มนัส สัตยารักษ์ : “นายพันอันตราย” พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์

เมื่อ “นายพันอันตราย” พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์ ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ผมไม่ได้ไปเยี่ยมเขาในทันที ปล่อยให้เวลาล่วงเลยผ่านไปสามหรือสี่วัน จนข่าวครึกโครมค่อยสร่างซาลงบ้างแล้วจึงไป แต่กระนั้นก็ปรากฏว่ายังไม่คลายความอึกทึกครึกโครมลงไปสักเท่าไร นักข่าวยังออกันอยู่บริเวณหน้าห้องควบคุม

ผมได้รับความสะดวกจากสารวัตรใหญ่ สน.ดอนเมือง (สถานที่ควบคุมตัว) เปิดห้องทำงานต้อนรับในฐานะที่ผมเป็นรุ่นพี่ แล้วเบิกตัว พ.ต.ต.อนันต์ จากห้องควบคุมให้มานั่งคุยกับผมตามลำพังราวกับผมเป็นพนักงานสอบสวนชั้นผู้ใหญ่มาสอบปากคำผู้ต้องหา

ผมคงจะมองเขาด้วยสายตาตำหนิ ประโยคแรกเขาจึงพูดกับผมเป็นเชิงปฏิเสธว่า เขาไม่ได้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาอ้างว่าได้พูดปราศรัยอย่างบริสุทธิ์ใจด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ถ้าผมจำไม่ผิด ตอนหนึ่งของการพูดคุยกัน พ.ต.ต.อนันต์ เล่าเป็นทำนองว่า เขาได้รับการเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจจากตัวแทนของ “เบื้องสูง” ท่านหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าศาลท่านไม่สนใจหรอกว่า “ใจ” จะปรารถนาดีหรือร้าย ท่านคงวินิจฉัยเพียงว่า “วาจา” คำปราศรัยหมิ่นหรือไม่หมิ่นเท่านั้น

ผมไม่ได้ตำหนิและไม่ได้โต้เถียงกับเขาแม้แต่คำเดียว แต่ในเวลาเดียวกันผมก็ไม่ยอมรับคำพูดของเขา ไม่มีแม้กระทั่งจะพยักหน้ารับ ผมอาจจะเข้าใจดีว่าเขาไม่ได้ประสงค์ร้ายต่อสถาบัน แต่ขณะเดียวกันผมก็รับการกระทำของเขาไม่ได้

ส่วนหนึ่งผมตระหนักดีว่า พ.ต.ต.อนันต์ มี “เทียนวรรณ” เป็นวีรบุรุษในดวงใจ มาแต่ไหนแต่ไร

เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส.วัณณาโภ เป็นนามปากกาของนักคิด-นักเขียนหัวก้าวหน้าชื่อ เทียน วัณณาโภ (พ.ศ.2385-2458) ซึ่งต่อมาเขียนฎีกาให้ราษฎรผู้หนึ่งแล้วถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและเสนาบดีกระทวงเกษตร ถูกตัดสินว่า “หมิ่นตราพระราชสีห์” (ซึ่งเท่ากับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ถูกโบย 40 ที กับถูกจำคุกไม่มีกำหนด เมื่อติดคุกไปถึง 17 ปีก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

ผมเชื่อว่า พ.ต.ต.อนันต์ พร้อมรับโทษ เขาไม่รู้สึกผิดและอาจจะภูมิใจหากชื่อของเขาได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองเยี่ยงเดียวกับ “เทียนวรรณ”

เมื่อเสร็จสิ้นการเยี่ยมและส่งตัว พ.ต.ต.อนันต์ ให้ สวญ.สน.ดอนเมือง เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าที่บริเวณหน้าห้องควบคุมเต็มไปด้วยผู้สื่อข่าวและประชาชนที่มาติดต่อราชการ หนึ่งในนั้นคือ อาจารย์สุนันท์ เสนาขันธ์ ภรรยาของ พ.ต.ต.อนันต์

“ผ่านมาเลยแวะมาดูคุณอนันต์หรือ?” อาจารย์สุนันท์ ค่อนขอดทำนองนี้แหละ

ผมทำหน้าเฉยเมยและไม่ตอบโต้ แม้ว่าคำค่อนขอดนั้นเท่ากับดูหมิ่นน้ำใจกันก็ตามที ผมเข้าใจและเห็นใจคนที่พบกับวิกฤต… สามีถูกออกจากราชการ เพราะผิดกฎหมายเลือกตั้ง แล้วยังมาถูกจับกุมในข้อหาน่ากลัว

เท่าที่ทราบ เพื่อน นรต.รุ่นเดียวกันหลายคนที่มีส่วนในการนำตัว พ.ต.ต.อนันต์ มาพบ ผบช.น. แล้วถูกจับกุม ต่างได้รับการต่อว่าต่อขานและค่อนขอดจาก พ.ต.ต.อนันต์

“โรงเรียนนายร้อยเขาสอนให้จับโจร ไม่ได้สอนให้มาจับเพื่อน”

ผมเล่าเรื่องที่ถูกค่อนขอดให้เพื่อนในกลุ่มนักเขียนฟัง เพื่อนอารมณ์ขันฟุ่มเฟือยคนหนึ่งหัวเราะและปลอบใจว่า

“ยังดีที่ พ.ต.ต.อนันต์ ไม่ได้ตะโกนบอกให้สืบทอดเจตนารมณ์” (ฮา)

อาจารย์สุนันท์รับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยประสานมิตร ต่อสู้เคียงข้างสามีอย่างไม่ยอมถอย อาจารย์ยอมเป็นช้างเท้าหลังและเป็นเบี้ยล่างตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งผมยกมือไหว้ทักทายอาจารย์สุนันท์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของผมซึ่งไหว้คนที่น่านับถือ โดยเฉพาะกับคนที่เป็นครูบาอาจารย์หรืออยู่ในวัยอาวุโสกว่า แต่ พ.ต.ต.อนันต์ ออกอาการไม่พอใจหันไปเอ็ดใส่ภรรยาที่ให้เพื่อนของสามีทำความเคารพก่อน

คนรุ่นผมหลายคนเป็นคนประเภทที่ “อ่านยาก” ส่วนหนึ่งมีความเป็นนักกิจกรรมหัวก้าวหน้าและบางทีก็ตกขอบ จนต้องหลบหนีออกจากบ้านเมืองหรือถูกจับกุมดำเนินดีในข้อหากบฏ เราคงจะบังเอิญเติบโตขึ้นมาในวันเวลาแห่ง “การเปลี่ยนแปลง” ก็ได้

ขณะนี้ต่างอยู่ในวัยเกิน 80 กันทั้งนั้น แต่บางคนยังมีบทบาทเป็น “แกนนำ” ของสารพัดกลุ่มที่ต่างก็ยืนกันอยู่คนละฟาก

เวลารวมกลุ่มสุมหัวกันทำกิจกรรมอะไรสักอย่างที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง (เช่น ทำบุญให้เพื่อนที่เสียชีวิตไปแล้ว) ผมอดคิดไม่ได้ว่าเราเหมือนเล่นละคร ต่างคนต่างก็แสดงไปตามบทบาทที่ตัวได้รับมอบหมาย

ดังนั้น การที่ถูกเพื่อนต่อว่าต่อขานหรือค่อนขอดไปจนถึงตำหนิและด่าว่า จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเก็บเอามาถือโทษโกรธเคืองกัน

เมื่อ พ.ต.ต.อนันต์ ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขามีกำหนดการปราศรัยในเรื่องต่างๆ หลายที่ แห่งที่สำคัญก็คือที่สนามหลวง

พล.ต.ท.มานะ วงศ์สมบูรณ์ ผบช.น. เรียกตัวผมไปพบเพื่อให้ผมไปห้าม พ.ต.ต.อนันต์ ไม่ให้ขึ้นเวทีกล่าวคำปราศรัย เนื่องจากอาจถูกผู้ไม่หวังดีลอบทำร้ายได้

พ.ต.ต.อนันต์ ปิดบังที่อยู่และที่ทำงานใหม่ ผมจึงไปขอที่อยู่จากสำนักงานอัยการ ได้พบอัยการผู้ใหญ่เจ้าของสำนวนฟ้อง ท่านกับผมรู้จักสนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็กจึงให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

“เรื่องแบบนี้ถ้าไม่จำเป็นตำรวจไม่น่าจับกุมกล่าวหาเป็นคดีนะ”

ไม่ต้องพูดกันยาว เพียงแค่นี้ก็เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลานั้นแม้จะยังไม่มีวลีและพฤติกรรม “ล้มเจ้า” ให้เป็นที่บาดใจกัน เพียงแค่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้จงรักภักดีและเป็น ROYALISM ก็เคียดแค้นมากเกินพอแล้ว ที่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นห่วงเหตุการณ์บานปลายนั้นถูกต้องแล้ว

ผมติดต่อ พ.ต.ต.อนันต์ ไม่ได้ จึงไปรอดักพบที่เวทีปราศรัยท้องสนามหลวง ประโยคแรกที่ พ.ต.ต.อนันต์ ทักผมก็คือ “นายใช้ให้มาใช่ไหม”

ผมพยายามโน้มน้าวว่าข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทำให้เสื่อมเสียการยอมรับนับถือจากประชาชน และหากการปราศรัยถูกต่อต้านจะเสียเครดิตในด้านอื่นๆ ด้วย แต่ พ.ต.ต.อนันต์ ยังคงยืนกรานว่าเขาไม่ได้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

และผมก็ยังคงไม่โต้เถียงกับเขา จนเมื่อเขาติดคุก จนได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากคุกแล้ว เราเป็นเพื่อนกันอย่างเดิม ไปไหนมาไหนด้วยกันแต่ไม่พูดถึงเรื่องนี้อีกเลย

เดือนที่แล้วผมเขียนถึง “คนรอบข้าง” ของนักการเมืองใหญ่ ทำให้ผมคิดถึงเพื่อนที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขารับผิดชอบตัวเองโดยไม่กล่าวโทษใครหรือโยนความผิดไปให้คนอื่นหรือคนรอบข้าง

วันเวลาเหล่านั้นยังไม่มีพฤติกรรม “ล้มเจ้า” และยังไม่มี “คนรอบข้าง” ช่วยเติมไฟ

มาวันนี้มีเหตุการณ์สวนทางกัน…พระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ขจรขจายไปทั่วโลกและในสหประชาชาติ เพลงพระราชนิพนธ์ได้รับการบรรเลงทั่วทุกมุมโลก จนกระทั่งในสนามฟุตบอลนัดสำคัญก็ยังกระหึ่มด้วยเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี

เสียงแห่งพระบรมเดชานุภาพจะกลบเสียงนักการเมืองได้