คนจน-คนรวย [หน้า 8]

ต้องยอมรับว่า “บัตรคนจน” ของรัฐบาลเป็นการเดินเกมที่ถูกทาง

เป็น “ความต่อเนื่อง” ของการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ

ตั้งแต่การลงทะเบียนคนจน

ใช้กลยุทธ์สร้างแรงจูงใจเพื่อให้คนมาลงทะเบียน

ด้านหนึ่ง ทำให้การช่วยเหลือ “คนจน” ของรัฐบาลไม่ใช่การหว่านมั่วไปทั่ว

แบบใครๆ ก็ใช้ได้

แต่การลงทะเบียนคนจนทำให้มาตรการต่างๆ ของรัฐมุ่งตรงไปยังกลุ่มคนที่ขาดแคลนจริง

แต่อีกด้านหนึ่ง การลงทะเบียนคนจำนวนมาก ทำให้เกิด “คนจนแอบแฝง”

แอบมาลงทะเบียนทั้งที่ “ไม่จน” จริง

อีกมุมหนึ่ง เป็นเรื่อง “ความรู้สึก”

ศักดิ์ศรีของความเป็นคน ที่ถูกแบ่งแยกด้วยคำว่า “คนจน” หรือ “คนมีรายได้น้อย”

ไม่เหมือนกับ “บัตรทอง” และ “30 บาทรักษาทุกโรค”

ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน

“จ่ายน้อย” ก็ยังมีศักดิ์ศรีกว่า “ฟรี”

อย่างไรก็ตาม ทุกมาตรการของรัฐบาลย่อมไม่มีอะไรสมบูรณ์พร้อม

“บัตรคนจน” ของรัฐบาลแม้ยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง

แต่ก็ถือว่าเป็น “ผลงาน” การช่วยเหลือคนจนที่จับต้องได้ที่สุดของรัฐบาลชุดนี้

ต้องปรบมือให้

“บัตรคนจน” ที่ให้ “คนจน” ไปรูดบัตรซื้อของจำเป็นในร้าน “ธงฟ้า” อาจช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนที่ยากจน

คล้ายๆ นโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค”

แต่ไม่ได้ช่วยกระจายรายได้หรือทำให้เงินหมุนในท้องถิ่น

เพราะ “บัตรคนจน” ต้องนำไปรูดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นของ 5 ยักษ์ใหญ่

คือ สหพัฒนพิบูล ยูนิลีเวอร์ไทย คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ พร็อคเกอร์แอนด์แกมเบิล และเบอร์ลี่ ยุคเกอร์

ไม่แปลกที่จะมีคนวิจารณ์ว่าเป็นการช่วย “เศรษฐี”

เพราะเงินก้อนนี้จะกระจุกอยู่กับผู้ผลิตรายใหญ่

ไม่ได้กระจายสู่ท้องถิ่น

มาตรการลดค่าใช้จ่ายแบบนี้จึงสู้มาตรการ “เพิ่มรายได้” ไม่ได้

เพราะถ้าเติมรายได้ในกระเป๋า “คนจน” คนละ 300 บาทต่อเดือนเหมือนกับ “บัตรคนจน”

เขาจะนำไปซื้อสินค้าอะไรก็ได้ในท้องถิ่น

ไม่จำกัดแค่ยักษ์ใหญ่ 5 ราย

หรือแม้แต่ซื้อสินค้าเดียวกันในร้านค้าของคนท้องถิ่น ไม่ใช่ร้านธงฟ้า

เงินก็จะสะพัดในพื้นที่และหมุนหลายรอบ

คำถามก็คือ รัฐจะทำอย่างไรในการ “เพิ่มรายได้” ให้กับเกษตรกรหรือ “คนจน”

ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจรากหญ้าก็ซบเซาเหมือนในวันนี้

ในขณะที่ “คนรวย” รวยขึ้นทุกวัน