กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (8)/มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (8)

 

กิติมา อมรทัต

กับการศึกษาวรรณกรรมอินเดีย

ผ่านนวนิยายร้อยหิวของภวานี ภัฏฏาจารย์

และเรื่องสั้นธุลีดิน

หลังจากนำเสนอผลงานแปลของกิติมา อมรทัต ว่าด้วยผลงานแปลวรรณกรรมอินเดียไปแล้ว ผมก็มาพบหนังสือของกิติมา อมรทัต อีกบางเล่มที่กล่าวถึงนักเขียนอินเดียคนสำคัญอย่างภวานี ภัฏฏาจารย์ ซึ่งผมขอนำเสนอดังนี้

ร้อยหิว (So Many Hungers) เป็นนวนิยายเพื่อชีวิตโดยนักเขียน “คนขี่เสือ” นั่นคือ ภวานี ภัฏฏาจารย์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดวงกมล จำกัด ซึ่งมีสุข สูงสว่าง ผู้อำนวยการ เป็นผู้จัดพิมพ์จำหน่าย สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ มนัส แต้ ออกแบบปก

สำนักพิมพ์ดวงกมล เป็นอดีตสำนักพิมพ์ที่ผลิตวรรณกรรมของโลกชั้นแนวหน้าสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่องในยุคแสวงหา ร้อยหิวเป็นชุดวรรณกรรมเอเชียในปี 2521 จำนวนพิมพ์ 4,000 เล่ม

ที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าเรื่องราวใน ร้อยหิว ก็คือความเป็นภวานี ภัฏฏาจารย์ ที่กิติมา อมรทัต ได้กล่าวถึงนักเขียนคนสำคัญของอินเดียคนนี้เอาไว้ว่า ภวานี ภัฏฏาจารย์ เป็นหนึ่งในบรรดานักเขียนอินเดียผู้เขียนนวนิยายเป็นภาษาอังกฤษ มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในรุ่นก่อน เรื่องราวที่ภวานีเขียนมักจะเกี่ยวพันกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆ ในระยะเวลานั้น หรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในประเทศของเขาสมัยนั้น

ภวานี ภัฏฏาจารย์ เป็นนักเขียนอินเดียที่มีความสนใจพิเศษในเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ความเดือดร้อนของประชาชนในแคว้นเบงกอล อันเป็นผลมาจากการต่อสู้ และจากความทุกข์ยาก อดอยากที่มนุษย์ด้วยกันสร้างขึ้น รวมทั้งเสนอปัญหาต่างๆ ที่อินเดียต้องเผชิญภายหลังจากกู้อิสรภาพได้สำเร็จ

นวนิยายทุกๆ เรื่องภวานีเขียนขึ้นอย่างสมจริง ลึกซึ้ง และเห็นอกเห็นใจผู้คนซึ่งได้รับความทุกข์ทรมาน อันเนื่องมาจากความอดอยากหิวโหยตามแบบฉบับของเขา

 

ภวานี ภัฏฏาจารย์ เกิดที่เมืองรากาลปูร แคว้นพิหาร เมื่อ ค.ศ.1906 จบการศึกษาขั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยปัตนะ แล้วไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน จนได้รับปริญญาเอก

เขาเคยเป็นทูตข่าวสารที่สถานทูตอินเดียในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร เดอะ อิลลัสเตรทเตด วิกลี่ ออฟ อินเดีย ที่กรุงบอมเบย์ (มุมไบในปัจจุบัน) เป็นที่ปรึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่กรุงเดลี เคยไปแสดงปาฐกถาที่นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และเยอรมนีตะวันตก โดยคำเชิญของรัฐบาลเหล่านั้น

เคยได้รับรางวัลผลงานด้านอักษรศาสตร์ของอินเดีย จากนวนิยายเรื่องเงาจากลาดัก (The Shadow from Ladakh) รวมทั้งเคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาวายและมหาวิทยาลัยวอชิงตัน

ภวานี ภัฏฏาจารย์ มีผลงานทั้งในทางเรื่องสั้นและนวนิยาย นอกจากนั้น ยังเป็นผู้แปลและบรรณาธิการจัดระเบียบเรื่องของรพินทรนาถ ฐากูร เขียนเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ของอินเดียและชีวิตของท่านมหาตมะคานธี ไว้ไม่น้อย

จำนวนผู้อ่านหนังสือของเขาในต่างประเทศมีมากกว่าผู้อ่านในประเทศ นวนิยายบางเรื่องของเขาได้รับการแปลออกเป็นภาษาต่างๆ ในทวีปยุโรป ถึง 23 ภาษา และภาษาอื่นๆ อีกมากกว่า 10 ภาษา ซึ่งรวมทั้งภาษาไทยด้วย

ภวานี ภัฏฏาจารย์ เป็นนักเขียนผู้มีความรู้และจิตใจสูงส่ง เขาเขียนเรื่องด้วยความจริงใจ อุทิศตนให้แก่ประเทศชาติ และงานด้านศิลปะวรรณกรรมอย่างแท้จริง

เขามีทฤษฎีเฉพาะของเขาเองและได้นำมาใช้ในการสร้างสรรค์งาน

ซึ่งเป็นผลให้ภวานี ภัฏฏาจารย์ ผลิตงานดีเด่นขึ้นมามากมาย และเป็นผู้สร้างความเกี่ยวโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ระหว่างความเป็นจริงที่เห็นอยู่กับความหวังในอนาคตเช่นเดียวกับรพินทรนาถ ฐากูร และมหาตมะคานธี

 

ผลงานนวนิยายเรื่อง ร้อยหิว หรือ So Many Hungers ซึ่งเป็นนวนิยายเรื่องแรกของเขา ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1947 สองเดือนภายหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช

เหตุการณ์ในนวนิยายเรื่องนี้จึงเกี่ยวพันกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพครั้งนี้อย่างแยกไม่ออก และมีอยู่หลายแห่งในนวนิยายเรื่องนี้กับในเรื่องอื่นๆ ของเขาที่ภวานี ภัฏฏาจารย์ ใช้คำว่า หิว แสดงความหมายหลายอย่าง

เช่น หมายถึงความอดยากหิวโหยของประชาชน และความกระหายที่จะได้รับเอกราช

ความหิวทั้งสองประการนี้ถือเป็นแก่นเรื่องของร้อยหิว โดยเฉพาะ โดยกล่าวถึงทุพภิกขภัยในเบงกอลเมื่อ ค.ศ.1943 และการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียเมื่อ ค.ศ.1942 เป็นแนวเดินเรื่อง

จากนวนิยายเรื่องนี้ ภวานี ภัฏฏาจารย์ ได้แสดงภาพชีวิตตัวละครสำคัญออกเป็นสองแนว คือ เรื่องราวของราหุล นักวิทยาศาสตร์หนุ่มกับครอบครัวของเขา และเรื่องราวของกัชลี เด็กสาวชาวนากับครอบครัวของหล่อน เรื่องราวของราหุลชี้ให้เห็นการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย

ส่วนเรื่องราวอันน่าเศร้าของกัชลีเป็นเสมือนบันทึกที่น่าสลดของเหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นแก่หญิงชายจำนวนมากกว่าสองล้านคนที่ตกเป็นเหยื่อความอดอยากยากแค้น และความอดอยากยากแค้นนั้นก็มิได้เกิดจากการกระทำของพระเจ้าหรือฟ้าดินที่ไหน หากแต่เกิดจากความโลภและความเห็นแก่ตัวของนายทุนนักฉวยกำไร และความไม่สนใจไยดีของรัฐบาลอังกฤษที่เข้ามาครอบครองอยู่เวลานั้น

นวนิยายได้จบลงด้วยภาพการจับกุมผู้คนที่พยายามจะกอบกู้เอกราชให้แก่อินเดีย ราหุลคือตัวแทนของนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชนชั้นหนึ่ง ได้แก่บรรดาปัญญาชนชั้นกลางทั้งหลาย

นวนิยายเรื่องนี้ชี้ให้เห็นความจริงที่ว่าการต่อสู้เพื่อชาติจะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างประชาชนทุกฝ่าย-ทั้งชายและหญิง ทั้งหนุ่มสาวและผู้อาวุโส ทั้งปัญญาชนและผู้ใช้แรงงาน ทั้งคนเมืองและคนชนบท

 

ความหิวอีกอย่างหนึ่งที่ภวานี ภัฏฏาจารย์ ได้แสดงไว้ในนวนิยายเรื่องนี้ก็คือความหิวกระหายที่จะได้เอกราชและอิสรภาพ นอกจากนั้น ยังมีความหิวประการอื่นอีก เช่น ความอดอยากหิวโหย

กัชลีเด็กสาวชาวนาจากหมู่บ้านพารุณี คือตัวแทนของชาวชนบทในแคว้นเบงกอลผู้ต้องเผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายในสมัยที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามาทางตะวันออก และเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้นจากความเห็นแก่ตัวของนายทุนผู้เอาแต่ได้

จากการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศ และการต่อสู้ของประชาชนจำนวนมากเพื่อการมีชีวิตอยู่รอด ผู้เขียนได้แสดงลักษณะอันเรียบง่ายของชาวชนบทออกมา และชี้ให้เห็นว่าผู้คนเหล่านั้นยังมีเอกราชอันสูงส่งอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือเอกราชแห่งจิตใจ

ถึงแม้พวกเขาจะได้รับทุกข์เข็ญอย่างหนัก จนต้องกลายเป็นคนอนาถาอยู่ในเมืองใหญ่ก็ตาม แต่ผู้คนเหล่านั้นก็มิได้สูญเสียความดีงามในจิตใจไปเลย

ฉะนั้น ร้อยหิว จึงมิได้มุ่งแสดงถึงความหิวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงภาพความดีงามและความสูงส่งของชาวชนบท ชีวิตที่เรียบง่ายและทัศนคติที่ผู้คนเหล่านั้นมีต่อชีวิตอีกด้วย

นอกจากความหิวสองประการดังกล่าวมา ยังมีความหิวประการอื่นๆ อีก เช่น ความหิวเงิน และหิวกามารมณ์ ซึ่งภวานี ภัฏฏาจารย์ เคยเขียนไว้ชัดเจนในนวนิยายเรื่อง คนขี่เสือ (He Who Rides a Tiger) ของเขา

ภวานี ภัฏฏาจารย์ ได้บรรยายถึงสภาพของคนชนบทที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจนสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องซัดเซพเนจรเข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง บรรยายความยากแค้นทุกข์เข็ญ ความต่ำต้อยน้อยหน้าของผู้คนเหล่านั้นได้ดีเป็นพิเศษ

เขาไม่ได้บรรยายถึงเรื่องราวเหล่านี้ในฐานะนักสังเกตการณ์ที่ยืนมองดูเหตุการณ์อย่างเย็นชา แต่ได้แทรกความรู้สึกขัดเคือง ความเห็นอกเห็นใจ และไม่ลังเลที่จะกล่าวตำหนิผู้เป็นต้นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมเหล่านั้นขึ้น

ภวานี ภัฏฏาจารย์ ได้กล่าวโทษทั้งรัฐบาลอังกฤษซึ่งปล่อยปละละเลยไม่สนใจไยดีความเดือดร้อนของประชาชน และชาวอินเดียผู้ไร้คุณธรรมที่คอยจ้องตะครุบเอาเหตุการณ์มาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างรุนแรง

เขาเปรียบผู้คนเช่นนั้นว่าเป็นเสมือน “ฝูงแร้งและหมาไน” ที่รอจะกินเนื้อคนที่ตาย และบางครั้งก็ไม่ทันรอให้ตายเสียก่อนด้วยซ้ำ ความโกรธแค้นผู้กดขี่และเห็นแก่ตัว ความจริงใจ และความเห็นอกเห็นใจคนยากคนจนของเขาปรากฏอยู่ทั่วไปตลอดทั้งเรื่อง และปรากฏออกมาด้วยการใช้ศิลปะอันงดงามยิ่ง

 

นักวิจารณ์บางคน เช่น Paul Verghese ได้เคยวิจารณ์ไว้ว่าภาพความอดอยากของภวานี ภัฏฏาจารย์ ดังกล่าว เป็นเรื่องที่เกินความจริง (ดู “Problems of the Indian Novelists in English” , by Paul Verghese, The Banasthali Patrika , No.12) ซึ่งคำวิจารณ์นี้นับว่าไม่ถูกต้อง เพราะสถานการณ์ส่วนใหญ่ที่ภวานีบรรยายไว้ในเรื่องร้อยหิวของเขานั้น ก็คือชีวิตจริงๆ ของผู้คนในอินเดีย แม้ในเวลาปกติหรือแม้ในปัจจุบันนี้ด้วย

เราจะประสบพบเห็นผู้คนซึ่งไร้ที่พึ่ง ไม่มีเสื้อผ้าและอดอยากเสมอมา ผู้คนเหล่านี้จำนวนมากอาศัยอยู่ข้างถนนในเมืองใหญ่ๆ และแม้แต่ในเมืองหลวงของอินเดียเอง ภาพขอทานและเด็กกลางถนนที่เที่ยวคุ้ยเขี่ยหาเศษอาหารตามกองขยะเป็นภาพที่หาดูได้ไม่ยาก

ดังนั้น นวนิยายเรื่องนี้จึงไม่มีเหตุการณ์ตอนไหนที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นไปไม่ได้อยู่เลย

ภวานี ภัฏฏาจารย์ เองก็ยืนยันว่าเขาได้เขียนขึ้นจากรายงานข้อเท็จจริงต่างๆ ดังปรากฏในจดหมายส่วนตัวที่เขาเขียนถึงนาย เค.อาร์. จันทราเศฆารัน ว่าเหตุการณ์ตอนที่หมาไนพยายามจะกินคนเป็นๆ นั้น เขาได้มาจากรายงานข่าว

และเรื่องเด็กทารกดูดนมแม่ที่นอนตายอยู่ตามชานชาลาสถานีรถไฟนั้น ก็เป็นเหตุการณ์ที่เขาเคยพบเห็นด้วยตาเองทีเดียว