10 เกร็ดน่ารู้…เกี่ยวกับเอเปค 2022/บทความพิเศษ ณัฐภาณุ นพคุณ

บทความพิเศษ

ณัฐภาณุ นพคุณ

รองอธิบดีกรมสารนิเทศ

รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

Twitter @NatapanuN

 

10 เกร็ดน่ารู้…

เกี่ยวกับเอเปค 2022

1.ไทยเคยจัดการประชุมเอเปคมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ปี 2535 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ต่อมาครั้งที่ 2 คือในปี 2546 ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคที่มีผู้นำจากหลายประเทศมหาอำนาจเข้าร่วม ทำให้ไทยมีบทบาทและผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของไทยในเวทีโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ ในปี 2546 ที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วนั้น ได้ใช้หอประชุมกองทัพเรือในการจัดเลี้ยง ซึ่งสามารถมองเห็นพระบรมมหาราชวังได้และมีการจัดแสดงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจำลอง

ส่วนในปีนี้ ไทยจะต้อนรับผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยจะเผยแพร่คุณค่าและเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างงดงามเช่นกัน

2. เอเปค 2565 มี “ชะลอม” เป็นโลโก้ โดยเป็นผลงานของนายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชนะเลิศการประกวดจัดโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นสัญลักษณ์ของการค้าขายของไทยในสมัยโบราณ สื่อถึงการค้าที่เปิดกว้างร่วมกันของสมาชิกเอเปค และเส้นไม้ไผ่สาน 21 ช่องก็เป็นตัวแทนสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจด้วย

โดยโลโก้ชะลอม มีสีน้ำเงิน สื่อถึง Open การเปิดกว้าง ชมพู สื่อถึง Connect การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง สีเขียว สื่อถึง Balance ความสมดุล ตามธีมหลักของเอเปคปีนี้ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล”

3. เอเปคจะเป็นเวทีการประชุมเพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและความร่วมมือในด้านต่างๆ การประชุมเอเปคจะเรียกสมาชิกว่า “เขตเศรษฐกิจ (economy)” โดยให้ความสำคัญกับความเป็นเขตเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ฮ่องกงและจีนไทเปมีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงจึงเป็นสมาชิกเอเปคด้วย

4. นอกจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่จัดประชุมเอเปคในกรอบที่เกี่ยวข้องในปีนี้ด้วย เช่น กระทรวงพานิชย์จัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค

กระทรวงสาธารณสุขจัด APEC Health Week กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารและป่าไม้เอเปค

รวมทั้งกิจกรรมอบรมทักษะและเสวนาระดับต่างๆ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาอาชีพดอกไม้ประดับ (International Workshop on Development of Ornamental Plant and Flower Clusters for Sustainable Careers and Competitiveness of SMEs in APEC) จัดโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

และการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเสริมศักยภาพความเป็นผู้นำแก่บุคลากรวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเปค (Inclusive Science Leadership Program for Early-to Mid-Career Researchers in APEC) จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น

ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่กลุ่มผู้ประกอบการ และผู้ปฏิบัติการวิจัย ได้ประโยชน์อย่างรูปธรรม

5. การจัดการประชุมเอเปคในระดับต่างๆ กระจายไปจัดในต่างจังหวัด เช่น การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสคลัง (SFOM) และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM) ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ จ.ขอนแก่น การประชุมระดับรัฐมนตรีป่าไม้เอเปค และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM) ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

โดยมีผู้แทนเดินทางมาเข้าร่วมในแต่ละประชุมหลายพันคน

และยังมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ OTOP สินค้าพื้นเมือง งานหัตกรรมท้องถิ่น และอัตลักษณ์ของชาวล้านนา เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยในช่วงดังกล่าวด้วย

6.ประเทศไทยมีแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจโดยตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อมุ่งสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับทิศทางของโลก แนวคิดนั้นคือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy Model ซึ่งกำลังผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรมในเวทีเอเปคเป็นครั้งแรกด้วย

การประชุมเอเปคจึงจะผลักดันให้มี “Bangkok Goals” หรือเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำแนวคิด BCG มาสานต่อโดยวางเป้าหมายให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การค้า การลงทุน การจัดการทรัพยากรมีความยั่งยืน การจัดการของเสียมีประสิทธิภาพ และเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

7. เอเปคยังเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์หนึ่งเดียวในระดับภูมิภาค ที่ไทยและประเทศปาปัวนิวกินีร่วมเป็นสมาชิก โดยมีการเจรจาทวิภาคีระหว่างกันในช่วงประชุมเอเปค เช่น ช่วงเอเปค 2555 หารือกันที่เมืองวลาดิวอสต็อก รัสเซีย หรือช่วงเอเปค 2556 หารือกันที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย เป็นต้น และปาปัวนิวกินีได้เป็นเจ้าภาพเอเปคเมื่อปี 2561 มาก่อนหน้านี้

8. การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ นอกจากจะเป็นการประชุมระหว่างประเทศระดับใหญ่ครั้งแรกๆ ที่จัดแบบกายภาพ (physical) หลังจากการประชุมในรูปแบบออนไลน์มาหลายปี ยังจะเป็นการประชุมแนวสีเขียว (Green Meeting) คือ การนำทรัพยากรมา reuse reduce และ recycle เช่น ตกแต่งบริเวณงานด้วยกระดาษรีไซเคิล หรือนำกระดาษที่ใช้ในงานมาผลิตเป็นชั้นวางหนังสือ เป็นต้น

สอดคล้องกับโมเดล BCG ที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และจะมีการนับการประหยัดคาร์บอนและไม่ผลิตอาหารเหลือ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) บริษัท SCG ปตท. OR และบางจาก และพันธมิตรอื่นๆ ร่วมดำเนินโครงการนี้

9. ภาคเอกชน โดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council) มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะต่อผู้นำและภาครัฐในประเด็นที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยมีกรอบการประชุมภาคเอกชนที่สำคัญจัดคู่ขนาน และยังมีบริษัทเอกชนกว่า 30 บริษัท ร่วมเป็นพันธมิตรในด้านต่างๆ เช่น APEC Communication Partners สนับสนุนการรับรู้เอเปคในวงกว้าง และ APEC Mobility Partners นอกจากนี้ กว่า 20 มหาวิทยาลัย และโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครหลายแห่ง ได้ดำเนินโครงการสัมมนาหรือกิจกรรมสร้างการรับรู้ให้แก่นักเรียนนักศึกษาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีนี้

10. เยาวชนเป็นกลุ่มที่สำคัญในกรอบเอเปค โดยมีการสนับสนุนการสร้างการรับรู้และความเข้มแข็งของเยาวชน ในระบบเศรษฐกิจ การสนับสนุน start ups และจะมีโครงการที่เยาวชนมีส่วนร่วม

เช่น โครงการ APEC Voices of the Future โครงการอาสาสมัคร และกิจกรรม เช่น การประกวดภาพถ่าย (APEC Photo Contest) โครงการประกวด “เมนูอาหารอนาคต” รับผู้นำเอเปค ชิงรางวัลชนะเลิศ 1 ล้านบาท จัดโดยกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

#เอเปค 2022

วีดิทัศน์ประมวลกิจกรรม “เรียนรู้โลกผ่านเอเปค เปิดโลกของเด็กให้กว้างไกล”

https://www.facebook.com/ThaiMFA/videos/685437149414903/