คนมองหนัง : “หนังไทย” ในเทศกาลภาพยนตร์โตเกียว 2017 และคำกล่าวอวยพรจาก “อภิชาติพงศ์”

เวียนมาบรรจบอีกครั้งสำหรับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว 2017 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน 2560

ในปีนี้ เทศกาลดังกล่าวจะมีอายุครบรอบ 30 ปีพอดี

โดยไม่กี่วันก่อน เทศกาลภาพยนตร์โตเกียวได้เผยแพร่คลิปคำกล่าวอวยพรของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” นักทำหนังชาวไทย ที่มีต่อทางเทศกาล ซึ่งมีเนื้อหาว่า

“(ภาษาไทย) สวัสดีครับ ผมขอแสดงความยินดีกับวันเกิดปีที่ 30 ของโตเกียว อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม เฟสติวัล ครับ

“(ภาษาอังกฤษ) สำหรับการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปีของทางเทศกาล ผมอยากจะกระตุ้นผู้คน ทั้งในฝั่งคนดูหนังและฝั่งคนทำหนัง ให้ตั้งคำถามและมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ที่จะทำลายเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ รวมถึงขอบเขตขีดจำกัดในการแสดงความคิดเห็นของพวกเรา

“เพราะสำหรับผม ศิลปะภาพยนตร์ยังมีอายุเยาว์วัย ขณะเดียวกัน ช่วงอายุเพียง 30 ปี (ของเทศกาล) ก็ยังนับว่าเยาว์วัยอยู่เช่นกัน ความใฝ่ฝันจึงยังคงเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการ เพื่อจะได้ร่วมแบ่งปันความฝันนี้ให้แก่กัน ในการทำลายขอบเขตข้อจำกัดต่างๆ และการเข้าใจความรู้สึกของแต่ละฝ่ายมากยิ่งขึ้น

“นอกจากนี้ ผมยังเชื่อในเรื่องของการแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งหมายความถึงภาวะที่พวกคุณเดินเข้าไปในโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ และนั่งดูหนังบนจอภาพขนาดมหึมาอยู่เคียงข้างคนอื่นๆ เพื่อซึมซับและเป็นประจักษ์พยานของแสงสว่างที่สาดส่องออกมาจากจอดังกล่าวพร้อมหน้ากัน

“ผมคิดว่าหากมองผ่านแง่มุมข้างต้น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวก็มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ที่จะช่วยผลักดันให้การแบ่งปันประสบการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น ทั้งยังช่วยเชื่อมร้อยผู้คนจากหลายประเทศ หลากช่วงอายุ หลายเป้าหมายชีวิต และหลากความเชื่อ เข้าด้วยกัน

AMSTERDAM, 15 december 2016 – On 15 December 2016, HRH Prince Constantijn of the Netherlands presented the 2016 Principal Prince Claus Award to Thai filmmaker and artist Apichatpong Weerasethakul on 15 December. Five additional Prince Claus Awards were presented to: Kamal Mouzawak (Lebanon), PeaceNiche | The Second Floor (T2F) (Pakistan), Bahia Shehab (Egypt/Lebanon), La Silla Vacía (Colombia) and Vo Trong Nghia (Vietnam). The Prince Claus Awards Ceremony was held in the presence of members of the Dutch Royal Family at the Royal Palace Amsterdam. The programme included performances by Kinan Azmeh and Kevork Mourad. PHOTO: Frank van Beek

“ดังนั้น ผมหวังว่าทางเทศกาลจะยังคงมุ่งมั่นเพื่อยกระดับการทำงานตรงจุดนี้ให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ และขอให้เทศกาลดำรงอยู่ต่อไป อย่างน้อยที่สุด ก็อีก 100 ปี ขอบคุณครับ”

สําหรับในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวประจำปีนี้ มีหนังไทยถูกคัดเลือกไปฉายมากถึง 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

“มา ณ ที่นี้” หรือ “Someone from Nowhere” หนังยาวลำดับที่สองของนักเขียนดัง “ปราบดา หยุ่น” ซึ่งจะได้เข้าประกวดในสาย “เอเชี่ยน ฟิวเจอร์” อันเป็นสายการประกวดรอง ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผลงานของคนทำหนังหน้าใหม่ชาวเอเชีย

(ช่วงหลัง หนังที่ชนะการประกวดสายดังกล่าวมักไปได้ดีและไกลในระดับนานาชาติ นับตั้งแต่ “มหาสมุทรและสุสาน” ของ “พิมพกา โตวิระ” เมื่อสองปีก่อน และ “Birdshot” ของ “มิคาอิล เรด” เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกลายมาเป็นตัวแทนจากฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำปีหน้า)

หนังเรื่องใหม่ของปราบดาจะถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครสาววัย 20 กว่าๆ ซึ่งยามเช้าอันแสนสุขของเธอได้พลิกผันไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อมีชายบาดเจ็บรายหนึ่งโผล่เข้ามาในห้องพัก

ภาพยนตร์แนวดราม่า-ลึกลับเรื่องนี้มีจุดเด่นอยู่ตรงการถ่ายทำ ซึ่งจะดำเนินไปในห้องพักเพียงห้องเดียว

ลําดับถัดมา ได้แก่ “สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย” ผลงานภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมของ “วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์” ซึ่งเริ่มต้นออกเดินทางในเทศกาลระดับนานาชาติตั้งแต่เมื่อราวห้าปีก่อน

หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดวิถีชีวิตอันลักลั่น ซับซ้อน และกลับไม่ได้ไปไม่ถึงของคนอีสานสมัยใหม่ (ที่ไม่สามารถถูกแปะป้ายง่ายๆ ว่าเป็น “พวกโง่-จน-เจ็บ” หรือ “ตัวตลกในทีวี” อีกต่อไป) ผ่านกระบวนการประกบวาง “เรื่องจริง” ให้ดำรงอยู่เคียงข้าง “เรื่องแต่ง”

ณ ช่วงท้าย หนังยังมีฉากหลังรางๆ เป็น “ภาวะตกค้าง” ของเหตุการณ์ความรุนแรงกลางเมืองหลวงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

นี่คืออีกหนึ่งความทรงจำที่มิอาจแยกขาดออกจากอัตลักษณ์แห่งชุมชนจินตกรรมของชาวอีสานร่วมสมัย

“สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย” จะถูกนำกลับมาฉายอีกครั้งในโปรแกรม “CROSSCUT ASIA” ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว 2017

ปีนี้ โปรแกรมดังกล่าวจะนำเสนอผลงานของผู้กำกับฯ รุ่นใหม่ที่น่าสนใจจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แตกต่างจากสามปีแรกที่จะโฟกัสไปยังภาพยนตร์ของแต่ละประเทศเป็นรายๆ ไป เริ่มจากไทย (ปี 2014), ฟิลิปปินส์ (ปี 2015) และอินโดนีเซีย (ปี 2016) ตามลำดับ

จุดน่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ หนังที่ได้เข้าฉายในโปรแกรม CROSSCUT ASIA ประจำปี 2017 จะต้องถูกแนะนำ/เลือกสรรมาโดยผู้กำกับฯ ระดับบิ๊กเนมของอาเซียน

และผู้แนะนำ “สิ้นเมษาฯ” ให้แก่เทศกาลหนังโตเกียว ก็คือ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”

เรื่องสุดท้าย คือ หนังลูกครึ่งสิงคโปร์-ไทย ที่เดินสายมาแล้วหลายเทศกาลทั่วโลก อย่าง “ป๊อปอาย มายเฟรนด์” ผลงานโดย “เคิร์สเตน ธาน”

หนังเกี่ยวกับเมืองไทย-ช้างไทย ที่ถ่ายทำในประเทศไทย และใช้นักแสดงไทยเรื่องนี้ เพิ่งได้รับการเสนอชื่อให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศประจำปีหน้า ในฐานะตัวแทนจากประเทศสิงคโปร์

และจะเข้าฉายในโปรแกรม “CROSSCUT ASIA” เช่นเดียวกับหนังของวิชชานนท์

สำหรับผู้แนะนำ “ป๊อปอาย มายเฟรนด์” ให้เข้าฉายในโปรแกรมดังกล่าว ก็ได้แก่ “เอริก คู” ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวสิงคโปร์

นอกจากภาพยนตร์ไทยแล้ว ยังมีหนังอาเซียนน่าสนใจอีกหลายเรื่อง ซึ่งจะได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว 2017

หนึ่งในนั้นคือ “AQ?RAT” หรือ “We the Dead” ผลงานล่าสุดของ “เอ็ดมันด์ โหย่ว” คนทำหนังรุ่นใหม่ฝีมือดีจากมาเลเซีย (ผู้เคยบรรจุฉากละครสั้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” ลงไปในหนังยาวเรื่องแรกของเขา “River of Exploding Durians”) ที่จะได้เข้าฉายในสายการประกวดหลัก

หนังเล่าเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งภาวะอดอยากขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้ผลักดันให้เธอต้องหันไปทำงานในธุรกิจค้ามนุษย์

หนังใหม่ของเอ็ดมันด์จะพูดถึงประเด็นการเดินทางเข้ามายังประเทศมาเลเซียของกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญา ไปพร้อมๆ กับการสำแดงตนเป็นบทกวีที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงการเดินทางในทางจิตวิญญาณของสตรีผู้หนึ่ง