คุยกับทูต “คริสเตียน เรเรน” ตามไปดูสวนสาธารณะไทยในชิลี และ ข้อตกลงเสรีทางการค้า

ย้อนอ่าน ตอนที่ 1 

ชิลีเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่อยู่ห่างไกลกันคนละซีกโลกกับประเทศไทย

คนไทยอาจรู้จักประเทศชิลีจากไวน์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในเมืองไทย

หลายคนอาจรู้จักชิลีในด้านกีฬาอย่างฟุตบอลหรือเทนนิส

ในขณะที่บางคนก็อาจรู้จักชิลีในแง่ของประเทศที่มีการเมืองมั่นคงและเศรษฐกิจมั่งคั่งมากที่สุดในละตินอเมริกา แถมยังเปิดเสรีทางการค้ามากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

และยิ่งไปกว่านั้นบางคนอาจทราบด้วยว่า ชิลีเป็นประเทศที่ส่งออกทองแดงมากที่สุดในโลก

“ประเทศของเราสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1962 ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ ความร่วมมือ และความเข้าใจอันดีต่อกัน” ท่านทูตเรเรนกล่าว

“สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีแห่งแรกในประเทศไทยเปิดทำการเมื่อปี ค.ศ.1967 เมื่อแรกเริ่มมีอุปทูตเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นการชั่วคราว ต่อมาปี ค.ศ.1981 จึงมีเอกอัครราชทูตประจำที่กรุงเทพฯ”

ส่วนประเทศไทยเปิดสำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ ณ กรุงซันติอาโก เมื่อมิถุนายน ค.ศ.1991 ปัจจุบัน คือสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ และเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1994

“ปัจจุบัน สถานทูตชิลีที่กรุงเทพฯ มี 2 นักการทูตจากชิลีโดยรวมทั้งผมซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตชิลีประจำราชอาณาจักรไทยคนที่ 11 และเจ้าหน้าที่ไทยอีก 3 รวมทั้งหมด 5 คน”

เอกอัครราชทูตชิลี นายคริสเตียน เรเรน

“ความรับผิดชอบของผม คือการเป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ของรัฐบาลชิลีในประเทศไทย หาหนทางในการพัฒนาธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศของเราทั้งสอง มีสถานกงสุลชิลีซึ่งอยู่ที่สถานทูต คอยช่วยเหลือชาวชิลีที่อาจประสบปัญหาในประเทศไทย เช่น หนังสือเดินทางสูญหาย นอกจากนี้ เรามีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของชิลี โดยมุ่งมั่นพัฒนาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างประชาชนและรัฐบาลของทั้งสองประเทศ”

ในปี ค.ศ.2012 คณะกรรมาธิการการค้าชิลีซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ProChile หรือสำนักงานส่งเสริมการส่งออก ได้ย้ายสำนักงานใหญ่จากเวียดนามมายังกรุงเทพฯ เรียกว่า ProChile Thailand โดยเน้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการชิลีกับผู้ประกอบการไทย

ในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจากชิลีมาเยือนไทยแล้วมากกว่า 800 คน และสร้างเครือข่ายร่วมกับไทยในการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังชิลี

“ไทยเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของชิลีในกลุ่มประเทศอาเซียน และหลังจากสองปีของการเจรจา ไทยและชิลีได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการไตรภาคี เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2013 ในระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ นายเซบัสเตียน ปิเญรา เอเชนีเก (H.E. Mr. Sebastian Pinera Echenique) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐชิลี”

นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ เนื่องจากเป็นเขตการค้าเสรีฉบับแรกที่ไทยเซ็นสัญญากับประเทศในแถบละตินอเมริกา ข้อตกลงนี้นับเป็นบทใหม่ในความสัมพันธ์ทวิภาคีซึ่งเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ๆ ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ชิลี

นายเอดัวร์โด เฟรย์ รุยซ์-ตักเล ) อดีตประธานาธิบดีชิลี เข้าเยี่ยมคารวะนายสมคิด

ประเทศชิลี ถือเป็นประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพของไทยและเป็นประตูการค้าที่สำคัญของไทยในการขยายตลาดในละตินอเมริกา

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นตามข้อตกลงเสรีทางการค้าปี ค.ศ.2013 คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน อันมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

จึงเห็นชอบให้จัดตั้ง สภาธุรกิจไทย-ชิลี หรือ Thai-Chilean Business Council (TCLBC) ในปี ค.ศ.2014

ชิลีเป็นตลาดในภูมิภาคละตินอเมริกาซึ่งมีจำนวนผู้บริโภครวมประมาณ 18 ล้านคน แม้จะเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก แต่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากรายได้ประชากรต่อหัวประจำปี ค.ศ.2015 สูงเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคละตินอเมริกา (รองจากอุรุกวัยและอาร์เจนตินา)

ความต้องการสินค้าไทยในชิลีมีหลายประเภท ทั้งวัตถุดิบเพื่อการผลิตและสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการอุปโภคบริโภค

โดยเฉพาะรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบของเครื่อง ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป

ท่านทูตเรเรนได้กล่าวถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงหลายครั้ง ในระดับพระราชวงศ์ของไทย หัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรี

“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร) เสด็จฯ เยือนกรุงซันติอาโก (Santiago), เมืองบัลปาไรย์โซ (Valparaiso), เมืองวินาเดลมาร์ (Vi?a del Mar) และเมืองอันโตฟากัสตา (Antofagasta) สาธารณรัฐชิลีอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 9-13 ตุลาคม ค.ศ.1996 และเสด็จฯ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เมื่อปี ค.ศ.1998”

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐชิลีอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 22-26 มีนาคม ค.ศ.1999”

“พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมอัยการระหว่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน ค.ศ.2007”

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐชิลีอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 14-18 ตุลาคม ค.ศ.2010 เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาหญ้าแฝกละตินอเมริกา ครั้งที่ 1 ณ กรุงซันติอาโก ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐชิลีและประธานเครือข่ายหญ้าแฝกโลก นอกจากนี้ ได้เสด็จไปทอดพระเนตรกิจการด้านดาราศาสตร์ที่หอดูดาว Cerro Paranal และ El Tololo รวมทั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และโบราณคดี”

“จากนั้นทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสวนสาธารณะประเทศไทย (Plaza Tailandia) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองการประกาศเอกราชของสาธารณรัฐชิลีครบ 200 ปี”

การเยือนประเทศชิลีระดับรัฐบาลไทย ได้แก่

“อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ค.ศ.2001-2006) ไปร่วมการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน ค.ศ.2004 ณ กรุงซันติอาโก ประเทศชิลี”

“อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล (ค.ศ.2011-2014) เยือนประเทศชิลีอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2012 เนื่องในโอกาสฉลองวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับชิลี”

นายเอดัวร์โด เฟรย์ รุยซ์-ตักเล ) อดีตประธานาธิบดีชิลี เข้าเยี่ยมคารวะนายสมคิด

การเยือนประเทศไทยระดับรัฐบาลชิลี

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร นายหลุยส์ มายอล บูคอง (Luis Mayol Bouchon) มาเยือนไทยเพื่อลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านการเกษตรและสุขภาพฉบับที่ 2 ในปี ค.ศ.2012”

“ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐชิลี นายเซบัสเตียน ปิเญรา เอเชนีเก (H.E. Mr. Sebastian Pi?era Echenique) (ค.ศ.2010-2014) เดินทางมาเยือนไทยเมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2013”

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประมุขแห่งรัฐชิลีที่มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในโอกาสพิธีลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี และข้อตกลงไตรภาคีความร่วมมือทางเทคนิค

“และเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายเอดัวร์โด เฟรย์ รุยซ์-ตักเล (Mr. Eduardo Frei Ruiz-Tagle) อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐชิลี (ค.ศ.1994-2000) และผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐชิลีสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้เข้าพบหารือกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสที่เดินทางเยือนประเทศไทย เป็นปีที่สองติดต่อกัน”

ป้ายชื่อสวนมิตรภาพไทย-ชิลี และรูปปั้นช้าง คชลักษณ์ 2 เชือก

ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ.2010 ประเทศชิลีจัดงานเฉลิมฉลองการครบรอบ 200 ปีของการได้รับเอกราช (Bicentenario) สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงซันติอาโก ได้ดำเนินโครงการด้านสันถวไมตรี ในการจัดสร้างสวนสาธารณะประเทศไทย (Plaza Tailandia) ให้เป็นสัญลักษณ์ไทยในชิลี เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชนชาวชิลี และเป็นถาวรสถานที่แสดงออกถึงความเป็นไทย ร่วมกับเทศบาลเขตลาสกอนเดส (Las Condes) กรุงซันติอาโก

ป้ายชื่อสวนมิตรภาพไทย-ชิลี และรูปปั้นช้าง คชลักษณ์ 2 เชือก

ณ สวนสาธารณะประเทศไทย (Plaza Tailandia) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่มุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสวนสาธารณะปาร์เกอาราวกาโน (Parque Araucano) ในเขตลาสกอนเดส กรุงซันติอาโก ขนาดพื้นที่โดยรวมประมาณ 1,000 ตารางเมตร มีการจัดตั้งประติมากรรมที่ออกแบบและจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร ได้แก่ ป้ายชื่อสวนซึ่งทำด้วยหินอ่อนและไม้, เสาไม้ (ไม้ตะเคียนทอง) และรูปปั้นช้าง “คชลักษณ์” 2 เชือก (หล่อโดยโลหะผสมทองแดง)

ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.2010 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสวนสาธารณะประเทศไทย (Plaza Tailandia) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองการประกาศเอกราชของสาธารณรัฐชิลีครบ 200 ปี และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐชิลี

ศาลาทรงไทยในบริเวณสวนสาธารณะประเทศไทย (Plaza Tailandia)

ต่อมา มีพิธีเปิดศาลาทรงไทยในบริเวณสวนสาธารณะประเทศไทย (Plaza Tailandia) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.2013 ณ สวนสาธารณะปาร์เกอาราวกาโน (Parque Araucano) เขตลาสกอนเดส กรุงซันติอาโก ซึ่งประเทศไทยได้สร้างเป็นสัญลักษณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ชิลี