ไม่ตัดวงจร ประชาธิปไตยไม่โต/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

ไม่ตัดวงจร

ประชาธิปไตยไม่โต

 

ดูคล้ายจะไม่มี “เจตนา” แต่ลึกลงไปถึงระดับเหนือจิตสำนึกแล้ว แท้จริงเป็น “เจตนา”

คนกลุ่มหนึ่งมี “เจตนา” ที่ไม่ต้องการจะเห็นประชาธิปไตยเติบโตงอกงามในสังคมไทย

ความเป็นประชาธิปไตยจะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่

กลุ่ม “อภิชน” จะเปลี่ยนไป คนหน้าเดิมๆ อาจต้องหายไป คนหน้าใหม่มาแทนที่ แนวคิด แนวทาง ค่านิยม ธรรมเนียม การประพฤติปฏิบัติของผู้คนจะเปลี่ยนไป

ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกหลานชาวบ้านก็จะไม่เป็นเช่นในวันนี้

การไม่พัฒนาของประชาธิปไตยในสังคมไทยได้ส่งผลให้เกิดภาวะ “รวยกระจุก” และ “จนกระจาย” ซึ่งนับวันความเหลื่อมล้ำมีแต่จะยิ่งถ่างออกไปเนื่องจากผู้ปกครองมาจากคนกลุ่มไหนก็ต้องทำเพื่อประโยชน์สุขของคนกลุ่มนั้นไม่อาจเป็นอย่างอื่น

 

เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ครบรอบ 16 ปี “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549”

ถ้าใครยังจำภาพได้ ในวันนั้นรถถังเคลื่อนเข้าล้อมและหันปากกระบอกปืนใส่ทำเนียบรัฐบาลกับสถานที่สำคัญหลายแห่งในเมืองหลวง ศูนย์กลางแห่งอำนาจการเมือง สังคม เศรษฐกิจ

ถัดมาอีกวัน “สนธิ บุญยรัตกลิน” ผบ.ทบ.ผู้นำรัฐประหารขณะนั้น หรือ “คมช.” ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น “หัวหน้าการปฏิรูป” พร้อมกับประกาศว่า ขอเวลา 1 ปี เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ในวันนั้น หลานชายคนหนึ่งอายุได้ 10 ขวบ รู้จักแค่รถถังกับทหาร ไม่รู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดควร-ไม่ควร ถัดมาอีก 8 ปีเกิด “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557” ขึ้นอีก หลานชายคนเดิม อายุ 18 รู้เดียงสาและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ถึงวันนี้ เรียบจบมหาวิทยาลัย หลานชายอายุ 26 แล้ว มีความสงสัยยิ่งนักว่า “หัวหน้าคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557” มีความสามารถอะไร ถึงนั่งเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน

จะว่าไปการก่อรัฐประหารของทหารนั้นเปรียบได้กับ “ยาม” ที่ปล้นเจ้าของบ้าน!

บ้านจ้าง รปภ.ให้ทำหน้าที่ลาดตระเวนตรวจตราดูแลความปลอดภัย ถึงสิ้นเดือนเจ้าบ้านจ่ายค่าจ้าง ยามเจ็บไข้ไม่สบาย เจ้าบ้านก็จ่ายค่าหมอรักษาพยาบาล เงินเดือนก็ขึ้นให้ทุกปี พอปลดระวางยังมีบำเหน็จบำนาญให้

นึกไม่ถึงวันหนึ่งจะถูกปล้นแล้วถูก “กด” ให้อยู่ในการปกครอง

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นับเป็น “ปัญหา” ของประเทศ

เคยมีการเปิดเผยตัวเลขค่าใช้จ่ายในการก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า “ผู้ก่อการ” และผู้ร่วมสมคบคิดถลุงเงินที่ได้มาจากภาษีอากรของประชาชนนับพันล้านบาท ถ้ารวมกับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ตัวเลขน่าจะเฉียด “หมื่นล้าน”

เรื่องจริงแบบนี้ลมพัดพามาวูบเดียวก็หาย!

ระบบการตรวจสอบในประเทศไม่ทำงาน ไม่มีการดำเนินคดีเอาผิดคิดโทษ

ไม่มีแม้แต่การตั้งคำถามหรือจุดชนวนให้สงสัยใคร่ครวญทบทวนตรวจสอบจากผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และจากนักการเมืองที่ชอบอวดอ้างยึดมั่นในหลักการ

 

รัฐประหารเสร็จแล้วทุกครั้ง คนมีปืนมักแจ้งว่า จะปฏิรูปและเขียนกติกาใหม่

แต่ไม่มีการปฏิรูป ไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตย จะมีก็แต่การรวมศูนย์ความเป็นรัฐราชการ กับการล้มและล้างแนวคิดกับแนวทางดีๆ ที่นักการเมืองพลเรือนซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้สร้างได้ทำเอาไว้

และเพื่อที่จะให้ยึดครองและสืบทอดอำนาจเป็นที่ยอมรับ “คณะรัฐประหาร” ทุกชุดก็ต้องอาศัยทั้งนักวิชา (มาร) การและเนติบริกรสมคบคิดกันผลิตกติกาออกมา ซึ่งมีแนวโน้มเน้นไปที่การสกัดกั้นหรือกีดกันบทบาทของนักการเมืองกับการสร้างข้อจำกัดให้กับพรรคการเมืองและสร้างเงื่อนไขในการยุบพรรคการเมือง

นานเข้าสังคมไทยก็ดูจะเพี้ยนตาม มักง่ายกับการจิกหัวด่านักการเมืองที่มาจากคนธรรมดาหรือคนทั่วไป แต่ไม่กล้าที่จะด่าหรือขุดคุ้ย ตรวจสอบนายทหารหรือนักการเมืองที่มาจากการรัฐประหาร

แถมยังนิยมตีสนิทเหมือนญาติด้วยการใช้คำนำหน้าว่า “ลุง”

 

แทนที่การล้มล้างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการด้วยกำลังอาวุธจะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด กลับมีกลุ่มคนสร้างกระแสชื่นชมและเชิดชู

ตั้งแต่ปฏิวัติ 2475 มา ประชาธิปไตยจึงไม่ได้ไปไหน

ทหารก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ อวดอ้างปฏิรูป เขียนกติกาสืบทอดอำนาจ กีดกันนักการเมืองตั้งพรรคการเมือง ลงเล่นการเมืองเต็มตัว ล้มเหลว พ่ายแพ้ แล้วกลับบ้าน

ผลัดเปลี่ยนหน้ารุ่นใหม่มา ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ อ้างปฏิรูป ให้เนติบริกรเขียนกติกาสืบทอดอำนาจ ดูด บีบบังคับจับนักการเมืองเป็นตัวประกัน ให้ทำตัวเป็นนั่งร้าน บริหารล้มเหลว เศรษฐกิจตกต่ำเสื่อมทรุด ประชาชนยากจน “อภิชน” มั่งคั่ง ผลประโยชน์ทับซ้อน-ซ้อนแล้วซ้อนอีก การทุจริตยังคงอยู่ยืนยง ระบบยุติธรรมวิกฤตผิดเพี้ยน

จากประวัติศาสตร์ ผู้นำมาจากรัฐประหารที่ยัง “จน” มีอยู่คนเดียวคือจอมพล ป.พิบูลสงคราม เผด็จการที่เหลือนอกนั้นรวยล้นฟ้าเป็นพันล้านหมื่นล้าน และคำถามก็คือ “อภิชน” พวกนั้นจะทำได้อย่างไร ถ้าระบบต่างๆ ในประเทศไม่พิกลพิการ

นักการเมืองปากกล้า กล้าดีก็แต่เหน็บแนมเชือดเฉือนนักการเมืองด้วยกัน หากแต่ “ไม่กล้า” แม้แต่ปฏิเสธ “เศษเนื้อ” ที่คนทำลายประชาธิปไตยหยิบยื่นให้ นักกฎหมายผู้รับใช้นาย นักเลือกตั้งผู้คำนึงถึงผลประโยชน์ยิ่งกว่าหลักการเป็นตัวการหนึ่งที่บ่อนทำลายประชาธิปไตย

 

ถึงวันนี้ที่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ครบรอบ 16 ปี และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ล่วงผ่านไป 8 ปีนี้ ประเทศไทยก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น

การเมืองการปกครองยังคงวกวนอยู่กับสถานะของ “นายกรัฐมนตรี” ผู้ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร หรือ “คสช.” ที่ยึดอำนาจมาแล้วก็เขียนกติกาใหม่ ให้มี ส.ว. 250 คน “ยกมือสนับสนุน” ให้ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเป็นสมัยที่ 2

คนเก่าหน้าเดิม 8 ปีเข้าไปแล้ว แต่ยังอยากจะไปต่อสมัยที่ 3

ประชาธิปไตยไม่โต ถ้าสังคมไม่ช่วยกันตัดวงจร!?!!