‘ณัฏฐภัทร จันทวิช’ ต้นแบบ ‘ครูภัณฑารักษ์’ ของกรมศิลปากร (2) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘ณัฏฐภัทร จันทวิช’

ต้นแบบ ‘ครูภัณฑารักษ์’

ของกรมศิลปากร (2)

 

ความเป็น “ครูต้นแบบ” ในวิชาชีพ “ภัณฑารักษ์” ให้แก่บุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของกรมศิลปากรที่ “อาจารย์ณัฏฐภัทร จันทวิช” หรือ “พี่แอ๊ว” ได้ถ่ายทอดให้เห็นเป็นตัวอย่างนั้น

อย่างน้อยก็มี “ภัณฑารักษ์น้องใหม่” เช่นดิฉันหนึ่งคนล่ะ ที่ได้เรียนรู้และจดจำด้วยความประทับใจ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันสรุปบทเรียนที่ได้รับจากครูภัณฑารักษ์ต้นแบบไว้ 3 ข้อดังนี้

ข้อแรก อะไรไม่รู้หรือคลุมเครือ อย่าได้ริบรรยายเด็ดขาด ยิงศรให้ตรงเป้า พุ่งไปที่งานชิ้นมาสเตอร์พีซเลย อย่ามัวแต่ประหม่ากับสิ่งที่เราเผลอลืม ไม่แน่ใจ เช่น ปีศักราช จนเสียบุคลิก เพราะภัณฑารักษ์คือหน้าตา เป็นตัวแทนองค์กรกรมศิลปากรในพื้นที่ ต้องมีความสง่างาม

ข้อสอง เปิดใจกว้างยอมรับฟังทฤษฎีของคนอื่นให้มาก โดยเฉพาะคนในท้องถิ่น พึงตระหนักเสมอว่า ประวัติศาสตร์มีหลายเวอร์ชั่น ไม่มีใครถูกใครผิดร้อยเปอร์เซ็นต์

ข้อสาม จงขยันหมั่นเพียรลงพื้นที่ ทำตารางรายสัปดาห์ไว้เลยว่า 5-6 วันต่อสัปดาห์ (หมายความว่า พวกเรากันทำงานแบบไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์) ต้องเร่งเก็บข้อมูลสัมภาษณ์บุคคล ผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน พ่อครู แม่ครู ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะแต่ละท่านก็มีอายุอานามมากแล้ว

ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ก่อนที่องค์ความรู้จะสูญหายไปกับตัวท่านเหล่านี้

บูรณาการกับทุกภาคส่วน อย่าเกี่ยงงาน

รวมทั้งต้องบูรณาการกันเองในองค์กร

การทำงานด้านโบราณคดีในจังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งของหน่วยงานแม่คือสำนักศิลปากรประจำภูมิภาค แต่บางจังหวัดอาจมีเพียงแค่อุทยานประวัติศาสตร์ก็ดี หอสมุดแห่งชาติก็ดี หอจดหมายเหตุแห่งชาติก็ดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก็ดี ซ้ำบางจังหวัดไม่มีหน่วยงานใดเลย จักทำเช่นไร?

“บุคลากรของกรมศิลป์ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ โปรดอย่าได้เกี่ยงงอนสายงานกัน จำไว้นะคะน้องเพ็ญ อย่าคิดว่าตัวเองเป็นภัณฑารักษ์ ต้องทำหน้าที่ดูแลแค่เรื่องโบราณวัตถุเท่านั้น โดยไม่สนใจคัมภีร์ใบลาน ด้วยมองว่าเป็นงานหน้าตักของหอสมุด ไม่สนใจงานด้านโบราณสถาน ด้วยไปคิดว่าเป็นงานตรงของสำนักศิลปากรเท่านั้น

พี่แอ๊วบอกแล้วว่า เราอยู่ในจังหวัดเล็ก แต่วัฒนธรรมใหญ่ คือลำพูน เรายิ่งต้องขยันมากกว่าคนอื่นเป็น 2 เท่า 3 เท่า ไม่งั้นไม่ทันกิน ไม่ทันการแน่ค่ะ นักโบราณคดีสำนักศิลปากรแม่มีแค่ 3-4 คนเท่านั้น

หน้าที่ของภัณฑารักษ์ จึงไม่ใช่เพียงแค่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์บุคคลที่มีชีวิต เกี่ยวกับงานด้านศิลปวัตถุเท่านั้น ทว่า เราต้องลุยค้นหาซากโบราณสถานร้างในจังหวัดเราและจังหวัดใกล้เคียงด้วย โดยเฉพาะแหล่งที่หลบซ่อนตามซอกหลืบห่างไกลในป่าเขาลิบลับ ยิ่งต้องเร่งสำรวจ ถ่ายภาพ ทำผัง รายงานต่อสำนักศิลปากรต้นสังกัดด่วน ก่อนที่ซากอิฐ หิน แลง ปูนปั้น ดินเผา ไม้แกะสลัก กระจกจืน ฯลฯ เหล่านั้นจักผุกร่อนพังทลายหรือเปลี่ยนสภาพในเร็ววัน จนสูญสิ้นมรดกทางวัฒนธรรมของแผ่นดิน

กรมศิลปากรอุตส่าห์ตั้งโครงการรับสมัคร อส.มศ. หรืออาสาสมัครท้องถิ่น ในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม ขอร้องให้เครือข่ายในแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอ คัดเลือกคนที่หน่วยก้านดีมีจิตสาธารณะ ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพใด อายุเท่าไหร่ ขอให้ช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังดูแลโบราณสถานหากได้รับอันตราย ให้ช่วยรีบแจ้งแก่หน่วยงานศิลปากรในพื้นที่ที่ใกล้ที่สุดด่วน

เราขอประชาชนมาช่วยเราแบบบูรณาการ สมควรแล้วหรือที่พวกเรามาทำตัวแบ่งแยกกันเอง ว่างานนี้เราจะไม่ยุ่งเกี่ยว เพราะเป็นงานหน้าตักสายโบราณสถาน งานนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของสายโบราณคดี พวกเราภัณฑารักษ์ต้องเล่นแต่เรื่องโบราณวัตถุในมิวซียมเท่านั้น

ถ้าคิดแบบนี้ ไม่อาย อส.มศ. เขาดอกหรือ เราขอให้ชาวบ้านมาบูรณาการกับเรา แต่พวกเราเองกลับไม่ยอมบูรณาการซึ่งกันและกัน

ถ้าอยู่พิพิธภัณฑ์ในลำพูนแล้วไม่ช่วยงานสายโบราณสถานหรือสายจารึกใบลานในพื้นที่จังหวัดตัวเองบ้าง ยิ่งไม่สงสารจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่มีหน่วยงานของสำนักศิลปากรหน่วยใดแม้แต่หน่วยเดียวตั้งอยู่ในพื้นที่บ้างเลยหรือ เช่น แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา?

เราเกิดมาเป็นภัณฑารักษ์ ต้องลุยงานทุกอย่างในลำพูน และต้องไม่ทิ้งลำปางด้วยนะคะน้องเพ็ญ นั่งรอนอนรอนักโบราณคดีที่มีอำนาจสายตรงจากสำนักศิลปากรมาดูโบราณสถานไม่ได้เด็ดขาดค่ะ อย่างน้อยเราต้องเร่งชงข้อมูลขึ้นไปให้หน่วยแม่แบบไม่ขาดสาย”

ด้วยแนวคิดทฤษฎีที่ได้รับการกระตุ้นจากพี่แอ๊วนี่เอง จึงทำให้ดิฉันลุยงานสำรวจศึกษาเพื่อขุดค้นขุดแต่งแหล่งโบราณสถานและโบราณคดีด้วยตัวเอง (ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของนักโบราณคดีจากสำนักศิลปากร)

ช่วยเอาผลที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี มาหาคำอธิบายเชิงประวัติศาสตร์ ช่วยเปิดประเด็น จัดสัมมนาทางวิชาการ ทั้งแหล่งโบราณสถานเวียงเกาะกลาง วัดพระยืน วัดกู่ละมัก คณะเชียงยัน วัดพระธาตุหริภุญชัย หนองม่วน ท่าเชียงทอง กู่นายเก๋ ฯลฯ

เพราะเราอยู่ในพื้นที่ คนในพื้นที่ย่อมถามผลการขุดค้นจากเรา ไม่ได้ถามจากนักโบราณคดีสำนักแม่ ดังนั้น ภัณฑารักษ์ในพื้นที่ต้องรู้ทุกอย่างเท่ากับนักโบราณคดีด้วย

อย่าปล่อยให้ความสงสัยคาราคาซัง

หาคำอธิบายบนพื้นฐานความประนีประนอม

การทำงานด้านโบราณคดีในท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมเข้มแข็งดังเช่นจังหวัดลำพูน แน่นอนว่าปราชญ์ชาวบ้านมักมีตำนาน มุขปาฐะ เรื่องเล่าที่เป็นของท้องถิ่นเอง บางเรื่องอาจเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งหรือสวนทางกับทฤษฎีของกรมศิลปากรโดยสิ้นเชิงด้วยซ้ำ

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ในการสรุปองค์ความรู้เพื่อนำไปจัดทำคำบรรยายด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เผยแพร่สู่มหาชน

ท่ามกลางความยุ่งยากสับสน นับแต่เรื่องชื่อการสะกดศัพท์เฉพาะคำที่สำคัญที่สุดคือ “หริภุญไชย” ของกรมศิลปากร กับ “หริภุญชัย” ของวัดพระธาตุหริภุญชัย รวมทั้งการอ่านออกเสียง บ้างออก “หะ-ริ” บ้างออก “หะหริ” อะไรถูกอะไรผิด?

ควรเคลียร์ความสับสนนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวไหม หรือปล่อยให้ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเขียน ต่างคนต่างใช้ ต่างคนต่างเข้าใจ ต่างคนต่างพอใจ ต่างคนต่างออกเสียง อยากออกเสียงตรี หรือเสียงเอก ก็ตามใจ

ทั้งหมดนี้คือ “ปัญหาหนักอก” ของคนที่เป็นภัณฑารักษ์ในพื้นที่ลำพูน ในที่สุดปัญหาทั้งหมดทั้งมวลก็ได้ “แม่พระ” หรือ “นางฟ้า” มาโปรด เมื่อ “พี่แอ๊ว” เดินทางมาพบดิฉันอีกหลายครั้งที่ลำพูน

“ปัญหาที่น้องเพ็ญคาใจ ก็คือคำถามเดียวกันกับที่พี่เคยสงสัย และเครียดมากมาก่อนแล้วเช่นกัน และเชื่อว่า ภัณฑารักษ์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ทุกคน ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย ก็ล้วนแล้วแต่แบกรับปัญหาหนักอกเรื่องนี้มานาน ไม่แตกต่างกัน…

ทางออกที่พี่แอ๊วขอเสนอให้น้องเพ็ญทำคือ เปิดเวทีเสวนาทางวิชาการกับปราชญ์ชาวบ้าน เชิญนักวิชาการท้องถิ่นทุกสายทุกสถาบันมาระดมความเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ งานแบบนี้ไม่ง่าย ไม่สำเร็จในครั้งเดียว ต้องจัดบ่อยๆ เคี่ยวจนงวดให้ตกผลึก เอาผลสรุปจากการเสวนานั้น มาจัดพิมพ์เป็นหนังสืออย่างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ เดี๋ยวพี่แอ๊วตั้งงบฯ ให้

ทุกอย่างที่ทำไปต้องใช้เมตตาธรรม อย่าเอาชนะคะคาน อย่ามีอีโก้ เอาผลสรุปเอาความเห็นของนักวิชาการทุกฝ่ายทุกฝัก ออกมาตีแผ่ คนโน้นเห็นว่าอย่างนี้เพราะอะไร คนนู้นเชื่อเช่นนั้นด้วยเหตุผลใด”

หลังจากการเปิดเวทีดีเบต เสวนาเชิงประชาพิจารณ์เรื่องนี้กับปราชญ์ชาวบ้าน และนักวิชาการของกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ลำปาง มหาวิทยาลัยพายัพ ตัวแทนกรมศิลชากรจากส่วนกลาง ฯลฯ มาสามครั้ง (ระหว่างปี 2546-2548)

ในที่สุด ดิฉันได้เรียบเรียงหนังสือเล่มสำคัญชื่อยาวเหยียดว่า “ปริวรรตภาษาชื่อบ้านนามเมือง สืบค้นความหมาย ถ่ายถอดอักขระ คำว่า ‘หริภุญไชย’ และ ‘ลำพูน'”

ได้ผลสรุปว่า กรมศิลปากรขอยืนพื้นใช้คำว่า “หริภุญไชย” ไม่สามารถแก้ไขเป็น “ชัย” ได้ เพราะต้องยึดตามศิลาจารึกอักษรมอญโบราณหลายหลักที่มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-16 ที่เขียนชื่ออาณาจักรโบราณนี้ว่า “หริภุญเชยฺย” คำว่า “เชยฺย” ภาษาบาลีคำนี้ ถอดเป็นภาษาไทย ต้องใช้ สระไอ จึงกลายเป็น หริภุญไชย

ส่วนทางวัดก็ขอยืนยันที่จะใช้คำว่า “หริภุญชัย” ตามตำนาน “พระธาตุเจ้าหริภุญชัย” ซึ่งแยกศัพท์ว่า หริภุญชัยมาจาก หริตกี (ผลสมอ) + ภุญชยะ (การเสวย/ฉันอาหาร) ตามตำนานกล่าวว่า ดินแดนนี้พระพุทธเจ้าเสด็จมาฉันผลสมอ ดังนั้น ทางวัดก็ไม่สามารถเปลี่ยนเป็น “ไชย” ได้เช่นกัน

แม้เราจะเขียนต่าง แต่ขอให้ทั้งสองฝ่ายเห็นใจอีกฝ่ายหนึ่ง และเข้าใจคำอธิบายว่าทำไมอีกฝ่ายหนึ่งจึงขอยืนยันที่จะไม่เปลี่ยนแปลงมาให้เหมือนฝ่ายตัว เท่านั้นก็พอ

ส่วนเสียงอ่าน หะหริ หรือ หะริ พี่แอ๊วบอกว่า อันที่จริงควรอ่านแบบ “หะ-หริ” จึงจะถูกต้อง เพราะเป็นการอ่านแบบเคารพต้นฉบับภาษาอินเดียเดิม ด้วยคำว่า “หริ” เป็นภาษานำเข้า ต้องอ่านแบบอักษรนำจึงจะถูก ตัวตามที่เป็นอักษรกลางจะไม่ออกเสียงตรี เป็น “ริ” ต้องเปลี่ยนเสียงเป็นเอก เฉกเดียวกับคำว่า หิริโอตตัปปะ ต้องอ่าน หิ-หริ

ในขณะที่ชาวลำพูนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ กับคนภายนอกที่ไม่เข้าใจระบบวิธีการอ่านแบบอักษรนำ จะนิยมอ่านว่า “หะ-ริ” ตรงตัวแบบไม่ซับซ้อน ไม่ผันเป็นอักษรนำ เป็นการอ่านเรียงพยางค์ตามแบบพระสงฆ์เวลาเทศนา เช่น อ่านว่า หิ-ริ-โอตตัปปะ หรือ เท-ศะ-นา, โค-สะ-นา ไม่อ่านว่า เทศ-สะ-หนา, โคด-สะ-นา

“ดังนั้น ชาวลำพูนและคนล้านนาส่วนใหญ่เขาอ่าน หะ-ริ แบบเรียงพยางค์ ตามอย่างพระไปแล้ว เราไปแก้ไขอะไรเขาไม่ได้แล้ว ปล่อยไปเถอะค่ะน้องเพ็ญ ให้อ่านได้สองอย่าง พวกเราอ่าน หะ-หริ เพราะเราเข้าใจอักขระวิธีการใช้อักษรนำของภาษาสันกฤต

ก็คงปล่อยให้อ่านได้ทั้งสองแบบ อ่านอย่างไรก็ได้ ขอให้รู้ทัน ให้เข้าใจว่าทำไมเราเลือกอ่านแบบนี้ แบบนั้น และเมื่อได้ยินคนอื่นอ่านอีกแบบ ก็อย่าไปโกรธเขา”

ตอนแรกตั้งใจว่า การเขียนถึง “พี่แอ๊ว” ผู้เป็น “ครูภัณฑารักษ์” หรือ “พี่เลี้ยงทางวิชาการ” ของดิฉัน คงจบลงอย่างบริบูรณ์ในตอนที่สอง จึงประกาศในฉบับก่อนว่า ฉบับหน้าจะกลับไปเขียนเรื่อง “นางพญาวิสุทธิเทวี” ต่อ

ที่ไหนได้ เมื่อเริ่มลงมือเขียนถึงพี่แอ๊วจริงๆ รายละเอียดมีมากเหลือเกิน นี่ดิฉันยังไม่ได้เล่าเรื่องไปลุยเมืองนครศรีธรรมราชกับพี่แอ๊วเลยนะคะ กรณียุคที่บูมเรื่อง “จตุคามรามเทพ” และเราสองคนไปเดินดุ่ยๆ ตามหาหมู่บ้านช่างทอผ้ายกจากนครศรีธรรมราช ที่ทอถวายเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ในวังหลวง จนพระองค์ติดอกติดใจ นำกระบวนการทอผ้ายกมาสืบสานต่อเป็นผ้าไหมยกดอกที่เมืองลำพูน

โปรดติดตามฉบับหน้าค่ะ •