‘หนี้ กยศ.’ ใครต้องสำนึก/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

‘หนี้ กยศ.’ ใครต้องสำนึก

 

ปัญหาการบริหารจัดการที่น่าคิดมากๆ ในช่วงนี้คือ การจัดการ “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” (กยศ.)

ข้อมูลจากสำนักงาน กยศ.ปี 2565 เตรียมเงินไว้ให้กู้ 38,000 ล้านบาท รองรับผู้กู้ได้ 600,000 ราย

ตัวเลขที่แถลงออกมาล่าสุดมีผู้มียื่นกู้แล้ว 590,796 ราย รวมเงินที่ขอกู้ 27,881 ล้านบาท

ผู้บริหารกยศ.เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีผู้กู้ หรือที่เรียกให้ดูดีว่า “ผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษา” 6,217,458 ราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,458,429 ราย เป็นยอดหนี้คงค้าง 337,857 ล้านบาท

จากเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการเปิดโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของบุตรหลานจากครอบครัวรายได้น้อย วันนี้พัฒนามาไกลมาก

 

หากฟังจากที่ “นายชวน หลีกภัย” พูดที่วิทยาลัยบรมราชชนนี ตรัง ไม่กี่วันมานี้ ว่า “ครม.อนุมติโครงการ กยศ. ปี 2538 เปิดโครงการโดยตั้งงบประมาณเมื่อปี 2539 จำนวน 4,000 ล้านบาท มาในยุคของนายบรรหาร ศิลปอาชา มีการตัดงบประมาณจาก 4,000 ล้านบาท เหลือ 3,000 ล้านบาท การกู้เงินได้กระจายไปทั่วประเทศแต่ไม่มากนัก แต่โครงการดังกล่าวโตขึ้นมาเรื่อยๆ จาก 3,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านบาท จากเด็กที่ได้เรียน 7-8 หมื่นคน เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน”

จุดเปลี่ยนสำคัญตามที่นายชวนเล่าคือ “การกู้เงินในช่วงแรกๆ เด็กที่กู้ส่วนใหญ่มีการคืนเงินกู้ แต่มาช่วงหลังที่มหาวิทยาลัยเอกชนนำเงินมาให้เด็กกู้ยืม แล้วยุยงไม่ให้เด็กคืนเงินที่กู้มาเรียน ซึ่งนั่นหมายความว่ามหาวิทยาลัยเอกชนไปหลอกเด็กว่าให้เรียนฟรีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด ซึ่งจากการดูตัวเลขแล้วมหาวิทยาลัยของรัฐที่กู้แล้วไม่คืนมีสัดส่วนน้อยมาก แต่ของเอกชนมีสัดส่วนที่เยอะมาก 60-70%”

เพราะหนี้ กยศ.กลายเป็นภาระหนักของเด็กจบใหม่ โดยเฉพาะที่ยังไม่มีงานทำ หรือทำงานที่รายได้ต่ำกว่าวุฒิ กลายเป็นปัญหาวุ่นวาย

 

ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรแก้กฎหมายให้ “กยศ.ปล่อยกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ไม่ต้องมีค้ำประกัน ไม่ต้องเสียค่าปรับเมื่อผิดนัดชำระหนี้”

เจตนาของผู้เสนอแก้หลักเกณฑ์ เพื่อลดภาระของลูกหนี้ กยศ.

อย่างไรก็ตาม แม้สภาผู้แทนราษฎรจะผ่านกฎหมายนี้ไปแล้ว แต่ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนไม่น้อย โดยอ้างเหตุผลในเรื่อง “การปลูกฝังนิสัยขาดความรับผิดชอบให้กับผู้กู้ และจะเป็นปัญหาต่อการบริหารกองทุนที่เมื่อตัดดอกเบี้ยออกเท่ากับไม่มีรายได้มาเป็นค่าใช้จ่าย เกิดความเป็นห่วงว่ากองทุนจะไม่รอด”

ความน่าคิดอยู่ตรงนี้ ตรงคำถามที่ว่า “เป้าหมายของการศึกษาคืออะไร”

ใช่ “การพัฒนาบุคลากรให้เป็นต้นทุนที่มีคุณภาพของประเทศใช่หรือไม่”

ถ้า “ใช่!” คำถามต่อมาคือ “สภาพของผู้จบจากระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน”

ใช่หรือไม่ว่า “ไม่มีคุณภาพที่เหมาะสมสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เพราะระบบการเรียนการสอนและการพัฒนาบุคลากรที่ล้มเหลว”

ทำให้ประเทศมากมายด้วยเด็กจบใหม่ที่ไม่มีงานทำ หรือมีงานที่รายได้ไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้

ที่ซ้ำเติมหนักคือ “เป็นผู้ที่มีหนี้สินติดตัวแต่เริ่ม จากเงินที่ต้องกู้มาเรียน”

ขณะที่ “สถาบันการศึกษา” ร่ำรวยด้วยรายได้จากภาระที่นักศึกษาต้องกู้ยืมนั้น

ครู อาจารย์ ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเงินเดือน และรายได้อื่นๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้พัฒนาความรู้ความสามารถให้เหมาะสมสักเท่าไร

 

สรุปคือ แม้จะพูดกันปาวๆ ว่า “เป้าหมายของการศึกษาคือพัฒนาบุคลากร สร้างเด็กจบใหม่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี”

แต่ในความเป็นจริง “ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ทำให้ผู้จบการศึกษามีคุณภาพแบบไหน มีความรู้ที่เหมาะสมกับงานของยุคสมัยหรือไม่ ขณะที่ต้องเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยหนี้สินท่วมหัว”

ทั้งที่อีกทางหนึ่งความร่ำรวยกลับไปอยู่ที่ “สถาบันการศึกษา” ที่ได้รับเต็มๆ จาก “เงินที่เด็กกู้ยืมมาจ่ายให้” และ “ครูบาอาจารย์” ที่มีงานทำเพราะเด็กๆ ที่ต้องรับภาระหนี้สินแลกกับระบบการศึกษาที่ไร้คุณภาพอย่างที่เห็นๆ กันอยู่

ดังนั้น ที่อ้างว่า “ต้องฝึกความรับผิดชอบ ต้องมีวินัย” นั้น

คำถามคือ “ประเทศที่ดูแลคุณภาพชีวิตลูกหลานแบบนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายยังมีหน้ามาเรียกร้องความรับผิดชอบเอากับเด็กอีกหรือ”