Futures Literacy ทักษะวิเคราะห์อนาคต เพื่ออยู่รอด ใน VUCA World/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Futures Literacy

ทักษะวิเคราะห์อนาคต เพื่ออยู่รอด

ใน VUCA World

โลกยุค VUCA หรือ VUCA World เป็นยุคสมัยแห่งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ

ย่อมาจาก Volatile (ความผันผวน) Uncertain (ความไม่แน่นอน) Complex (ความซับซ้อน) และ Ambiguous (ความคลุมเครือ)

การจะอยู่รอดใน VUCA World ต้องมีการวางแผนอย่างดี เพราะโลกนี้เป็นอนิจจัง เพราะอนิจจังคือความไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่โลกหมุนอย่างรวดเร็วเป็นทวีคูณ ทำให้ผู้คนต้องหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง

เครื่องมือหนึ่งซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญถึงในรอบหลายปีมานี้ เพื่อรับมือกับ VUCA World ก็คือ “ทักษะวิเคราะห์อนาคต” หรือ Futures Literacy

 

Dr. Riel Miller ผู้ริเริ่มโครงการ Futures Literacy ให้กับ UNESCO (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization) หรือ “องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” โดย Dr. Riel Miller เป็นผู้บัญญัติศัพท์ Futures Literacy ขึ้น

เพราะ Dr. Riel Miller เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดเพื่ออนาคต (Futures Thinking) เขาจึงจัดตั้ง Futures Literacy Lab และเผยแพร่แนวคิด Futures Literacy ร่วมกับ UNESCO

“Albert Einstein ได้กล่าวเอาไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ดังนั้น จินตนาการควรคงอยู่คู่มนุษย์” Dr. Riel Miller กระชุ่น

นอกจาก “จินตนาการ” แล้ว “ความฝัน” และ “ความหวัง” ก็ควรคงอยู่คู่มนุษย์ด้วย Dr. Riel Miller กล่าว และว่า

“จินตนาการ ความฝัน ความหวัง เป็นสิ่งสำคัญของ Futures Literacy หนึ่งในทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ที่ช่วยเติมพลังความคิด และเพิ่มสมรรถนะเพื่อรับมือกับ VUCA World” Dr. Riel Miller สรุป

โดยส่วนตัว ผมสนใจแนวคิด Futures Literacy ของ Dr. Riel Miller และติดตามความก้าวหน้าในประเด็นดังกล่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากผมเคยทำงานวิชาการด้าน “การวิจัยอนาคต” หรือ Futures Research ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎี “อนาคตศาสตร์” หรือ “อนาคตศึกษา”

“อนาคตศึกษา” ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน คือ

1. ส่วนที่เป็นแนวคิด และทฤษฎี หรือ Perspectives ซึ่งอาจใช้คำรวมว่า “อนาคตนิยม” หรือ Futurism ซึ่งเป็นมุมมอง ความคิด ที่มุ่งเน้นการมองไกลออกไปในอนาคตเพื่อสร้างอนาคต

มองถึงแนวโน้มในอนาคตทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อมองออกไปให้เห็นสิ่งที่จะสร้างให้เกิด หรืออีกนัยคือ พยายามจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าข้อเท็จจริง หรือ Fact ในอนาคต

2. ส่วนที่เป็นระเบียบวิธี หรือ Methodologies เรียกว่า “การวิจัยอนาคต” ซึ่งเป็นเรื่องของวิธีการศึกษาเกี่ยวกับอนาคตที่มิใช่เน้นข้อเท็จจริง แต่เป็นวิธีการศึกษาแนวโน้ม และสิ่งที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต

หรือแนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้างทางเลือกหลายทางที่เป็นไปได้ เกิดเป็นแนวโน้มทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมด

โดยผู้ที่ทำการศึกษาอนาคตอย่างเป็นระบบโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยอนาคตแบบต่างๆ เรียกว่า “นักอนาคตนิยม” หรือ “นักวิจัยอนาคต”

บทบาทของ “นักวิจัยอนาคต” คือการมุ่งเน้นทำนายแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านระเบียบวิธีวิจัยที่เรียกว่า Futures Research หรือ “การวิจัยอนาคต”

จุดมุ่งหมายหลักของ “การวิจัยอนาคต” หรือ Futures Research มีอยู่ว่า อนาคตมิได้อยู่ที่การทำนายที่ถูกต้อง หากแต่อยู่ที่การสำรวจ และศึกษาแนวโน้มที่เป็นไปได้ หรือน่าจะเป็นของเรื่องที่ศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ทั้ง “อนาคตที่พึงประสงค์” และ “อนาคตที่ไม่พึงประสงค์” เพื่อจะหาทางทำให้ “อนาคตที่พึงประสงค์” เกิดขึ้น และป้องกัน หรือขจัด “อนาคตที่ไม่พึงประสงค์” ให้หมดไป

หรือเสาะหาหนทางเผชิญหน้ากับ “อนาคตที่ไม่พึงประสงค์” นั้น อย่างมีประสิทธิภาพ หาก “อนาคตที่ไม่พึงประสงค์” ได้เกิดขึ้นจริง และหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จาก “การวิจัยอนาคต” จึงมีประโยชน์โดยตรงต่อการวางแผน การกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ ตลอดจนถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี

 

เพื่อนำไปสู่การสร้าง “อนาคตที่พึงประสงค์” และป้องกัน หรือขจัด “อนาคตที่ไม่พึงประสงค์” ไม่ให้เกิดขึ้นได้

“การวิจัยอนาคต” ครอบคลุมจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้

1. เพื่อบรรยายทางเลือกในอนาคตที่เป็นไปได้ หรือน่าจะเป็นของกลุ่มประชากรที่ศึกษา

2. เพื่อประเมินสภาพปัจจุบัน เกี่ยวกับความรู้ต่างๆ ที่ผู้ให้สัมภาษณ์มีอยู่ เกี่ยวกับอนาคตที่เป็นไปได้แต่ละทาง

3. เพื่อบ่งชี้ผลกระทบ และผลต่อเนื่อง ที่อาจจะเกิดขึ้นจากอนาคตที่เป็นไปได้ ในแต่ละอนาคต

4. เพื่อเตือนให้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับอนาคตที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

5. เพื่อเข้าใจเบื้องหลังของกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ดังนั้น “การศึกษาอนาคต” หรือ “อนาคตศึกษา” จึงเป็นการทำนายถึงสภาพปัญหา และโอกาสที่เป็นไปได้ของเหตุการณ์ในอนาคตของสังคมด้านต่างๆ เช่น ด้านตัวบุคคล ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการเมือง

อันเป็นผลเนื่องจากสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในประเทศ และภายนอกประเทศ ปัจจัยด้านที่เป็นความคิด หรืออุดมการณ์ และด้านที่เป็นวัตถุ

หรือทั้งจากปัจจัยที่เป็นมนุษย์ และที่มิใช่มนุษย์ ซึ่ง “อนาคตศึกษา” หรือ “อนาคตศาสตร์” เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และจำเป็นอย่างมากในยุค VUCA World นั่นเอง

ดังที่ Dr. Riel Miller ผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดเพื่ออนาคต หรือ Futures Thinking ได้คิดค้นทฤษฎี Futures Literacy ร่วมกับ UNESCO

และก่อตั้ง Futures Literacy Lab ขึ้นเพื่อเผยแพร่แนวความคิดเกี่ยวกับ Futures Literacy ที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในหลายวงการทั่วโลกในเวลานี้

Futures Literacy คือทักษะการใช้ความรู้ และประสบการณ์ ในการคิด หรือจินตนาการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคาดการณ์ถึงโอกาส ทางเลือก และความเป็นไปได้ของ “ฉากทัศน์” ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บนพื้นฐานของข้อมูล สารสนเทศ ในโลกแห่งความเป็นจริง

 

เครื่องมือหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในการนำมาใช้ในการวิเคราะห์อนาคตของ Futures Literacy ก็คือ STEEP

STEEP ย่อมาจาก Social (สังคม) Technology (วิทยาการ) Economic (เศรษฐศาสตร์) Ecological (นิเวศวิทยา) และ Political (การเมือง การปกครอง)

STEEP คล้ายกับการ Simulation หรือ “การจำลองภาพอนาคต” ผ่านการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรอบด้านของ Futures Literacy

Futures Literacy จึงเป็น “การออกแบบอนาคต” หรือ Scenario Building เนื่องจากบางครั้ง อนาคตไม่ได้มีแค่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง

หากแต่มีทางเลือก หรือ “ฉากทัศน์อนาคต” ได้หลากหลายรูปแบบ หรือ Multiple Future Scenarios นั่นเอง

Futures Literacy จึงหมายถึง ทักษะการใช้จินตนาการ หรือ Imagine เพื่อวิเคราะห์แนวโน้ม หรือ Trend Analysis และคาดการณ์อนาคต หรือ Anticipate ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

โดยไม่ยึดติดกับกรอบความคิดแบบเดิมๆ หรือประสบการณ์ที่เคยเผชิญหน้ากับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เช่น “การทำนายอนาคต” หรือ Forecasting ผ่านข้อมูลในอดีตร่วมกับข้อมูลในปัจจุบัน หรือ Nowcasting

เพราะในความเป็นจริงแล้ว “ฉากทัศน์อนาคต” มีตัวแปรที่เรา Unknown หลายตัว ซึ่งเรา “ไม่สามารถรู้ได้” ว่า มันคืออะไร เพราะเหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น “การทำนายอนาคต” จึงต้องใช้จินตนาการค่อนข้างสูง ในการนำตัวแปร Unknown ดังกล่าว เข้าไปใส่ใน Scenarios ต่างๆ

ซึ่งเป็นไปได้ว่า “ฉากทัศน์อนาคต” สามารถเกิดขึ้นได้หลายหลาก Scenarios ดังนั้น การวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อม จึงควรต้องทำแบบ Diversified Portfolio

หรือการกระจายความเสี่ยง เพื่อตอบสนอง และรองรับ “ฉากทัศน์อันหลากหลาย” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวแปร Unknown ที่คาดไม่ถึงนั่นเอง

ฉากทัศน์ VUCA World ในปัจจุบัน นอกจาก COVID-19 เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนจากสภาวะโลกร้อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางพลังงาน อันเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งระดับโลกครั้งใหม่ที่ได้ก่อตัวขึ้น

ซึ่งเราจำเป็นต้องมี Futures Literacy หรือ “ทักษะวิเคราะห์อนาคต” เพื่อให้มวลมนุษยชาติอยู่รอดปลอดภัยใน VUCA World นั่นเองครับ