ชัชชาติรับศึกน้ำท่วม กทม.ระยะยาว พลิกแผนขุดคลองยักษ์ 25 ก.ม. ผังเมืองใหม่ ที่ต้องลุ้น/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ชัชชาติรับศึกน้ำท่วม กทม.ระยะยาว

พลิกแผนขุดคลองยักษ์ 25 ก.ม.

ผังเมืองใหม่ ที่ต้องลุ้น

 

ฝนถล่มเมืองกรุงปี 2565 ถูกมองและคาดการณ์ไปต่างๆ นานา โดยยังไม่รู้ว่าจะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 11 ปีที่แล้วหรือไม่

กลายเป็นภารกิจหนักอึ้งบนสองบ่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนที่ 17 ซึ่งต่อให้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีมาจากไหนก็มีสิทธิ์แกว่งได้เหมือนกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ระยะทางหมื่นลี้บนเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ที่มีอายุงานตามวาระ 4 ปี เพิ่งเริ่มต้นได้ร้อยกว่าวัน แม้จะส่งสัญญาณแรงไปยังข้าราชการและลูกจ้าง กทม. 8 หมื่นชีวิตให้ลุกขึ้นมาทำงาน ทำงาน ทำงาน เพื่อความผาสุกของพี่น้องประชาชน

แต่บรรยากาศการทำงานก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องรับทั้งศึกในศึกนอก

ปัญหาน้ำท่วมที่หลายคนบอกว่าท่วมแบบค้านสายตา กลายเป็นคลื่นแทรก เกิดกระแสดราม่ากระหึ่ม หมายแถลงด่วนเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับสื่อมวลชน กทม.

จากม็อตโต้ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” มีข่าวปล่อยว่าชัชชาติกำลังถูก “วางยา วางยา วางยา”

แรงกระเพื่อมปัญหาน้ำท่วมกรุงที่ปรากฏชัดๆ ให้ดูวันที่ 9 กันยายน 2565 ซึ่งมีอีเวนต์ใหญ่แถลงผลงานรอบ 100 วัน แต่เนื่องจากตรงกับวันหยุดเสาร์ที่ 10 กันยายน ก็เลยเลื่อนเร็วขึ้น 1 วัน เปลี่ยนมาแถลงผลงานวันศุกร์แทน

ธีมงานจึงออกมาว่าแถลงผลงาน 99 วัน คล้ายๆ กับจะล้อไปกับวงการอีคอมเมิร์ซที่มีบิ๊กอีเวนต์ 9.9 รหัสวันช้อปแห่งชาติ

แม็กเนตของแมตช์ประชุมประกาศผลงาน หัวโต๊ะควรเป็นผู้ว่าฯ ชัชชาติ แต่เอาเข้าจริงกลายเป็น 4 รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ผิวงาม, วิศณุ ทรัพย์สมพล, ทวิดา กมลเวชช, ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ไทม์ไลน์เริ่มแถลงผลงานร้อยวันเวลา 08.30 น. ดันไปทับซ้อนกับหมายงานด่วนของผู้ว่าฯ ชัชชาติลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม 10.30 น. จุดสังเกตคือมีบริการรถรับ-ส่งสื่อมวลชนโดยนัดหมายขึ้นรถ 08.30 น. เจอเข้าไปแบบนี้สื่อก็ไม่มีสมาธินั่งฟังแถลงผลงานแล้วล่ะ

ที่น่าเห็นใจกว่านั้นคือบนเวที ทีม 4 รองผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งทำงานหนักทุกคน แต่ได้รับโควต้าเจียดเวลาให้พูดผลงานคนละ 8 นาทีเท่านั้น เพราะมีงานกอบกู้สถานการณ์น้ำท่วมรออยู่เต็มมือ กล่าวสำหรับในห้วงร้อยวันแรกของ “ทีมชัชชาติ” ทุกวันจันทร์เป็นวันจองสำหรับการประชุมเต็มคณะระหว่างทีมผู้ว่าฯ กับทีมผู้บริหาร กทม.

เพิ่งจะมี “ของแถม” เพียง 2 ครั้งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติแถลงเพิ่มเติม ครั้งแรกเป็นการเล็กเชอร์รถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ 12 กันยายนที่ผ่านมา หัวข้อสรุปสถานการณ์น้ำท่วม แต่วัตถุประสงค์ดูเหมือนเพื่อต้องการสยบดราม่า “เธอวิดน้ำเข้าท่วมบ้านฉัน” มากกว่า

ต้นเรื่องมาจากชายแดนกรุงเทพฯ กับจังหวัดปริมณฑลปทุมธานีในโซนรังสิต มีพื้นที่กอดคอกันท่วมเพราะเป็นที่ลุ่มต่ำอยู่ด้วยกัน

แต่ที่ไม่เหมือนกันคือคนปทุมฯ โดย “บิ๊กแจ๊ด-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ออกสื่อเกรี้ยวกราด กล่าวโทษ กทม.ระบายน้ำออกจากกรุงเทพฯ เข้าท่วมพื้นที่ปทุมธานี

หนึ่งในสาระสำคัญของการสรุปสถานการณ์น้ำท่วมจึงเป็นคำชี้แจงถึงขอบอำนาจในการผันน้ำของ กทม. จำกัดขอบเขตอยู่ในพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น น้ำทุกหยดที่ออกนอกพื้นที่ กทม.จะเป็นภาระรับผิด-รับชอบของ “ชป.-กรมชลประทาน” โดยทันที

ล่าสุด อังคาร 13 กันยายนที่ผ่านมา “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ล่องเรือตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปลอบขวัญคนกรุงว่าไม่ต้องกลัว น้ำท่วมปีเสือไม่รุนแรงเหมือนมหาอุทกภัยปี 2554 แน่นอน

โดยหยิบข้อมูลเปรียบเทียบ ณ เดือนกันยายน 2564 มีการระบายน้ำ 2,800 ลบ.ม./วินาที แต่ช่วงเดียวกันของปีนี้มีการปล่อยน้ำที่ 1,850 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น ระดับน้ำเจ้าพระยายังอยู่ในสถานการณ์ปกติ

และกรมชลฯ ระบายน้ำเข้าฝั่งตะวันออก 41 ลบ.ม./วินาทีเป็นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ส่วนเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกก็ระบายเพียง 20 ลบ.ม./วินาที จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล

แต่… “กรณีที่มีปริมาณน้ำมากในคลองของกรุงเทพฯ เช่น คลองรังสิต คลองประเวศบุรีรมย์ เป็นเพราะน้ำฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง 2-3 วันที่ผ่านมา ปริมาณมากกว่าวันละ 100 ม.ม. ซึ่งได้มอบหมายกรมชลฯ ระดมเครื่องสูบระบายน้ำคลองรังสิตไปออกแม่น้ำบางปะกง และระบายน้ำคลองประเวศฯ ไปออกทะเลผ่านโครงการส่งน้ำชลหารพิจิตร”

พร้อมกับเลี้ยวเข้ามาพูดสยบดราม่าข้ามหน่วยงานด้วยว่า “การทำงานร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ทำงานร่วมกับ กทม.มาโดยตลอด เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันอยู่แล้ว”

ขณะที่เจ้าพ่อชลประทาน “ประพิศ จันทร์มา” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวยืนยันว่าไม่มีน้ำการเมือง ไม่มีการรับน้องแต่อย่างใด กรมชลประทานระบายน้ำปกติเพื่อรักษาระบบนิเวศและน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนให้สมดุล

ควบคู่กับกระแสดราม่าระดับไฟลุกท่วมจอมาจากโซเชียลมีเดีย สถานการณ์กระหน่ำโพสต์บนโลกออนไลน์แบบเรียลไทม์ เป็นทั้งขั้วบวกขั้วลบ

อาทิ คนลาดกระบังฟ้องว่าคำสั่งผู้ว่าฯ ชัชชาติให้สำนักงานเขตบรรจุกระสอบทรายเขตละ 5,000 ลูกถูกเพิกเฉย ชาวบ้านต้องตักทรายเอง ผูกกระสอบเอง เป็นต้น

นาทีนี้ชัชชาติอยู่ในภาวะศึกนอกทำให้หนักอก ศึกในทำให้หนักใจ ดราม่าในส่วนคน กทม. มีการระบุในรายการเจาะลึกทั่วไทยว่ามีข้าราชการเกียร์ว่างถึง 3 สำนักด้วยกัน หากแกะรอยให้ดีจะพบว่ามีมูลสูง เพราะเป็นจังหวะแต่งตั้งโยกย้ายทดแทนตำแหน่งเกษียณวันที่ 30 กันยายนนี้พอดิบพอดี

ต่อจิ๊กซอว์ปัญหาน้ำท่วมกรุงเกี่ยวข้องกับภารกิจด้านผังเมืองรวม กทม. โดย “สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง” ซึ่งผังเมืองปัจจุบันหมดอายุตั้งแต่ปี 2558 ล่าสุดอยู่ระหว่างทบทวนปรับปรุงร่างฉบับใหม่เป็นครั้งที่ 4

สาระสำคัญมี 2 ประเด็นต้องรู้

1. พื้นที่ฟลัดเวย์หรือโซนน้ำหลาก สีเขียวลายหรือเขียวทแยงขาว 4 เขตโซนตะวันออกได้แก่ “เขตคลองสามวา-หนองจอก-มีนบุรี-ลาดกระบัง” เดิมฟลัดเวย์มี 1.5 แสนไร่ ร่างผังเมืองใหม่หดเหลือ 5 หมื่นกว่าไร่

2. เมื่อพื้นที่ฟลัดเวย์ลดลงแต่ภารกิจรับมือน้ำท่วมกรุงยังมีอยู่ตลอดไป ประกอบกับ new normal เทรนด์โลกร้อนทำให้คาดการณ์ได้ถึงฝนตกหนักจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งทีมชัชชาติก็มีนโยบายเส้นเลือดฝอยในการบริหารจัดการคลองหลักคลองย่อย

โซลูชั่นที่เป็นข้อเสนอด้านผังเมืองก็คือการขยายขีดความสามารถผลักดันและระบายน้ำผ่านคลอง ด้วยการกำหนด “ผังสาธารณูปโภค” บวกกับ “ผังน้ำ” ให้เป็นเรื่องเดียวกัน

วิธีการเสนอให้ขุดคลองยักษ์หรือขยายคลองเดิมที่กว้าง 10-20 เมตรให้กว้างขึ้นเป็นคลอง 60 เมตร จุดต้นทาง-ปลายทางอยู่ที่ “คลองหกวา-คลองประเวศร์บุรีรมย์” ระยะทาง 25 ก.ม. โดยจะต้องมีการเวนคืนเพิ่มเติมสองฝั่งเพื่อทำถนน รวมเป็นพื้นที่เวนคืนรัศมี 120 เมตร

ถัดมา ขุดคลองใหม่เป็นคลองกว้าง 36 เมตร ระยะทางอีก 9 ก.ม. มีจุดต้นทาง-ปลายทางอยู่ที่ “คลองบึงทรายกองดอน-คลองลำผักชี” มีการเวนคืนสร้างคลอง+ทำถนนสองฝั่ง รัศมีเวนคืน 60 เมตร

เบื้องต้น นโยบายขุดคลองยักษ์ตัวเปเปอร์ยังเดินทางมาไม่ถึงโต๊ะทำงานผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในระดับผู้ปฏิบัติมีการตั้งเรื่องโดยสำนักผังเมือง ล่าสุด ทางสำนักการระบายน้ำขอพิมพ์เขียวข้อเสนอกลับไปศึกษาความเป็นไปได้

ส่วนจะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ ขึ้นกับ 2 เงื่อนไขคือ การตัดสินใจของชัชชาติ กับงบประมาณลงทุนเพราะต้องใช้เงินก้อนโตอยู่พอสมควร