วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (5)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลักคิดกับข้อจำกัด (ต่อ)

นับแต่นั้นมา อาณัติแห่งสวรรค์จึงกลายเป็นความชอบธรรมที่กษัตริย์หรือจักรพรรดิจีนในชั้นหลังต่อมาใช้อ้างอิงอยู่เสมอ ว่าตนคือผู้ได้รับอาณัติจากสวรรค์อย่างแท้จริง ไม่ว่าอาณัติที่ได้มานั้นจักชอบธรรมด้วยหรือไม่ก็ตาม

ประเด็นคำถามต่อไปจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วสวรรค์ที่ยกมาอ้างกันนี้คือใคร?

ในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า สวรรค์ (เทียน) จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทพผู้สูงสุด (ตี้) แล้วจากนั้นกษัตริย์ผู้สืบสันตติวงศ์จากเทพผู้สูงสุดก็อ้างตนเป็นตัวแทนของสวรรค์ แล้วใช้อำนาจนั้นโดยอ้างว่าสวรรค์ได้มอบอำนาจนั้นมาให้ ซึ่งก็คือ อาณัติแห่งสวรรค์

ในขณะเดียวกัน สวรรค์หรืออาณัติแห่งสวรรค์ก็มิได้ถูกผูกขาดการใช้เฉพาะแต่ชนชั้นปกครองเช่นกัน

หากราษฎรเองก็ใช้กันโดยมีปฏิสัมพันธ์กับเทพผู้สูงสุดหรือบรรพชนของตนด้วยเช่นกัน

ดังจะเห็นได้จากราษฎรจีนก็มีพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพชนหรือเทพผู้สูงสุด หรือเชื่อในอาณัติแห่งสวรรค์ผ่านคำกล่าวว่า ฟ้าลิขิต1

จากที่ประมวลมานี้จะเห็นได้ว่า สวรรค์ (หรือฟ้า) ของสังคมจีนจึงมีความเป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม

คือมิอาจอธิบายได้ว่ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จะบรรยายได้ก็แต่เทพต่างๆ ที่อยู่บนสวรรค์อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง

ในขณะเดียวกัน สวรรค์ของจีนก็มีเพียงหนึ่งเดียวจนดูคล้ายกับบางสังคมที่มีพระเจ้าองค์เดียว

 

อย่างไรก็ตาม กล่าวเฉพาะบุคคลที่อ้างตนเป็นโอรสแห่งสวรรค์ และเป็นผู้รับมอบอาณัติจากสวรรค์เพื่อใช้อาณัตินั้นในการปกครองราษฎร ฐานะของบุคคลซึ่งก็คือกษัตริย์หรือจักรพรรดิจึงย่อมสูงส่ง ฐานะนี้ทำให้บุคคลนั้นพึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหนือบุคคลอื่น คือมีชีวิตอยู่ปราสาทราชวังที่อลังการ และดำรงตนท่ามกลางโภคทรัพย์ที่มั่งคั่งสมฐานะ

ชีวิตความเป็นอยู่เช่นนี้จะมีได้ก็แต่ในสองทาง

ทางหนึ่ง มาจากรายได้ของรัฐผ่านภาษีอากรที่เก็บจากราษฎร

อีกทางหนึ่ง มาจากเครื่องบรรณาการที่รัฐต่างๆ ที่ยอมรับในอำนาจของตนนำมาถวาย

ในทางหลังคือประเด็นของการศึกษาในที่นี้ กล่าวคือ ยามที่จีนมีราชวงศ์ปกครองอย่างมีเอกภาพ ยามนั้นย่อมมีรัฐต่างๆ ที่อยู่รายล้อมมาสวามิภักดิ์ด้วย คือมาสวามิภักดิ์ต่ออำนาจของราชวงศ์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวง

โดยวิธีที่แสดงถึงความสวามิภักดิ์ที่โดดเด่นที่สุดก็คือการถวายเครื่องบรรณาการ

 

บรรณาการในคำจีนคือคำว่า ก้ง (tribute) การถวายบรรณาการจึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีระบบเรียกว่าระบบบรรณาการ (Tribute system) คำจีนเรียกว่า เฉาก้งถีจื้อ หมายถึง การถวายบรรณาการแก่ราชสำนัก (imperial tributary)

เท่าที่มีปรากฏในบันทึกพบว่าระบบบรรณาการมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์เซี่ย ซาง และโจวในยุคต้นประวัติศาสตร์แล้ว พอถึงราชวงศ์ฮั่นระบบนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งในเวลานั้นความสัมพันธ์ที่ว่านี้จะมีต่อชนชาติที่มิใช่ฮั่น ที่บางครั้งก็เป็นมิตรและบางครั้งก็เป็นศัตรูกับจีน

ในยามที่เป็นมิตรนั้นจะมีการสร้างความผูกพันในระหว่างกันผ่านลักษณะต่างๆ เช่น การแต่งงาน การแต่งตั้งให้มียศศักดิ์ขุนนาง การมีตัวประกันหรือ จื้อ (hostage) และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การแลกเปลี่ยนของกำนัลกับเครื่องบรรณาการ

กล่าวเฉพาะระบบบรรณาการนี้พบว่าไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ในการปรับตัวของจีนให้สอดคล้องกับความเข้มแข็งของศัตรูในแต่ละช่วง

จากเหตุนี้ ระบบบรรณาการซึ่งสะท้อนถึงการยอมรับที่จะมีความสัมพันธ์กับรัฐใดนั้น จึงมีสถานการณ์ในแต่ละช่วงเป็นตัวกำหนดรูปแบบทางการทูต รวมถึงการทำสนธิสัญญา (ที่ปกติจะสื่อเป็นนัยว่าความสัมพันธ์นั้นเป็นไปโดยเสมอภาคหรือไม่)

เช่น หากจีนต้องเผชิญกับรัฐที่มีอารยธรรมสูงอย่างอินเดียหรือโรมแล้วก็จะมีรูปแบบทางการทูตที่ต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐนั้นมีระดับความก้าวร้าวหรือป่าเถื่อนมากน้อยเพียงใด แต่การเผชิญกับรัฐที่มีอารยธรรมสูงก็มีไม่มากนักและที่มีก็เป็นไปอย่างเบาบาง

เหตุฉะนั้น ระบบบรรณาการของจีนโดยส่วนใหญ่แล้วจึงมักมีกับรัฐที่อยู่รายล้อมตนบนแผ่นดินใหญ่

จะเห็นได้ว่า ระบบบรรณาการดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากหลักคิดเรื่องโอรสแห่งสวรรค์ ที่เป็นไปเพื่อสนองตอบต่อจักรพรรดิจีนให้สมฐานะ ดังนั้น หากจะกล่าวว่าโอรสแห่งสวรรค์คือหลักคิดที่เป็นเรื่องนามธรรมแล้ว การแสดงออกโดยผ่านระบบบรรณาการก็คือรูปธรรมของหลักคิดที่ว่านี้ก็คงไม่ผิดนัก

อย่างไรก็ตาม หลักคิดโอรสแห่งสวรรค์ที่เคียงคู่กับระบบบรรณาการนี้ได้ดำรงเรื่อยมาจนถึงราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) และราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มจากที่จีนได้มีการค้าทางทะเลกับชนชาติที่มิใช่ฮั่นแต่อยู่นอกจีนออกไป ซึ่งก็คือชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับชาติตะวันตกอีกบางชาติ การค้าทางนี้เป็นไปอย่างกว้างขวางในสมัยหมิง และเป็นไปโดยมีระบบบรรณาการเข้ามาเกี่ยวข้องดังที่เคยมีกับชนชาติที่มิใช่ฮั่นในแผ่นดินใหญ่

แต่ครั้นถึงสมัยชิง ระบบบรรณาการกับหลักคิดโอรสแห่งสวรรค์ก็ถูกอธิบายชัดเจนขึ้น

 

ในสมัยชิงได้ตอกย้ำระบบกับหลักคิดที่ว่าหนักแน่นยิ่งขึ้น โดยอธิบายว่า มนุษยชาติล้วนอยู่ในสายตาจีนดุจอยู่ใต้สวรรค์ โดยมีจักรพรรดิในฐานะโอรสแห่งสวรรค์เป็นผู้มีความชอบธรรมในการกำหนดชีวิตมนุษย์ ในแง่นี้จักรพรรดิจึงเป็นสื่อกลางระหว่างสวรรค์กับมนุษย์ จักรพรรดิจึงเป็นผู้ปกครองที่แท้จริง

ดังนั้น จีนจึงเป็นอาณาจักรกลางหรือรัฐกลาง (จงกว๋อ) โดยมีจักรพรรดิเป็นผู้นำวิถีแห่งวัฒนธรรมที่มีมาตรฐานทางอารยธรรมของจักรวาล ส่วนราษฎรที่อยู่รอบๆ ชายขอบของรัฐกลางออกไปล้วนคือชนป่าเถื่อน

เมื่อคิดเช่นนี้ในขณะที่การค้าทางทะเลยังคงดำรงอยู่ หลักคิดที่ว่าจึงถูกนำมาใช้กับชาวต่างชาติที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาค้าขายกับจีนไปด้วย และนั่นก็คือที่มาของสิ่งที่รู้จักกันต่อมาว่าการค้าในระบบบรรณาการ (tribute-trade system)

แน่นอนว่า ในเมื่อการค้าในระบบนี้มีจีนเป็นจุดหมายปลายทาง ในขณะที่จีนเองยังคงมีหลักคิดโอรสแห่งสวรรค์ ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงย่อมมีแบบแผนเชิงการทูตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

และแบบแผนนี้จีนย่อมเป็นผู้กำหนดขึ้นบนพื้นฐานหลักคิดที่ว่าไปโดยปริยาย

 

แบบแผนหนึ่งที่สำคัญคือ พิธีถวายบังคมเบื้องหน้าจักรพรรดิที่เรียกว่า เคอโถว หรือ โค่วโถว2

พิธีนี้บุคคลจะคุกเข่าลงกับพื้นโดยใช้มือทั้งสองยันไว้ จากนั้นก็จะน้อมศีรษะลงให้หน้าผากสัมผัสกับพื้น พิธีนี้เป็นที่รับรู้กันสำหรับรัฐที่เป็นเมืองขึ้นของจีน ว่าตนยอมอยู่ใต้บังคับของจีน และมีพันธะที่จะต้องส่งเครื่องบรรณาการมาให้แก่ราชสำนักจีน

ดังนั้น เมื่อราชสำนักชิงเปิดให้มีการค้าทางทะเลและมีรัฐต่างๆ ได้เข้ามาทำการค้าด้วย รัฐเหล่านั้นก็จักต้องถือปฏิบัติพิธีนี้ไปด้วย และราชสำนักชิงก็จะถือว่ารัฐเหล่านี้ได้มาสวามิภักดิ์ต่อตน และเมื่อการค้าทางทะเลนี้เป็นส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ทางการทูต จีนก็ยังคงยึดถือหลักคิดนี้เอาไว้

สิ่งที่ต่างออกไปจากก่อนหน้านี้นับพันปีก็คือว่า รัฐที่มาใหม่เหล่านี้ล้วนอยู่นอกแผ่นดินจีน หลายรัฐมีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าจีน (โดยเฉพาะรัฐจากตะวันตก) แต่เมื่อมาสัมพันธ์กับจีนภายใต้หลักคิดที่ว่า รัฐเหล่านี้จึงเท่ากับตกเป็นเมืองขึ้นของจีนไปไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ถึงแม้โดยแท้จริงแล้วจะเป็นเมืองขึ้นแต่ในนามก็ตาม

จากหลักคิดโอรสแห่งสวรรค์เรื่อยมาจนถึงระบบบรรณาการที่กล่าวมาโดยตลอดข้างต้นนี้ กล่าวเฉพาะรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วก็ตกอยู่ในภาวะดังกล่าว

คือมีความสัมพันธ์กับจีนโดยตกเป็นเมืองขึ้นของจีน

————————————————————————————————
หมายเหตุ : ตามที่ชุดบทความเรื่อง “จักรวรรดิในกำแพง: โหมโรง (1)” ได้แปลคำว่า imperialization เป็นคำไทยว่า จักรวรรติยาภิวัตน์ นั้น คุณปวิตร ว่องวีระ บรรณาธิการมืออาชีพผู้เป็นกัลยาณมิตรได้กรุณาทักท้วงมาว่า ที่ถูกแล้วควรเป็น จักรวรรตินาภิวัตน์ โดยได้ยกเหตุผลทางภาษาบาลี-สันสกฤตมาให้เป็นหลักฐานอย่างมั่นเหมาะ ผู้เขียนจึงขอขอบคุณคุณปวิตรและขออภัยผู้อ่านต่อความผิดพลาดในครั้งนี้มา ณ ที่นี้ด้วย

(1) บางทีก็ใช้คำว่า “ลิขิตฟ้า” ซึ่งเป็นคำเดียวกับคำว่า “อาณัติแห่งสวรรค์” หรือ “เทียนมิ่ง”
(2) คำนี้มักคุ้นเคยในภาษาถิ่นกวางตุ้ง (กว่างตง) ว่า เคาเทา (kowtow)