คอลัมน์ก่อสร้างและที่ดิน : น้ำท่วมที่จอดรถคอนโดฯ

คอลัมน์ก่อสร้างและที่ดิน

ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องแปลกๆ แต่ก็เป็นเรื่องจริง ทุกครั้งที่มีฝนตกหนักในกรุงเทพฯ ปริมณฑลในระยะหลัง จะมีภาพข่าวน้ำท่วมรถยนต์ที่จอดไว้ในที่จอดรถของคอนโดมิเนียมถูกน้ำท่วม ครึ่งคันหรือจมมิดทั้งคัน

ในอดีตถ้ามีเหตุการณ์ฝนตกน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ก็จะมีภาพข่าวเหตุการณ์น้ำนองท่วมถนนและซอย บางพื้นที่ก็ไหลทะลักเข้าบ้านเรือนประชาชน เท่านั้น

แต่ปัจจุบันฝนตกน้ำท่วมที ก็จะมีภาพข่าวน้ำท่วมรถยนต์ในที่จอดรถคอนโดฯ ทุกที ทั้งที่คอนโดมิเนียมเป็นอาคารสูง อย่างครั้งล่าสุดวันศุกร์ที่ 13 และเสาร์ที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมาก็มีข่าวน้ำท่วมรถยนต์ในที่จอดรถคอนโดฯ ย่านซอยอารีย์ ถนนพหลโยธิน

กรุงเทพฯ ปริมณฑลอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกปีก็จะเจอเรื่องน้ำเหนือหลาก น้ำทะเลหนุน และน้ำฝนที่ตกลงจากฟ้า เป็นเรื่องธรรมชาติ จะย้ายเมืองหนีคงเป็นไปไม่ได้

เรื่องของเรื่องจึงอยู่ที่เราจะเตรียมตัวและปรับตัวให้อยู่ได้กับสภาพธรรมชาติเช่นนี้ได้อย่างไร

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอรวมทั้งเหตุการณ์ล่าสุด คือ ไม่ได้มีการเตรียมตัว และไม่มีกระบวนการบริหารจัดการใดๆ เลย

ไม่มีการขุดลอกท่อระบายน้ำสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยก่อนเข้าหน้าฝน ไม่มีการพร่องน้ำในคูคลองต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝน ทั้งที่รู้ว่าพายุจะมาล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ อุโมงค์ระบายน้ำที่สร้างไว้มูลค่ามหาศาลก็ไม่พร้อมใช้งานเมื่อน้ำมา

ฝนตกน้ำท่วมทีก็โทษเพราะฝนตกหนัก เพราะประชาชนทิ้งขยะทำให้ทางระบายน้ำอุดตัน ระบายออกไม่ทัน หลังจากนั้นก็ทำป้ายโฆษณาตามป้ายรถเมล์ย้ำอีกทีว่า ทิ้งขยะท่ออุดตันทำให้น้ำท่วม

ง่ายดี

 

พื้นที่จอดรถยนต์กับคอนโดมิเนียมนั้น มีกฎหมายเกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับ

หนึ่ง กฎหมายอาคารชุด กำหนดให้ห้องชุดขนาด 60 ตารางเมตร ในกรุงเทพฯ ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน ถ้าเป็นนอกกรุงเทพฯ 60 ตารางเมตร 2 ห้อง ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน

สอง กฎหมายควบคุมอาคารขนาดใหญ่ กำหนดว่าพื้นที่อาคาร 120 ตารางเมตรในกรุงเทพฯ ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน ถ้าเป็นนอกกรุงเทพฯ 240 ตารางเมตรต้องมีที่จอดรถ 1 คัน

แต่ในความเป็นจริงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันขนาดห้องชุดส่วนใหญ่มักมีขนาดประมาณ 20 กว่าตารางเมตรถึง 30 ตารางเมตร เพื่อให้มีราคาขายต่อห้องที่คนชั้นกลางกินเงินเดือนซื้อได้ตั้งแต่ระดับราคา 1 ล้านกว่าบาทในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ ปริมณฑล และระดับราคา 3-4 ล้านบาทต่อห้องในเขตพื้นที่ชั้นกลาง

ทั่วไปจึงจะมีที่จอดรถประมาณ 30% กว่าๆ ของจำนวนยูนิตห้องชุด เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและแข่งขันในตลาดได้ บางโครงการพื้นที่จอดรถมากกว่านี้ แต่ราคาห้องชุดก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกันไป

แล้วแต่ผู้ซื้อเป็นผู้ตัดสินใจเลือก

ผู้ซื้อบางกลุ่มเลือกห้องชุดราคาที่ไม่แพง เผื่อหาที่จอดรถเอาตามตรอกซอยรอบๆ ก็จะเกิดปัญหากับชุมชนข้างเคียง

นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางบริษัทสู้กับราคาที่ดินแพง โดยทำที่จอดรถลงไปในชั้นใต้ดิน บางครั้งฝนตกหนักโดยที่ไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้าจากหน่วยงานใด ก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมรถมิดคันดังที่เป็นข่าว

ปัญหาจึงพันกันเป็นงูกินหาง เรื่องรถติด เรื่องที่จอดรถ และฝนตกน้ำท่วม ยังไม่มีนโยบายสาธารณะใดๆ ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ยังไม่มีหน่วยงานใดหรือกลุ่มหน่วยงานใดที่จะเป็นเจ้าภาพหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้

 

ทุกวันนี้ มีรถไฟฟ้าให้บริการในกรุงเทพฯ แล้วบางสาย แต่โครงการคอนโดมิเนียมใกล้สถานีรถไฟฟ้ายังต้องสร้างที่จอดรถตามที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้ ราคาที่ดินติดสถานีก็แพง และต้องสร้างที่จอดรถตามกฎหมายกำหนด ราคาห้องชุดก็ยิ่งสูงตาม ผู้ที่ได้รับความสะดวกคือคนที่มีเงินมากหน่อย มีทั้งรถยนต์ ทั้งคอนโดมิเนียมใกล้สถานีรถไฟฟ้า

ส่วนคนเงินน้อยก็ต้องเข้าไปอยู่คอนโดฯ ในซอยลึก ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ออกมาต่อรถเมล์หรือรถไฟฟ้า

ถ้ารัฐบาลมีนโยบายออกกฎหมายห้ามคอนโดฯ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสร้างที่จอดรถ เพื่อให้คนไม่มีรถได้อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า น่าจะช่วยคนไม่มีรถเดินทางสะดวกและลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนนได้บ้างนะ

แต่ไม่แน่ใจว่าเรื่องแบบนี้หน่วยงานราชการจะคิดได้จัดการได้ เพราะแค่การเตรียมตัวรับมือฝนตกน้ำท่วมไม่ได้ซับซ้อนอะไร ยังทำไม่ได้เลย