ปรบมือ โปรยดอกไม้ / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ปรบมือ โปรยดอกไม้

 

ร่วมงานวันเกิดปีที่ 88 เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมาของศิลปินใหญ่ อินสนธิ์ วงค์สาม ศิลปินแห่งชาติ ณ อาณาจักรสวนศิลปะและแหล่งปฏิบัติธรรม ที่ จ.ลำพูน มีบุคคลในวงการทั้งภาครัฐ เอกชน และศิลปินไปร่วมงานมากมาย

เป็นอาณาจักรอินสนธิ์ วงค์สาม ที่เจ้าตัวเนรมิตขึ้นมาจริงๆ ในพื้นที่กว้างขวางของบ้านป่าซางน้อย ต.บ้านแป้น อ.เมืองลำพูน นับเป็นห้องเรียนงานศิลปะหนึ่งในไม่กี่แห่งของประเทศนี้

อินสนธิ์เล่านิทานสั้นที่แต่งเองเรื่องแมงกุ๊ดจี่ออกลูกเป็นแมงขี้เม้ากลิ้งตกผาโผล่ออกมาก็ถูกนกจิกกินตาย คือตายตั้งแต่เกิด

สรุปว่า “เกิดมาตายเปล่า”

ชี้ชัดสัจธรรมดีแท้

 

ชีวิตของอินสนธิ์นั้นน่าเรียนรู้ เป็นตำราเล่มใหญ่ทีเดียวด้วยจบจากศิลปากรก็หามอเตอร์ไซค์ขี่จากไทยไปยุโรปไปอเมริกาสร้างงานศิลปะเป็นรายได้ใช้จ่ายโดยตลอด จนได้ภรรยาเป็นฝรั่งนักปฏิบัติธรรม กระทั่งมาร่วมสร้างอาณาจักรศิลปะและสอนปฏิบัติธรรม ณ อาณาจักรสวนศิลป์ลำพูนนี้

งานศิลปะทั้งแกะสลักไม้และรูปวาด ซึ่งสร้างสรรค์อย่างมีเอกลักษณ์นี่เองเสมือนจะบอกเล่าเติมเต็มคุณค่าของชีวิตให้แก่แมงขี้เม้า

เหมือนอาณาจักรบ้านดำที่เชียงรายของศิลปินถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับแล้ว มีคำจารึกของถวัลย์ ดังคำปลงถึงวาระสุดท้ายซึ่งมีพิมพ์ไว้บนหลังเสื้อยืดว่า

“บทเพลงสุดท้ายในริ้วขบวนชีวิต

ข้าได้ร่ำบรรเลง อำลา

และข้าจะจางจากไป เมื่อตะวันลบแสงดาว

ก่อนค่ำให้ข้าขับเพลงสุดท้าย ของชีวิต

ช่วยเปิดดวงตารัตติกาล และปิดเปลือกตาให้ข้า

แต่อย่าลบรอยยิ้มของข้าเลย

ข้าขออำลา และหลีกเร้นริ้วขบวนชีวิต

ไปสู่เชิงตะกอน เงียบเงียบ

ปรบมือ โปรยดอกไม้

เป็นบรรณาการแก่งานของข้า

กระหึ่มก้อง โกญจนาท

ไปทุกโตรกธารละหานห้วย”

ขอ “ปรบมือ โปรยดอกไม้” ให้แก่คำอำลาของถวัลย์ ดัชนี บทนี้ด้วย

ถ้าแมงขี้เม้าคือสัญลักษณ์ของการเกิดและการดับ คุณค่าของงานศิลปะที่ทำให้เราได้คำนึงตระหนักถึงคุณค่าชีวิต ทั้งของอินสนธิ์ วงค์สาม ถวัลย์ ดัชนี นี้แหละคือการเติมเต็มให้แก่คุณค่าชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

 

ของศิลปินอีกสาขาคือนักเขียนใหญ่ที่เชียงใหม่คือสังคีต จันทนะโพธิ์ ปัจจุบันอายุ 96 ปี มีชีวิตอยู่อย่างยากไร้ แม้จนวันนี้

งานของสังคีต จันทนะโพธิ์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องป่าและผู้อยู่กับป่าพงดงดอย เช่น ชีวิตของกะเหรี่ยงคอยาว เป็นต้น

ปัจจุบันเรื่องของป่าดงพงไพรมีคนเขียนกันน้อย ทั้งนักเขียนมีน้อย และป่าก็ดูจะเหลือน้อยแล้ว งานเขียนเกี่ยวกับป่าดงพงไพรโดยเฉพาะในประเทศไทยจึงสำคัญนัก เพราะนอกจากจะทำให้เรารู้เรื่องราวลี้ลับอันเป็นไปในธรรมชาติแล้ว ยังได้เห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงในวิถีวัฒนธรรมของผู้คนในบ้านเมืองเราเองด้วย

สังคีต จันทนะโพธิ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า

“ผมเข้าป่าอย่างคนธรรมดา ไม่ได้แสวงหาวิเวกหรือคำตอบใดๆ แต่ก็ได้สัจธรรมและความรู้จากป่า ต้นไม้ สัตว์ ดิน และสิ่งอันหาคำตอบไม่ได้”

“ป่าให้กำไรชีวิต คุ้มกับที่ผมดั้นด้นมา”

หนังสือเป็นตำนานเพราะเป็นคำบอกเล่าด้วยศิลปะการเล่าเรื่อง ศิลปะทุกแขนงล้วนคือคำบอกเล่าถึงชีวิตจิตวิญญาณอันดำรงอยู่ในสรรพสิ่ง

แต่สิ่งที่ดำรงอยู่อย่างน่าเจ็บปวดยิ่งคือความขัดแย้งระหว่างงานศิลปะกับผู้สร้างสรรค์งานศิลปะคือศิลปินทั้งหลาย ขณะศิลปะปรากฏคุณค่าอยู่ในตัวมันเองเต็มที่ แต่ชีวิตของศิลปินผู้สร้างงาน ดูจะอาภัพอัปภาคย์สิ้นดี

โดยเฉพาะล่าสุดคือชีวิตของสังคีต จันทนะโพธิ์

“…ผมก็ไม่คิดว่าเราจะรอดมาถึงวันนี้ได้ แค่ ป.4 ยังไม่คิดว่าจะได้เรียนจบ บางครั้งหิวจนทนไม่ไหว ตอนอยู่บ้านพี่ป้าน้าอา ผมมีวิธีเปิดฝาหม้อข้าวโดยที่ไม่ให้มีเสียงได้ เป็นความรู้ติดตัวมาจนกระทั่งบัดนี้ เพราะถ้าเปิดดังเขาจะรู้ว่าเราขโมยข้าวกิน แต่มันทนไม่ได้มันหิว…”

วันที่ให้สัมภาษณ์นั้นสังคีต จันทนะโพธิ์ อายุ 83 ปี ซึ่ง “ยังคงเขียนหนังสือเกือบทุกวันจนนิ้วเป็นแผลแต่ก็ไม่อาจเลิกเขียนได้…”

วันนี้สังคีต จันทนะโพธิ์ อายุ 96 ปี นอนอยู่โรงพยาบาล

 

งานศิลปะนั้นเป็นดอกผลของสังคมที่งอกงามจากต้นไม้วัฒนธรรมอันเป็นองค์รวมทั้งหมดของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ภาษิตจีนมีว่า “หวังผลอย่าเด็ดดอก”

ด้วยในดอกนั้นมีทั้งเกสรและเมล็ดที่จะแตกเป็นต้นอ่อน ขยายพันธุ์เติบโตต่อตามวิวัฒนาการสืบไป

บ้านเมืองเราดูจะให้ความสนใจต่อเรื่องเหล่านี้น้อยนัก เรามักชื่นชมกับผลโดยไม่คำนึงถึงเหตุเท่าที่ควร

วงจรของงานศิลปะเป็นเช่นใด

วงจรของต้นไม้ก็เป็นเช่นนั้น คือ

รากทุกรากให้เสบียงเลี้ยงแม่ไม้

ใบทุกใบให้ร่มห่มสาขา

ต้นทุกต้นให้ดงพงพนา

ป่าทุกป่าให้ถิ่นแผ่นดินดี

แผ่นดินจะดีได้ด้วยวงจรธรรมชาตินี้ก็จริง หากไร้การดูแลทำนุบำรุงให้ดี ต้นไม้จะงอกงามเป็นป่าได้อย่างไร แผ่นดินก็จะอนาถาเหมือนวรรคกลอนของท่านสุนทรภู่ที่ว่า

“ดังดินไร้เส้นหญ้าอนาทร”

ชีวิตศิลปินจึงเหมือนคำของถวัลย์ ดัชนี ดังยกมาที่ว่า

“ข้าจะจางไป เมื่อตะวันลบแสงดาว”

ขอ “ปรบมือ โปรยดอกไม้” ให้แก่สามศิลปินเมืองเหนือผู้ยืนหยัดสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยชีวิต •