าไป ต้องไปเพิ่มที่อื่นต้องไปเพิ่มตระกูลใหม่ขึ้นมา ตรงนี้มันเป็นพื้นที่ของเขา

สำหรับดิฉันมองว่าตระกูลนี้คือ women space ที่คนดูแล้ว เสพแล้วสนองจินตนาการของเขา การที่เราจะไปบอกว่าต้องมีเรื่องนั้นเรื่องนี้แทรกเข้าไปด้วย ก็ต้องไปเขียนเองทำใหม่

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ระบุด้วยว่า เคยมีนักวิชาการญี่ปุ่นบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าจะมีมุมบางมุมที่อาจจะไม่ค่อยได้เห็นใน BL หลายๆ เรื่อง เช่น การพูดถึงพ่อแม่ที่ไม่เห็นด้วย เวลาลูกซึ่งมีเพศสภาพชาย มีความรักที่โรแมนติกต่อชายอีกคนหนึ่ง คือหมายถึงปฏิกิริยาของครอบครัว ต้องให้เครดิตว่าบางเรื่องมีการพูดถึงเรื่องแบบนี้เช่นกัน แต่เขาไม่ได้ยกประเด็นไปพูดถึงเรื่อง homosexuality หรือเรื่องความไม่เป็นธรรมทางเพศ

เวลาที่ดิฉันสอนในคลาสเรียนดิฉันพูดถึง BL ในฐานะแฟนตาซีของคนกลุ่มหนึ่งที่มีเพศสภาพหญิง (ที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค) ที่มีจินตนาการบางอย่างในเรื่องความรักแบบโรแมนติก ที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ซึ่งมันหาไม่ได้ในชีวิตจริง จึงต้องไปออกในอาณาบริเวณของแฟนตาซี

ทีนี้เวลาพูดกันในคลาสเรียน ดิฉันจะชี้ให้เห็นว่าเป็นคนละเรื่องกับ homosexuality แล้วจริงๆ คนที่เขาเสพคงไม่เหมือนกันเลย การจะไปยกให้ BL จะต้องว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ ก็จะไปได้ไม่สุดเพราะเขาไม่ได้พูดเรื่องนั้นอยู่

ก็อยากจะชี้ให้เห็นความแตกต่างที่ว่านี้ ดิฉันสังเกตว่าเวลาที่มีคนมาคุยกับดิฉันในเรื่องซีรีส์วาย คุณจะผสม 2 เรื่องนี้ลงเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วคุณคิดว่าความป๊อปปูลาร์ของซีรีส์วายจะส่งผลต่อความหลากหลายทางเพศ หรือการเคลื่อนไหว LGBTQ+ ในประเทศไทยด้วย

ดิฉันมองว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกันซะทีเดียว แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ส่งผล แต่จะไม่ส่งผลอย่างที่เราคาดหวัง

 

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าวอีกว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ชวนมองคือ BL ในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Fan Fiction หมายถึงเวลาที่ผู้บริโภคเขาดูซีรีส์แล้วเขาชอบ คุณก็จะได้เห็นบรรดาแฟนๆ เขาจะไปนำเสนอจินตนาการของเขาเองต่อ เนื่องจากเขามีตัวละครที่เขาชอบ เช่นดู Together The Series พอมีตัวละครที่ตัวเองชอบแล้วก็จะหยิบเอาตัวละครเหล่านี้มาเขียนจินตนาการในมุมของตัวเอง เป็น Fan Art

อาณาบริเวณนี้น่าสนใจว่า ในที่สุดเขาไม่ได้เป็นแค่เพียงผู้เสพ แต่เขาจะ produce อะไรบางอย่างไปต่อเอง

คือเวลาที่ดิฉันสอนหนังสือ เรื่องที่จะยกขึ้นมาพูดต่อคือเรื่องแฟนฟิคชั่น เลยอยากชวนให้คิดว่าน่าจะไปตามดูต่อว่าไปต่อแค่ไหนอย่างไร คนที่เสพประเภท BL เขาจะนำไปทำอะไรต่อ

สำหรับสังคมไทยคนที่ดูซีรีส์วาย ถ้าจะนำเสนอเรื่องนี้ต้องมองดีๆ การที่ป๊อปปูลาร์เหลือเกินหรือนิยามว่าเราเป็นเมืองหลวงของซีรีส์วาย ต้องไปดูให้ดีกว่าผู้บริโภคกลุ่มที่เขาไม่ชอบ กรณีที่มีคนที่ไม่แฮปปี้อยู่ก็ยังมี เขาก็ตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีซีรีส์แบบนี้ผลิตออกมาเยอะแยะ นี่เหมือนจะเป็นการทำให้ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาหรือไม่

ดิฉันก็พยายามอธิบายว่าเขากำลังพูดถึงเรื่องจินตนาการอื่นๆ อยู่ ก็ต้องดูเช่นเดียวกันว่าคนที่เขาไม่ชอบคือใคร อย่าให้ความป๊อปปูลาร์มาบังตาเราเพราะว่าคนที่ไม่ชอบที่อาจดูเหมือนเสียงเบาเพราะว่ากำลังขายได้ขายดีหมายถึงเป็นสินค้าส่งออก เสียงเห็นต่างจึงอาจจะถูกลดทอนลงไปบ้างเพราะมีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและอื่นๆ อยู่

สิ่งที่อยากฝากสื่อคือ ควรไปตามต่อว่าในที่สุดแล้วมีคนชอบไม่ชอบประมาณไหน ดิฉันพยายามจะชี้ให้เห็นว่าการเหมารวมเร็วๆ ว่ามันป๊อปปูลาร์ในหมู่คนหลายกลุ่มเลยโอเคแล้วมันเป็นสิ่งที่อันตราย

จริงๆ แล้ว เราน่าจะเคยได้เห็นการดีเบตในเรื่องของความหลากหลายทางเพศเหล่านี้อยู่ ดิฉันมองว่าเสียงเรื่องความรักหลากหลายทางเพศส่วนหนึ่งคนที่ไม่ชอบเขาอาจจะไล่ตามไม่ทันคือยังงงๆ อยู่กับซีรีส์วาย

แต่ถ้าเขาไล่ตามขึ้นมาทันเมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าจะเกิดการถกเถียงแบบไหนอย่างไร คือสังคมไทยถามว่าเปิดกับเรื่องความหลากหลายทางเพศหรือไม่ ดูเหมือนมันจะเปิด แต่จริงๆ แล้วมันมีอันตรายอยู่ การเปิดการให้ที่ทางกับเรื่องเพศนอกกรอบในสังคมไทย มันจะโอเคตราบเท่าที่คุณไม่พยายามจะดันมันเข้าสู่ “สถานะที่เป็นทางการ”

เช่น เรื่องของการยอมรับในทางกฎหมายหรือการยอมรับโดยพิธีกรรม ตำแหน่งแห่งที่ของรัฐ

เท่าที่สังเกตดูเวลามีการนำเสนอกฎหมายเราก็จะเห็นการปะทะของสิ่งที่ไม่เห็นด้วยอยู่ ดังนั้น “ซีรีส์วาย” ในความรู้สึกส่วนตัวจากข้อสังเกตตัวเอง มันยังคงอยู่ในอาณาบริเวณของความบันเทิงและกลุ่มที่ดูเป็นคนกลุ่มหนึ่งอยู่ กิจกรรมที่บรรดาพี่ๆ น้องๆ แฟนดอมทำ เขาจะมีกิจกรรมของเขาซึ่งยังไม่ได้สอดรับกับพื้นที่ของคนกลุ่มที่มีความเห็นต่างอยู่ ก็อยากเห็นว่าสังคมไทยมีฐานข้อมูลที่จริงจังว่าผู้เสพซีรีส์เหล่านี้คือใครอย่างไร คือการที่มีคนเสพมาก มีคนที่ชอบเยอะ อย่าไปคิดว่าพอมันดังแล้วต้องแปลว่าทุกคนจะโอเคกับมัน ไม่ใช่เลย

“คนที่เป็น homophobia ยังมีอยู่มากมาย สังคมไทยเหมือนจะน่ารักในเรื่อง LGBTQ+ คือเราหัวเราะเล่นได้ แต่ถึงเวลาที่จะต้องยอมรับให้ที่ทางเปิดทางให้จริงๆ ก็จะมีคนที่ไม่เอาด้วยอยู่ ดังนั้น เสรีภาพของคนที่เห็นต่างในเรื่องของเพศสภาพเพศวิถี ถึงเวลาจริงก็ไม่เอาด้วยก็มี ดิฉันจึงไม่ค่อยมั่นใจหรือรู้สึกว่าสังคมไทยน่ารักขนาดนั้นในเรื่องเหล่านี้”