‘การเดินทางของนก’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘การเดินทางของนก’

 

ผมเริ่มต้นเส้นทางงานถ่ายทอดเรื่องราวสัตว์ป่าด้วยการดูนก เริ่มจากความสวยงามของนกที่อยู่ใกล้ๆ

หลังจากเรียนรู้ว่า นกไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์สวยงาม พวกมันมีหน้าที่ อวัยวะที่มีได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย ปีกของนกไม่ได้เป็นแค่อวัยวะอันทำให้พวกมันบินไปไหนมาไหนได้ตามใจ ปีกเป็นเครื่องมืออันทำให้พวกมันเดินทางได้ การเดินทางซึ่งมีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนดจุดหมาย

จากเครื่องมือแค่กล้องสองตากำลังขยายแปดเท่า ผมเริ่มบันทึกภาพนกด้วยกล้อง

และเริ่มอย่างจริงจังกับนกที่มีแหล่งอาศัยอยู่ในบึงน้ำ…

 

วันหนึ่งหลังเดินทางในระยะทางร่วมพันกิโลเมตร

ผมพบตัวเองกำลังเฝ้าดูนกอยู่ริมบึงน้ำ แถบอำเภอเชียงแสน

ฝูงนกเป็ดน้ำนับพันๆ ตัวเดินทางย้ายถิ่น เพราะความขาดแคลนอาหารมาพักที่นี่ ในบึงที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์

ประชากรส่วนใหญ่เป็นนกเป็ดแดง ทุกเช้าตรู่ พวกมันทยอยบินกลับมาจากบริเวณที่ไปหากิน รวมกลุ่มลอยตัวนิ่งๆ พักผ่อนไปจนถึงบ่ายแก่ๆ จึงขยับตัว อาบน้ำ และทยอยบินขึ้นไปหากินอีก

ทำกิจวัตรเช่นนี้ทุกวัน

 

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมมาที่บึงน้ำแห่งนี้

ตลอดช่วงเดือนพฤศจิกายน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณบึงน้ำจะคึกคัก

หลังจากนั้น จำนวนประชากรนกจะลดลง เหลือเพียงนกประจำถิ่น

ทุกช่วงฤดูหนาวผมจะไปเฝ้าดู ดูด้วยความสงสัยว่า พวกมันจะใช่นกกลุ่มเดิมๆ ที่ผมพบปีก่อนไหม อะไรทำให้พวกมันกลับมาที่นี่ และอะไรทำให้พวกมันมาไกลได้ถึงเพียงนี้

โดยอาศัยเพียงเครื่องที่เป็นแค่ปีกบางๆ

 

ว่ากันว่า ในแต่ละปีมีนกนับล้านตัวออกเดินทางย้ายถิ่น ไม่ใช่เพราะสภาพอากาศเย็นยะเยือก แต่อาหารที่ขาดแคลนนั่น เป็นสิ่งสำคัญ กลุ่มใหญ่ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเป็นนกที่เรียกว่าเหล่านกท่องน้ำ หรือนกชายเลน พวกมันส่วนใหญ่เริ่มต้นจากบ้านบริเวณพื้นที่กว้างใหญ่ทางตอนเหนือสุดทวีปเอเชีย ล่องมาทางตอนใต้

มีข้อมูลจากนักวิจัยที่พบว่า บางส่วนของนกเหล่านี้แวะพักหากินในทวีปเอเชีย

แต่มีไม่น้อยเดินทางไปถึงแถบออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

การเดินทางย้ายถิ่นไม่ง่ายหรอก นกจำนวนหนึ่งไปไม่ถึงจุดหมาย มีไม่น้อยไม่มีโอกาสได้กลับ

พวกที่มีชีวิตรอด จะเดินทางกลับบ้านทางตอนเหนือ เพื่อสร้างรังวางไข่ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งมีเวลาแค่สั้นๆ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม

ทุกๆ ปีนกชายเลนหลายชนิดเดินทางเป็นระยะทางกว่า 25,000 กิโลเมตร บางครั้งอาจเดินทางถึง 6,000 กิโลเมตร โดยไม่หยุดพักเลย

เดินทางยาวไกลโดยใช้ปีกบางๆ เป็นเครื่องมือ

ดูเหมือนว่า ใจอันเข้มแข็งจำเป็น

นกช้อนหอย – ส่วนหนึ่งของพวกมัน เดินทางเข้ามาพักพิงในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ถึงวันนี้จากการศึกษามากมายรวมทั้งมีเครื่องมือและเทคโนโลยี ทำให้คนเข้าใจมากขึ้นถึงการเดินทางของพวกมัน จากที่สงสัยมาตลอดว่า นกเดินทางไปยังจุดหมายเดิมๆ ได้อย่างไร

นกเริ่มต้นด้วยแรงขับตามสัญชาตญาณ อาศัยเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงดาว รวมทั้งเข็มทิศแม่เหล็กภายในร่างกายเป็นเครื่องนำร่อง

นักวิจัยค้นพบว่า พวกมันไม่ได้บินตรงในแนวเหนือ-ใต้ เหมือนเข็มทิศ พวกมันใช้การกำหนดตำแหน่งโดยรับรู้ถึงมุมที่เส้นแรงแม่เหล็กตกกระทบผืนโลก

นกพวกที่เดินทางกลางคืน กำหนดตำแหน่งโดยใช้ดวงดาว แม้ว่าดาวจะโคจรไปตามฤดูกาล แต่ในซีกโลกเหนือมีดาวดวงหนึ่งอยู่กับที่ นั่นก็คือ ดาวเหนือ

นกพวกที่เดินทางกลางวัน จะใช้ดวงอาทิตย์เป็นเครื่องมือนำทาง

ว่าตามจริง การศึกษาและเทคโนโลยีวันนี้ ช่วยให้รู้มากขึ้น แต่หลายสิ่งเราก็ไม่รู้แน่ชัดนักว่า พวกมันเดินทางอย่างไร

ดวงดาว และการสังเกตธรรมชาติเหล่านี้ คล้ายจะเป็นวิธีการเดียวกับการเดินทางของมนุษย์ในยุคสมัยหนึ่ง

 

ในบึงน้ำ นกประจำถิ่นอย่างนกอีแจว นกเป็ดผี นกพริก นกอีโก้ง ทำให้ผมเห็นความรักความห่วงใยและความผูกพันที่พวกมันมีกับลูก

เฝ้าดูเหล่านกนักเดินทางที่กำลังพักผ่อนในช่วงกลางวัน ผมคิดถึงการเดินทางของพวกมัน คิดถึงวิธีการที่พวกมันใช้

ถึงที่สุด ผมก็ไม่พยายามหาว่าวิธีการเป็นอย่างไร แต่ยอมรับถึงความมหัศจรรย์

เฝ้าดูนกหลายปี ในทุกๆ ฤดูหนาว ผมก็รู้ว่า ไม่ได้ทำเพียงแค่ดูนก

แต่ได้ “เห็น” สิ่งที่ธรรมชาติออกแบบจัดสรรไว้อย่างเหมาะสม

 

สิ่งที่นกนักเดินทางมีคือ สัญชาตญาณ และความเข้มแข็ง รวมทั้งมีความหวังรออยู่ที่จุดหมาย สิ่งเหล่านี้ พวกมันได้รับการสั่งสอน ถ่ายทอดมาจากบรรบุรุษ

“การเดินทางของนก” สอนให้ผมเข้าใจบทเรียนหนึ่ง

มองไปข้างหลังให้ “เห็น” นั้นสำคัญ

เพราะจะทำให้การมองไปยังหนทางข้างหน้าชัดเจน

ผมเริ่มต้นด้วยการดูนก เริ่มเอาจริงกับเส้นทางสายนี้ กับนกในบึงน้ำ

เฝ้าดูเหล่านกซึ่งเคลื่อนย้ายมาจากแดนไกล และเดินทางไปพร้อมๆ กับพวกมัน… •