ความท้าทายของ ‘ซีรีส์ Y ไทย’ ในมุมมอง ‘มะเดี่ยว รักแห่งสยาม’ | คนมองหนัง

คนมองหนัง

เพิ่งมีโอกาสอ่านบทสัมภาษณ์ “จนกว่า Y จะกลายเป็นเรื่องปกติ’ – มองอนาคตอุตสาหกรรม Y กับ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” โดย “ธีรภัทร อรุณรัตน์” จากเว็บไซต์ https://feedforfuture.co/feed-ent/8842/ ซึ่งเต็มไปด้วยความคิดเห็น-ประสบการณ์ที่น่าสนใจหลายประเด็น

จึงขออนุญาตเก็บเนื้อความบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง

ดังนี้

ประเด็นแรก ที่ “มะเดี่ยว ชูเกียรติ” ผู้กำกับฯ ภาพยนตร์ “รักแห่งสยาม” พยายามจำแนกแยกแยะไว้อย่างน่าสนใจ ก็คือ ข้อแตกต่างระหว่างคอนเทนต์บันเทิงแบบ “Y” และ “LGBTQ”

อย่างไรก็ตาม มะเดี่ยวไม่ได้ประเมินว่าคอนเทนต์แบบหนึ่งดีกว่า เหนือกว่า หรือต่อสู้มากกว่าอีกแบบ แต่เขากำลังย้ำว่าคอนเทนต์สองประเภทวางอยู่บนเงื่อนไขและโจทย์การผลิตที่ผิดแผกกัน

“ซีรีส์ Y ขายภาพอุดมคติของวัยรุ่นชายรักชายไทย เป็นภาพสะท้อนออกมาจากการ์ตูนอีกทีหนึ่ง หลายคนถามว่าทำไม Y ไม่สะท้อนความจริงของสังคม เก้งกวาง (หมายถึงเกย์) บางทีก็ไม่ได้หน้าตาดีนะ

“คอนเทนต์ Y ต่างจาก LGBTQ ตรงที่ Y คือการซัพพอร์ตความโรแมนซ์ของความสัมพันธ์ คุณไม่ต้องนึกถึงอะไรเลยก็ได้ ขายความแฟนตาซี ความเพ้อฝัน อุดมคติของคู่รักชาย ส่วน LGBTQ คือเรื่องราวที่ตัวละครมีปมกับเพศสภาพทั้งต่อตัวคนอื่น ตัวเอง หรือสังคม

“ซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์อย่าง Pose (วาดท่าท้าฝัน, 2018) หรือเรื่อง Uncoupled (2022) หรือซีรีส์ไทยอย่าง เกย์ โอเคแบงค็อก (2016) คือซีรีส์ LGBTQ ไม่ใช่ Y นี่ต้องแยกให้ออก จะได้เอาแว่นตา ฟิลเตอร์ของเราไปจับได้

“หมายความว่าถ้าคุณมอง Y แล้วบอกว่าทำไมผลิตซ้ำ beauty privilege (วัฒนธรรมที่ให้คุณค่ากับความหน้าตาดี สวย-หล่อ)? มันไม่ใช่แล้ว คุยกันคนละเรื่อง ลูกค้าคนละกลุ่ม”

กระนั้นก็ตาม มะเดี่ยวยอมรับว่าผลงานล่าสุดของเขาเป็นส่วนผสมของทั้ง “คอนเทนต์ Y” และ “คอนเทนต์ LGBTQ” ดังที่เขาบอกกับธีรภัทรว่า

“มันกึ่งๆ เราใช้ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างเรื่อง ‘ทริอาช’ (Triage, 2022) ก็เป็นหมอ เผอิญว่าเขามีแฟนเป็นผู้ชายเท่านั้นเอง ไม่ได้พูดว่าเป็นอุปสรรคหรืออะไร คนในโลกนั้นทุกคนยอมรับ และอาจจะมีความเพ้อฝันแบบซีรีส์ Y แต่ก็พูดถึงชีวิตของคนที่เป็น LGBTQ ในที่ทำงาน อุปสรรคในหน้าที่การงาน เขาก็มีจุดหมายชีวิตเหมือนคนทั่วไป”

 

อีกหัวข้อการสนทนาที่น่าสนใจมากๆ ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ก็คือ การถาม-ตอบว่าด้วยเรื่อง “ความท้าทาย” ของ “ซีรีส์ Y ไทย”

มะเดี่ยวถ่ายทอดประสบการณ์ว่า “อุตสาหกรรม Y ไทย” ยังมีปัญหาเรื่องความสมดุลระหว่างคุณภาพของงานสร้างกับเนื้อหา เพราะบางเรื่องโปรดักชั่นดี แต่เนื้อหาแย่ บางเรื่องเนื้อหาดี แต่โปรดักชั่นแย่ หรือบางครั้งความสามารถของนักแสดงก็ส่งผลต่อตัวซีรีส์

นอกจากนั้น ถ้ามองว่าซีรีส์ Y ถูกผลิตขึ้นเพื่อ “เซอร์วิส” แฟนคลับเฉพาะกลุ่ม ความบันเทิงชนิดนี้ก็จะเจาะตลาดอื่นๆ ได้ยาก เพราะผู้ชมอีกหลากหลายกลุ่มอาจรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะดู หรือคิดว่าซีรีส์เหล่านี้ไม่ได้ถูกผลิตมาสำหรับพวกเขา

“โจทย์คือจะทำยังไงให้ Y เข้าไปอยู่ในหนังกับทุกคนได้ ต่อไปจะไม่มีประเภท (genre) ของ Y แล้ว มันคือหนังบู๊หรือหนังรักเรื่องหนึ่ง ที่ตัวเอกเป็นชายรักชายเท่านั้น ทำให้ Y เป็นเรื่องปกติ”

ผู้กำกับฯ ที่ผ่านงานภาพยนตร์และโทรทัศน์มามากมาย ยังแสดงความวิตกกังวลต่อแนวโน้มบางอย่าง ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นแล้วเวลาไปเปิดโต๊ะเจรจากับคู่ค้าต่างประเทศ

“ตอนนี้เริ่มมีกระแสจากลูกค้า เริ่มไม่ค่อยไว้ใจผลงานซีรีส์ Y จากไทยแล้ว เพราะส่วนใหญ่เอาเงินไปปั้นทำเทรลเลอร์ (หนังตัวอย่าง) แล้วไปขายแบบ ‘pre-buy’ (ลูกค้าต่างชาติจ่ายเงินก่อนซีรีส์ทั้งเรื่องจะผลิตเสร็จ) แต่พอลูกค้าได้ซีรีส์เต็มไปแล้ว ออกมาไม่ค่อยดี เริ่มมีเสียงสะท้อนตอนเราเอา (งาน) ไปขายว่า อาจจะต้องรอดูหน่อยนะว่าตัวงานเป็นยังไง เขาเจ็บมาเยอะ

“ข้อควรระวังที่สุดคือกระแสแบบนี้แหละ เขาเรียกกันว่า ‘me-too production’ ฉันก็ทำ เขาก็ทำนะ เรามาทำกันบ้างดีกว่า คิดเสียว่ามีผู้ชายนัวเนียกันก็ขายได้แล้ว ยุคหนึ่งอาจจะขายได้ เพราะเขาเชื่อในตัวเรา กระแสมันมา แต่วันนี้อาจจะไม่ใช่อย่างนั้น”

เมื่อหลายฝ่ายประเมินว่า “ซีรีส์ Y แบบไทยๆ” กำลังอยู่ในสภาวะ “ขาขึ้น” หรือยุคสมัยอัน “เรืองรอง” คนเหล่านั้นก็มักจะเชื่อมโยง “อุตสาหกรรม Y” เข้ากับแนวคิดเรื่อง “ซอฟต์เพาเวอร์” โดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ดี มะเดี่ยวเตือนทุกฝ่ายว่าอะไรต่อมิอะไรไม่ได้มีความง่ายดายขนาดนั้น ทั้งนี้ หากมองในภาพกว้างทั้งหมด สิ่งที่ “อุตสาหกรรมบันเทิงไทยโดยรวม” ยังขาดแคลน ก็คือ “อำนาจต่อรอง”

“‘อำนาจต่อรอง’ หมายถึง อำนาจที่เรามีคอนเทนต์ในมือ แล้วทุกคนวิ่งมาหา ซื้อทุกอย่างที่เราทำ ในแบบที่เราอยากจะให้ทำ ทุกวันนี้ แพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นเน็ตฟลิกซ์หรือสตรีมมิ่งเจ้าอื่นเข้ามา (ว่าจ้างคนไทยผลิตคอนเทนต์) IP (Intellectual Property – ทรัพย์สินทางปัญญา) เป็นของเขานะ ไม่ใช่ของคนไทย แล้วมันจะเป็น ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ ตรงไหน?

“โอเคว่าเราทำแล้วได้เข้าไปฉายในพื้นที่ที่คนดูเยอะที่สุดในโลก แต่ลิขสิทธิ์ของตัวงานไม่ใช่ของเรา และลิขสิทธิ์ตัวงานนี่แหละคือ ‘ซอฟต์เพาเวอร์’

“สมมุติเราเป็นเจ้าของตัวละคร Spider-man จะทำอะไรกับแคแร็กเตอร์นี้ก็ได้ สมมุติเราเป็นเจ้าของพระอภัยมณี (หัวเราะ) ในกรณีที่คนทั้งโลกดูพระอภัยมณี ผีเสื้อสมุทร ฮอลลีวู้ดก็อยากซื้อไปทำ จะต่อรองเอาราคาเท่าไร เราจะเอาอะไร เขาก็ยอมจ่าย

“อีกอย่างคือการทำหนังเมืองนอก (การกระตุ้นให้กองถ่ายหนังต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในไทย) ก็ไม่ใช่ ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ มันคือการรับจ้างผลิต ต้องมองตรงนี้ให้ออกนะ ไม่มีสินทรัพย์อะไรเป็นของเราเลยนะคุณ…

“เราอย่าไปมองผิดด้าน การผลิตหนังนอกคือการรับจ้างทำ เหมือนเรามีโรงงานผลิตรถยนต์ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต เช่นเดียวกัน เราไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ทำการผลิต โอเค เราได้เงิน แต่นั่นควรจะอยู่ในหมวดการส่งเสริมอุตสาหกรรม หรืออะไรก็ว่ากันไป ซึ่งจริงๆ เราก็ส่งเสริมกันอยู่แล้ว เช่น การลดหย่อนภาษี การคืนเงินที่ใช้จ่าย (cash rebate) ฯลฯ

“เข้าใจว่าอยากให้ต่างประเทศเข้ามาถ่ายหนังบ้านเรา แล้วคนทำหนังไทย ซีรีส์ไทยได้อะไร?”

นี่คือคำถามสำคัญที่ “มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ทิ้งเอาไว้ ในฐานะผู้ผลิตหนัง-ซีรีส์ไทยคนหนึ่ง •