มะเขือพวง อาหารสมุนไพรกินห่างไกลโรค (2) / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

มะเขือพวง

อาหารสมุนไพรกินห่างไกลโรค (2)

 

เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยคิดว่า มะเขือพวงเป็นต้นไม้พื้นเมืองของไทย

แต่ความจริงเป็นพืชมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง แล้วก็แพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติไปยังแอฟริกาตอนกลางและออสเตรเลีย

ในฐานข้อมูลสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว (Royal Botanic Kew Garden) กล่าวไว้ว่ามีการกระจายไปยังเมืองต่างๆ ในทวีปเอเชีย ซึ่งรวมถึงรอบๆ ประเทศไทยด้วย เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนามและมาเลเซีย

แต่ที่แปลกแต่เป็นความจริง คือ ไม่พบการกระจายแบบธรรมชาติในประเทศไทย แสดงถึงเป็นการนำเข้ามาปลูกเป็นผักสวนครัว แล้วก็นำมาปรุงในอาหารไทยจนเป็นอาหารยอดนิยมในหลายเมนูที่ชาวโลกชื่นชอบ

เมนูที่คุ้นเคยมากๆ เช่น น้ำพริกกะปิกินกับปลาทูต้องเป็นถ้วยน้ำพริกที่มีมะเขือพวงจึงรสเด็ด แกงเผ็ดใส่มะเขือพวง ผัดเนื้อมะเขือพวง ยำมะเขือพวง เป็นต้น

ในประเทศที่นำมะเขือพวงมาปรุงอาหารนั้น มักนำมาใช้แตกต่างกันตามรสนิยมและวัฒนธรรมการกินที่มีความหลากหลายสูงมาก

เช่น ในแอฟริกานำผลมะเขือพวงมาทำให้สุกกินคู่กับอาหารพื้นเมือง และกินมะเขือพวงในลักษณะอาหารแล้วยังกินเป็นยาสมุนไพรด้วย เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันว่าใครที่มีอาการขาดธาตุเหล็กหรือในร่างกายมีธาตุเหล็กต่ำ ก็จะปรุงอาหารมะเขือพวงกินเพื่อเสริมธาตุเหล็กให้กับร่างกาย

ในอินเดียนำต้นอ่อนมากินทั้งดิบและสุก ถ้าปรุงสุกจะนำต้นอ่อนมาหั่นเป็นท่อนเล็กๆ นำไปต้มกับเกลือและพริก เมื่อสุกแล้วตักใส่จาน ตกแต่งหน้าด้วยเมล็ดคาสตาร์ด ใบหอมแขกและหอมที่ดองอยู่ในน้ำมัน

ในช่วงระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา มะเขือพวงเป็นผักที่มีราคาสูงกว่ามะเขือชนิดอื่นๆ เนื่องจากมีข้อมูลที่แชร์กันไปอย่างกว้างขวางว่ามะเขือพวงรักษาสารพัดโรค โดยเฉพาะแชร์แนะนำให้พระสงฆ์ฉันมะเขือพวงทุกวันจะทำให้ห่างไกลจากโรค

ปัจจุบันยังมีการผลิตผลิตภัณฑ์มะเขือพวงเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก จึงทำให้มะเขือพวงเป็นพืชที่ต้องการสูงขึ้น ราคาจึงสูงกว่ามะเชือชนิดอื่นๆ

 

ลองมาไขข้อข้องใจจึงได้ทบทวนเอกสารงานวิชาการต่างๆ พบว่า มะเขือพวงมีสรรพคุณตามตำราแพทย์แผนไทย ช่วยเจริญอาหาร ย่อยอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ไอ ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนดี แก้ฟกช้ำ ไอเป็นเลือด ฝีบวมมีหนอง

สำหรับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงคุณสมบัติที่เด่นชัดของมะเขือพวงในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลำไส้ เพื่อตอบสนองต่อสารพิษที่เข้ามายังระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันความเสื่อมและแก่ก่อนวัย มีฤทธิ์ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในโรคเบาหวาน

อีกทั้งยังมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด เช่น ในมะเขือพวงมีสารโซลาโซดีน (Solasodine) ที่ช่วยต่อต้านหรือลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง สารสกัดจากมะเขือพวงมีผลยับยั้ง Platelet activating factor (PAF) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหอบหืด

มะเขือพวงยังมีสารทอร์โวไซด์ เอ, เอช (Torvoside A, H) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (Herpes simplex virus type 1) โดยมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งไวรัสได้มากกว่าอะไซโคลเวียร์ (ยาแผนปัจจุบันแก้เริม) ถึง 3 เท่า มะเขือพวงมีสารทอร์โวนินบี (Torvonin B) ซึ่งเป็นซาโพนินชนิดหนึ่ง โดยเชื่อว่ามีฤทธิ์ในการขับเสมหะ และในมะเขือพวงมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันความเสื่อมและช่วยชะลอความชรา

ที่น่าสนใจและมีผู้นำมะเขือพวงมาตากแห้งบดผงกินกัน คือ มะเขือพวงมีสารเพกติน (Pectin) ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

โดยสารนี้จะมีหน้าที่ช่วยเคลือบผิวในลำไส้ ทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ช้า จึงช่วยดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ทำให้ระดับของน้ำตาลในเลือดคงที่ และยังมีคุณสมบัติช่วยดูดซับไขมันส่วนเกินและอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตด้วย

 

งานวิจัยอธิบายว่า มะเขือพวงมีสารเส้นใยละลายน้ำได้ที่เรียกว่า เพ็กทิน (pectin) ซึ่งเป็นสารที่พบในผนังเซลล์ของพืช ผัก และผลไม้ต่างๆ เพ็กทินเมื่อผ่านการกินจะเปลี่ยนรูปเป็นวุ้นไปเคลือบผิวลำไส้ และช่วยเพิ่มความหนืดของอาหาร ทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ช้า

ลำไส้จึงดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างคงที่

การดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารหรือน้ำดีลดลง และเกิดการสร้างน้ำดีขึ้นมาทดแทน

นอกจากนี้ เพ็กทินมีคุณสมบัติดูดซับไขมันส่วนเกินจากอาหาร ลดการดูดซึมอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเข้าสู่ร่างกาย สารเส้นใยนี้ยังสามารถดึงน้ำไว้ได้เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระและกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ และในลำไส้ใหญ่จะมีแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารก็จะย่อยเพ็กทินให้กรดไขมันขนาดเล็กซึ่งเป็นประโยชน์กับร่างกายด้วย

การศึกษาเพ็กทินในมะเขือ 3 ชนิด ได้แก่ มะเขือยาว มะเขือเปราะ และมะเขือพวง พบว่ามะเขือพวงมีปริมาณเพ็กทินสูงสุด มะเขือยาวมีปริมาณเพ็กทินน้อยกว่ามะเขือพวง 3 เท่า และมะเขือเปราะมีน้อยกว่า 65 เท่า

จึงไม่น่าแปลใจที่เพ็กทินในมะเขือพวงมีคุณสมบัติลดน้ำตาล ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต และช่วยความสมดุลของระบบขับถ่าย ซึ่งมีการใช้กันในหลายประเทศแล้ว

ประสบการณ์ผู้กินผู้ใช้จริง และงานศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่ามะเขือพวงพืชต่างถิ่นที่กลายมาเป็นพืชสมุนไพรพื้นเมืองของไทยนี้ มีสรรพคุณที่ควรรณรงค์ให้ ปลูก กินเป็นประจำ เพื่อสุขภาพดี ห่างไกลโรค •