อังกฤษ-อาเซียน ภายใต้นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
Liz Truss speaks after being announced as Britain's next Prime Minister at The Queen Elizabeth II Centre in London, Britain September 5, 2022. REUTERS/Hannah McKay

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

อังกฤษ-อาเซียน

ภายใต้นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่

 

อังกฤษอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมาย

นอกจากอังกฤษกำลังเผชิญผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อังกฤษนำการต่อต้านรัสเซีย อังกฤษได้สูญเสียสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II) กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และครองใจชาวอังกฤษมานาน

อังกฤษยังได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 นาง Mary Elizabeth Truss ผู้ซึ่งต้องบริหารประเทศท่ามกลางปัญหาภายในที่หนักหน่วง ทั้งปัญหาค่าครองชีพ ราคาพลังงานที่สูงลิ่วและอาจต้องขาดแคลน เรื่องสุขภาพอนามัยที่ต้องใส่ใจและใช้งบประมาณมากโข

ส่วนที่อยู่นอกอังกฤษและนอกยุโรปก็สำคัญนั่นคือ นโยบายต่างประเทศต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเราไม่กล่าวถึงอาเซียนไม่ได้

 

นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ ลิซ ทรัสส์

ความจริงระหว่างการชิงชัยตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ที่หมายถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น มีการพูดน้อยมากเรื่องนโยบายต่างประเทศ นอกจากเรื่องสงครามในยูเครนและภัยคุกคามจากจีน จึงเกิดคำถามว่า อาเซียนอยู่ในสถานะและลำดับความสำคัญแค่ไหนของอังกฤษด้วย

อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้น เราก็พอรู้ได้ว่า ลิซ ทรัสส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่ขณะนั้น มีความเข้าใจกิจการต่างประเทศมากกว่าและกว้างกว่าคู่แข่งของเธอ นาย Rishi Sunak

ลิซ ทรัสส์ เข้าใจผลประโยชน์ของอังกฤษมากกว่า เมื่อเธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ กันยายน 2021 เธอได้ตักตวงความผูกพันกับอาเซียนหลายประการ

ลิซ ทรัสส์ เดินทางเยือนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซียในเดือนพฤศจิกายน 2021 เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของอังกฤษและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้มแข็งมากขึ้น

แล้วเราก็พอเห็นนโยบายของอังกฤษต่ออาเซียน ด้วยลิซ ทรัสส์ ได้กล่าวถึงอาเซียนที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย คราวที่เธอเยือนอินโดนีเซียในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เธอได้กล่าวว่า1

“…เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นจักรกลของระบบเศรษฐกิจโลก และฉันต้องการให้สหราชอาณาจักรเป็นส่วนหนึ่งด้วย การยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของเรากับภูมิภาค สะท้อนความสำคัญที่เติบโตขึ้น…”

พร้อมกันนั้น ลิซ ทรัสส์ ยังได้เชิญอาเซียนให้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศ G 21 ปี 20212 และยังกระตุ้นให้อาเซียนเล่นบทบาทที่ใหญ่โตขึ้นในการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานโลกที่เคลื่อนไปสู่การตัดต่อทางเทคโนโลยีแล้ว

ลิซ ทรัสส์ เชื่อว่า อาเซียน-อังกฤษสามารถเร่งเดินไปข้างหน้าสู่ความร่วมมือกันแบบที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

สิ่งนี้สะท้อนจาก ASEAN-UK Plan of Action (2021-2026)3 แผนปฏิบัติการอันใหม่ที่ลงมติยอมรับกันในการประชุมอาเซียน-อังกฤษ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

น่าสนใจว่า ไม่ว่านโยบายต่างประเทศของลิซ ทรัสส์ จะมีความฉลาดหลักแหลมหรือไม่ก็ตาม มีการวิเคราะห์ถึงความสามารถของระบบราชการอังกฤษด้านกิจการต่างประเทศว่า ควรสามารถรักษาความต่อเนื่องของนโยบายและการดำเนินการต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

สถานะของอาเซียนในระบบคิดของอังกฤษ

สิ่งที่ควรค่าแก่การวิเคราะห์ต่อไปคือ ทำความเข้าใจต่อสถานะและบทบาทของอาเซียนในระบบคิดด้านการต่างประเทศของอังกฤษ ในความเป็นจริง ไม่ควรหลงลืมว่า อังกฤษเป็นชาติมหาอำนาจของโลก อังกฤษเคยเป็นเจ้าอาณานิคมที่ยิ่งใหญ่มาก ดังนั้น อังกฤษจึงมีโลกทัศน์ด้านกิจการต่างประเทศที่ใหญ่โตและกว้างไกลมาก

หากเราศึกษาจากแผน 5 ปีของ National Strategy for Maritime Security ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 15 สิงหาคม 2022 ในส่วนที่อังกฤษแสดงความโน้มเอียงไปทางภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และถือว่าทะเลจีนใต้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญของอังกฤษ4

ยิ่งเราเข้าใจว่า 1 ใน 3 ของการค้าโลก ที่นับมูลค่าการนำเข้าและการส่งออกสินค้าและบริการเป็นมูลค่าราว 91 พันล้านปอนด์ ผ่านทางช่องทางนี้

จึงไม่เป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจอะไรที่อังกฤษกำลังเข้าร่วมเป็น dialogue partner ของอาเซียน เพื่อสนับสนุนทัศนียภาพอาเซียน หรือ ASEAN Outlook ต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันให้ดียิ่งขึ้น

ครั้นเมื่อดู policy paper เรื่อง “Global Britain in Competitive Age : the Integrated Review of Security, Defence, Development and Foreign Policy” ที่เผยแพร่ออกมาในเดือนมีนาคม 2021 เราจะเห็นบทบาทและความสำคัญของเหล่าขุนนางหรือข้าราชการของประเทศอังกฤษที่จะกดดันให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทำการต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ประเทศอังกฤษได้เป็น Dialogue Partner หลังจากข้อตกลงของอาเซียนนี้ได้ดำเนินมานับตั้งแต่ปี 1996

ในกรอบคิดด้านกิจการต่างประเทศของอังกฤษ การเป็น Dialogue Partner กับอาเซียนจะช่วยให้ความสัมพันธ์ของอังกฤษกับอาเซียนอยู่ในหลักการคุณธรรมของแต่ละฝ่าย และยังมีความผูกพันระหว่างกันนับตั้งอดีตระหว่างกัน ในฐานะที่อังกฤษเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปอีกด้วย

ในส่วนของอังกฤษเอง อังกฤษรู้ด้วยว่า จะมีโอกาสมากขึ้น หากอังกฤษจะมีที่นั่งใน East Asia Summit ซึ่งเป็นกลไกอันดับแรกของภูมิภาค ที่จะให้อังกฤษก้าวเข้าไปอยู่ในอาเซียน

นอกจากนั้น อังกฤษยังมีความผูกพันกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคผ่านสิ่งที่เรียกว่า Five Power Defence Arrangements รวมทั้งผ่านพันธมิตรไตรภาคีความมั่นคง (Australian, UK ,U.S-AUKUS) อีกด้วย

 

โลกทัศน์ของลอนดอน

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงทางการเมืองระหว่างประเทศที่อาเซียนควรรู้ก่อนอื่นใดคือ โลกทัศน์ของลอนดอน เป็นโลกทัศน์ของชาติมหาอำนาจอันแตกต่างจากชาติที่เล็กกว่าอย่างอาเซียน ผลประโยชน์สำคัญในภูมิภาคนี้ของอาเซียนไม่เท่ากับที่ลอนดอนมีและให้ความสำคัญต่ออาเซียน สำหรับลอนดอน เพื่อให้ลอนดอนเล่นบทบาทผู้นำเข้มแข็งในอินโด-แปซิฟิก

ลอนดอนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ กรอบเจรจาจตุภาคีความมั่นคง หรือ Quadrilateral Security Dialogue-QUAD กรอบเจรจาที่เป็นกลุ่มความร่วมมือหรือสมาชิกที่เป็นประเทศ อังกฤษจะส่งสัญญานต่ออาเซียนว่า กลุ่มอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับความพอใจต่อเป้าหมายของชาติมหาอำนาจ

ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่ท้าทายอาเซียนคือ QUAD หรือกรอบเจรจาจตุภาคีความมั่นคง มองว่ามีบางส่วนของกรอบเจรจานี้ บั่นทอนจุดยืนตรงกลาง (Centrality) ของอาเซียนด้วยซ้ำไป ในขณะที่จุดยืนตรงกลาง คือ ไม่ฝั่กใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งเป็นเรื่องที่อาเซียนพอใจอยู่ เมื่อมาถึงตรงนี้ มีสองระดับ

หนึ่ง ผลประโยชน์สำคัญของอังกฤษ ผลประโยชน์สำคัญของอังกฤษใหญ่กว่าอาเซียน แต่เป็นอินโด-แปซิฟิก

สอง แล้วอาเซียนมีกลยุทธ์อะไรที่จะทำให้อังกฤษมองเห็นคุณค่าของอาเซียน อะไรที่สามารถทำให้อาเซียนสนับสนุนความสำคัญของตัวเอง จนกระทั่งชาติมหาอำนาจต่างๆ ไว้วางใจและอาศัยอาเซียนสนับสนุนความต้องการทางยุทธศาสตร์ของพวกเขา

อังกฤษภายใต้นายกรัฐมนตรีหลังคนใหม่ อาเซียนควรให้แน่ใจว่านโยบายของอังกฤษต่ออาเซียนจะไม่เปลี่ยนเพียงชั่วข้ามคืน ชักจะยากเสียแล้ว

1“UK’s Truss to visit Southeast Asia To boost economic and security ties” Reuters, 7 November 2021, : 1.

2Joanne Lin, “ASEAN and the Group of 7 : Same bed, Different Dreams” Fulcrum, ISEAS, Singapore, 14 December 2021.

3“Plan of Action to Implement the ASEAN-United Kingdom Dialogue Partnership (2022-2026)” ASEAN 4 August 2022.

4“Objective 4, Championing our values : Why the South China Sea matters” National Strategy for Maritime Security, United Kingdom, August 2022 : 72-79.