ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง

 

“ผีแม่นาก ที่แท้แล้วอาจจะเป็นผีลูกครึ่งเขมร และจากหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ผัวแม่นากไม่ได้ชื่อพ่อมากสักหน่อย”

“ผัดไทย ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคของจอมพล ป. ตามที่กล่าวกันไว้ เพราะยุคนั้นท่านผู้นำรณรงค์ให้กินก๋วยเตี๋ยวต่างหาก”

เรื่องราวที่ยกมาพาดหัวของบทความในฉบับนี้ น่าจะทำให้ผู้อ่านสนใจ สงสัย พาลไปถึงมีเครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นในหัวหลายๆ ตัวได้

นี่เป็นน้ำจิ้มของเรื่องราวแบบ “ไทยๆ” ที่บรรจุอยู่ในหนังสือ “ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” โดยฝีมือการเขียนของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่เขียนให้เรื่องยากๆ ของข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ให้อ่านง่าย

และสนุกแบบนึกไม่ถึง

 

สําหรับแฟนๆ มติชนสุดสัปดาห์ คงคุ้นชื่อของศิริพจน์ดี เพราะเขาเขียนคอลัมน์ “On History” ลงเป็นประจำอีกด้วย

หะแรกเรื่องเหล่านี้ ถูกถ่ายทอดเป็นตอนๆ ลงในสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER และได้รวมเป็นเล่มให้ผู้สนใจได้หามาอ่าน ซึ่งในเล่มหนาร่วม 250 หน้านี้ มีเรื่องราวดีๆ รอผู้อ่านอยู่ถึง 28 เรื่องด้วยกัน คุ้มซะ

ที่เป็นกระแสฮือฮาขึ้นมาของหนังสือเล่มนี้ เพราะท่านผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เคยแนะนำว่าเป็นหนังสือที่ตนอ่าน จึงมีคนอยากหามาอ่านบ้าง จนสำนักพิมพ์ต้องลุกขึ้นมาพิมพ์ใหม่เพื่อตอบสนองดีมานด์

ผู้เขียนได้เขียนไว้ในคำนำตอนหนึ่งว่า

“ถ้าข้อเขียนชุด ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ในโลกออนไลน์ จะทำให้ผมได้พบและพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นไทย’ ในฐานะสมาชิกหน่วยหนึ่งในโลกที่กว้างไปกว่าเฉพาะอะไรไทยๆ จากมุมมองทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีแล้ว การจัดทำต้นฉบับหนังสือ ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ครั้งนี้ ผมก็ได้ทบทวนทั้งความรู้ และวิธีการเขียนของตัวเองไปด้วย ในโลกอันลุ่มลึกกว่าที่เคยเป็นมาก่อนในฉบับออนไลน์”

นั่นคือจุดประสงค์หลักของหนังสือ คือ การมองตัวเองให้กว้างกว่าแค่ “ความเป็นไทย” เพราะจากหนังสือเล่มนี้ ได้บ่งชี้ว่า อะไรที่ใครก็ตามบอกและให้คุณค่าว่าเป็น “ไท้…ไทย” นั้น จริงๆ แล้วเราล้วนหยิบจับผสมผสานของคนอื่นมาแปลงโฉมให้เป็นของเราเองทั้งนั้น

นั่นจึงไม่มีอะไรหรอกที่เป็นไทยแท้ๆ ซึ่งหากเข้าใจอย่างนี้ ก็อาจจะกำกับวิธีคิดในเรื่องของความเป็นไทยของเราได้รอบด้านมากขึ้น

ขอหยิบยกบางเรื่องราวในหนังสือมาให้อ่านกันพอสนุกๆ นะครับ

 

เรื่องแรกเอาเรื่องที่จั่วหัวไว้ล่ะกัน คือเรื่อง “แม่นากพระโขนง” พอสรุปความได้ว่า

หากจะค้นหาหลักฐานที่มีการพูดถึง “แม่นาก แห่งท้องที่พระโขนง” นั้น ก็เห็นจะเป็นจากที่ “ครูแจ้ง” แห่งวัดระฆัง ซึ่งเป็นครูเสภาร่วมสมัยกับสุนทรภู่ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 ได้แต่งบทเสภาเรื่องหนึ่ง เล่าถึง “ผีนางนาก” ชาวบางพระโขนงว่าเป็นผีตายทั้งกลม

จากนั้นเรื่องราวของผีนางนากก็ถูกเล่าขานต่อๆ กันมา ซึ่งแน่นอนที่ต้องมีการดัดแปลงต่อเติมจากปากผู้เล่าเข้าไปด้วย ที่น่าสนใจคือ ข้อมูลเกี่ยวกับคลองพระโขนงที่นางนากอาศัยอยู่ คำว่า “โขนง” มาจากคำว่า “ขนง” ที่แปลว่าคิ้ว ซึ่งเป็นภาษาเขมร ตรงกับคำว่า “โก่ง” หรือ “โค้ง” ของไทย

ราชาศัพท์คำว่า “พระขนง” ที่แปลว่าคิ้ว ก็เพราะคิ้วมีลักษณะโก่งโค้งนั่นเอง นั่นแสดงถึงกายภาพของคลองพระโขนงว่าเป็นคลองที่คดโค้ง

ภาษาที่ใช้ย่อมบ่งบอกถึงคนที่อยู่อาศัยหรือมีอิทธิพล จึงสันนิษฐานได้ว่าแต่ก่อนย่านพระโขนงเคยมีชุมชนชาวเขมรอาศัยอยู่ และชาวเขมรเองก็มีตำนานที่เกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า “นางนาก” ด้วย

เอาล่ะสิ นี่จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตว่า แม่นากที่ว่าน่าจะถ่ายทอดมาจากเรื่องเล่าของชาวเขมร ศิริพจน์-ผู้เขียน จึงเขียนเชิงหยอกเอินว่า ผีแม่นากอาจจะเป็นผีลูกครึ่งเขมร ก็เป็นได้

ส่วนเรื่องที่เล่ากันมาแต่เดิมก็ผิดเพี้ยนจากที่เราๆ รับรู้กันอยู่ปัจจุบันนี้ เพราะเล่าว่า แม่นากเป็นเมียของนายชุ่ม ไม่ใช่พ่อมากสักหน่อย ต่อมาแม่นากตาย ซึ่งไม่ได้ตายทั้งกลมด้วย เพราะแม่นากมีลูกชายกับนายชุ่ม นายชุ่มก็เอาศพไปฝังไว้ที่วัดมหาบุศย์ จากนั้นก็เกิดเหตุผีแม่นากอาละวาด คอยปาก้อนหินใส่คนที่พายเรือสัญจรไปมายามค่ำคืน ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่ปาหินนั้นไม่ใช่ผีแม่นาก แต่เป็นลูกชายของแม่นากกับนายชุ่มเอง ที่แกล้งปลอมเป็นผีแม่นากเพราะไม่อยากให้พ่อของตนมีเมียใหม่

เรื่องราวมันก็เป็นเยี่ยงนี้แล แหม…น่าเขกหัวเจ้าลูกชายเสียจริง

 

ส่วนเรื่อง “ผัดไทย” ที่มีข้อมูลกล่าวว่าถือกำเนิดในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นั้น ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะจอมพล ป.รณรงค์ให้คนไทยกิน “ก๋วยเตี๋ยว” ไม่ใช่กิน “ผัดไทย” สักหน่อย

เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดภาวะแร้นแค้นของผู้คนอย่างมาก ชั้นแต่จะกินข้าวกินปลาอย่างเคยก็ยาก เพราะขาดแคลนและมีราคาแพง ท่านผู้นำของไทยตอนนั้นจึงแนะนำทางออกให้ ดังคำปราศรัยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2485 ที่ว่า

“…อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์แก่ร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน พร้อมทำได้เองในประเทศไทยทุกอย่าง ราคาก็ถูก หาได้สะดวกและอร่อยด้วย…”

ในปราศรัยนั้นมีแต่คำว่า ก๋วยเตี๋ยว ไม่มีคำว่า ผัดไทย เลยสักคำ เพราะหากเป็นอาหารที่ผู้นำถือกำเนิดขึ้น และต้องการรณรงค์ให้คนกินตาม ก็ย่อมต้องเอ่ยถึงเป็นธรรมดา และบ่อยๆ ด้วย

อีกหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนเรื่อง ก๋วยเตี๋ยว มากกว่า ผัดไทย ก็คือบทประพันธ์คลาสสิคเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้บอกล่าผ่านตัวละครเอกอย่าง “แม่พลอย” ถึงเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ ซึ่งในยุค “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ของ จอมพล ป.นั้น หม่อมคึกฤทธิ์ก็ได้เขียนถึงนโยบายต่างๆ ในเชิงประชดประชัน กระแหนะกระแหน เพราะไม่เห็นด้วย เช่น เรื่องให้เลิกนุ่งโจงกระเบนและให้สวมหมวก หรือเรื่องห้ามกินหมาก และให้คนไทยขัดฟันขาว

ซึ่งก็มีพูดถึงเรื่องก๋วยเตี๋ยวไว้ด้วย แต่ไม่ได้พูดถึงผัดไทยเลยสักน้อย เพราะถ้าหม่อมตั้งใจจะเสียดสีแล้ว คงไม่ตกหล่นผู้ต้องหาตัวเอ้อย่าง “ผัดไทย” ไปได้แน่นอน

 

ขอแถมอีกสักเรื่อง เอาเรื่อง “ยืนตรงเคารพธงชาติ” แล้วกัน

ที่เราๆ ท่านๆ หรือนักเรียนปัจจุบันนี้ ต้องเข้าแถวหน้าเสาธงเพื่อร้องเพลงชาติพร้อมกับการเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสานั้น แรกเริ่มเดิมทีมีที่มาดังนี้

แต่ก่อนปีใหม่ไทยคือวันที่ 1 เมษายน ไม่ใช่ 1 มกราคมตามแบบสากล การฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ในยุคของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา มีความคิดให้แห่ธงไตรรงค์ไปตามถนนเส้นต่างๆ ทั่วประเทศ สิ่งที่ตามมาของงานฉลองคือการออกร้าน ซึ่งรวมทั้งโรงมโหรสพต่างๆ ด้วย

รัฐบาลจึงมีความคิดอยากให้มี “เพลงชาติ” ใช้บรรเลงสดๆ ก่อนหน้าจะทำการแสดง คงเหมือนกับเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบัน เพื่อปลุกใจให้รักชาติเป็นสำคัญ แต่ความไม่พร้อมจึงทำให้ไอเดียนี้ถูกตีตกไป

แต่ไม่นานก็ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่ โดยมีไอเดียว่าถ้าจะปลูกฝังความรักชาติให้เกิดผลต้องเริ่มจากเยาวชน ทีนี้ล่ะ ภารกิจสำคัญนี้จึงตกไปอยู่กับกระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงศึกษาธิการนั่นเอง ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการก็ได้มีบันทึกไปยังโรงเรียนต่างๆ ความว่า

“ทุกโรงเรียนทั้งโรงเรียนประชาบาลและรัฐบาล ควรจะมีเสาธงชักธงชาติ ในเวลาเปิดทำการสอน”

นั่นเองเป็นที่มาของเสาธงของคู่บุญของทุกโรงเรียนแต่นั้นมา ที่ใช้เชิญธงขึ้นเสาพร้อมเพลงชาติไทยบรรเลง แล้วไอ้ที่นักเรียนต้องมายืนตรงล่ะ มันมาจากไหน?

ต่อมาในยุคของท่านผู้นำ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ออกรัฐนิยมเรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ไว้ว่า “แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบ เครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม เวลาที่มีการชักธงขึ้นลง” ซึ่งในประกาศก็ไม่มีการบอกชัดๆ ว่าให้ยืนตรงด้วย

ว่ากันว่าการยืนตรงเคารพธงชาตินี้เริ่มครั้งแรกในค่ายทหาร ก่อนจะส่งทอดออกมาสู่ภายนอกทั้งในโรงเรียนและที่สาธารณะในเวลาต่อมา ตามระเบียบรัฐนิยมที่ท่านผู้นำประกาศออกมา ดังที่เราคนไทยต้องแสดงความเคารพธงชาติในเวลา 8 นาฬิกา และ 18 นาฬิกาในทุกวันนี้นั่นเอง

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ศิริพจน์-ผู้เขียน ได้เขียนไว้ให้อ่านด้วยว่า ในบันทึกของกระทรวงธรรมการที่ได้เล่าไปแล้ว ได้มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า

“…ธงชาติเป็นเครื่องหมายถึงอะไรและมีความสำคัญอย่างไร ย่อมเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว แต่รู้สึกว่าโดยทั่วๆ ไป ยังมีผู้เอาใจใส่น้อย ที่จริงควรจะปลุกเด็กให้เห็นธงชาติเป็น ‘วัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ขลัง’ ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่บัดนี้…”

อ้อ เพราะความเป็น “วัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ขลัง” ในความคิดของรัฐบาลตอนนั้นนั่นเอง ที่ทำให้เราต้องยืนตรงเคารพธงชาติในตอนนี้

 

นี่เป็นน้ำจิ้มสามรสจาก 28 เรื่องที่ชวนรู้ ชวนคิดตาม ที่อ่านได้สนุกจากสำนวนหยิกแกมหยอกแถมเสียดสีแบบทันสมัยของผู้เขียน ที่อุดมไปด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจากแหล่งต่างๆ

ลองหาอ่านกันดูนะครับ แล้วเราอาจจะมอง “ความเป็นไท้…เป็นไทย” ได้ชัดเจนแจ่งแจ้งแดงแจ๋มากขึ้น •