ในประเทศ : เบรกหัวทิ่ม เติมเงิน บัตรสวัสดิการคนจน แน่ใจหรือถูกทาง?

บัตรสวัสดิการคนจนเป็นนโยบายที่โดนใจคนไทยแบบสุดๆ ชาวบ้านก็ชอบ พ่อค้านายทุนก็ชอบใจ แถมยังเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี

ข่าวดีที่ถูกปล่อยออกมาก็คือ จะมีการเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าในบัตรสวัสดิการคนจนเป็นเดือนละ 700-800 บาท แต่แล้วจู่ๆ ข่าวดีก็ถูกเบรกจนหัวทิ่ม

ก่อนหน้านี้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ สั่งให้กระทรวงการคลังศึกษาแนวทางเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือให้ตรงความต้องการมากที่สุด โดยอาจจะปรับในส่วนของประชาชนท้องถิ่นที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นรถไฟสามารถนำวงเงิน 500 บาทมาซื้อสินค้าแทน ทำให้วงเงินซื้อสินค้าจาก 200-300 บาท ปรับเพิ่มเป็น 700-800 บาท

งานนี้ไม่รู้ว่า สื่อสารผิด หรือตีความกันคลาดเคลื่อนกันแน่?

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ถึงกับรีบออกมาปฏิเสธทันควัน ว่าไม่เป็นความจริง และเรื่องนี้ทำเอาที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ สมคิด และ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงกับโกรธกับข่าวที่ออกมาอย่างมาก

“นายกฯ ติงสั้นๆ แค่นั้น ว่าปลัดกระทรวงการคลังพูดอะไรได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือยัง? ส่วนเรื่องที่รัฐบาลจะเพิ่มวงเงินให้อีกหรือไม่นั้น นายกฯ เคยคอมเมนต์ตั้งแต่เริ่มโครงการนี้แล้วว่า ได้คิดทบทวนทุกมิติแล้วหรือยัง? การช่วยเหลือไม่ใช่ช่วยพยุงทั้งชีวิต แค่ช่วยลดค่าใช้จ่ายเท่าที่รัฐบาลช่วยได้”

งานนี้มีรายงานด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ตำหนิปลัดกระทรวงการคลังกลางที่ประชุม ครม. ผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะเกรงจะถูกบิดเบือนเป็นประเด็นทางการเมือง

ก็ไม่รู้ว่างานนี้จะทำให้ นายสมชัย สัจจพงษ์ เก้าอี้ร้อนหรือไม่

 

หากจะพูดถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น เป็นนโยบายที่กำหนดให้ผู้ถือบัตรที่มีรายได้ 82 บาทต่อวัน หรือต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้รับวงเงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านธงฟ้าวงเงิน 200-300 บาทต่อเดือน แล้วแต่รายได้ของแต่ละคน

นอกจากนี้ ยังได้ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสาร บ.ข.ส. รถเมล์ รถไฟ และรถไฟฟ้า รวมแล้วคิดเป็นงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี

ในแง่บวก มีเสียงขอบคุณรัฐบาล คสช. ที่เป็นห่วงคนจน สะท้อนว่ารัฐบาลดำเนินการได้ตรงเป้าหมาย เข้าถึงคนจน กระจายเงินไปยังรากหญ้าได้ ตามแนวคิดของรองนายกฯ สมคิด เพื่อเดินเครื่องยุทธศาสตร์อุ้มคนยากคนจน ทำเอาคะแนนจากประชาชนไหลมาเทมา

หรืออีกด้านหนึ่ง นี่คือนโยบายประชานิยม เพื่อตุนแต้มต่อทางการเมืองของรัฐบาล คสช.

 

แต่ใช่ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีแต่ด้านบวกเสมอไป ตั้งแต่เริ่มนโยบายนี้ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ที่แวดล้อมรัฐบาล ในนามคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ

หลายฝ่ายออกมาท้วงติงว่าเป็นนโยบายที่ทำลายเศรษฐกิจรากหญ้า

เป็นการบังคับให้ประชาชนซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ แทนการซื้อสินค้าจากร้านในชุมชน ทำให้เงินไม่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานราก

แถมงานนี้ดูเหมือนนโยบายที่ขาดความพร้อม ทั้งเครื่องรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีดีซี แม้จะติดตั้งไปแล้วกว่า 5,061 เครื่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

เช่นเดียวกับร้านธงฟ้าที่มีไม่ครอบคลุม บางจังหวัดมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย ถึงกับออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า

“บัตรคนจน อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่เป็นอยู่” เพราะด้วยวงเงินที่สูง แต่ความพร้อมยังไม่ทั่วถึง และความไม่เท่าเทียมกันในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่มีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าหลายๆ จังหวัดที่เหลือ อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

และที่ผ่านมาในปี 2559 รัฐบาลนี้ก็เคยมีโครงการที่คล้ายกันนี้ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือคนละ 1,500 บาท และ 3,000 บาท โดยมีคนมาลงทะเบียน 14.2 ล้านคน แต่คัดแล้วเหลือ 11 ล้านคน ใช้งบประมาณไปทั้งหมด 19,290 ล้านบาท

แต่ในครั้งนั้นให้คราวเดียวจบ ส่วนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ว่านี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐจะจ่ายเงินให้นานแค่ไหน จะใช้งบประมาณทั้งหมดเท่าไหร่ และใช้ไปอีกกี่ปี

เนื่องจากตัวเลขคนจนที่สูงขึ้นจากปีก่อนๆ รัฐจะเอาเงินมาจากไหน และวางแผนป้องกันไม่ให้ผู้ถือบัตรมีแรงจูงใจไม่อยากพ้นจากการเป็นคนจนหรือไม่

ขณะที่รองนายกฯ สมคิด ออกมายืนยันว่า นโยบายนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าสัวทั้งหลาย เพราะหลักการของนโยบายคือ บริษัทค้าปลีกเหล่านั้นจะต้องนำสินค้ามาร่วมในโครงการ โดยมีส่วนลดมากเพียงพอเพื่อให้ชาวบ้านซื้อสินค้าในราคาถูก หรือที่เรียกว่าลดราคากันสุดๆ นั่นเอง

แต่ในอนาคตจะนำวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ผลิตสินค้าจำเป็น เพื่อป้อนเข้าไปในร้านธงฟ้งประชารัฐ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนผลิตสินค้าที่ชาวบ้านต้องการและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น และหากเป็นไปได้จะหาเงินมาเพิ่มวงเงินในบัตรให้อีก ซึ่งอาจจะดึงงบประมาณมาจากการลงทุนที่ไม่ได้ใช้หรือดำเนินไม่ทันตามกรอบเวลามาเสริม แต่ระหว่างนี้ก็ต้องพัฒนาผู้ที่เข้ามารับสวัสดิการนี้ให้มีศักยภาพไปทำมาหากินสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นได้ด้วยตัวเอง

“สวัสดิการนี้ให้คนที่เขาไม่ไหว ไม่มีทางเลือกเพราะวงเงินที่เขาไปซื้อก็ซื้อเป็นข้าว ไข่ น้ำมันพืช แต่ที่ต้องดำเนินการในระยะยาวควบคู่กันคือการฝึกอบรมให้เขามีความสามารถไปสร้างรายได้เอง และบริษัทที่เข้าร่วมมีหลายบริษัท ไม่ใช่มีแต่เจ้าสัว ระยะเริ่มต้นถ้าไม่เอาสินค้าจากบริษัทเหล่านี้แล้วจะเอามาจากที่ไหน รัฐบาลช่วยคนจนให้แล้ว แต่หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องขยายขอบเขตออกไปให้กว้างอีก ขยายเน็ตเวิร์กของซัพพลายเออร์ แทนที่จะมีผู้ประกอบการจากบริษัทเอกชน ในอนาคตจะขยายไปยังร้านค้าวิสาหกิจชุมชน แต่ผมว่านะ แค่คิดให้คนจนได้ก็ถือว่าบุญแล้ว”

 

ไม่รู้ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อนาคตจะพัฒนาไปทิศทางใด แต่ล่าสุด “ลุงตู่” เริ่มนำร่องทดลองใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นรถเมล์ที่ติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-ticket ที่จะติดตั้งบนรถโดยสารสาธารณะทั้งหมด 2,600 คัน

เบื้องต้นจะติดตั้งก่อน 800 คันให้ประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เริ่มใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

ส่วนใครที่ไม่มีบัตรก็ใช้ระบบหยอดเหรียญไป

โดยภายหลังการสาธิต นายกฯ ยังย้ำกับประชาชนที่มาร่วมงานด้วยว่า “อย่าให้ใครมาหลอกล่อว่าจะให้เงิน รัฐบาลนี้ไม่มี ขออย่าไปเชื่อใคร”

ก็งานนี้รัฐแจกให้ขนาดนี้แล้ว ยังจะไปถามหาเงินจากไหนอีกเล่า!!