16 ปี รัฐประหาร ก.ย.2549-ก.ย.2565 การทำร้ายชาติที่ต้องเขียนเป็นซีรีส์/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

16 ปี รัฐประหาร

ก.ย.2549-ก.ย.2565

การทำร้ายชาติที่ต้องเขียนเป็นซีรีส์

 

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ครบ 16 ปี ในปี 2565 และการทำร้ายประเทศชาติได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำเป็นสารคดี หรือละคร ก็เป็นซีรีส์ที่ยาวเกิน 10 ตอน ตัวละครหลักทั้งฝ่ายพระเอกและผู้ร้ายมีการเปลี่ยนตัวไปตามกาลเวลาและบทบาท

คงต้องเริ่มเมื่อนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2544 สร้างผลงาน พาประเทศฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ ใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ และเริ่มมีสวัสดิการให้ประชาชนโดยโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีกองทุนหมู่บ้านและอีกหลายโครงการ ประเทศดูเหมือนจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนมองเห็นอนาคตที่สดใส ประชาชนทั้งในเมืองในชนบทพากันลืมตาอ้าปากได้ เงินในกระเป๋าก็มีมากขึ้น

แต่ความโง่เขลาและความริษยาของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจและอาวุธ ได้สร้างสถานการณ์และทำการรัฐประหารยึดอำนาจขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2549

จากนั้นมาทั้งประเทศก็ได้รับผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีความวุ่นวายต่างๆ เกิดขึ้น ในขณะที่หลายประเทศพัฒนาไปข้างหน้า ประเทศไทยกลับเกิดการรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในปี 2557 หลังจากนั้นประเทศก็ถอยหลังลงไปอีก

จนถึงวันนี้ผ่านไป 16 ปี พ่อค้าประชาชนชาวบ้าน ทั้งเคยรวยและเคยจน รู้ดีว่า 16 ปีที่ผ่านมาเราควรจะก้าวหน้าขึ้น มีเงินมากขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในสภาพความเป็นจริงขณะนี้ทุกคนเป็นหนี้มากขึ้น ชีวิตยากลำบาก คนที่ทนไม่ไหวก็ถึงกับฆ่าตัวตาย

เป็น 16 ปีที่มีการทำร้ายประเทศ บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำลายเศรษฐกิจ ทำลายระบบยุติธรรม

การบอกเล่าประวัติศาสตร์การเมืองช่วง 16 ปีที่ผ่านมา พอแบ่งเป็นซีรีส์ได้ 10 ตอน

 

ตอนที่ 1…

รัฐประหารนายกฯ ทักษิณ 2549

เริ่มจากการเคลื่อนไหวของม็อบเพื่อกดดันต่อรัฐบาล หลังจากที่พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้ง 2548 ได้ ส.ส.ถึง 377 คน คิดเป็น 2 ใน 3 ของสภา

นายกฯ ทักษิณยอมยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายน 2549

แต่มีการบอยคอตจาก 3 พรรคใหญ่ ศาลตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

และในที่สุดก็จบด้วยการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) 19 กันยายน 2549

 

ตอนที่ 2

เลือกตั้ง 2551 และตุลาการภิวัฒน์

โค่นนายกฯ สมัคร สุนทรเวช

กระแสการไม่ยอมรับรัฐบาลคณะรัฐประหาร คมช.จากต่างชาติแรงมากเลยต้องรีบร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วเลือกตั้ง ซึ่งเป็นขั้นสองตามแผนโดยหวังว่าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะชนะเลือกตั้ง

แต่กลายเป็นพลังประชาชนชนะเลือกตั้งทั้งที่อยู่ใต้เงาคณะรัฐประหาร แม้มีการยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิ์กรรมการพรรค 111 ไม่ให้ลงเลือกตั้ง (พรรคพลังประชาชนเปลี่ยนชื่อมาจากไทยรักไทย) จึงต้องมีแผนยึดอำนาจ ครั้งที่สองปี 2551 ซึ่งซับซ้อนกว่า

แผนแรก กำจัดแม่ทัพใหญ่ คืออดีตนายกฯ ทักษิณ โดยใช้กฎหมาย เพื่อเนรเทศทางอ้อม บีบว่าจะเอาเข้าคุก ตอนนั้นหาคดีอะไรไม่ได้ ก็เลยต้องเอาคดีที่ดินรัชดาไปขู่ บีบให้ออกนอกประเทศ เพราะลึกๆ ก็ไม่กล้าจับไปขัง กลัวประชาชนลุกฮือ

ขั้นสอง ตัดกำลัง คือการใช้ คตส.อายัดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท เป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยง พวกนั้นคิดตามหลักการทหารว่ากองทัพที่ไม่มีอาวุธและคลังเสบียงต้องพ่ายแพ้แน่นอน และมองว่าอาวุธและเสบียงของฝ่ายทักษิณคือเงินเท่านั้น ไม่ได้มองประชาชนเลย

แผนสองล้มรัฐบาลสมัครและตั้งรัฐบาลใหม่

21 พฤษภาคม 2551 รัฐบาลนายกฯ สมัครประกาศว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทางกลุ่มพันธมิตรฯ คัดค้านและจัดชุมนุมใหญ่ 25 พฤษภาคม 2551

ยึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายโดยนำมวลชนกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที

ปลดนายกฯ สมัคร กลุ่มอำนาจเก่าใช้กฎหมายช่วย แต่หาจุดอ่อนนายกฯ สมัครไม่เจอ ด้วยความรีบร้อน 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญจึงปลดสมัครท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำแบบสุกเอาเผากิน ในข้อหาไปรับจ้างสอนทำกับข้าวออกทีวี

 

ตอนที่ 3

พลังประชาชนไม่ยอมแพ้

ตั้งนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นมาแทน

กลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองจึงมีการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อไม่ให้รัฐบาลนายกฯ สมชายแถลงนโยบายได้ แต่รัฐบาลและนายกฯ ไม่สนใจทำเนียบ และไม่ลาออก

กลุ่มพันธมิตรฯ จึงเล่นเกมแรง ปฏิบัติการยึดสนามบิน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน โดยยึดสนามบินดอนเมือง ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน ยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ…

สุดท้ายต้องใช้ตุลาการภิวัฒน์ยึดอำนาจ วันที่ 2 ธันวาคม หลังการยึดสนามบินไม่กี่วัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย กลุ่มพันธมิตรฯ จึงประกาศยุติการชุมนุมซึ่งใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 193 วัน งานเลี้ยงที่มีอาหารดี ดนตรีไพเราะ ก็จบลง พร้อมชื่อเสียงประเทศไทย และพันธมิตรฯ

ปิดท้ายด้วยการล็อกคอแกนนำพรรคที่ถูกยุบ ลากเข้าไปย้ายขั้วตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร ได้รัฐบาลเทพประทาน

 

ตอนที่ 4

กำเนิดคนเสื้อแดง

และการล้อมปราบเมษา-พฤษภา 2553

นักการเมืองและประชาชนที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนไม่ยอม

จึงรวมตัวมาชุมนุมในปี 2552 ซึ่งก็ไม่ได้ผลอะไร

ในปี 2553 มีรวมตัวกันเรียกร้องให้ยุบสภาอีกครั้ง แต่ก็ถูกล้อมปราบกลางกรุง

มีผู้เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บประมาณ 2,000 คน

ถูกตั้งข้อกล่าวหาจับกุมคุมขังไปเป็นจำนวนมาก

 

ตอนที่ 5

ยุบสภาและการเลือกตั้งปี 2554

พลังประชาชนเปลี่ยนเป็นพรรคเพื่อไทย แม้กรรมการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเพิ่มอีก แต่ประชาชนก็ยังคงเลือกฝ่ายที่ตนเองสนับสนุนตั้งแต่เดิมอยู่ดี

ได้นายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งฝ่าด่านน้ำท่วม และการต่อต้านของสารพัดกลุ่ม

สถานการณ์ก็ย้อนกลับไปยังจุดเดิมคือมีม็อบมากดดันให้รัฐบาลลาออก ปลายปี 2556

แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลโดย กปปส.ได้

 

ตอนที่ 6

ปี 2557 ม็อบ กปปส.ปิดกรุงเทพฯ

และขัดขวางการเลือกตั้ง

แม้มีการยุบสภาก็ไม่สามารถเลือกตั้งได้ มีการปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ศาลรัฐธรรมนูญปลดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่รักษาการอยู่ แต่เพื่อไทยตั้งคนแทนทันที ฝ่ายตรงข้ามก็ยังตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้

สุดท้ายต้องรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 

ตอนที่ 7 การปกครองภายใต้รัฐบาล คสช. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ แบบขอเวลาอีกไม่นาน แต่อยากอยู่ยาว (5 ปี) และการร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีการเพิ่มคำถามพ่วงและลงประชามติ แบบห้ามค้าน

ตอนที่ 8 การชิงอำนาจบนรัฐธรรมนูญใหม่ 2560 เลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ใครชนะมากไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ใครจะได้เป็นนายกฯ ต้องถาม ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน

ตอนที่ 9 แผนยุบพรรคอนาคตใหม่ และการเมืองในสภากล้วยๆ

การเมืองบ้านเรา ในปัจจุบัน ไม่ได้ให้น้ำหนักไปกับการหาเสียง เสนอนโยบาย แต่นิยมกำจัดฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับความนิยมจากประชาชน แต่ทางการเมืองไม่ใช่การทหาร จึงไม่มีการฆ่า แต่ต้องหาทางตัดสิทธิ์ไม่ให้ลงแข่งขัน โดยหาข้ออ้างว่าทำผิดกฎต่างๆ ดังนั้น การเมืองที่เป็นข่าวขณะนี้จะพบว่ามีการฟ้องร้องเพื่อตัดสิทธิ์การเลือกตั้งของนักการเมืองจำนวนมากจากคดีต่างๆ การย้ายพรรค การใช้กล้วยเลี้ยงลิง

ตอนที่ 10 ม็อบเด็ก โตไว ขยายเร็ว โควิด-19 มาช่วยเบรกได้ทัน การต่อสู้ทางการเมืองได้ขยายออกไปสู้กับอำนาจเหนือระบบ และอำนาจนอกระบบ คนหนุ่มสาวจึงถูกจับกุมดำเนินคดีมากยิ่งกว่ายุคใด

คำถามของเยาวชน คือ…เราถอยหลังมาถึงจุดที่เป็นหนี้มากที่สุด และไร้อนาคตได้อย่างไร? จากที่เคยมีกินมีใช้สบาย ตอนนี้มาถึงตอนที่ลำบาก ตกงานและกำลังจะเจ๊ง

 

16 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าไม่ว่าจะเกิดการรัฐประหารกี่ครั้ง ร่างรัฐธรรมนูญกี่ฉบับ ล้มเลือกตั้ง ตุลาการภิวัฒน์ ตั้งสภาสารพัด เพื่อสร้างระบอบอำมาตยาธิปไตย ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิด มิได้เกิดขึ้นเพราะมีความมุ่งหมายจะแก้ปัญหาของประชาชน สิ่งที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าล้วนแล้วแต่เป็นการอยากได้อำนาจของผู้ปกครอง ที่โง่ และไร้ความรับผิดชอบ เริ่มต้นที่กลุ่มอำนาจเก่าต้องการเล่นงานทักษิณคนเดียว แต่สู้ไปสู้มากลายเป็นการต่อสู้กับประชาชนหลายสิบล้าน จากทำลายระบบทักษิณ กลายเป็นทำลายประเทศ เศรษฐกิจพัง ทำลายระบอบประชาธิปไตย

ปัจจุบันสถานการณ์ได้พัฒนาเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นไปแล้ว เท่ากับว่ากลุ่มอำนาจเก่าถลำลงไปในสนามรบ และถอนตัวไม่ได้ วันนี้ต้องปะทะกับเด็กวัยรุ่น Gen Z Gen Y ที่กำลังเติบโต และยังมี Gen X ที่เป็นกำลังหนุน พวกเขาอยากเปลี่ยนแปลง

ตอนที่ 11 ของซีรีส์ชุดนี้ นายกฯ นับ 1 ถึง 8 ไม่ได้ จะให้กรรมการช่วยนับ และไม่ยอมลงจากเวที คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวกำหนดความดุเดือดของตอนนี้และตอนต่อไป