เสถียร โพธินันทะ : การเรียนภาษาจีน [ดังได้สดับมา]

นอกเหนือจากธรรมจักษุจะนำเสนอบทความ “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม” ในนาม เสถียร กมลมาลย์ ในฉบับประจำเดือนธันวาคม 2487-กันยายน 2488 แล้ว

ยังนำเสนอเรื่อง “เสียงแห่งเมตตากรุณา” ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2488-มกราคม 2489

จากนั้นนำเสนอเรื่อง “อนุสรณ์ศานติธรรม” บทความเรียงพิเศษวันวิสาขบูชา ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2489 พร้อมกับระบุด้วยว่า

“นี้เป็นเรื่องที่ 3 ของยุวชนอายุ 17 ปี ผู้สนใจค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา”

และเมื่อถึงธรรมจักษุ ฉบับประจำเดือนมิถุนายน-กันยายน 2489 ก็นำเสนอเรื่อง “มองโกเลีย ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา”

ระบุว่า “เรียบเรียงจากฉบับจีน ขององค์การค้นวิชาประเทศจีน”

ต่อมาในธรรมจักษุฉบับประจำเดือนตุลาคม 2489-มกราคม 2490 ก็นำเสนอเรื่อง “คัมภีร์บาลีในไตรปิฎกจีน” ตามมาด้วย “พุทธอาณาจักรแห่งหิมวัต” ในฉบับประจำเดือนมิถุนายน-กันยายน 2490 พร้อมกับบอกด้วยว่า

“เรื่องนี้ เสถียร กมลมาลย์ พุทธศาสนิกหนุ่มอายุ 19 ปี ได้รวบรวมขึ้นจากตำราภาษาจีน บรรยายความเป็นไปแห่งพระพุทธศาสนาในทิเบต”

ความน่าสนใจมิได้อยู่ที่อายุ หากอยู่ที่ “ภาษาจีน”

สุชีพ ปุญญานุภาพ เรียบเรียงชีวประวัติของ เสถียร โพธินันทะ ระบุรายละเอียดตอนหนึ่งในยามปฐมวัยว่า ในขณะที่มีอายุ 13-14 ปีก็ชอบเที่ยวไปตามวัดต่างๆ

ทั้งวัดจีน วัดญวน และวัดไทย

โดยเฉพาะวัดจีนและวัดญวนนั้นชอบไปดูพิธีทิ้งกระจาด การทำกงเต๊กและการสวดมนต์ รู้ดีว่าพระจีนและพระญวนองค์ไหนทำพิธีเก่ง

ทำท่ามุทระ (ท่ามือ) ในแบบต่างๆ ตามพิธีมนตรยานได้งดงามมาก

เนื่องจากยังไม่ได้เรียนหนังสือจีน เพียงแต่พูดได้อย่างเดียวจึงยังอ่านหนังสือจีนไม่ออก ได้ศึกษาความรู้เรื่องพระพุทธศาสนามหายานจากหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” ของ “เสถียร โกเศศ-นาคะประทีป” รู้จักใช้ถ้อยคำได้ถูกต้องตามหลักวิชา

ประกอบกับเป็นผู้มีความจำดีจึงจดจำเรื่องราวที่ได้อ่านในหนังสือไว้ได้มาก สามารถอธิบายรูปปฏิมาต่างๆ ในวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) ได้ถูกต้องและถี่ถ้วน

ยิ่งกว่านั้น การซักถามพระจีนพระญวนที่มีความรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วนก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มีความรู้ในเรื่องของจีนและญวนแตกฉานขึ้น

สุชีพ ปุญญานุภาพ กล่าวถึงการเรียนภาษาจีนว่า

ภายหลังที่ลาออกจากโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุขแล้วต้องการจะค้นคว้าเรื่องพระพุทธศาสนาให้แตกฉานยิ่งขึ้น จึงได้ไปเรียนภาษาจีนที่โรงเรียน “เผยอิง”

ชั่วเวลา 2 ปีเศษก็มีความรู้ภาษาจีนแตกฉาน

สามารถใช้ศัพท์สูงๆ และยากๆ ในภาษาจีนกลางได้ดี เพราะมิได้เรียนจากครูเท่านั้น แต่ค้นคว้าซักถามและสนทนากับผู้มีความรู้อยู่เสมอ

จึงเป็นผู้มีความรู้ภาษาจีนดีเป็นพิเศษ

เรื่องความรู้ ความสามารถในภาษาจีนกลางและความรู้ทางพระพุทธศาสนานี้เล่าลือไปถึงไต้หวัน เพราะมีพระจีนเดินทางมาและแสดงธรรมเป็นภาษาจีน นายเสถียร โพธินันทะ แปลเป็นไทย

เมื่อจะติดต่อกับใคร นายเสถียรก็แปลภาษาไทยเป็นภาษาจีนกลางอีกต่อหนึ่ง

ที่เล่าลือกันมากก็ในข้อที่ว่า พูดสำเนียงจีนกลางได้เหมือนคนปักกิ่ง

นั่นคือที่มาของการแปลและเรียบเรียงในเรื่อง “มองโกเลีย ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา” รวมถึง “คัมภีร์บาลีในไตรปิฎกจีน” และ “พุทธอาณาจักรแห่งหิมวัต”

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องในวัย 17-19 ปี

เป็นเรื่องนับแต่เมื่อเรียนถึงชั้น ม.5 ก็ลาออกจากโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุข และกลายมาเป็นศิษย์คอยรับใช้ต่อ สุชีโว ภิกขุ แห่งวัดกันมาตุยารามอย่างใกล้ชิด

การเรียนภาษาจีนนั้นเองทำให้โลกของ เสถียร กมลมาลย์ เปิดกว้าง

เปิดกว้างจากที่เป็นการศึกษาผ่านการสนทนากับพระวัดจีน พระวัดญวน ไปสู่การอ่านเรื่องราวในทางพระพุทธศาสนาจากภาษาจีน ยกระดับขึ้นเป็นลำดับจากการเป็นล่ามแปลคำบรรยายจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย

ในที่สุดก็นำไปสู่การเขียนงานไม่ว่าจะเป็น “เมธีตะวันออก” หรือ “ปรัชญามหายาน”