กรุงเทพฯ จมน้ำ วัดฝีมือ ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ วิกฤตโอกาส-เห็นต่างกระหน่ำทัวร์ลง นักวิชาการตั้งคำถาม ‘ประวิตร’ ร่วมรับผิดชอบ?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

กรุงเทพฯ จมน้ำ วัดฝีมือ ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’

วิกฤตโอกาส-เห็นต่างกระหน่ำทัวร์ลง

นักวิชาการตั้งคำถาม ‘ประวิตร’ ร่วมรับผิดชอบ?

 

ปัญหาใหญ่ที่กำลังทำให้ชาวกรุงเทพมหานครได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักหน่วงในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ลากยาวจนมาถึงตอนนี้ หนีไม่พ้นปัญหาน้ำท่วมจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก จนทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และนำไปสู่ความหวาดหวั่นจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยในปี 2554 ขึ้นมาอีกครั้ง

หลายคนรู้ดีว่าต้นตอหลักของปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ นอกจากปริมาณน้ำฝนที่ตกมามากกว่าปกติ ยังเกิดจากปัญหาที่ถูกหมักหมมมานาน ทั้งเรื่องท่อระบายน้ำที่ไม่เคยถูกลอกทำความสะอาด ปัญหาขยะ หรือแม้แต่การจัดการน้ำ

งานนี้คนที่โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หนีไม่พ้น “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่กำลังถูกท้าทายฝีมือในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในตอนนี้

แม้ผู้ว่าฯ ชัชชาติจะออกไปแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ประชาชนอย่างทันท่วงทีอย่างไร ก็ยังไม่วายโดนกระแสวิจารณ์จากคนบางกลุ่มที่มองว่าผู้ว่าฯ แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ล้มเหลว

ไล่เรียงมาตั้งแต่ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ที่โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ประเมินผลการทำงาน 3 เดือนของผู้ว่าฯ ชัชชาติ หลังเจอฝนถล่ม เชื่อว่าโดนวางงาน โดยยกตัวอย่างขึ้นมา 5 ข้อ ได้แก่

1. ใช้กำลังและทรัพยากรที่มีอยู่ของ กทม. ไม่ได้ประสิทธิภาพ ที่ปรึกษาเขี้ยวลากดิน มัวล้างบางคนเก่า

2. ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เป็น มีแต่คนพยักหน้า มีแต่เดินทำงานเอาหน้า ครับผมแค่ปาก

3. ไม่มีการประสานแผนรับมือน้ำท่วมกับจังหวัดรอบนอก ต่างคนต่างทำ

4.บริหารบุคคลไม่ลงตัว

และ 5. สั่งการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานตามประสาวิศวกร ไม่มีแผนล่วงหน้า หากปีหน้ายังเป็นแบบนี้ เชื่อว่ามีหวังโดนรับเละ

พร้อมกับแนะนำคน กทม. ให้เอาตัวรอดตัวใครตัวมัน

“อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” เลขาธิการพรรคกล้า ตามน้ำด้วย ออกมาขยับต่อเหตุการณ์นี้ ด้วยการเปิดเผยว่า พบความผิดปกติในงบประมาณกรุงเทพฯ ปี 2566 ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่พบว่างบโครงการโยธาทางระบายน้ำถูกตัดงบประมาณทิ้ง แล้วเปลี่ยนเป็นโครงการพาคนไปเที่ยวสัมมนาแทน ซึ่งตนจะรีบส่งเอกสารให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ

ก่อนที่ชัชชาติจะออกมาเคลียร์ข้อครหาดังกล่าว โดยกล่าวว่าไม่น่าเป็นเช่นนั้น และไม่มีการตัดงบจัดการน้ำ งบสัมมนาเป็นเรื่องปกติ ที่ต้องมีการพัฒนาบุคลากรโดยใช้เงินอย่างคุ้มค่า

“ผมว่าไม่น่าตัดงบระบายน้ำทิ้งนะ จริงๆ แล้วงบประมาณได้เพิ่มขึ้นทุกเขต เรื่องตัดงบการบริหารจัดการน้ำผมว่าไม่น่าใช่ ส่วนเรื่องการมีงบสัมมนาก็ธรรมดา ต้องควบคุมการใช้ ได้สั่งการให้รองผู้ว่าฯ ทวิดาดูแล้ว เป็นเรื่องการพัฒนาบุคลากร ต้องให้คุ้มค่าเงิน ไม่ใช่การท่องเที่ยว ก็ขอบคุณที่ช่วยชี้แนะ เชื่อว่าเป็นงบประมาณที่ผ่านสภามาแล้ว หน้าที่ของเราคือเอางบประมาณตรงนี้มาใช้อย่างมีคุณค่า ก็ต้องตรวจสอบ”

นายชัชชาติกล่าว

การออกมาตั้งข้อสังเกตของนายอรรถวิชช์ มี “นายสกลธี ภัททิยกุล” อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ และอดีตรองผู้ว่าฯ ในยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ออกมาวิจารณ์ร่วมและสนับสนุนให้ตรวจสอบ จับตาดูการจัดการงบของ กทม. ใจความช่วงหนึ่งระบุว่า

“ผมเห็นด้วยนะครับว่าต้องช่วยกันจับตาดูงบสัมมนาดูงานของสำนักงานเขตจตุจักร จำนวน 10 กว่าล้านบาท ที่อรรถวิชช์ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ ถ้าจำไม่ผิดตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นรองผู้ว่าฯ และนับย้อนไปถึงตั้งแต่มี ส.ก.แต่งตั้งแทน ส.ก.เลือกตั้ง งบสัมมนาดูงานจะไม่มีไปตั้งไว้ที่เขตครับ แต่จะอยู่ที่สำนักพัฒนาสังคม (ส่วนกลาง) เพื่อใช้สำหรับกรรมการชุมชนเท่านั้นที่จะได้ไปศึกษาดูงาน วัตถุประสงค์ที่ยกเลิกไปก็เพราะงบตัวนี้เป็นที่รู้กันในแวดวงการเมือง กทม.สมัยก่อนว่า เป็นงบสำหรับท้องถิ่นใช้พาหัวคะแนนไปเที่ยว (พูดแบบตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม) อันจะเป็นการได้เปรียบสำหรับคนที่อยู่ในตำแหน่งท้องถิ่นเป็นอย่างมาก น่าจะเพิ่งมาตั้งหลังจบเลือกตั้งผู้ว่าฯ นี้นี่เอง…”

“เห็นด้วยกับอรรถวิชช์นะครับ ว่าในสถานการณ์แบบนี้เงินจำนวนนี้ควรจะนำไปใช้แก้ปัญหาเรื่องระบบสาธารณูปโภคต่างๆ มากกว่าครับ”

รวมถึง “ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ หลังจากที่เงียบไปนาน เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมซึ่งอยู่ในการดูแลของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ก็ได้ออกมาร่วมกระแสกรุงเทพฯ จมน้ำ ด้วยเช่นกัน

รวมไปถึง I.O. ในโลกออนไลน์ที่กระหน่ำข้อความด่าทอการทำงานของชัชชาติอย่างหนัก

 

แม้จะโดนทัวร์ลง แต่ก็ยังมีคนออกตัวสนับสนุนผู้ว่าฯ ชัชชาติ นั่นก็คือ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และอดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่ได้โพสต์ข้อความส่งกำลังใจถึงผู้ว่าฯชัชชาติ ใจความช่วงหนึ่งระบุว่า

“ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. ในปี 2565 นี้ เกิดจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนเกินกว่าขีดความสามารถของระบบระบายน้ำที่มีอยู่ ผมเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังเป็นอย่างดี และยืนยันว่าประชาชนสมควรที่จะไม่พอใจ และติติงระบบระบายน้ำของ กทม. แต่ผมคิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะกล่าวโทษผู้ว่าฯ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเพียงไม่กี่เดือน”

“สิ่งหนึ่งต้องยอมรับกันตรงๆ ก็คือ ศักยภาพในการระบายน้ำของ กทม. มีปัญหาจริงๆ ลำพังแค่การลอกท่อระบายน้ำที่เป็นเส้นเลือดฝอยอาจไม่เพียงพอ ผมคิดว่าสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเร่งทำในปีงบประมาณหน้า คือการทะลวงเส้นเลือดใหญ่ เพื่อให้มวลน้ำสามารถถูกลำเลียงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไหลออกทะเลอย่างเร็วที่สุด”

“อย่างไรก็ตาม ผมยังคงให้กำลังใจท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติอย่างเต็มที่ และยืนยันว่าด้วยระยะเวลาอันจำกัด ท่านผู้ว่าฯ ได้พยายามทำในสิ่งที่สามารถจะทำได้อย่างดีที่สุดแล้ว แต่โจทย์สำคัญคือปีหน้า ยืนยันว่าแค่เส้นเลือดฝอยเอาไม่อยู่แน่ สู้ๆ ครับอาจารย์ ผม และ ส.ก.ก้าวไกล ยินดีช่วยอาจารย์เต็มที่ครับ”

นอกจากนี้ยังมี “นายปลอดประสพ สุรัสวดี” ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมต.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ออกมาเสนอแนะวิธีการจัดการน้ำท่วมตามหลักวิชาการ ส่งไปถึงรัฐบาลและผู้ว่าฯ กทม. เพื่อให้การแก้ไขน้ำท่วมทำได้ดีกว่าเดิม

 

ล่าสุด “ดร.ธนพร ศรียากูล” นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง มติชนทีวี” ถึงเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่กำลังได้รับเสียงวิจารณ์ด้านลบอยู่ในขณะนี้ โดย ดร.ธนพรกล่าวว่า การที่ผู้ว่าฯ จะถูกวางงานถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และควรย้อนกลับไปดูว่าแท้จริงแล้ว คนที่มีหน้าที่แก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นหน้าที่หลักโดยตรงของใครกันแน่

“ต้องยอมรับว่าท่านผู้ว่าฯ ก็เพิ่งเข้ามา กลไกข้างล่างคนอื่นเขาก็จัดไว้อยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติที่คนของใครจะแฮปปี้หรือไม่แฮปปี้กับนายใหม่ คนไหนไม่แฮปปี้มากหน่อยก็วางยากันไป ประเด็นที่สอง ผมคิดว่าเรื่องน้ำท่วมเป็นภาพสะท้อนอยู่อย่างหนึ่งว่าเอาเข้าจริงแล้ว ผู้ว่าฯ กทม.ต้องมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น จริงๆ อำนาจของการบริหารจัดการน้ำไม่ได้อยู่ในมือผู้ว่าฯ กทม.เลย ในเชิงโครงสร้างอำนาจในการบริหารจัดการน้ำมันรวมศูนย์อยู่ในหน่วยงานอื่นทั้งหมด คนที่รับผิดชอบเรื่องน้ำ จริงๆ คือท่านประวิตร วงษ์สุวรรณ เพราะท่านเป็นคนดูแลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีพระราชบัญญัติให้อำนาจชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำ ผู้ว่าฯ กทม. ทำได้อย่างเดียวคือลอกท่ออย่างที่ท่านกำลังทำ”

ดร.ธนพรยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ไม่ว่าผู้ว่าฯ กทม.จะใหญ่มาจากไหน จะได้มากี่ล้านเสียง แต่ในกฎหมายการจัดการน้ำ ผู้ว่าฯ กทม.ตัวเล็กนิดเดียว ส่งเสียงอะไรไปก็เป็นแค่เสียงบ่น ส่วนกลางจะได้ยินหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม.ในครั้งนี้จึงไม่ใช่ความรับผิดชอบหลักของผู้ว่าฯ กทม. เลยแม้แต่น้อย

ดราม่ากรุงเทพฯจมน้ำ เพื่อฉวยกระแสถล่มชัชชาติ ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น สงครามน้ำ (ลาย) ท่วม ยังดำเนินต่อไป แต่สุดท้าย เวลาและผลงานจะเป็นบทพิสูจน์สุดท้ายว่า คนกรุงเทพฯ โชคดี หรือโชคร้าย ที่มีผู้ว่าฯ กทม. ชื่อชัชชาติ