มองราชวงศ์อังกฤษในห้วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ กับ การปรับตัวที่ผ่านมาของสถาบัน

รศ.ดร.ชาคริต ชุ่มวัฒนะ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอังกฤษมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มองกรณีการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่าในมิติเวทีระดับโลกไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร เช่น นโยบายของอังกฤษต่อประชาคมยุโรป หรือการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างแนบแน่นก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่  แต่ผู้ที่จะรู้สึกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือพระราชวงศ์และประชาชนในสหราชอาณาจักร  ในส่วนของพระราชวงศ์นั้นจะต้องรู้สึกถึงความสูญเสียอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อพระราชพิธีพระบรมศพเสร็จสิ้นลง เพราะพระองค์ท่านเป็นสมเด็จย่าที่มีพระชนม์ชีพยืนยาว  ตั้งแต่แต่ละองค์ประสูติกันมาก็พบพระองค์แล้วจนชินชาว่าจะเป็นเช่นนั้นไปตลอด เมื่อเกิดการสูญเสียขึ้นย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเลยทีเดียว นอกจากนี้ผู้คนก็จะจับตามองว่าหลังจากนี้พระราชวงศ์จะมีภาพลักษณ์อย่างไร จะวางท่าทีอย่างไรต่อเรื่องต่างๆ  การที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์อย่างต่อเนื่องมาถึง 70 ปี คำถามคือสมาชิกพระราชวงศ์จะสานต่อได้แค่ไหน จะมีการสร้างภาพลักษณ์อะไรใหม่ที่เหมาะสมกับเวลาปัจจุบันให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับได้หรือไม่

“เราจะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า ช่วงที่ผ่านมาพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (กษัตริย์องค์ปัจจุบัน) บารมีท่านน้อยกว่าสมเด็จพระราชชนนีมาก ทั้งสังคมก็เฝ้าจับตามอง เนื่องจากพระราชจริยวัตรและเรื่องในอดีตที่อาจจะไม่ค่อยถูกใจประชาชนบางส่วน เพราะฉะนั้นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงต้องพิสูจน์พระองค์เองอย่างมาก ประชาชนชาวอังกฤษย่อมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบเมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาล ดังนั้นในช่วงแรกพระองค์จะต้องแสดงให้เห็นว่าจะทรงนำภาพลักษณ์ของสถาบันฯไปในทิศทางใดที่ทำให้ให้เกิดการยอมรับ พระราชวงศ์องค์อื่นๆ ก็มีภารกิจอันเดียวกันซึ่งลดหลั่นกันไป  ตอนนี้สังคมก็หันมาจับตามองแล้ว  จากเดิมก็อาจมองเพียงว่า “คู่นั้นคู่นี้” จะเป็นอย่างไร ในภายหน้าซึ่งไม่น่าจะนานนักผู้คนจะครุ่นคิดว่าสถาบันนี้มีความหมายต่อสังคมมากน้อยเพียงใด จุดนี้เป็นภารกิจที่สำคัญของพระราชวงศ์อังกฤษว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนได้เห็นว่าถึงจะมีการเปลี่ยนแผ่นดินครั้งใหญ่ซึ่งเป็นเหมือนการจบยุคสมัยที่ยาวนาน พระราชวงศ์วินด์เซอร์ก็ยังคงมีความหมายกับสังคมอังกฤษอยู่

เมื่อมองมาที่ภาคประชาชนต้องบอกว่าเดิมทีมีทั้งกลุ่มคนที่ชื่นชมในสถาบันกษัตริย์ และมีกลุ่มคนที่อาจจะรู้สึกเฉยๆ มีก็ได้ไม่มีก็ได้ไม่ว่ากัน ต่างคนต่างอยู่ รวมถึงมีกลุ่มคนที่ต่อต้าน คือไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันกษัตริย์ และเรียกร้องระบอบสาธารณรัฐ แต่ทั้งหมดก็อยู่กันในสังคมร่วมกันมาแบบนี้ตั้งนานแล้ว โดยที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชบัลลังก์มาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น แต่พอเกิดเหตุการณ์สวรรคตครั้งนี้อาจก่อให้เกิดความรู้สึกว่าสมเด็จพระราชินีนาถที่พวกเขาเคยเห็นไม่อยู่แล้ว แล้วนี่จะเป็นอย่างไร จากเดิมไม่รู้สึกอะไร แต่พอท่านไม่อยู่จึงอาจกังวลว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า วันไหนมีปัญหาอะไรขึ้นมา คนอาจมองไปที่สถาบันกษัตริย์ว่าจะตัดสินใจหรือมีท่าทีอย่างไรในเรื่องต่าง ๆ จุดนี้จะทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีเรื่องที่ทำให้ทรงหนักพระทัยมากขึ้นและอีกแง่หนึ่งต้องทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจพระองค์และไม่รู้สึกว่ายุคสมัยของท่านด้อยกว่ายุคของพระราชชนนี  พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงครองราชย์ในขณะที่มีพระชนมายุ 73 พรรษา ทรงผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากแล้ว ต่างจากรัชสมัยของพระราชชนนีที่ขึ้นครองราชย์เมื่อตอนพระชนมายุ 26 พรรษา ดังนั้นสังคมจะคาดหวังสูง ไม่ได้คิดที่จะให้เวลาทรงเรียนรู้งานก่อน ดังนั้น ในแง่ของประชาชนก็จะจับตามองไปที่สถาบันกษัตริย์มากกว่าเดิมเวลาเกิดเรื่องราวอะไรบางอย่างและถ้าเกิดมีอะไรไม่ถูกใจ ก็จะเปรียบเทียบกับรัชกาลก่อนทันที

ย้อนไปในช่วงที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ ท่านก็ต้องทรงปรับพระองค์มากพอสมควรทีเดียว เพราะในเวลานั้นอยู่ในห้วงที่จักรวรรดิอังกฤษถ้าเปรียบเป็นพระอาทิตย์คือกำลังใกล้ตกดิน อาณานิคมที่กว้างใหญ่ไพศาลอย่างอินเดียก็เป็นเอกราชไปเรียบร้อยแล้ว  อันที่จริง คนอังกฤษมีทั้ง 2 แบบ แบบหนึ่งคือต้องการจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ แต่หลายคนก็ต้องการเพียงแค่มีเกาะอังกฤษก็พอแล้ว ถ้ามีมากไปแทนที่จะได้ประโยชน์อาจจะเป็นภาระต้องอุ้มทางการเงินและมีปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาผู้อพยพ  จริงๆ แล้วหลายประเทศเมื่อแยกออกไปเป็นประเทศเอกราช สายสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมก็ยังอยู่ เพราะจำนวนมากยังคงเป็นประเทศในเครือจักรภพซึ่งมีกว่า 50 ประเทศ มีความร่วมมือ ความเอื้อเฟื้อหรืออนุเคราะห์ต่อกัน  อีกไม่นานก็อาจจะได้เห็นบางดินแดนในเขตหมู่เกาะแคริบเบียนแยกเป็นเอกราชอีก ไม่นานมานี้ ในช่วงต้นปี เกิดกรณีที่เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงแคเธอรีน พระชายาเสด็จเยือนแถบนั้น แต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ราบรื่น เพราะมีผู้คนท้องถิ่นในเขตหมู่เกาะนี้ที่รู้สึกขมขื่นกับอังกฤษนับตั้งแต่อดีตมาก ดังนั้นสถาบันกษัตริย์จึงต้องปรับตัวและเตรียมรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อีกในวันข้างหน้า  อย่างไรก็ตาม พระเจ้าชาลส์ที่ 3 ก็ทรงมีรับสั่งแล้วว่าพร้อมที่จะพูดคุยด้วยในเรื่องนี้ ซึ่งอาจช่วยให้การเปลี่ยนผ่านสถานภาพของดินแดนต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นก็เป็นได้   ถ้าพระองค์มีส่วนช่วยคลี่คลายบรรยากาศ ก็จะทำให้ทรงทำคะแนนในเรื่องนี้

ในประเด็นการปรับตัว กับ “การดำรงอยู่ของสถาบัน” ท่ามกลางกระแสของโลกที่มีการเรียกร้องความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้นนั้น อันมาจากปัจจัยความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังเช่นในอดีตที่คนส่วนหนึ่งเรียกร้องว่าทำไมสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษจึงได้รับสิทธิไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ในที่สุดใน พ.ศ. 2536 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงยินยอมให้เก็บภาษีท่านได้ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากนับแต่อดีตกาล หรืออีกเหตุการณ์สำคัญที่ “พระราชวังวินด์เซอร์ไฟไหม้” จนเกิดความเสียหายอย่างมาก แล้วสังคมก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าใครจะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ซึ่งมีมูลค่าใหญ่หลวง แม้ว่าหลายคนจะมองว่านี่คือสมบัติของชาติ ควรเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องจัดงบประมาณมาซ่อมแซม แต่ก็มีผู้เห็นว่าเป็นที่ประทับของกษัตริย์นี่นา ในที่สุดแล้วสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงตัดสินพระทัยรับภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมพระราชวังทั้งหมดเอง จะเห็นได้ว่าท่านก็ทรงพยายามดำเนินการหลายเรื่องเมื่อสถาบันถูกตั้งคำถามและมีข้อเรียกร้องมา

เอพี

รวมไปถึงประเด็นภายในครอบครัว อาทิ  “การสมรสของพระราชวงศ์” อย่างที่เราเห็นว่ากรณีหลังสุดทรงยอมรับการที่เจ้าชายแฮร์รี พระราชนัดดาเสกสมรสกับหญิงอเมริกันที่ผ่านการสมรสมาแล้วและเชื้อสายคนผิวสี สะท้อนการเปิดใจให้กว้างของสถาบันที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมอย่างมาก ผู้คนจึงได้รู้จักดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ที่เป็นสตรีอเมริกันมาร่วมอยู่ในพระราชวงศ์  ได้เห็นถึงความแปลกใหม่ของราชวงศ์ในครั้งนี้ที่บทจะก้าวก็ก้าวไปไกล เพราะกรณีนี้ไม่ใช่แค่ “ความเป็นคนนอก”   ไม่ใช่แค่ประเด็นสามัญชนธรรมดา ยังเป็นต่างชาติและก็มีเชื้อสายผู้ที่มีผิวสี  เช่นเดียวกันกับพระเจ้าชาร์ลที่ 3 ครั้งเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ องค์รัชทายาท ท่านก็ทรงมีสถานะเป็นพ่อหม้ายและทรงสมรสกับ คามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ใน พ.ศ. 2548 ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ (ปัจจุบันเป็นสมเด็จพระราชินี) คามิลลาก็มีสถานะเป็นแม่หม้าย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถ้าหากย้อนไปในรัชสมัยของสมเด็จพระราชปิตุลาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ คือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8  รัชสมัยนั้นพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 8 ถึงกับทรงสละราชราชสมบัติเมื่อท่านจะสมรสกับแม่หม้ายชาวอเมริกัน ทรงยินยอมเปลี่ยนสถานะของพระองค์จากกษัตริย์มาเป็นดุ๊กแห่งวินด์เซอร์แทน  นี่ถ้าท่านไม่ทรงลงมาเป็นดุ๊ก พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธอาจไม่ได้ขึ้นครองราชย์ก็เป็นได้

เป็นอันว่าปัจจุบันนี้ พ.ศ. 2565 คนอังกฤษมีกษัตริย์ที่เป็นพ่อหม้ายและสมเด็จพระราชินีที่เป็นแม่หม้าย ทั้งๆที่มีกระแสข่าวว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ได้ทรงพอพระทัยกับการเสกสมรสครั้งที่ 2 ของพระราชโอรสองค์โตนัก  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทรงเปิดพระทัยรับพระสุณิสาองค์นี้มากขึ้น ดังนั้น ไม่นานก่อนเสด็จสวรรคต ทรงมีคำประกาศแก่มหาชนว่ามีพระราชประสงค์ให้ คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ได้เป็นสมเด็จพระราชินี ซึ่งต้องถือว่าพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงทีเดียวเพราะก็เป็นประเด็นที่ผู้คนถกเถียงกันมาตลอดสิบกว่าปีถึงสถานะของพระชายาตั้งแต่เสกสมรส

ในความคิดเห็นส่วนตัวของ รศ. ชาคริตต่อเรื่องนี้นั้น เห็นว่าตลอดรัชสมัยของพระองค์ท่านที่ยาวนาน ทรงมีเจ้าชายฟิลิป ดุ๊กแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีเป็นที่ปรึกษาตลอดมา การที่จะปล่อยให้โอรสของท่านว้าเหว่ ขาดคู่คิดอ่านเมื่อขึ้นครองราชย์คงจะไม่เป็นการดี ในช่วงแรกนั้น ข่าวว่าไม่ทรงพอพระทัยสะใภ้พระองค์นี้เท่าใดนัก แต่พอกาลเวลาผ่านไปจนนับได้ 17 ปีแล้ว เวลาทำให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงเปลี่ยนพระทัยและยอมรับมากขึ้น แสดงว่าคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์คงจะมีบุคลิกและนิสัยที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนรอบข้างได้ในที่สุด และคงเป็นพลังทางใจที่สำคัญมากให้แก่พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันดังที่รับสั่งออกมาบ่อยครั้ง

Queen Elizabeth II poses in her coronation attire in the throne room of Buckingham Palace in London, after her coronation on June 2, 1953.

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงค่อนข้างระวังพระองค์ในการแสดงออกต่างๆ  ทรงเริ่มต้นรัชสมัยด้วยพระชนมายุที่ไม่มาก แต่ทรงมีนายกรัฐมนตรีที่มากประสบการณ์คอยช่วยถวายงานได้ ท่านเริ่มต้นในสมัยที่เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็ทรงสะสมประสบการณ์จนอังกฤษผ่านการมีนายกรัฐมนตรีถึง 15 คน ทรงเป็นประมุขที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง แต่ทรงมีสิทธิ์ที่จะให้คำปรึกษาได้ นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ไปถวายรายงานและขอความเห็น พระองค์ท่านสามารถให้ความเห็นได้แต่เขาจะเอาไปปฏิบัติหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ทรงทำอะไรทุกอย่างอยู่ในกรอบกติกา ไม่ล้ำเส้น ด้วยบุคลิกของท่านที่เงียบๆ อ่อนหวานนุ่มนวล ต่างกับพระราชสวามีที่ออกจะเปรี้ยงปร้าง คิดอย่างไรตรัสอย่างนั้น  สมเด็จพระราชินีนาถจึงทรงเปรียบเสมือนน้ำเย็นที่อยู่คู่กับน้ำร้อน  นับว่าท่านเป็นกษัตริย์ที่รับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยความสุขุมรอบคอบ  รศ. ชาคริตได้ตั้งข้อสังเกตตรงนี้ด้วยว่าคนอังกฤษคุ้นเคยกับการเห็นพระราชจริยวัตรที่สงบนิ่ง แต่นับแต่นี้ พวกเขาจะเห็นอะไรเมื่อมีประมุขพระองค์ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความหวั่นไหวพอสมควร

ในปัจจุบันแม้จะมีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มที่ต่อต้านไม่เอาสถาบันบ้าง แต่ก็ยังไม่มีพลังเพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง  หากพูดถึงกรณีของลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอังกฤษนั้น เดิมทีก็เป็นคนที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันกษัตริย์ในช่วงวัยหนึ่ง แต่ในที่สุดเธอก็กลายมาเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมและประกาศต่อสาธารณะว่ารู้แล้วว่าระบอบที่เป็นอยู่เหมาะสมแล้ว เธอได้โอกาสสำคัญของชีวิตเลยที่ได้เข้าเฝ้า 2 วันสุดท้ายก่อนที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเสด็จสวรรคต ส่วนตัวคิดว่ามี 2 ประเด็นที่ควรมอง คือกลุ่มที่ต่อต้านสถาบันมีพลังมากพอหรือไม่  ณ ตอนนี้เห็นว่ายังไม่พอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ประเด็นต่อมาคนเราเปลี่ยนได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบันจากคนที่ต่อต้านการมีระบอบกษัตริย์และอยากได้ระบอบสาธารณรัฐ  แต่แล้ววันเวลาผ่านไป วัยที่มากขึ้น ทัศนะของเธอในเรื่องนี้ก็เปลี่ยนไปด้วย  จึงคิดว่าสำหรับพลังของกลุ่มต่อต้านนั้นไม่คงที่ พอเวลาผ่านไป บางคนก็อาจจะมีทัศนะอีกแบบหนึ่งเหมือนนายกฯ หญิงคนปัจจุบันที่ชื่อของเธอก็คือ เอลิซาเบธ เช่นกัน

แต่ทั้งหมดนี้ เงื่อนไขที่สำคัญเหนือข้ออื่นใดน่าจะเป็นว่าพระราชวงศ์จะมีภาพลักษณ์อย่างไรในอนาคต สมมุติว่าถ้าไม่ไหว ภาพลักษณ์ไม่ดีจนผู้คนมองไม่เห็นคุณค่าของการดำรงอยู่ ก็คงประสบปัญหาในการประคองสถาบันไปเรื่อยๆ ตราบใดที่พลังยังไม่เข้มแข็งพอที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบกษัตริย์ที่สืบเนื่องกันมาหลายร้อยปี ประเด็นคุณค่าหรือความสำคัญต่อสังคมของสถาบันนี้อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นสุดน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ จำนวนคนที่ไม่พอใจอาจจะมากขึ้นได้  จึงเป็นความรับผิดชอบที่ต้องคำนึงถึงร่วมกันในหมู่สมาชิกพระราชวงศ์เลยทีเดียว