ต่างประเทศ : “เคอร์คุก” สมรภูมิใหม่ปะทุ “อิรักปะทะเคิร์ด”

“เคอร์คุก” เป็นเมืองหลวงของจังหวัดเคอร์คุก ตอนเหนือของประเทศอิรัก อยู่ห่างจากกรุงแบกแดดราว 238 กิโลเมตร และเป็นเมืองซึ่งเต็มไปด้วยทรัพยากรน้ำมันอันมีค่า

เมืองเคอร์คุก เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา ไม่ว่าจะเป็นชาวเคิร์ด ชาวเติร์ก ชาวอาหรับ และชาวอัสซีเรียน อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15

ด้วยเหตุนี้เมืองเคอร์คุกจึงกลายเป็นเมืองที่ถูกอ้างสิทธิระหว่างรัฐบาลกลางอิรัก และเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก ดินแดนของชาวเคิร์ดที่กินอาณาบริเวณ 40,000 ตารางกิโลเมตร ตอนเหนือของประเทศอิรัก

กรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลอิรักและชาวเคิร์ด ต้องยุติลงเป็นการชั่วคราวนับตั้งแต่ปี 2557 เมื่อกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) บุกยึดครองพื้นที่ทางตะวันตกและตอนเหนือของประเทศอิรักรวมไปถึงเมืองเคอร์คุก เปิดโอกาสให้กลุ่มนักรบชาวเคิร์ด หรือกลุ่มนักรบเปชเมอร์กา บุกขับไล่กลุ่มไอเอส ก่อนเข้ายึดครองพื้นที่ในที่สุด

หลังความพ่ายแพ้ของกลุ่มไอเอสในอิรัก ความขัดแย้งของกองทัพอิรักและกลุ่มนักรบชาวเคิร์ด สองฝ่ายที่สหรัฐมองเป็นพันธมิตรสำคัญในการสู้กับกลุ่มไอเอส กลับต้องปะทุขึ้นอีกครั้ง โดยสองฝ่ายต่างคุมเชิงสองฝั่งแม่น้ำตอนใต้ของเมืองเคอร์คุก ฝ่ายกองทัพอิรักเรียกร้องให้กองกำลังชาวเคิร์ดถอนตัวออกไป

ขณะที่ผู้ว่าการเมืองเคอร์คุกที่เป็นชาวเคิร์ดปฏิเสธ

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอิรักได้บุกเข้าสู่เมืองเคอร์คุก และสามารถยึดบ่อน้ำมัน ฐานทัพ รวมถึงอาคารของรัฐบาลท้องถิ่นเมืองเคอร์คุกเอาไว้ได้สำเร็จ

การผลิตน้ำมันถูกปิดลงชั่วคราว ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพออกจากเมืองและจังหวัดใกล้เคียง สถานการณ์บีบให้กลุ่มนักรบชาวเคิร์ดต้องล่าถอยขึ้นเหนือไปยังพื้นที่สูงของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน

จนถึงเวลานี้จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุปะทะล่าสุดถือว่าน้อยมาก เนื่องจากนักรบเปชเมอร์กาถอนตัวออกไปโดยไม่ได้หยิบอาวุธขึ้นต่อต้านเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม มีชาวเคิร์ดในพื้นที่บางกลุ่มที่ตอบสนองเสียงเรียกร้องของผู้นำชาวเคิร์ด หยิบอาวุธขึ้นสู้เพื่อปกป้องเมืองเคอร์คุกจากกองทัพอิรัก

เหตุผลที่ทำให้ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นอีก หนึ่งคือการจัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นอิสระของชาวเคิร์ดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นำโดยประธานาธิบดีเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน อย่าง “มาซุด บาร์ซานี”

การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้ “ไฮเดอร์ อัล-อบาดี” นายกรัฐมนตรีอิรัก ประกาศที่จะหยุดยั้งการแยกตัวเป็นอิสระและตอบโต้ด้วยการยกเลิกเที่ยวบินนานาชาติไม่ให้บินเข้าสู่เขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีอบาดีระบุอย่างชัดเจนว่า การจัดการประชามติจะทำให้ชาวเคิร์ดต้องชดใช้ด้วย “ทุกสิ่ง” ที่ชาวเคิร์ดได้มานับตั้งแต่ก่อตั้งเขตปกครองตนเองเมื่อปี 1991

คำขู่นั้นชัดเจนขึ้นเมื่อการสูญเสียบ่อน้ำมันในเคอร์คุกครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้หลักของรัฐบาลเคอร์ดิสถาน ซึ่งประสบปัญหาทางการเงินอยู่ก่อนแล้ว ผลจากรัฐบาลอิหร่านสั่งปิดชายแดนเชื่อมต่อกับเคอร์ดิสถานลง

ซ้ำเติมด้วยการที่ธุรกิจของชาวเคิร์ดในอิรักถูกโจมตีจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

สาเหตุแห่งความขัดแย้งอีกประการเกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” และ “อิหร่าน” รวมไปถึงฝีปากของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ

ก่อนหน้านี้นักการทูตอเมริกันพยายามอย่างหนักที่จะเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลอิรักและกลุ่มชาวเคิร์ด สองพันธมิตรของสหรัฐยุติการเผชิญหน้า ทว่า ทรัมป์ทำลายความพยายามดังกล่าวลงด้วยการประกาศเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า จะควบคุมอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาค พร้อมทั้งประณามข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่ทำไว้ในยุคอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา และขู่ที่จะขึ้นบัญชีกลุ่ม “กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน” หรือไออาร์จีซี เป็นกลุ่มก่อการร้าย

นั่นส่งผลให้กลุ่มกองกำลังไออาร์จีซี ที่มีสาขาในต่างประเทศ นำกำลังกองทัพอิรักบุกยึดเมืองเคอร์คุกจากกองกำลังชาวเคิร์ดได้อย่างง่ายดาย เช่นเดียวกับสถานการณ์ในซีเรีย กองทัพซีเรีย พันธมิตรของอิหร่านก็กำลังรุกคืบใส่กลุ่มกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย กลุ่มกองกำลังนำโดยชาวเคิร์ดที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอยู่เช่นกัน

หลังการพ่ายแพ้ของไอเอสในอิรักและซีเรีย ชัดเจนว่าเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างกลุ่มกองกำลังในพื้นที่และอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นขึ้นในทันที แม้ว่าควันไฟสงครามยังไม่ทันจางลง

เมื่อสัปดาห์ก่อน นายอบาดีเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลร่วมในเมืองเคอร์คุกขึ้น ทว่าหลังการจุดเชื้อไฟขึ้นโดยผู้นำสหรัฐจนทำให้สองฝ่ายต้องหันปากกระบอกปืนเข้าหากัน การเรียกร้องให้เกิดการเจรจาขึ้นคงจะสายเกินไป