ไปต่อหรือไม่ไปต่อ/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

ไปต่อหรือไม่ไปต่อ

 

ลองนึกภาพเมืองใหญ่ๆ อย่าง กทม. เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช หาดใหญ่ พัทยา ถ้าทุกคนในเมืองนั้นๆ พากันทิ้งขยะแค่คนละชิ้นลงบนถนน-ถนนก็จะเต็มไปด้วยถุงพลาสติก กระดาษ กล่องโฟม ขวดน้ำ ไม้เสียบลูกชิ้น ทิชชู่ ฯลฯ

แล้ว…ถ้าทุกคนต่างก็นำสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน เช่น กะละมัง ถังขยะ โทรทัศน์ เครื่องเสียง ตู้เย็น พัดลม แอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุดใช้งานไม่ได้แล้วโยนทิ้งลงไปในแม่น้ำลำคลอง

อะไรจะเกิดขึ้น!?

สังคมต้องมีกฎระเบียบ การอยู่ร่วมกันต้องมีกติกา

กฎหมายไม่ได้มีไว้ให้แหก แต่บัญญัติขึ้นเพื่อ “สร้าง” วัฒนธรรมที่ดีกับเพื่อมีไว้ “ป้องกัน” ไม่ให้คนไม่ดีก่อความเดือดร้อนหรือทำความเสื่อมทรามแก่ส่วนรวม

สังคมไทยมีตัวบทกฎหมายทันสมัย แต่ลึกลงไปใน “ใจคน” ยังไม่สามารถจะ “ก้าวข้าม” ความมักง่ายป่าเถื่อน

แม้ชอบจะอ้างอวดว่าเป็นนิติรัฐ แต่กลับเป็นรัฐที่ไม่มี “นิติธรรม”!

 

เริ่มตั้งแต่

การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจการค้าการพาณิชย์ การลงทุน การยุติธรรม การศึกษา การกีฬา การทหาร การตำรวจ ฯลฯ

มี “การใด” บ้างในสังคมไทยที่ไม่ซิกแซ็ก ยิ่งคนมีอำนาจ มีสถานะทางสังคมสูง มีฐานะเศรษฐกิจดี ยิ่งหาช่องโอกาสละเมิด แหกกฎ ฉกฉวยเอาประโยชน์จนถึงที่สุด

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยก็ไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” ที่เป็นปกติวิสัย “ไทย” จึงไม่ได้เป็น “ไทย” ที่มีความเป็นอิสระทั้งตัวและหัวใจ

กรณีหนึ่งสามารถสังเกตได้จากประวัติศาสตร์การเปลี่ยนตำแหน่ง “ผู้นำทางการเมือง” ในประเทศไทยแต่ละครั้งมากไปด้วยความพิสดาร

ชนชั้นสูงจึงตั้งใจจะให้เรียกระบอบการปกครองนี้ว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

หมายความว่าอะไรไม่แน่ชัด!

อาจจะหมายถึง ประเทศนี้มีการปฏิวัติรัฐประหารแย่งชิงอำนาจบริหารประเทศ 6 ปีต่อ 1 ครั้ง

หรือหมายถึง “อำนาจอธิปไตย” เป็นของปวงชนชาวไทยแต่เพียงในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ความจริงแล้ว “อำนาจอธิปไตย” เป็นของคนที่แข็งแรงกว่า มีปืนและมีพวกมากกว่า

บางยาม ในระบอบประชาธิปไตยชนิดพิสดารนี้ก็มีอะไรแปลกๆ เช่น ถึงคราวจะร่วง “ผู้นำทางการเมือง” ของไทยก็ร่วงเอาง่ายๆ สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองแล้ว ประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรีเมื่อกุมภาพันธ์ 2523 นั้น ที่จริงไม่ใช่เพราะนายพลบรั่นดี “หน้าบาง”

แต่มีเหตุพิเศษ!

“เหตุพิเศษ” ที่ว่าไม่ได้เกิดจากวิกฤตการเมือง หรือฝีมือของพรรคฝ่ายค้านที่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจผลงานรัฐบาลซึ่งเต็มไปด้วยความล้มเหลว แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้

เหตุพิเศษไม่ได้เกิดจากนักศึกษาที่ชุมนุมคัดค้านการขึ้นราคาน้ำมันของรัฐบาลเกรียงศักดิ์

แต่ทั้งหมดเกิดจาก “เปรมจะต้องมา”!

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขณะนั้นเป็น “ผบ.ทบ.” และเป็น “รัฐมนตรีกลาโหม” ซึ่งเป็นสถานะที่สำคัญนักในประเทศนี้

“เปรม” เป็นใคร ทำไม ส.ส. กับ ส.ว.เวลานั้นถึงได้เทเสียงสนับสนุนให้เป็น “นายกรัฐมนตรี” ถึง 385 เสียง ในขณะที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นักการเมืองจากระบอบรัฐสภา ได้แค่ 80 เสียง

 

ประเทศไทยมีระบอบรัฐสภาเป็น “เวที” ระบายความอึดอัดให้ตัวละครทางการเมืองได้โลดแล่นอวดนานาอารยะว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

แต่เป็น “ประชาธิปไตย” ที่เชื่องๆ และต้องอยู่ในโอวาท

การเปลี่ยนถ่ายโอนอำนาจของผู้นำทางการเมืองแต่ละครั้งจึงแตกต่างไปจาก “ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากล”!

มีสถิติที่น่าทึ่งคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ถึงวันนี้ รวมเวลา 65 ปี ประเทศไทยมี “ทหารราบ” เป็นผู้นำทางการเมือง สามารถยึดครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมกันนานถึง 30 ปี

ถ้านำไปนับกับ พล.อ.เปรมซึ่งเป็น “ทหารม้า” อีก 8 ปี ก็เท่ากับว่า “นายกรัฐมนตรี” มาจากทหารรวมกันถึง 38 ปี

ยังมี “นายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ” ที่ขึ้นมาเชิดแทนคณะรัฐประหารอีก 2-3 คน

รวมแล้วตั้งแต่ปี 2500-2565 เป็นเวลา 65 ปี เก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ตกเป็นของทหารหรือคนของทหารไม่น้อยกว่า 40 ปี

จะให้เรียกระบอบการปกครองนี้ว่าอย่างไร

 

ผลก็คือระบอบการปกครองที่พิลึกพิลั่นนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบอื่นๆ อย่างเป็นลูกโซ่

กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย และคนก็ไม่เคารพกฎหมาย เกิดวัฒนธรรมที่ผู้มีฤทธิ์ทั้งหลายเห็นกฎเป็น “ข้อยกเว้น” ถ้าจะเปรียบไปก็ไม่ต่างอะไรกับที่เราแต่ละคนพากันทิ้งขยะลงบนท้องถนน หรือโยนข้าวของที่ไม่ใช้แล้วลงไปในแม่น้ำลำคลอง ไม่นำพาต่อกฎแห่งความปลอดภัยในการขับขี่ยวดยานและใช้ถนน ต่างเอาแต่ได้ ละเลยและละเมิด คนเล็กละเมิดกฎเล็ก คนใหญ่ละเมิดกฎใหญ่ ฉีกทำลายทุกกฎในการอยู่ร่วมกัน ไม่เว้นแม้กระทั่ง “กฎสูงสุด” คือรัฐธรรมนูญ

จึงไม่เคยมีปรากฏว่า กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจะสามารถจัดการกับคนมีปืนที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ!

ถึงแม้กฎหมายจะบัญญัติโทษร้ายแรงถึงขั้น “ประหารชีวิต” ก็ไม่ยำเกรง!

หลังรัฐประหารทุกครั้ง นักกฎหมายจำนวนหนึ่งจึงกลายสภาพเป็น “เนติบริกร” ทหาร ตำรวจ เป็นอุปกรณ์เครื่องมือของผู้ปกครอง นักการเมืองผู้ไม่ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยก็ประพฤติเป็น “ดอกไม้” เสียบปลายปืนของคนที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ระบบการเมืองการปกครองที่พิสดารบ่อนทำลายระบบกฎหมาย

ทุกกลไกในสังคมจำนนให้กับผู้กระทำความผิดกฎหมายเป็น “ผู้ปกครอง” ยินยอมให้นักรัฐประหารทุกคณะเขียนกติกาสืบทอดอำนาจ เพื่อที่จะได้ปกครองต่อไป ถือเอาอำนาจมาก ถือเอาพวกมาก ลากถูเพื่อไปต่อ โดยไม่ได้รู้สึกผิด รู้สึกอับอายอะไร

ที่ประเทศไทยไม่มีความสุขสงบ การเมืองวิกฤต การพัฒนาเศรษฐกิจสะดุด ศีลธรรมเสื่อมทราม กฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ สาเหตุล้วนแต่มาจาก “ระบบการเมืองการปกครอง”

ระบอบการเมืองการปกครองที่พิสดารนี้ครอบงำมานานเกินไป จนทุกกลไกหลงทิศผิดทางเข้ารกเข้าพง การศิโรราบต่อผู้มีอำนาจสำคัญกว่า”นิติธรรม”!?!!