ด๊ำดำ (1) / จ๊าจ๋ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๊าจ๋ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

ด๊ำดำ (1)

 

‘ดํา’ คือสีอย่างถ่าน มีคำบรรยายหลากหลาย เช่น ดำเป็นมัน ดำทะมึน ดำมิดหมี ใช้ในเชิงเปรียบเทียบ เช่น ดำเหมือนม่าเหมี่ยว ดำเป็นเหนี่ยง ฯลฯ

บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” รัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายถึงความโกรธของพ่อตาที่มีลูกเขย 6 คน แต่ไม่ได้อย่างใจสักคน สู้เขยเล็กที่แสนจะชังน้ำหน้ามิได้

“เมื่อนั้น ท้าวสามลเคืองขุ่นหุนหัน

จึงว่าไปแก่หกเขยนั้น กูจะใคร่ฆ่าฟันบั่นรอน

แต่ไอ้เงาะทรพลคนอัปรีย์ มันยังดีกว่ามึงมาถึงก่อน

เออนี่มิไปเที่ยวจอดนอน ไม่รู้เร็วรู้ร้อนเจ้าคนดี

บ่าวไพร่ไปด้วยก็หนักหนา ได้ปลามาไม่พอจะเซ่นผี

กูคิดนิดเดียวดอกครั้งนี้ หาไม่ชีวีจะบรรลัย”

เมื่อทรงเห็นสภาพจมูกแหว่งเหวอะหวะของหกเขย (ที่ถูกพระสังข์เชือดปลายแลกเปลี่ยนเป็นปลา) ก็ซักไซ้ไล่เลียงสาเหตุ หกเขยเอาตัวรอดด้วยการ

“แกล้งทูลเลี้ยวลดปดพ่อตา แต่เช้าข้าก็ไปไม่เชือนแช

ลงตีอวนฉุดลากที่ปากลัด ปักเป้ากัดจมูกลูกเป็นแผล

ในแม่น้ำลำคลองทั้งสองแคว ไม่มีปลาเลยแต่สักตัวเดียว

สู้ทนแดดแผดร้อนไปยังค่ำ จนตัวลอกออกดำเหมือนม่าเหมี่ยว”

หกเขยทูลว่าถูกแดดแผดเผาจนเนื้อตัวผิวพรรณดำราวกับตัวม่าเหมี่ยว

 

คําหารือเกี่ยวกับ ‘ม่าเหมี่ยว’ หรือ ‘ม่าเหมียว’ อยู่ในหนังสือ “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ” เล่ม 4 ดังนี้

พระยาอนุมานราชธน หรือ ‘เสฐียรโกเศศ’ ทูลเสนอความเห็นว่า

“ม่าเหมียว ว่าเปนมูลของยางตัวม่าเหมียว สำหรับทาให้ผมตั้ง ข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นหาที่มาของคำม่าเหมียวหลายครั้งยังไม่พบ คงจะเพี้ยนเสียงไปไกล จึงหาในมลายูและในฮินดูสตานีไม่ได้ ตัวม่าเหมียว ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นเขาใส่ขวดโหลไว้ เป็นแมลงตัวดำๆ”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีพระดำริในทิศทางเดียวกัน

“ตัวม่าเหมียว ฉันก็เคยเห็น เปนตัวแมลงเล็กๆ ดำๆ อย่างท่านว่า เข้าใจว่ามาแต่เมืองแขก เขาเอาขี้มันหรือตัวมันอย่างใดอย่างหนึ่งผสมลงไปกับเครื่องหอม”

 

กวีใช้สำนวน ‘ดำเป็นเหนี่ยง’ ในวรรณคดีหลายเรื่อง บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ตอนเข้าเฝ้าท้าวดาหา นางในวังทั้งสาวทั้งแก่ตั้งตารอดูระตูจรกา พากันวิจารณ์อย่างไม่ไว้หน้าว่าไม่สมควรครองคู่กับนางบุษบา

“บัดนั้น ฝูงสนมนารีศรีใส

ทั้งเฒ่าแก่ชะแม่กำนัลใน ต่างไปชิงช่องมองเมียง

ครั้นเห็นจรกาเข้ามาเฝ้า บรรดาเหล่าชะแม่แซ่เสียง

บ้างตำหนิว่าหน้าเพรียง ดูดำดังเหนี่ยงน่าชังนัก”

หน้าตาจรกาชวนเมินมากกว่าชวนมอง มี ‘หน้าเพรียง’ หรือใบหน้าปรุพรุนเพราะฝีดาษ ทิ้งรอยแผลน่าเกลียดเป็นจุดๆ ขรุขระปุ่มๆ ป่ำๆ ไม่เรียบเหมือนหน้าตาคนทั้งหลาย ร้ายกว่านั้นผิวที่ดำเหมือนเหนี่ยง ยิ่งเพิ่มปริมาณความอัปลักษณ์ยกกำลังสอง

หนังสือ “สำนวนไทย” ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) อธิบายว่า

“เหนี่ยง เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายด้วงมะพร้าวตัวดำเมื่อม อยู่ในน้ำเป็นฝูงๆ ตามแปลงควายในทุ่งนาก็มี”

สอดคล้องกับความหมายตาม “พจนานุกรมไทย” ของสำนักพิมพ์รวมสาส์น

“เหนี่ยง น. สัตว์จำพวกหนึ่ง ตัวขนาดด้วงมะพร้าวอยู่ตามปลักควายและในน้ำ ตัวสีดำสนิท จึงเปรียบเทียบคนผิวดำหรือมอมแมมสกปรกว่า ตัวดำอย่างเหนี่ยง”

สำนวน ‘ดำเป็นเหนี่ยง’ มีบันทึกไว้ในหนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ สมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกันว่า

” , คือสิ่งของทั้งปวงที่มีศีดำ, เหมือนอย่างศีเหนี่ยงนั้น” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

‘เหนี่ยง’ เป็นแมลงที่รู้จักกันทั่วไป สำนวน ‘ดำเป็นเหนี่ยง’ นำเอาสีตัวเหนี่ยงมาเทียบ สุนทรภู่เล่าถึงสาวบางคูเวียงผิวดำปิ๊ดปี๋ราวกับตัวเหนี่ยงในนา ไม่ขาวผ่องเป็นยองใยเหมือนสาวชาววังไว้ใน “นิราศพระประธม” ว่า

“บางคูเวียงเสียงเงียบเชียบสงัด เป็นจังหวัดเวียงสวนล้วนพฤกษา

ดูรูปนางบางคูเวียงเหมือนเหนี่ยงนา ไม่เหมือนหน้านางนั่งในวังเวียง”

ทั้งจรกาและสาวบางคูเวียง ถ้ากวีบรรยายแค่ตัวดำเฉยๆ ก็จะไม่รู้สึกว่าดำเท่าใดนัก การเน้นความดำสนิทโดยนำตัวเหนี่ยงมาเปรียบเทียบทำให้เห็นเด่นชัดถึงผิวดำเมี่ยมของหนุ่มจรกาและสาวบางคูเวียง ไม่ว่าจะดำคล้ำมาแต่เกิด หรือดำเพราะถูกแดดถูกลมก็เรียกว่า ‘ตัวดำเป็นเหนี่ยง’ ทั้งนั้น

ที่ตัวเหนี่ยงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คงจะเนื่องมาจากเป็นแมลงที่กินได้ “สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน” โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่ม 17 ให้รายละเอียดว่า

“แมลงเหนี่ยงนิยมนำมารับประทานกันในภาคเหนือและภาคอีสาน โดยการนำมาทอด คั่ว ทำห่อหมก แกง มีชื่อท้องถิ่นว่า แมลงเหนี่ยง แมงงอดง้ำ แมงข้าวเกลี้ยง เป็นแมลงปีกแข็งพวกด้วงน้ำที่คล้ายแมลงตับเต่ามาก แมลงเหนี่ยงมีลำตัวสีดำ รูปไข่ ตัวโค้งนูนมากกว่าแมลงตับเต่า มีหนวดมาก ลักษณะดูคล้ายเส้นด้าย ปากยาวแหลมพับอยู่ใต้อก ปลายเขาคู่กลาง และหลังมีขนเป็นแพ เหมาะสำหรับว่ายน้ำ แมลงเหนี่ยงอาศัยอยู่ในน้ำนิ่ง กินพืชและวัตถุเน่าเปื่อยในน้ำเป็นอาหาร ตัวเต็มวัยชอบไฟ”

ฉบับนี้ดำอย่างแมลง ฉบับหน้าดำอย่างอะไร? •