อาทิศังกราจารย์ : ดวงตะวันแห่งฟากฟ้าปรัชญา (1) / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

อาทิศังกราจารย์

: ดวงตะวันแห่งฟากฟ้าปรัชญา (1)

 

“ตราบเท่าที่บุคคลยึดเอาว่า ซากศพ (กาย) ของตัวเองนี้เป็นตัวตนแท้ ตราบนั้นเขาย่อมไม่บริสุทธิ์ เป็นที่ตั้งแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์และความขุ่นข้องทั้งปวง ดังนั้น จงรู้เถิดว่า ตัวตน (อาตมัน) ของเจ้าเป็นสภาวะบริสุทธิ์ เป็นอานันทะสุข ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น พึงเป็นอิสระจากกายและจิตอันไม่เที่ยงนี้”

 

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ห้าเป็นต้นมา พื้นพิภพแห่งภารตวรรษก็รุ่มรวยไปด้วยกลิ่นอายของปรัชญาลึกล้ำ จากประเพณีของคณาจารย์ผู้ซ่อนตน เปลี่ยนมาสู่การเปิดเผยโฉมหน้า ก็เพื่อประโยชน์แห่งการโต้แย้งถกเถียง

จากสำนักหนึ่งสู่สำนักหนึ่ง นักปรัชญาและผลงานของพวกเขาผลิบานเหมือนมวลดอกไม้ในวสันตฤดู กำจรกลิ่นกำจายไปทั่วอนุทวีปอินเดีย แม้จะสวนทางกับรสชาติเผ็ดร้อนของการวิวาทะซึ่งเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่นิยมอย่างยิ่งในห้วงเวลานั้น แต่เราอาจถือได้ว่านี่เป็นยุคทองทางความคิดโดยแท้

ธรรมเนียมของอินเดียมิได้แยกศาสนาออกจากปรัชญา คล้ายคลึงกับตะวันตกในสมัยกลาง ทว่า ปรัชญามิได้มีฐานะเป็นเพียงสาวใช้ของเทววิทยาหรือศาสนาดังที่ชาวยุโรปกระทำไว้ แต่มีความสำคัญดุจปีกข้างหนึ่งของปัญญามนุษย์ และศาสนาก็ได้ช่วยประคองไว้อีกข้างด้วยศรัทธา

สำหรับภูมิปัญญาภารตะ ปีกทั้งสองข้างนั้นต่างนำพามนุษย์โบยบินไปสู่จุดหมายเดียวกันคือความหลุดพ้น

ด้วยเหตุนี้ บรรดาปราชญ์อินเดียจึงมักเป็นคุรุหรือเจ้าสำนักทางศาสนาในเวลาเดียวกัน ทำงานวิชาการ สร้างอรรถาธิบาย ขยายคำสอนเดิม เพิ่มเติมคำสอนใหม่ ตีความและวิเคราะห์ ในอีกทางก็สอนสั่งปวงชน บำเพ็ญเพียร เขียนบทกวี สร้างศิษย์และจาริกไปทุกแว่นแคว้นด้วยความรักและกรุณา

ประเพณีทางศาสนาจึงได้มอบคำนำหน้าหรือต่อท้ายชื่อว่า “อาจารย์” ให้กับนักปรัชญาเหล่านี้โดยเฉพาะ เพื่อเป็นเกียรติยศสำหรับการงานของพวกเขา

โดยจารีตของชาวฮินดู คำคำนี้มิได้หมายถึงครูผู้สอนหนังสือโดยทั่วไปดังที่เราเข้าใจ แต่เป็นคำยกย่องอย่างสูงต่อบุคคลผู้มีสติปัญญา ได้ผลิตผลงานที่สำคัญฝากไว้แก่อนุชนและเปี่ยมด้วยอาจารความประพฤติที่ดีงาม

เราอาจไม่เข้าใจชาวอินเดียผู้มีความเคารพรักอย่างสุดซึ้งต่อคณาจารย์เหล่านี้เลย หากเราสนใจเพียงแค่หลักปรัชญาซับซ้อนของท่าน ทว่า แง่มุมต่างๆ แห่งชีวิต “อาจารย์” เหล่านี้ อาจทำให้เราได้คำตอบว่า เหตุใดนามของท่านจึงยังคงถูกสลักไว้ในใจผองชนชาวภารตะจนถึงทุกวันนี้

 

หากนักปรัชญาทั้งหลายของดินแดนภารตะคือหมู่ดาราในฟากฟ้า ท่านอาทิศังกราจารย์ย่อมต้องเสมอด้วยดวงอาทิตย์ในห้วงเวหาอย่างมิต้องสงสัย เพราะปัญญาของท่านนั้นสูงส่ง เจิดจ้ากว่าดาวดวงใดและทำให้ผองชนยกไว้เหนือเกล้าของตน

ในหมู่ปราชญ์อินเดีย มิมีชื่อใดจะเป็นที่รู้จักยิ่งไปกว่าอาทิศังกราจารย์อีกแล้ว นับตั้งแต่โบราณมาจนถึงปรัตยุบันสมัย นักวิชาการและบัณฑิตทั้งหลายต่างถือว่าความคิดทางปรัชญาของท่านซับซ้อนและลึกซึ้งที่สุด

นอกเหนือจากบทบาทของนักปรัชญาและคุรุ ศังกราจารย์ยังเป็นกวีชั้นเลิศ เป็นนักปฏิรูปศาสนาและนักวิชาการ ผลงานนิพนธ์ของท่านจำนวนมากมายยังคงตกทอดมาถึงยุคสมัยของเรา

ประวัติชีวิตของท่านถูกกล่าวถึงไว้โดยคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดชื่อ “ศังกรทิควิชัย” (ศังกราจารย์ผู้มีชัยทุกทิศ) ของมาธวะ – วิทยารัณยะ (Madhava – Vidyaranya) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยวิชยนคร

บทประพันธ์ชิ้นนี้ แม้ว่าจะมีลักษณะแบบตำนาน แต่ก็เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปเพราะกินใจกว่าชีวประวัติเล่มอื่นๆ

 

โดยทั่วไปมักเชื่อกันว่า ศังกระ (Shankara), “ศังกราจารย์” (ศังกร + อาจารย์)” หรืออาทิศังกราจารย์ (Adi Shankaracharya) นั้น มีชีวิตอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 แต่ที่จริงแล้วอาจเป็นความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นจากความสับสน เนื่องจากหลังยุคของท่าน คำว่า “ศังกราจารย์” มิได้เป็นชื่อเฉพาะของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอีก แต่ได้กลายเป็น “ตำแหน่ง” ของผู้สืบทอดคำสอนหรือเจ้าอาราม (มัฐ) ซึ่งศังกราจารย์ได้สถาปนาไว้ทั้งสี่ทิศของอินเดีย และตำแหน่งนี้ยังคงสืบต่อมาจนปัจจุบัน

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คริสต์ศตววรษที่ 8 เป็นยุคของศังกราจารย์ผู้มีนามว่า “อภินวศังกราจารย์” แห่งกามโกฏิมัฐ ดังนั้น อาทิศังกราจารย์น่าจะมีชีวิตอยู่ก่อนหน้านั้นมาก ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในวงวิชาการแล้วว่า อาทิศังกราจารย์น่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณคริสต์ศตววรษที่ 5 ถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 7

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเติม “อาทิ” ซึ่งหมายถึงเบื้องต้นหรือคนแรกเอาไว้หน้านามของศังกราจารย์ ให้รู้ว่ากำลังกล่าวถึง “ศังกราจารย์” คนแรก เพื่อมิให้เกิดความสับสน แต่บางครั้งก็อาจเรียกเพียงศังกราจารย์ก็ได้

สำนักอื่นๆ หลายสำนักก็มีธรรมเนียมเช่นเดียวกันนี้ คือใช้นามของคุรุคนแรกมาเป็นตำแหน่งสำหรับผู้สืบทอด

 

ศังกรทิควิชัยกล่าวว่า ศังกราจารย์เป็นชาวมลพาร์ เกิดที่หมู่บ้านกาลทิในอินเดียภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ในรัฐเกราละ บิดาเป็นพราหมณ์ชื่อศิวคุรุ มารดาชื่ออารยา ทั้งสองแต่งงานกันเนิ่นนานแล้วแต่ไม่มีบุตรจึงพากันไปขอบุตรจากเทวาลัยพระศิวะ

หลังจากกระทำพิธีอารยาก็ตั้งครรภ์ คนทั้งหลายจึงเชื่อว่าศังกราจารย์คือพระศิวะ (ซึ่งมีอีกพระนามว่า “ศังกร”) ในปาง “ทักษิณามูรติ” หรือปางคุรุผู้สอนสัจธรรม ซึ่งลงมาเกิดในโลกเพื่อสั่งสอนปรัชญาที่ถูกต้อง ขจัดโมหะและอวิชชาให้สิ้นไป

อายุได้เพียงสามขวบบิดาก็เสียชีวิต ท่านจึงกลายเป็นเด็กชายที่เติบโตมาด้วยความรักของแม่ผู้ถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมาอย่างดีที่สุด อายุได้ห้าขวบก็ทำพิธีสวมสายสิญจน์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ เข้าเรียนในสำนักอาจารย์ เพียงไม่กี่เดือนก็เจนจบพระเวทและปรัชญาสำนักต่างๆ จึงกลับมาบ้านเพื่อดูแลแม่

วันหนึ่งบรรดาฤษีต่างพากันมายังบ้านของศังกระ แล้วบอกแก่อารยาว่า เมื่อครั้งศิวะคุรุขอพรต่อพระศิวะนั้น พระศิวะได้ตั้งเงื่อนไขให้เลือกระหว่างการมีบุตรที่มีอายุยืนยาวแต่ไร้คุณสมบัติที่ดี กับบุตรที่อายุสั้นแต่เปี่ยมไปด้วยคุณลักษณะที่ดีทุกอย่าง

แน่นอน ศิวคุรุเลือกข้อหลัง

อารยาตกใจกับเรื่องนี้มาก เธอถามฤษีทั้งหลายว่าศังกรจะมีอายุได้กี่ปี บรรดาฤษีตอบว่าจะมีอายุได้เพียงสิบหกปีเท่านั้น แต่หากโชคดีก็อาจยืนยาวได้เพิ่มอีกสิบหกปี

อารยาคิดว่าควรให้ศังกรแต่งงานและใช้ชีวิตแบบคฤหัสถ์ ทว่า ศังกรกลับมีใจที่คิดแต่จะออกบวชด้วยเห็นว่าสิ่งต่างๆในโลกไม่จีรังยั่งยืน เขาเสนอความคิดนี้ต่อมารดาแต่มารดาไม่เห็นด้วย เพราะในชีวิตของเธอมีเพียงลูกคนเดียวที่เป็นดุจแก้วตาดวงใจเท่านั้น

หากบุตรของเธอออกบวชเสียแล้ว เธอก็ไม่เหลือใครในชีวิตอีก

 

ในศังกรทิควิชัยเล่าถึงบทสนทนาอันจับใจนี้ไว้

“เหตุใดแม่จึงโศกเศร้ากับความไม่แน่นอนแห่งอนาคตเล่า เงื่อนไขของชีวิตในสังสารวัฏนี้แม่ก็รู้จักดีอยู่แล้ว ก็ดุจธงที่ถูกพัดไปและฉีกขาดเสียโดยลมพายุอันแรงกล้า นี่แหละเงื่อนไขของชีวิตมนุษย์อันเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างที่สุด แม้แต่คนโง่เขลาก็รู้เช่นนี้และยังคิดไม่ได้ว่าร่างกายนี้จีรังยั่งยืน ชีวิตในห้วงสังสารวัฏอันเวียนวนก็เหมือนพำนักในกองคาราวาน มีลูกหลานมากมายเพียงใดที่เราต้องเฝ้าดูแล สามีภรรยามากมายเพียงใดที่เราแต่งงานอยู่กินด้วยในการเวียนตายเวียนเกิดอันนับไม่ถ้วน คนผู้ใช้ชีวิตในโลกเช่นนี้น้อยนักที่จะได้ประสพสุข ดังนั้น ลูกจึงปรารถนาจะเป็นสันยาสี เพื่อทำตนเองให้พ้นจากสังสารวัฏ” ศังกรกล่าว

มารดาของเขาตอบว่า

“ลูกเอ๋ย อย่าคิดหรือพูดเช่นนั้นเลย มันดีกว่านะที่ลูกจะแต่งงาน เป็นพ่อคน ประกอบยัชญพิธีต่างๆ และบวชเป็นสันยาสีเมื่อแก่เฒ่าแล้ว นี่เป็นวิถีตามประเพณีของเรา แม่จะอยู่โดดเดี่ยวได้อย่างไรหากต้องเสียลูกชายคนเดียวไปเป็นสันยาสี แม่คงจะตายเสียด้วยความเศร้าจากความขื่นขมเช่นนั้น ใครเล่าจะมาทำพิธีศพแม่เมื่อตาย ลูกผู้รู้ทุกสิ่ง ลูกจะจากแม่ที่แก่เฒ่าคนนี้ไปอย่างไรได้ หัวใจของลูกไม่รู้สึกรู้สา ไม่สงสารแม่คนนี้ซึ่งมีชีวิตอย่างไร้ที่พึ่งเช่นนั้นหรือ”

ทั้งคู่มีกันและกันเพียงสองคน ด้วยความรักของแม่ ศังกรคิดว่าเขาจะไม่หนีออกจากบ้านไปบวช แต่จะบวชด้วยคำพรจากมารดาเท่านั้น

กระนั้น ความคิดที่จะบวชไม่เคยจางหายไปจากใจของศังกรเลยแม้แต่น้อย

 

วันหนึ่ง ขณะที่ศังกรกำลังเล่นน้ำที่แม่น้ำใกล้บ้าน จระเข้ตัวหนึ่งได้จู่โจมเข้าโดยไม่รู้ตัว เสียงร้องของศังกรดังจนอารยารีบวิ่งออกมาจากบ้าน เธอตกใจแทบสิ้นสติเมื่อเห็นบุตรของตนถูกจระเข้คาบอยู่ ศังกรร้องว่า ขอให้แม่สัญญาว่าจะอนุญาตให้เขาบวชเป็นสันยาสีก่อนที่จะตายลงด้วยฝีมือจระเข้เถิด มารดาจึงรีบอนุญาตด้วยความตกใจและคิดว่าอะไรที่ลูกขอในเวลาคับขันเช่นนี้ก็จะยินดีให้ทุกอย่าง

สิ้นเสียงกล่าวตอบ จระเข้นั้นก็พลันปล่อยเด็กชายศังกรทันที แม่โอบกอดเขาด้วยความรัก แต่ในขณะเดียวกันก็นึกอยู่ว่าได้ลั่นวาจาไปแล้ว ลูกจะต้องไปเป็นสันยาสีในเวลาไม่ช้าอย่างแน่นอน

ไม่กี่วันถัดมา ศังกรเตรียมบริขารแล้วปลงผม สวมเพียงผ้าเตี่ยวผืนเล็กอันเป็นสัญลักษณ์ของนักบวช ออกจากบ้านของแม่ด้วยคำอวยพรและเสียงสะอื้นไห้ตามหลัง กระนั้นก็ได้ให้สัญญาว่าจะกลับมาทำพิธีศราทธพรตให้ยามเมื่อแม่สิ้นใจ

(โปรดติดตามต่อ) •