จดหมาย

จดหมาย

ประจำวันที่ 23-29 กันยายน 2565 ฉบับที่ 2197

 

จดหมาย

 

• ผู้นำ (1)

ภารกิจการปฏิรูปประเทศเริ่มต้นตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557

ด้วยการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ซึ่งนำมาสู่ข้อเสนอในการปฏิรูปด้านต่างๆ จำนวนมาก

แม้สององค์กรนี้จะถูกยุบไปหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

แต่การดำเนินการปฏิรูปประเทศยังคงดำเนินต่อไปตามรัฐธรรมนูญ 2560

โดยกำหนดระยะเวลาในการปฏิรูปประเทศไว้ 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2565

เท่ากับว่าภารกิจปฏิรูปประเทศที่ดำเนินมายาวนาน 8 ปี กำลังจะสิ้นสุดลง

ที่ผ่านมาโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ติดตามกระบวนการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

พบว่า การปฏิรูปประเทศตลอด 8 ปีที่ผ่านมาล้มเหลว

เป็นเพียงวาทกรรมที่สร้างความชอบธรรมในปกครองและการสืบทอดอำนาจให้กับ คสช. และเครือข่าย ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งปี 2562 เท่านั้น

หลังรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้

คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เพื่อทำหน้าที่ร่างแผนปฏิรูปประเทศและติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ

ในระยะ 5 ปีของการปฏิรูปประเทศมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ รวมกันสองชุด

จากการสำรวจรายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปฯ จำนวนทั้งสิ้น 185 คน พบว่า กรรมการปฏิรูปฯ จำนวนเกือบ 40% ล้วนเป็นคนที่เคยทำงานร่วมกับ คสช.มาตั้งแต่ปี 2557 ในองค์กร เช่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ปัจจุบันคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 คณะ หมดวาระลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565

การปฏิรูปประเทศเป็นเหมือนอุตสาหกรรมการปฏิรูปที่สร้างงานและรายได้ให้กับเครือข่ายของ คสช.

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะใน 5 ปีหลังนับแต่ตั้งมีรัฐธรรมนูญ 2560 เราต้องจ่ายค่าเบี้ยประชุมให้กรรมการปฏิรูปประเทศไม่น้อยกว่า 64 ล้านบาท

แต่ผลงานการปฏิรูปกลับไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง และถ้าย้อนไปถึงปี 2557 เราลงทุนไปในอุตสาหกรรมปฏิรูปไม่ต่ำกว่า 1,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระบวนการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศยังพบความผิดพลาดอย่างร้ายแรง

กล่าวคือ แผนปฏิรูปประเทศฉบับแรกที่ประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2561 จัดทำเสร็จก่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งเป็นแผนหลัก

ดังนั้น เมื่อมีการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติในภายหลังในวันที่ 13 ตุลาคม 2561 คณะกรรมการปฏิรูปฯ จึงต้องทำการแก้ไขแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

และกว่าจะดำเนินการจัดทำและประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศฉบับใหม่เสร็จก็คือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเหลือเวลาในการปฏิรูปประเทศเพียงหนึ่งปีกว่าๆ เท่านั้น

ส่งผลให้การปฏิรูปประเทศเกิดความล่าช้าเป็นอย่างมาก

แผนการปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุงทำให้มีการเปลี่ยนเกณฑ์ชี้วัดการบรรลุเป้าหมาย จากเดิมแผนการปฏิรูปประเทศฉบับแรกนั้นประเมินผ่านประเด็นปฏิรูปจำนวนทั้งหมด 173 เรื่อง

ในขณะที่การประเมินความคืบหน้าการปฏิรูปในแผนล่าสุดลดลงเหลือเพียง 62 กิจกรรม

แผนปฏิรูปประเทศพบเจอปัญหาหลายประการ

เช่น การขาดตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นสากล อีกทั้งหลายตัวชี้วัด ยังถูกเขียนในลักษณะที่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง และยังมีการตั้งเกณฑ์ไว้ต่ำเพื่อให้บรรลุตัวชี้วัดได้อย่างง่ายดาย

การใช้หน่วยงานราชการเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลักจนขาดการมีส่วนร่วม

หรือบางเป้าหมายก็ไม่ได้ระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน

และประเด็นการปฏิรูปจำนวนมากก็ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่หน่วยงานราชการทำอยู่แล้วจึงเกิดความทับซ้อน

การปฏิรูปตลอด 8 ปีที่ผ่านมาเป็นวาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศของ คสช.เท่านั้น

ผลงานการของการปฏิรูปที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเป็นเพียงละครปาหี่ที่มีตัวแสดงหน้าซ้ำเข้าไปมีบทบาทในการปฏิรูปโดยใช้ทรัพยากรที่มาจากภาษีประชาชน โดยไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงเลย

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรับรู้รับทราบว่ามีการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นตลอด 8 ปีที่ผ่านเลย

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

http://ilaw.or.th

 

8 ปี มิใช่เป็นเพียงเรื่องวาระของนายกฯ เท่านั้น

8 ปี ยังมีประเด็นดังที่ “ไอลอว์” วิพากษ์มาอย่างน่าพิจารณา

พิจารณาด้วยความวังเวง

ด้วย 8 ปี นั้นก่อปัญหาทั้งตัวบุคคล และระบบ

• ผู้นำ (2)

ผู้นำที่นั่งอยู่ในหัวใจประชาชน

ตั้งแต่อดีตท่านทำตัวเป็นน้ำ

อ่อนน้อมไหลไปได้ทุกที่ เป็นกันเอง ไม่เสแสร้ง

ประชาชนจึงชอบและไม่เคยลืมเลย ตั้งแต่นายควง อภัยวงค์ จนมาถึงคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพราะสื่อโทรทัศน์เผยแพร่ได้เต็มที่ ประชาชนเห็นแล้วมีความสุข

อย่าทำตัวเป็นเหล็ก

เหล็กแข็ง แต่ตัดได้ง่าย

ส่วนน้ำ ทำยังไงก็ตัดไม่ขาด

และไปได้ทุกที่

ทำไม่ยาก แต่บางคนไม่ยอมทำ พอจะทำก็สายไปเสียแล้ว

ผู้นำต้องเป็นน้ำ อย่าเป็นเหล็ก

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

ตอนนี้ ผู้นำ ทั้งที่อยากไปต่อ

และผู้ที่อยากเข้ามาเป็นผู้นำ

กระทำตัวเป็น “น้ำ”

ตัดหน้าคำแนะนำ “ตะวันรอน” ไปเรียบร้อย

ยิ่งใกล้เลือกตั้งเข้าไปเท่าไหร่

ยิ่งต้องเป็นน้ำ “อ้อนและอ่อน” ไหลเข้าหาชาวบ้านจนแทบจะท่วมหัว! •