‘ณัฏฐภัทร จันทวิช’ ต้นแบบ ‘ครูภัณฑารักษ์’ ของกรมศิลปากร (จบ) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘ณัฏฐภัทร จันทวิช’

ต้นแบบ ‘ครูภัณฑารักษ์’

ของกรมศิลปากร (จบ)

 

 

ตำนานในรั้วดอกพวงแสด

ใช้พระคุณบ้างอย่าใช้แต่พระเดช

สมัยที่ดิฉันดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ลูกสาวของดิฉันชื่อ “น้องปันปัน” หรือ “ปุษปัญชลี” เกิด เตาะแตะ เติบโต วิ่งถือขวดนม โหนต้นไม้ ปีนป่ายภายในรั้วพิพิธภัณฑ์ เราใช้ชีวิตที่นี่ยาวนานมากกว่า 10 ปี

นอกจากดิฉันนั่งทำงานจนดึกดื่นเที่ยงคืนในออฟฟิศแล้ว เรายังพำนักอาศัยในบ้านพักข้าราชการอีกด้วย เรียกได้ว่าที่ทำงานกับบ้านคือสถานที่เดียวกัน

จนน้องปันปันหลงคิดไปว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย” ที่นี่คือบ้านของเธอ เวลาไปโรงเรียนอนุบาลใบบุญลำพูนก็ดี ตามด้วยโรงเรียนวารีเชียงใหม่ก็ดี เธอมักจะโม้กับใครๆ เสมอว่า

“บ้านเราน่ะนะหลังใหญ่มาก ทุกวันมีคนมาเยี่ยมแม่เราเป็นร้อยๆ คน บ้านเรามีห้องประชุมด้วย มีผ้าม่านสีชมพู เอาไว้เปิดเวทีการแสดง มีไมโครโฟนหลายตัว ที่บ้านหลังใหญ่มี ‘พี่เลี้ยง’ มากกว่า 10 คน”

คำว่า “พี่เลี้ยง” ในความเข้าใจของน้องปันปัน แท้จริงคือเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ทั้งข้าราชการ พนักงานข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว เรียกได้ว่า ตั้งแต่ภัณฑารักษ์ เจ้าหน้าที่การเงิน ธุรการ เจ้าหน้าที่บรรยายนำชมห้องจัดแสดง จนถึงนักการ ยาม น้องปันปันจับมาเป็นพี่เลี้ยงของเธอหมด

คำพูดหนึ่งที่บรรดา “พี่เลี้ยงของน้องปันปัน” กล่าวแก่ดิฉันเสมอก็คือ “เห็นน้องปันปันแล้วนึกถึงคุณหนูแหวน ลูกสาวหัวหน้าแอ๊วและท่านภุชงค์จังเลย หนูแหวนก็เติบโตวิ่งเล่น คนนั้นอุ้มที คนนี้เลี้ยงที เป็นขวัญใจของลุงป้าน้าอาในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เหมือนน้องปันปันมาก่อน”

“หนูแหวนแขนอ่อน” ลูกสาวคนเดียวของพี่แอ๊ว มีชื่อจริงว่า “ณุภัทรา จันทวิช” ปัจจุบันเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

เมื่อดิฉันถามบรรดาพี่เลี้ยงของน้องปันปัน ซึ่งในอดีตเคยเป็นพี่เลี้ยงของหนูแหวนมาก่อนว่า บรรยากาศในยุคที่ “อาจารย์ณัฏฐภัทร จันทวิช” กับคุณภุชงค์ผู้เป็นสามี (รับราชการสังกัดกรมศิลปากรเช่นกัน) อาศัยอยู่ในบ้านพักข้าราชการที่ลำพูนนี่เป็นอย่างไรบ้าง ได้คำตอบที่ตรงกันจากปากทุกคนว่า

“พวกเรามีความสุขมาก ท่านทั้งสองมีเมตตาสูง ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ทุกๆ สิ้นเดือน เงินเดือนออกปั๊บ ท่านทั้งสองมักเอาเงินจำนวนหนึ่งให้พวกเราไปซื้ออาหารเหล้ายาปลาปิ้งมากินเลี้ยงสังสรรค์กัน ร้องรำทำเพลง ล้อมวงพูดคุยเล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิตของท่านทั้งสองให้พวกเราฟังอย่างสนุกสนาน เป็นกันเอง ทำให้พวกเรารู้สึกอบอุ่น เหมือนพ่อกับแม่ ท่านทั้งสองไม่ได้ใช้แค่พระเดช แต่มีพระคุณคือให้ความรักต่อพวกเราอย่างมากด้วย”

วิญญาณพี่แอ๊วคงรับรู้ได้ในสัมปรายภพว่า ครอบครัว “จันทวิช” ได้กลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งไปเรียบร้อยแล้วในรั้วดอกพวงแสดที่รายล้อมด้วยศิลาแลงแห่งนี้ ดังที่พี่แอ๊วมักบอกดิฉันเสมอว่า

“น้องเพ็ญ พวกเราชาวพิพิธภัณฑ์ เรามาทำงานด้วยอุดมการณ์ ดังนั้น อย่าไปแบ่งชนแบ่งชั้นกันเลยน้อง ใครซีอะไร ใครเกิดที่ไหน ใครจบอะไร ทุกคนทำงานถวายหัวร่วมถือจอบถือเสียมไปถากถางวัชพืชโบราณสถานตามป่าเขา เลือดตกยางออก ป่ายปีนบันไดเสี่ยงตาย เพราะพวกเขาเห็นเราลุยเป็นด่านหน้า พวกเขาก็พร้อมสู้เพื่อปกป้องมรดกของแผ่นดิน

ดังนั้น วันสิ้นเดือน เล็กๆ น้อยๆ หากไม่เหลือบ่ากว่าแรง เดือนละครั้งหรือสองเดือนครั้ง เอาใจพวกเขาบ้าง เปิดเวทีร้องเพลงคาราโอเกะให้พรรคพวกได้ระบายอารมณ์ ร่ำเมรัย สำเริงสำราญบานใจกันบ้างนะน้อง”

ใครหาว่าพี่แอ๊วเก่งแต่ด้านวิชาการถ่ายเดียว นี่คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าด้านการบริหารบุคคล พี่แอ๊วก็ไม่เป็นรองใคร แถมดูแลเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยอย่างใจถึงใจ ใช้จิตวิญญาณ และมีมนุษยธรรมอย่างสูงยิ่งอีกด้วย

ก้าวข้ามพรมแดนแห่งความรู้

จงกล้าหาญทางวิชาการ

ช่วงที่กระแส “จตุคามรามเทพ” บูมสุดๆ ระหว่างปี 2550-2551 พี่แอ๊วกับดิฉันค่อนข้าง “เนื้อหอม” ทีเดียว เราสองคนมักได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องดังกล่าวตามเวทีต่างๆ

ความที่พี่แอ๊วเก่งมากเรื่องประวัติและพัฒนาการความเป็นมาของ “พระพิมพ์สกุลช่างต่างๆ ในสยาม” ดังนั้น พี่แอ๊วมักเป็นคนเปิดประเด็นปูพื้นก่อนว่าพระพิมพ์ศรีวิชัยทรงกลมๆ ที่คล้ายกับจตุคามรามเทพนั้น มาจากไหน มีความเป็นอย่างไร

ในขณะที่ดิฉันก็เล่นเรื่องจตุคามรามเทพกับเขาด้วย แต่เจาะในประเด็นที่ค่อนข้างแปลกแหวกแนวชาวบ้าน นั่นคือการถอดรหัสว่า “จตุคาม” คือ ขัตตุคาม (ขันทกุมาร) มากกว่าจะเป็นเทพแห่งท้องทะเล

อันที่จริงคนที่เปิดประเด็นนี้คนแรกก่อนดิฉันคือ คุณ “ไมเคิล ไรท์” หรือคุณไมค์ อดีตคอลัมนิสต์ชื่อดังแห่งนิตยสารศิลปวัฒนธรรมและมติชนสุดสัปดาห์

ดิฉันนำความคิดของคุณไมค์ไปขยายความต่อว่า ถ้า ขัตตุคามคือขันทกุมาร ผู้ทรงนกยูง ส่วนรามเทพเป็นอวตารปางสำคัญของพระวิษณุซึ่งถือหอยสังข์ “จตุคามรามเทพ” เวอร์ชั่นล้านนาอีกคู่ที่ควรศึกษาเคียงขนานไปกับเมืองนครศรีธรรมราชก็คือ “ลำปางกับลำพูน” เพราะลำปางเป็นเมืองไก่ขาว-นกยูง ส่วนลำพูนเป็นเมืองหอยสังข์

ชื่อฤๅษีผู้สร้างเมืองเขลางค์ (ลำปาง) ก็คือสุพรหมยาน อันเป็นอีกชื่อหนึ่งของขัตตุคาม หรือขันทกุมารภาคนักพรต

เท่านั้นล่ะ! พี่แอ๊วชอบใจใหญ่เลย “ต้องให้ได้อย่างนี้สิน้องเพ็ญ คนของกรมศิลป์ต้องกล้าคิดกล้าเสนออะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ในเวทีสากลบ้าง ไม่ใช่เพลย์เซฟตลอด จะถูกจะผิดไม่ว่ากัน แต่สิ่งที่น้องเพ็ญเสนอ พอมีเค้าอยู่ไม่น้อยนะ”

นี่คือหนึ่งกำลังใจที่ดิฉันได้รับมาตลอด ท่ามกลางเสียงก่นด่าจากภัณฑารักษ์และนักโบราณคดีรุ่นพี่หลายๆ คน ที่ยกหูโทรศัพท์มาต่อว่าต่อขานดิฉันว่า “ทำไมชอบแถกจัง สติดีหรือเพี้ยนเนี่ยะ ช่างกล้าโยงเอาจตุคามรามเทพของนครศรีธรรมราชไปเทียบกับลำปาง-ลำพูน?” (หมายเหตุ ดิฉันเคยเขียนบทความเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้ว ตามหาอ่านได้มนมติชนสุดสัปดาห์ฉบับเก่าๆ)

ความคิดสร้างสรรค์จินตนาการของดิฉันหล่นไปกองตุ้บอยู่ที่ตาตุ่มแล้ว

“เอาน่าน้องเพ็ญ พี่แอ๊วบอกแล้วว่า กรมศิลป์ต้องมีคนกล้าหาญทางวิชาการบ้าง อย่ากลัว อย่ากดทับสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นว่ามันต้องใช่ ลุยเขียนบทความยาวๆ เลย 20 หน้าพร้อมภาพประกอบ อธิบายทุกอย่างด้วยเหตุและผล จะไม่มีใครมาว่าอะไรเราได้ เดี๋ยวพี่ส่งไปให้ทางนิตยสารมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชตีพิมพ์เอง

ไปกับพี่ เดินสายไปเปิดประเด็นที่น้องคิด ทลายปราการด่านที่กุมขังเรา ภัณฑารักษ์ไม่ใช่แค่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่ทำหน้าที่บรรยายแค่โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตามตาเนื้อเชิงประจักษ์ แต่ภัณฑารักษ์ต้องก้าวข้ามพรมแดนระหว่างศาสตร์ต่างๆ เราต้องอธิบายได้ทั้งแนวคิดเชิงวรรณกรรม คติชนวิทยา นิรุกติศาสตร์ มานุษยวิทยา ศาสนาความเชื่อ ฯลฯ ศาสตร์ทุกศาสตร์เราต้องเชื่อมโยงกัน”

ดิฉันยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่า หากไม่มีคำพูดจากปากพี่แอ๊ว ที่ก้องอยู่ในหัวว่าจงกล้าหาญทางวิชาการ อย่าไปกลัวคำครหานินทาจากใครจนใจฝ่อ ไม่แน่เหมือนกันว่า 15 ปีที่แล้วช่วงที่ดิฉันยังปีกกล้าขาแข็งไม่พอ ดิฉันอาจยอมปิดปากตัวเองให้แน่น แล้วหลบอยู่ในกระดอง และคงไม่มีคอลัมน์ปริศนาโบราณคดีในวันนี้

จากจตุคามรามเทพ เมืองนครศรีธรรมราช

สู่การตามหาแหล่งกำเนิดผ้าทอยกดอก

ช่วงที่ดิฉันกับพี่แอ๊วต้องเดินสายบรรยายเรื่องจตุคามรามเทพอย่างเข้มข้นตามคำเชิญจากสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้น โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการเชิญแล้วเชิญอีก ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยจนถึงโรงเรียนมัธยม เพราะพวกครูสังคมที่เข้าไปรับฟังเวทีใหญ่กลับมารายงานต่อผู้อำนวยการโรงเรียน ว่าเราสองคนคุยกันเรื่องนี้สนุกสนานมาก ไม่มีการปั่นกระแสขายวัตถุมงคลให้งมงาย มีแต่องค์ความรู้ล้วนๆ ที่ชวนให้ฉุกคิดแบบดำดิ่ง

หลังจากที่ดิฉันแลกเปลี่ยนทรรศนะเรื่องจตุคามรามเทพกับพี่แอ๊วเสียจนอิ่มแปล้หมดมุขแล้ว เราสองคนมองหน้ากัน ขณะที่พำนักอยู่ที่นครศรีธรรมราช พี่แอ๊วตั้งคำถามกับดิฉันว่า

“น้องเพ็ญ ใจคอไม่เคยตั้งคำถามบ้างเลยหรือคะ ว่าผ้าไหม (รวมทั้งผ้าฝ้าย) ยกดอกเมืองลำพูนนี่ ตกลงแล้ว คนลำพูนควรจะภาคภูมิใจไหม ในเมื่อจุดกำเนิดมันมาจากเมืองนครศรีธรรมราช มิใช่หรือ?”

เป็นคำถามที่เสียดแทงอกเจ็บจี๊ดถึงทรวงในเลย จริงสินะ! พวกเราชาวลำพูน โปรโมตผ้าไหมยกดอก ผ้าฝ้ายยกดอก เป็นสินค้าระดับโลก ได้รับรางวัลสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI-Geographic Indicator) จากยูเนสโก

แต่เราไม่เคยตั้งคำถามกันเลยว่า ความจริงนั้นการทอผ้ายกดอกเป็นของใหม่ เพิ่งมีขึ้นไม่ถึงร้อยปี แค่ช่วงที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี นำเทคนิคกรรมวิธีนี้มาจากช่างทอผ้าชาวนครศรีธรรมราช ที่ทอถวายพระองค์ท่านในวังหลวง

“อ้าว! ถ้าเช่นนั้น ผ้าไหมยกดอกลำพูน ก็เป็นประดิษฐกรรมที่เพิ่งสร้างใหม่น่ะสิ โดยนำกรรมวิธีของชาวนครศรีธรรมราชมาต่อยอด?” ดิฉันถามกลับพี่แอ๊ว

“ถ้าอย่างนั้น เพ็ญคงไม่อยากให้ชาวลำพูนโปรโมตผ้ายกดอกแล้วล่ะค่ะพี่แอ๊ว เราควรหันไปเชิดชูผ้าซิ่นตีนเขียวของชาวยองดีไหมคะ แต่มันก็คล้ายกับซิ่นเชียงตุงของชาวไทขึนมากเหลือเกินแทบแยกกันไม่ออก เดี๋ยวคนจะหาว่าชาวยองไม่มีอัตลักษณ์อีก ไปขโมยผ้าซิ่นของชาวขึนมาเป็นจุดขาย เอาไงดีหนอ?”

“ใจเย็นน้องเพ็ญ ที่พี่แอ๊วถาม เพราะพี่แอ๊วมีคำตอบแล้วในใจ ไม่ได้ถามเพื่อให้น้องเพ็ญหมดอาลัยตายอยาก หรืออับอายต่อการที่การทอผ้ายกดอก พระราชชายานำเทคนิคมาจากชาวนครศรีฯ แต่อย่างใดไม่ น้องเพ็ญลืมไปแล้วหรือว่า ประวัติศาสตร์ยุคล้านนาที่ขับเคี่ยวเคี้ยวฟันกับกรุงศรีอยุธยานั้น มีการเกณฑ์ชาวลำพูนมาอยู่ในอยุธยาก่อนยกแรก จากนั้นยกสองก็แบ่งประชากรลำพูนไปอยู่แถวนครศรีฯ กับแถวไชยาในสุราษฎร์ฯ อีก

พี่แอ๊วกำลังตามหาหมู่บ้านที่ทอผ้ายกดอกในนครศรีธรรมราชและไชยาอยู่ ว่าคนกลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประชากรกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมาจากลำพูนเมื่อ 500 กว่าปีหรือไม่ ที่อำเภอไชยา เคยมีหมู่บ้านหนึ่งชื่อลำพูน ชัดมาก ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อไปแล้ว

หากข้อสมมุติฐานของพี่แอ๊วเป็นจริง หมายความว่า เทคนิคการทำ ‘ผ้ายกดอก’ แบบลายนูนเป็นดอกเป็นดวง คนปักษ์ใต้กลุ่มที่ทอนี้ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวลำพูนที่ถูกกวาดต้อนมาก่อน

การที่ช่างทอผ้ายกนำองค์ความรู้นี้ขึ้นไปถวายแด่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี บางทีพระองค์ท่านอาจทราบที่มาที่ไปจากช่างทอก็ได้ พอเสด็จนิวัติกลับล้านนาปั๊บ พระองค์จึงนำไปถ่ายทอดต่อให้คุ้มหลวงลำพูน

หากเป็นจริงตามที่พี่แอ๊วคิด ก็อยากให้ชาวลำพูนทำใจให้สบาย ยืดอกอย่างสง่าผ่าเผยได้ว่า ผ้าไหมยกดอก ผ้าทอยกดอกนี้ ไม่ใช่เป็นของใหม่แค่ 100 ปี ที่พระราชชายานำมาสถาปนาให้คนลำพูน

ดีไม่ดี มันอาจเป็นวัฒนธรรมตกค้างที่ถูก ‘ตีกลับ’ โดยจุดเริ่มต้น คนลำพูนอาจทอแบบนี้มาแล้วตั้งแต่ 500 ปีก่อนที่จะถูกอพยพไปตั้งรกรากที่ทางใต้ จนพวกเราลืมเทคนิคนี้ไปแล้ว ด้วยประชากรถูกถ่ายเทไปมาจนองค์ความรู้นี้สูญสลาย ทว่า ยังคงหลงเหลืออยู่ที่นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ก็เป็นได้

เรื่องนี้เราต้องช่วยกันสืบค้นหาต้นตอให้ได้นะคะ ว่าเชื้อสายคนลำพูนที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อ 500 ปีนั้นอยู่ที่ไหนกันบ้าง เป็นกลุ่มชนที่มีองค์ความรู้ด้านการทอผ้ายกดอกในปัจจุบันนี้ด้วยหรือไม่”

เราสองคนทำท่าอยากจะไปตามหาหมู่บ้านดังกล่าวให้เจอ แต่รถตู้ที่ดูแลคอยรับส่งเราบอกว่าได้เวลาที่ต้องพาเราไปเช็กอินที่สนามบินนครศรีธรรมราชเสียแล้ว

พี่แอ๊วทิ้งการบ้านให้ดิฉันสืบสาน ค้นเรื่องนี้ต่อ ยาวนานมากกว่า 15 ปี ตั้งแต่กระแสจตุคามรามเทพยังดังเปรี้ยงปร้าง

จวบจนบัดนี้พี่แอ๊วจากไปสู่สวรรคาลัยแล้ว ภารกิจติดตามหาหมู่บ้านช่างทอผ้ายกที่นครศรีธรรมราชว่ามีความเกี่ยวข้องกับชาวลำพูนอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ปักษ์ใต้หรือไม่นั้น ยังไม่ได้เริ่มเลยค่ะพี่

แต่วันหนึ่งน้องต้องสืบค้นหาคำตอบเรื่องนี้ให้จงได้ค่ะ •