นักเขียนดีเดือด ลมใต้ปีกของนักเขียน/บทความพิเศษ มีเกียรติ แซ่จิว

บทความพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

นักเขียนดีเดือด

ลมใต้ปีกของนักเขียน

 

‘คนบางคนเพียงผ่านเข้ามาชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อสอนให้เราเรียนรู้บางสิ่งและจากไปเพื่อให้เราเติบโต’

เพิ่งเห็นชื่อ ‘อนุสรณ์ มาราสา’ ปักธงเข้ารอบกวีนิพนธ์ไปหลัดๆ มาคราวนี้ได้ทีเรื่องสั้น ‘นักเขียนดีเดือด’ ตบเท้าเข้ามาเป็นเรื่องที่ 10 หากนับกลมๆ ประเภทละ 20 เรื่อง มติชนอวอร์ดผ่านมาได้ครึ่งทางแล้ว และในเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็น่าสนใจตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้วว่า ‘นักเขียน’ จะ ‘ดี’ และ ‘เดือด’ ได้มากน้อยเพียงใด

เรื่องราวของ ‘รบ นิรันดร’ ตัวละครที่เชื่อมั่นว่าตัวเองนั้นเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียน แต่ผลงานของเขาก็พาไปได้ไกลแค่ ‘เกือบ’ ประสบความสำเร็จในแต่ละครั้ง เขาเกิดคำถามและไม่เข้าใจว่าทำไมงานประเภท “โหยหาคืนวันเก่าๆ” ถึงคว้าชัยในสนามประกวด โกรธาไปถึงมาตรฐานที่เที่ยงตรงนั้นว่าอยู่ตรงไหน

“คำถามร้อยพันวิ่งเข้ามาหาเหมือนเทหวัตถุอันตรายจากฟากฟ้าพุ่งชนขั้วใจ นวนิยายตกรอบเวทีโน้นกลับได้รางวัลดีเด่นอีกเวทีหนึ่ง มันคือโชค ดวง หรือฝีมือบันดาล นั่นมันหาใช่ผิดนักเขียน เป็นความล้มเหลวสาธารณะแห่งอัลไตต่างหากล่ะ”

เบื้องต้นรบอาจมองว่าผลงานตัวเองเขียนดีควรได้รับรางวัล (บวกรวมเสียงสนับสนุนจากนักวิจารณ์) แต่รบอาจ ‘ลืมมอง’ มาตรฐานมวลรวมหรือคณะกรรมการตัดสิน ไม่แปลกที่รบจะตั้งคำถาม ขุ่นข้องและครุ่นคิดเหมือนนักเขียนที่มองไม่เห็นเม็ดทรายในตาตัวเอง ซึ่งคงไม่ต่างจากในบ้านเราที่ปรากฏทั้งนักเขียนหน้าใหม่และเก่าอยู่ไม่น้อย แต่ที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงคุ้นหน้าคุ้นตามีเพียงไม่กี่คน หลายคนยังมุ่งมั่นทุ่มเทส่งงานเข้าประกวดตามเวทีต่างๆ แต่หลายคนยังคงผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปไม่ถึงฝัน

สิ่งที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคำถามดังกล่าวและควรหยิบยกมากล่าวถึงไว้ตรงนี้สักเล็กน้อยคือ ทำไมยังมีนักเขียนอีกจำนวนมากที่ไม่ประสบความสำเร็จและยังคงดีเดือดในเส้นทางการงานที่รักต่อไป หรือแท้จริงเบื้องหลังของผู้ประสบความสำเร็จที่มีมากกว่า “โชค ดวง หรือฝีมือบันดาล” แต่ยังรวมไปถึง ‘ลมใต้ปีก’ ในชีวิตของแต่ละคน

 

ผู้เขียนบทความเคยพูดคุยกับ ‘ศิริวร แก้วกาญจน์’ นักเขียนซีไรต์คนล่าสุดจากนวนิยายเรื่อง ‘เดฟั่น’ (2564) ว่าทำไมจึงเลือกเส้นทางนี้ ก็ได้คำตอบประมาณว่า นอกจากงานวาดรูปที่เขาถนัด ก็มีงานเขียนที่เขาเฆี่ยนสู้กับตัวเองตลอดหลายปีที่ผ่าน (จากสถิติชิงชัยในสนามซีไรต์มานับ 10 ครั้ง ดังจะเห็นว่าศิริวรไม่ต่างจากเฒ่าซานติเอโก ใน The Old Man and the Sea ที่ไม่ยี่หระห้ำหั่นกับเจ้าปลายักษ์) แต่แน่นอนปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคือคนรักและเหล่าผองเพื่อนในแวดวงวรรณกรรมที่เป็นดังมิตรแท้

การยืนหยัดวัดกันไปข้างตอนเขียน ‘ลับแล, แก่งคอย’ (2552) ของ ‘อุทิศ เหมะมูล’ เมื่อหลายปีที่แล้วนั่นก็เช่นเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าแทบทุกเล่มทุกลมหายใจเข้าออกของอุทิศ คนรักของเขามีบทบาทเป็นแรงบันดาลใจอยู่เบื้องหลังจุดไฟในตัวให้ลุกโชนอยู่เสมอ (อุทิศมักจะเขียนชื่อคนรักไว้ในหนังสือ กล่าวถึงในบทสัมภาษณ์ รวมถึงในเล่ม Japan and I) และก็แน่นอนอีกเช่นกันว่ารวมถึงผองเพื่อนในแวดวงวรรณกรรมที่เป็นดังมิตรแท้

หรือในอีกด้านที่เจ้าตัวอย่างพญาอินทรี ‘จรัญ ยั่งยืน’ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาผ่านหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว (เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565) ว่า “กว่า 20 ปี ที่ลงมือเขียน สะกดคำว่า “ล้มเหลว” มากกว่า “สำเร็จ” ไม่เคยสอบผ่านสนามใหญ่หลายที่ เช่น นายอินทร์อวอร์ด ราหูอมจันทร์ แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ได้ลงมือทำ และยังอยากเขียนต่อ แม้จะเขียนช้าลงเรื่อยๆ”

อ่านแล้วต้องชื่นชมในความขยัน อุตสาหะและเปี่ยมด้วยความรักในเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสายนี้ แต่ก็แน่นอนปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกัน มากกว่านั้นยังรวมไปถึงคนรักและผองเพื่อนที่เป็นดังมิตรแท้

วกกลับเข้ามาสู่เรื่องราว ‘นักเขียนดีเดือด’ ของ ‘รบ นิรันดร’ กันอีกครั้ง

 

หลังจากที่รบ ‘รบพ่าย’ แล้วกลับมาสู้ชีวิตใหม่ที่บ้านเกิดควนดินแดง เพื่อนแนะนำให้รบหาเมียสักคนดีกว่าอยู่ตัวคนเดียวในเมื่อพ่อแม่ตายหมด (ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์) เหลือทิ้งขนำกรีดยางไว้ รบในวัย “เลขห้าต้นๆ” ได้แต่งงานกับ “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” จากการแนะนำญาติห่างๆ เพราะกลัวว่าจะตายคาขนำกรีดยางไม่มีใครเหลียวแล แต่ให้หลัง 3 ปีก็แยกทางกัน เมื่อรบยังคงมุ่งมั่นขลุกอยู่กับงานเขียนไม่ประกอบอาชีพอื่นใด (“พี่น่าจะแต่งงานกับหนังสือ อยู่ไม่มีความสุขก็อย่าอยู่เลยดีกว่า”)

ซึ่งนั่นอาจจะเป็นปัญหาหนึ่งของรบ ไม่หยิบจับทำอะไร (แม้กระทั่งออกไปซื้อกาแฟ) นอกจากอุทิศตัวเพื่อเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว อีกปัญหาหนึ่งที่คู่ขนานกันมาพร้อมกัน รบยังมีปัญหาในการปรับตัวเข้าสังคม

“วันไหนที่ย่างกรายออกร้านน้ำชาปากซอยวันนั้นคือวันโลกแตก เผลอแสดงวิสัยทัศน์ดังๆ ว่าเขาไม่ชอบคนประเภทปลูกยางร้านน้ำชา นอกจากไม่ยอมพัฒนาตัวเองทำให้โลกพลอยไม่เจริญ เพื่อนบ้านเรียกรบปากปีจอตามหลัง”

ซ้ำร้ายปัญหาดังกล่าวยังสะท้อนผ่านโลกโซเชียล รบมีเพื่อนนักเขียน “ค่อนประเทศ” แต่ปัญหาการแสดงออกอย่างไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหมของเขาก็ไม่ต่างจากวงน้ำชา “เขาชอบโยนเผือกร้อนลงหน้าเฟซบุ๊ก ตั้งหัวข้อโพสต์แสบๆ คันๆ” จึงทำให้เพื่อนนักเขียนค่อนประเทศที่ว่า “บล็อกเลิกคบแบบไม่เผาผี”

นอกจาก ‘บังบาหลี’ เพื่อนนักเลงนกกรงหัวจุกที่รบให้มากรีดยาง “ปันอัตราส่วนหกสี่ประทังชีวิต”

อีกคนที่ก้าวเข้ามาในชีวิตคือสาว ‘นุ้ย’ อยู่แม่ขรี จังหวัดพัทลุง ที่รู้จักกันผ่านเว็บหาคู่ที่บังบาหลีแนะนำให้รบหาเมียใหม่ไว้ “นอนกอดแก้หนาว”

 

นุ้ยเป็น “สาวบ้านๆ ที่ผัวถูกยิงตาย ทิ้งลูกชายไว้ให้หนึ่งคนตอนนี้เรียนโรงเรียนประจำที่สงขลา” แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่ออกจากปากนุ้ย เป็นสัจธรรมความจริงที่น่าขบคิด เช่นครั้งหนึ่งตอนมาอยู่ด้วยกันใหม่ๆ

“สำหรับนุ้ยไม่ต้องเป็นนักเขียนก็ได้ถ้ากรีดยางเป็น” หรือในตอนที่เธอบอกว่า “โลกนี้มีทั้งล้มเหลวและสำเร็จทุกอาชีพ นักเขียนก็ไม่ได้ละเว้นหรอก โลกจึงไม่ใช่เวทีประกาศความสำเร็จเสมอไป”

แต่ที่ตรงหลักความจริงในการใช้ชีวิตมากที่สุด คือตอนที่นุ้ยพูดประโยคนี้ออกมาว่า “หลังจากกรีดยางเสร็จแล้วจะดูแลเรื่องงานเขียน ช่วยอ่านพิสูจน์อักษร ส่งเมลไปให้สำนักพิมพ์ เป็นงานรอง”

รบคิดว่า “สวรรค์ทรงโปรดได้เจอสาวนุ้ยผู้รู้ใจ…จะได้ตั้งใจเขียนหนังสือให้เป็นจริงสักที” แต่พูดก็พูดเถอะในความเป็นจริงชีวิตเราไม่ได้อยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว เราจำเป็นต้องมีสังคมประกอบสร้างเป็นส่วนหนึ่ง การเขียนแม้จะเป็นหน้าที่การงานหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะยึดมั่นและละเลยที่ไม่ทำอะไรอื่นเลย แม้แต่ ‘เสียง’ ของคนที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด

ในสายตาของนุ้ยจึงมองเรื่องงานเขียนเป็น ‘งานรอง’ มากกว่างานประจำอย่าง ‘กรีดยาง’ ซึ่งแน่นอนว่าเธอทำได้ดีทั้งสองงานควบคู่กัน แบ่งเบาภาระช่วยอ่านพิสูจน์อักษรและส่งเมลให้ (รบชอบเขียนแต่ไม่ชอบอ่านตรวจแก้) วิสัยทัศน์ของเธอโยงอยู่กับความจริงในการประกอบอาชีพการงานมากกว่า มองอีกทางเธอมีภาระหรือลูกต้องเลี้ยงดูแล เธอผ่านเรื่องแย่ๆ ในชีวิตมา (สามีถูกยิงตาย) จึงเข้าใจได้ว่าเธอเป็นคนละเอียดอ่อนมากกว่ารบ (ตอนพ่อแม่รบเสียเขายังมุ่งมั่นเรื่องงานเขียนอยู่เมืองคอนกรีต)

อาจเพราะความละเอียดอ่อนตรงนี้ นุ้ยจึงมองเห็น ‘อีกด้าน’ ที่ไม่สละสลวยละเอียดอ่อนของรบผ่านผลงานที่เขามุ่งมั่นเคี่ยวเข็ญและไปไม่ถึงฝั่งสักที ขณะที่รบเขียน นุ้ยช่วยอ่านพิสูจน์อักษรและ ‘อ่านขาด’ ไปถึงสิ่งที่รบ ‘ขาดตกบกพร่อง’ อีกทั้งยังไม่แน่ชัดว่าจะนำสิ่งเหล่านี้กลับคืนมาสู่สำนึกของคนรักได้อย่างไร

 

หากกล่าวโดยภาพรวม ต้องเข้าใจตรงกันว่ารบเป็นคนชอบเรียนรู้ เรียกได้ว่าตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เคี่ยวกรำตัวเอง “เหมือนผีประพันธกรเข้าสิงไม่ยอมออก นั่งอ่านวรรณกรรมชั้นดีระดับโลกประดับสมองให้ยกระดับสากล…” แต่ก็มาผิดหวังชนิดหักปากกาเซียนเมื่อ “ปีที่รวมเรื่องสั้นเล่มแรกเข้ารอบสุดท้ายนักวิจารณ์ทั้งหลายต่างยกให้เขาอับดับหนึ่ง แต่นักเขียนน้องใหม่จากเวทีนักเขียนเยาวชนคว้าไปหน้าตาเฉย”

การผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า การไปไม่ถึงฝัน การมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อสิ่งเดียว และไม่คบค้าสมาคมกับใครอื่นบางทีแค่ความ ‘รู้กว้าง’ ในหนังสือ อาจเป็นโทษทำให้รบตีบตันทางทัศนวิสัยที่กว้างไกลและพอกพูนอัตตามากเกินพอดีจน ‘ปิดใจ’ รับฟังความเห็นของผู้อื่น

ถึงตรงนี้จึงเห็นได้ชัดว่ารบพ่ายมาตั้งแต่ต้นและนุ้ยคือสิ่งเติมเต็มในชีวิตที่รบเลือกจะมองข้ามมาตลอด ชัยชนะที่รบได้รับจากนวนิยายเรื่อง ‘สวรรค์กับนรก’ จึงเป็นการมองย้อนกลับหรือสะท้อนกลับอย่างรุนแรงจาก ‘สวรรค์ลงสู่นรก’ อย่างแท้จริง เมื่อชีวิตเกิดจุดพลิกผันและต่อจากนี้จะไม่มีลมใต้ปีกคอยประคับประคองอยู่เคียงข้างอีกต่อไป

ว่ากันว่า คนบางคนเพียงผ่านเข้ามาชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อสอนให้เราเรียนรู้บางสิ่งและจากไปเพื่อให้เราเติบโต ตัวละครของนุ้ยจึงเปรียบเหมือนนางฟ้าจำแลง เพียงผ่านเข้ามาขัดเกลาใจนักเขียนอย่าง ‘รบ นิรันดร’ เพื่อเปิดพื้นที่ในหัวใจ มากกว่าที่จะ ‘ดีแต่เดือด’ และมองไม่เห็นใคร

โดยสรุป ถ้านี่เป็นครึ่งทางของมติชนอวอร์ด ‘นักเขียนดีเดือด’ คงเป็นเรื่องที่สอง ที่ ‘สัมผัสใจ’ ไปแล้วของผู้เขียนบทความ