15วัน คือเวลาทอง ต้องแสดงเหตุผล ก่อนตัดสิน 8 ปีคนขี่เสือ/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

15วัน คือเวลาทอง

ต้องแสดงเหตุผล

ก่อนตัดสิน 8 ปีคนขี่เสือ

 

15 วันก่อนตัดสินคือช่วงนาทีทอง

แม้มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนจะบอกว่า การตัดสินเรื่องการครบวาระ 8 ปีของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการพิจารณาในด้านกฎหมายที่เขียนไว้ตามรัฐธรรมนูญ

แต่ในความเป็นจริงแล้วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือตำแหน่งการเมือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะมีผลในด้านการการบริหารและปกครอง

ขณะเดียวกันนายกฯ คนนี้ก็เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจซึ่งดูแล้วก็ไม่มีผลงานอะไรเด่นนอกจากการกู้เงิน และได้ใช้เงินงบประมาณมากที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา การอยู่หรือไปจึงมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน

ดังนั้น เหตุผลในการพิจารณาต้องมีองค์ประกอบอื่นที่เป็นข้อเท็จจริงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

15 วันก่อนจะถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 จะเป็นนาทีทองที่แต่ละฝ่ายจะแสดงเหตุผลถึงความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดกันว่าทำไมนับ 1 ถึง 8 ไม่ได้ หรือเพียงพูดถึงมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ 2560 แม้บทเฉพาะกาลมาตรา 264 กำหนดไว้ชัดเจนว่า

“ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป”

แต่ก็ยังมีคนพยายามจะตีความให้เป็นอย่างอื่น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วตอนนั้นมีตำแหน่งอะไรกันแน่

พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าตัวเองเป็นนายกฯ ที่มีผลงานมาตลอด ดังนั้น ในโอกาสนี้จึงขอทบทวนผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ในรอบ 8 ปีนี้ เพื่อดูว่ามีคุณูปการต่อประเทศชาติ หรือได้ทำความเสียหายต่อประเทศชาติ

 

8 ปี รัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยถูกทำลาย

แต่มีสภาแต่งตั้ง 4 สภา สภาเลือกตั้ง 1 สภา

1.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังรัฐประหาร คสช. เดือนกรกฎาคม 2557 มีการตั้ง สนช.ขึ้นให้ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) โดย สนช.มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. จำนวนไม่เกิน 250 คน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาออกกฎหมาย มีอำนาจมาก ตั้งหรือยุบองค์กรอิสระได้ สามารถพิจารณางบประมาณล้านล้านบาท ในเวลาสั้นๆ บางคนจึงไปเรียกว่า สภารีโมต

2. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตุลาคม 2557-กันยายน 2558 เป็นสภาที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน สภานี้คล้ายข้อเรียกร้องของม็อบ กปปส. ที่ให้มีสภาประชาชนมิได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศโดยไม่ต้องเลือกตั้ง แต่ 6 กันยายน 2558 สปช.มีมติไม่เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญ 135 ต่อ 105 เสียง จึงทำให้สภาต้องถูกยุบโดยทันทีตามมาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สรุปว่า…เขาอยากอยู่ยาว

3. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตุลาคม 2558-สิงหาคม 2560 ทำหน้าที่ศึกษาและปฏิรูปสืบต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ถูกยุบไป

โดยสมาชิก สปท.มีไม่เกิน 200 คน ซึ่งทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี

ตั้งพร้อมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้ง 21 คน เพราะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่

เกือบ 3 ปี ผลงานของ สปท.ที่เด่นมากคือ คำถามพ่วง ที่แนบท้ายในการออกเสียงประชามติ ทำให้ ส.ว.มีสิทธิ์ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ใน 5 ปีแรก เปิดช่องให้ คสช.สามารถสืบทอดอำนาจต่อได้อีก 2 สมัย

จึงมีคนไปตั้งฉายาว่า สภาต่างตอบแทน

4. วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งขึ้นมาเพื่อคานอำนาจของ ส.ส. คสชเป็นผู้เลือก ส.ว.ทั้ง 250 คน ซึ่งมีอำนาจมากมายสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เลือกศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระได้ ดังนั้น อำนาจอธิปไตยที่บอกว่าเป็นของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน จึงไม่ได้อยู่ในคำจำกัดความของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปตามความต้องการของ คสช.

สื่อมวลชนจึงตั้งฉายาวุฒิสภาปี 2564 ว่า ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก (คสช.)

5. สภาผู้แทนราษฎร แม้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นระบบการเลือกตั้งที่พรรคที่คนนิยมมาก จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยหรือไม่ได้เลย ทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยและเกิดการซื้อขาย ส.ส.

คนทั่วไปจึงตั้งฉายาว่าสภากล้วย และยังมีการยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามอยู่เหมือนเดิม

 

การรัฐประหาร 2557

อ้างการปฏิรูปประเทศ เพื่อยึดอำนาจ

ความล้มเหลวหลังการรัฐประหาร 2549 ที่ลุกลามเกิดความขัดแย้งเกิดแบ่งสีแบ่งฝ่าย ลุกลามมาถึงการปราบประชาชนจนมีคนล้มตายบาดเจ็บในปี 2553 พวกที่กลัวจะถูกลงโทษ จึงทำการรัฐประหาร 2557 โดยไม่มีปฏิรูปอะไรเลย ตามที่ประกาศ เพราะถ้ามีการเลือกตั้งก็กลัวจะแพ้อีก ดังนั้น จึงเลื่อนไปให้นานที่สุดโดยอ้างการปฏิรูปประเทศ

วันนี้ครบ 8 ปีภายใต้การเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิรูปอะไรไปบ้าง?

วันที่ 14 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นวันครบกำหนดวาระ 5 ปีการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งมีกรรมการถึงสองชุด โดยชุดแรกแต่งตั้งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 และชุดที่สองเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ตลอด 5 ปี จ่ายเบี้ยประชุมกรรมการกว่า 64 ล้าน มีประกาศการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้งหมด 11 ด้าน แต่ละด้านมีกรรมการ 10-11 คน เช่น

1. ด้านการเมือง ประกอบด้วย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ธีระภัทร์ เสรีรังสรรค์ ฯลฯ เป็นกรรมการ

ความสงบ และความปรองดองคือเป้าหมาย

ตลอด 8 ปี ใช้สูตรเก่า จากเผด็จการ ก็ให้เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เมื่อเป็นเช่นนี้การเมืองแทนที่จะพัฒนาไปก็วนกลับมาแบบยุคที่เราเรียกกันว่าวงจรอุบาทว์ ซึ่งไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลยนอกจากยึดอำนาจการปกครองและดำเนินการต่อแบบเก่าๆ สุดท้ายก็ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อสืบทอดอำนาจและปฏิบัติการดูด ส.ส.บ้าง ดึงบ้าง ซื้อบ้าง จนสามารถตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจ

2. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอด 4 ปีกว่าของการปกครองหลังการรัฐประหารแม้เป็นรัฐบาลชั่วคราวแต่มีอำนาจมากมายกว่ารัฐบาลยามปกติ สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่อยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ สามารถสั่งการใดๆ ก็ได้ ตั้งแต่โยกย้ายบุคลากร ร่างคำสั่งที่เป็นกฎหมาย ยกเลิกกฎหมายและคำสั่งเก่า ทำได้ทั้งหมด

แต่คำถามก็คือ มีใครได้เห็นการปฏิรูปการบริหารบ้านเมืองแบบเป็นชิ้นเป็นอันที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศบ้าง

หลังการเลือกตั้ง 2562 ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน ยังจับเด็กไปขังเหมือนเดิม

เพราะระบบปัจจุบันวางอยู่บนพื้นฐานอำนาจรวมศูนย์และมีอำนาจนอกระบบเป็นอำนาจซ้อน ถือความมั่นคงเป็นหลัก และการบริหารเป็นรอง

เมื่อผู้บริหารประเทศระดับบนมิได้ถูกคัดเลือกตามความสามารถ แต่ถูกคัดขึ้นมาจากระบบอุปถัมภ์ งานในกระทรวงต่างๆ จึงทำไปได้ตามข้างบนสั่ง

ถ้าจะการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งจริงๆ จะต้องเริ่มต้นจากการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งควรเดินหน้าต่อไป เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการยึดอำนาจ นี่เป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรจะทำ แต่กลับถูกระงับการเลือกตั้ง 8-9 ปี

3. ด้านกฎหมาย ไม่เพียงไม่ปฏิรูป แต่ยังล้าหลัง และไม่ยอมให้แก้ไข

ดูรัฐธรรมนูญ 2560 ก็รู้แล้ว เมื่อเทียบกับฉบับ 2540 ที่ให้เลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมดมาจากประชาชน มาฉบับ 2560 มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน แถมให้มีสิทธิ์ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี แบบนี้ไม่เรียกว่าปฏิรูป แต่เป็นการถอยหลังเข้าสู่ระบอบอำนาจนิยม ไม่ใช่ประชาธิปไตย แถมยังเขียนให้การแก้รัฐธรรมนูญทำไม่ได้

4. ด้านเศรษฐกิจ และ ด้านการป้องกันการทุจริต คงต้องยกไปกล่าวเป็นการเฉพาะในโอกาสต่อไป

5. ด้านกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมา 16 ปี ได้เห็นการดึงคดีนานหลายปี การสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง การให้ประกันหรือไม่

เวลานี้เพื่อพิสูจน์ความยุติธรรม ศาลจะนำเอาข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปของประชาชนมาใช้ตีความกฎหมาย หรือวินิจฉัยพิพากษา หรือไม่